ชมบ้านตัวอย่าง งานบ้านและสวนแฟร์LivingFestival2023 ภายใต้แนวคิด “TECHNO – LOCAL : หัวคิดทันสมัย หัวใจท้องถิ่น” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2566 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
เมื่อผู้คนโหยหาความเป็น “บ้านนอก” ของตัวเอง แต่ก็ยังต้องการความทันสมัย จึงเกิดการผสมผสานเสน่ห์ท้องถิ่นที่สอดแทรกเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน ผู้ออกแบบ บ้านตัวอย่าง งานบ้านและสวนแฟร์LivingFestival2023 จึงนำเสนอประสบการณ์ในมิติที่แตกต่าง โดยมองกลับไปยังจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีและความทันสมัย ล้วนเกิดจาก “จินตนาการ” ก่อนจะมีเครื่องบิน ผู้คนต่างจินตนาการว่าถ้าเราบินได้เหมือนนก แล้วจึงเป็นแรงบันดาลใจสู่การคิดค้นเทคโนโลยี ผู้ออกแบบจึงตีความคำว่า “Techno” คือ จินตนาการ และ “Local” คือ เสน่ห์ท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทย
บ้านตัวอย่าง
Main Sponsored by AIS Fibre/3BB
สนามเด็กเล่นและภาพสะท้อนยุ้งข้าว
มีการเชื่อมผสานและปะทะกันด้วยแนวคิด 2 ขั้ว และลักษณะทางกายภาพ 2 รูปแบบ
- สนามเด็กเล่น เป็นตัวแทนของจินตนาการและความเยาว์วัยที่เป็นจุดตั้งต้นของความก้าวหน้าล้ำสมัย โดยใช้ลักษณะพื้นเอียงทำให้เกิดการรับรู้ในมุมมองใหม่ ๆ เกิดการทรงตัว และการรู้จักปรับสมดุลตัวเอง
- ยุ้งข้าว ศาลาที่ประยุกต์ลักษณะมาจากยุ้งข้าว เป็นตัวแทนภูมิปัญญาที่คนไทยคุ้นเคยในอดีต โดยวางบนพื้นเอียงครอบสไลเดอร์ที่วางแปลนให้บิดแกนกับแนวพื้นสนามเด็กเล่น ทำให้เกิดพื้นที่แห่งจินตนาการผ่านการเล่นที่ซึมซับเสน่ห์ท้องถิ่นไปแบบไม่รู้ตัว
ไอเดียภูมิปัญญาไทยในบ้านที่พอดีตัว
ตัวบ้านออกแบบให้มีฟังก์ชันตามไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในพื้นที่จำกัด ออกแบบแปลนและหลังคาทรงสามเหลี่ยมที่เชื่อมโยงกับลักษณะจั่วของยุ้งข้าว สอดแทรกไอเดียจากภูมิปัญญาบ้านไทย เช่น ช่องแมวลอด ฝาไหล ชาน และพื้นยกระดับ ที่ช่วยให้บ้านอยู่สบายในบริบทปัจจุบัน
- ยุ้งข้าว หรือหลองข้าว อาคารเก็บข้าวเปลือก หนึ่งในภูมิปัญญาการสะสมอาหารของคนไทยโบราณ เพื่อให้มีข้าวกินตลอดทั้งปี ในสมัยก่อนยุ้งข้าวถือเป็นส่วนประกอบสำคัญมากในการปลูกบ้าน ขนาดของยุ้งข้าวเป็นตัวบ่งบอกถึงฐานะและความมั่นคงทางด้านอาหารในระดับครัวเรือนของสังคมเกษตรกรรม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน การเก็บสะสมข้าวเปลือกของแต่ละบ้านลดขนาดลงเรื่อยๆ ตามขนาดครอบครัวและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป จนในปัจจุบัน ยุ้งข้าวกลายเป็นความทรงจำแห่งภูมิปัญญาในอดีต ที่ถูกนำมาปรับใช้กับวิถีชีวิตแบบใหม่ และเล่าเรื่องราวในรูปแบบที่แตกต่าง อ่าน >> แบบบ้านหลองข้าว ที่ปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตปัจจุบัน
- ฝาไหล ช่องระบายอากาศที่มีรูปแบบคล้ายบานเลื่อน ทำจากไม้ฝาตีเว้นช่องสลับกันในแนวตั้ง เมื่อเลื่อนให้ไม้ฝาตรงกัน จะทำให้เกิดช่องเปิดที่สามารถระบายอากาศ หรือเปิดรับลม มองผ่านออกไปด้านนอกได้ เมื่อเลื่อนให้ฝาสับหว่างกันก็จะกลายเป็นผนังปิด นิยมใช้ในบริเวณที่ต้องการการระบายอากาศ แต่บางครั้งก็ปิดทึบเพื่อกันลมหนาวและความเป็นส่วนตัว เช่น ห้องครัว ห้องนอน ชานบ้าน
- ชานร่ม พื้นที่ใต้ร่มชายคาที่อยู่รอบบ้าน เป็นส่วนเอนกประสงค์ที่เป็นได้ทั้ง พื้นที่ทำงาน ใช้ชีวิตประจำวัน รับประทานอาหาร พักผ่อนหย่อนใจ นอกจากประโยชน์ด้านการใช้งานแล้ว ยังช่วยสร้างร่มเงา ลดความร้อนให้ตัวบ้าน ป้องกันฝนสาด ถนอมวัสดุอาคารให้ใช้ได้ยาวนาน
- ช่องแมวลอด ช่องระหว่างการลดระดับของพื้นเรือน เช่น ระเบียงห้องที่ลดระดับไปเป็นชาน เรือนไทยสมัยก่อนมักทำที่ระดับความสูง 30 – 40 เซนติเมตร ทำให้สร้างระดับที่สูงมากพอที่จะหย่อนขา นั่งเล่นพักผ่อนได้ในตัว แถมช่องแมวลอดนี้เป็นช่องที่มีลักษณะคล่ายช่องลมแคบ ช่วยรีดให้ลมเร่งความแรงและพัดจากร่มไต้ถุนเข้าสู่ตัวบ้าน หมุนเวียนอากาศร้อนออกไป ทำให้บ้านเย็นสบาย
- พื้นยกระดับ รูปแบบการแบ่งสัดส่วนที่มักใช้กับพื้นที่ที่มีการใช้งาน 2 ฟังก์ชัน ที่ต้องการแยกพื้นที่ออกจากกันเพื่อจุดประสงค์เรื่องการการใช้งาน การดูแลรักษา ทำความสะอาด แต่ยังต้องการสร้างการเชื่อมให้เกิดความรู้สึกของการเป็นพื้นที่เดียวกัน ในบ้านเรือนสมัยก่อนนิยมใช้ในส่วนที่ใช้งานได้หลากหลาย เช่น ชานแดดที่ใช้ปลูกต้นไม้ ผึ่งอาหาร การสัญจรไปเรือนอื่นๆ ลดระดับออกจากชานร่มที่เน้นการใช้งานรูปแบบนั่งพื้นเป็นหลัก ในปัจจุบัน พื้นยกระดับนี้ถูกปรับตัวมาอยู่ในอาคารตามรูปแบบการใช้ชีวิตของคน แทรกอยู่ในส่วนต่างๆ ของตัวบ้าน เช่น การลดระดับแยกส่วนเปียกส่วนแห้งของห้องน้ำ พื้นยกระดับสำหรับวางฟูกนอนแทนการใช้เตียง เพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาด เป็นต้น
- หลังคาทรงสูงแบบบ้านไทย ประยุกต์มาจากหลังคาทรงจั่วสูง หนึ่งในเอกลักษณ์ของบ้านไทย ที่เป็นภูมิปัญญาลดความร้อนในบ้าน โดยองศาที่สูงชันทำให้เกิดพื้นที่ว่างใต้หลังคามาก ทำให้ความร้อนลอยขึ้นสูง และระบายและถูกพัดออกทางรอยต่อของวัสดุมุง ไม่เกิดการสะสมความร้อนที่ระดับใช้งานของมนุษย์ นอกจากนี้ องศาที่ลาดเอียงทำให้รังสีความร้อนไม่แผ่ลงมายังห้องโดยตรง
เทคโนโลยีเชื่อมต่อจินตนาการ เชื่อมโยงเจนเนอเรชั่น
ชม บ้านตัวอย่าง งานบ้านและสวนแฟร์LivingFestival2023 เป็นบ้านสำหรับครอบครัวสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมของลูกและการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของครอบครัว โดยใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเชื่อมโยงคนทุกเจนเนอเรชั่นให้มีปฏิสัมพันธ์กัน และเชื่อมต่อจินตนาการให้เด็กรุ่นใหม่อย่างไร้รอยต่อ
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพประกอบ : Alkhemist Architects
บทความที่เกี่ยวข้อง
ปักหมุดโซนไฮไลต์ห้ามพลาดในงานบ้านและสวนแฟร์ Living Festival 2023
ไฮไลต์สวนโชว์ 2023 ภายใต้แนวคิด “Natural Techno – Local Species”
ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com