เช็คก่อนใช้ ! งานบ้านแบบไหนห้ามใช้น้ำส้มสายชูบ้าง

น้ำส้มสายชู ก็ได้กลายเป็นส่วนผสมดีเด่นที่ครองใจคุณพ่อบ้านแม่บ้านหลายคนไปแล้วเรียบร้อย เพราะด้วยประโยชน์ที่ครอบจักรวาล นำมาทำความสะอาดได้แทบทุกอย่าง

จนอาจลืมไปว่า ความเป็นกรดของ น้ำส้มสายชู ก็ไม่ได้เป็นมิตรสำหรับทุกพื้นผิว ทางที่ดีมาเช็คให้ชัวร์กันก่อนใช้งานดีกว่า ว่ามีพื้นผิวหรือการทำความสะอาดแบบไหน ที่ไม่ควรใช้น้ำส้มสายชูกันบ้างตาม ไปดูกัน !

1 . เคาน์เตอร์หิน

น้ำส้มสายชู

พื้นผิวที่ทำมาจากหินประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหินแกรนิต หินอ่อน ฯลฯ นั้นมีความสวยงามเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ที่สำคัญยังเป็นพื้นผิวที่มีรูพรุน และ เกิดรอยได้ง่ายด้วย ถ้าหากเจอส่วนผสมที่มีความเป็นกรดสูง และ กัดกร่อนได้ดีอย่างน้ำส้มสายชูเข้าไป พื้นผิวสวย ๆ ของ โต๊ะ หรือ เคาน์เตอร์ครัว ที่ทำมาจากหินสวย ๆ คงได้รับผลเสียจากการถูกทำลายโดยกรดที่อยู่ในน้ำส้มสายชู เพราะฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยง การใช้น้ำส้มสายชูเช็ดทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ หรือพื้นที่ทำมาจากหิน

2 . พื้นไม้เคลือบ

น้ำส้มสายชู

พื้นไม้เคลือบสวย ๆ ภายในบ้านที่ตั้งใจปูเอาไว้อาจไม่ได้เงาสวยอยู่ทนนานได้เท่าที่ควร ถ้าหากเจอกรดจากน้ำส้มสายชูเข้าไป เพราะพื้นไม้ประเภทนี้ จะมีสารเคลือบเงาโดยเฉพาะ ที่ทำให้หน้าไม้มีความเงางาม การใช้สารที่เป็นกรด ไปเช็ดทำความสะอาด จะทำให้สารเคลือบเหล่านี้หลุดล่อน และนั่นไม่ได้ทำให้พื้นผิวที่สวยงามต้องโดนทำลายไปเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อเนื้อไม้ด้านในจนทำให้ความคงทนลดลงไปด้วยนั่นเอง

3 . พื้นกระเบื้องและยาแนว

ตรงส่วนพื้นกระเบื้อง และ ยาแนวนั้นอาจมีสิ่งสกปรก และ คราบสะสมอยู่มากกว่าที่คิด และพื้นผิวตรงส่วนนี้ก็อาจบอบบางกว่าที่คิดด้วยเหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นในห้องน้ำที่เกิดคราบราดำได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น ๆ ก็ยิ่งไม่ควรใช้น้ำยาขัดห้องน้ำหรือสารเคมีที่มีความเข้มข้นสูงมาทำความสะอาด การเทน้ำส้มสายชูลงไปยังกระเบื้อง และ ร่องยาแนวโดยตรงจึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะพื้นผิวสามารถเกิดการหลุดล่อน จนเสียหายได้ง่าย แต่กลับซ่อมแซมได้ยากกว่านั่นเอง

4 . พื้นผิวคอนกรีต

สำหรับการแต่งบ้านสไตล์ลอฟท์ หรือพื้นผิวเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากปูนเปลือย จะไม่มีชั้นสีหรือสารต่าง ๆ เคลือบทับ ทำให้พื้นปูนต้องเจอกับคราบและสารต่าง ๆ โดยตรง อีกทั้งยังเป็นพื้นผิวที่มีรูพรุน จึงต้องระวังเรื่องการกัดกร่อนเป็นพิเศษ โดยปกติพื้นผิวปูนเปลือย หรือคอนกรีตนั้นทำความสะอาดได้ไม่ยาก ถ้าหากไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน จึงอาจไม่จำเป็นต้องใช้ส่วนผสมที่มีฤทธิ์เป็นกรดอย่างน้ำส้มสายชู ไม่อย่างนั้นพื้นผิวที่สวยอย่างเป็นธรรมชาติ ก็อาจได้รับผลเสียตามมาได้

5 . ห้ามใช้ร่วมกับน้ำยาฟอกขาว

น้ำส้มสายชู

สิ่งที่ต้องระวังคือการใช้น้ำยาฟอกขาวในการทำความสะอาด เพราะเป็นสารเคมีที่เข้มข้น และ มีฤทธิ์การขจัดคราบมากกว่าส่วนผสมอื่น ๆ ที่สำคัญคือการห้ามนำมาใช้ร่วมกับ น้ำส้มสายชู หรือผสมกันเป็นอันขาด เพราะส่วนผสมทั้งสองชนิดนี้ จะทำให้เกิดแก๊สพิษที่ส่งผลทั้งการทำลายเนื้อผ้า และ เกิดผลเสียถ้าหากสูดดมเข้าไป ยิ่งในขั้นตอนการทำความสะอาดเสื้อผ้าที่สามารถใช้ได้ทั้งสองอย่างก็ต้องระวังเป็นพิเศษ และเลือกใช้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

6 . เลี่ยงการใช้ร่วมกับสบู่น้ำมัน

ไม่ว่าจะเป็นน้ำส้มสายชู หรือสบู่น้ำมัน ต่างก็เป็นตัวช่วยทำความสะอาดได้เป็นอย่างดี เพียงแค่ส่วนผสม 2 อย่างนี้ ควรใช้แยกกันเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ แน่นอนว่า ไม่ควรนำน้ำส้มสายชู และสบู่มาใช้คู่กันในการทำความสะอาด เพราะแทนที่จะช่วยขจัดคราบ และสิ่งสกปรก อาจกลายเป็นไม่ได้มีส่วนช่วยในการทำความสะอาดแม้แต่น้อย ทางที่ดีอย่าลืมเช็คกันก่อนทำความสะอาดและใช้ส่วนผสมต่าง ๆ ให้เหมาะกับคราบที่ต้องการขจัดออก

7 . หน้าจออุปกรณ์ต่าง ๆ

น้ำส้มสายชู

ถึงแม้ว่าน้ำส้มสายชูจะเป็นอีกส่วนผสมที่นำไปเช็ดกระจกให้สะอาดใสได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหากเป็นหน้าจอของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อย่างแท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะพื้นผิวของหน้าจอเหล่านี้ มักมีสารเคลือบอยู่ การใช้น้ำส้มสายชูเช็ดทำความสะอาด อาจทำให้สารเคลือบ หรือสารกันรอยเสียหายได้ ซึ่งจะต่างจากกระจกบริเวณฉากในห้องน้ำ หรือหน้าต่างที่สามารถทำความสะอาดได้อย่างเต็มที่

น้ำส้มสายชูกับประโยชน์ของการซักผ้า

รวมวิธีไล่มดแบบง่าย ๆ จากของใช้ใกล้ตัว

ติดตามบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ที่เพจ บ้านและสวน Baanlaesuan.com