การทำให้สวนในบ้านเป็นมิตรต่อโลกและเพื่อนต่างสายพันธุ์

“การฟื้นฟูธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ แค่พื้นที่เล็กๆ ในสเกลของสวนหลังบ้านก็สามารถทำได้แล้ว อย่างที่ออฟฟิศของใจบ้านเองก็ได้มีการทดลอง ซึ่งก็เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ จากดินลูกรัง สู่การฟื้นคืนระบบนิเวศจริงๆ”

คุณตี๋ – ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิกจาก ใจบ้านสตูดิโอ ผู้ร่วมออกแบบสวนโชว์ในงานบ้านและสวนแฟร์ Living Festival 2023 ได้กล่าวถึงตัวอย่างและการจัดการพื้นที่สวนภายในบ้านให้เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นคืนธรรมชาติในเมือง ที่นอกจากจะช่วยสร้างความสวยงามให้กับโลกและถิ่นที่อยู่อาศัยได้แล้ว ยังสามารถสร้างความหลากหลายทางชีวภาพที่เอื้อต่อชีวิตอื่น รวมถึงเป็นแหล่งอาหารให้กับเพื่อนสิ่งมีชีวิต อย่าง ผึ้ง ผีเสื้อ นก และแมลง พร้อมทั้งแชร์เทคนิคและวิธีการทำให้สวนภายในบ้านของเราเป็นมิตรต่อโลกและเพื่อนต่างสายพันธุ์อย่างง่าย ดังนี้

[Rewilding Garden คือ การปล่อยให้พืชและสัตว์พื้นถิ่นที่มีอยู่ในธรรมชาติกลับคืนมา อย่างพืชป่าที่คนเรียกว่า “วัชพืช” ขึ้นตามคันนา เช่น กะทกรก หรือหิ่งเม่นดอกสีเหลือง เพื่อสร้างความหลากหลายในระบบนิเวศ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องประคับประครองพื้นที่ไม่ให้ถูก takeover จากธรรมชาติมากจนเกินไป – ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักนิเวศวิทยา]

1. ไม่ใช้สารเคมีในสวน

แมลงและแมงหลายชนิดอ่อนไหวกับสารเคมีมาก ๆ เช่น ผึ้ง ชันโรง ผีเสื้อ ซึ่งเราอาจจะเคยรู้กันอยู่แล้ว แต่มีแมลงและแมงบางพวกที่วางไข่และตัวอ่อนในดินหรือพื้นที่ชื้นแฉะ ซึ่งเราไม่ค่อยได้สังเกตเห็น อย่าง จักจั่น หรือผึ้งที่อยู่ในดิน ที่จะหายวับไปจากสวนในบ้านของเรา เพราะสารเคมีที่เราใช้ไหลซึมลงไปในดิน หรือจากละอองเคมีที่เราฉีดพ่นตกลงบนผิวน้ำ ซึ่งเป็นที่วางไข่และตัวอ่อนของแมลงที่น่ารัก อย่าง ชีปะขาว หิ่งห้อย และแมลงปอ

2. ไม้ยืนต้นที่หลากหลาย

การปลูกผลไม้ที่หลากหลาย ดึงดูดได้ทั้งกระรอก กระแต นก และผีเสื้อ กิ่งก้านของมันยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นกสร้างรังในช่วงวางไข่ เป็นบ้านของกิ้งก่า และกิ่งผุเก่าแก่ยังเป็นโพรงอย่างดีให้กับนกตีทอง อีกทั้งยอดทรงพุ่มของเรือนยอดที่ต่อกันแพ ยังทำหน้าที่เป็นระเบียงนิเวศหรือทางด่วนยกระดับอย่างดี ให้สัตว์ได้เดินทางเคลื่อนย้ายและกระจายพันธุ์ เชื่อมต่อกันจากหย่อมป่าเล็ก ๆ จากบ้านหนึ่งไปสู่อีกบ้านหนึ่ง รวมไปถึงต้นไม้อีกหลายชนิดที่ดอกบานตอนกลางคืน อย่าง แคนา เพกา ละมุด ยังช่วยดึงดูดค้างคาวที่ช่วยกินยุงให้กับเรา

3. ไม้ดอกที่หลากหลายทั้งรูปทรง สีสัน และขนาด

การมีดอกไม้หลายหลายชนิดในสวน ทั้งสีสัน รูปทรง และขนาด จะช่วยดึงดูดผีเสื้อและผึ้งแตกต่างชนิดกัน เนื่องจากปากดูดน้ำหวานของผีเสื้อกับดอกไม้ต่างวิวัฒนาการมาร่วมกัน ส่วนแมลงต่าง ๆ ก็เห็นสีไม่เหมือนกับที่เราเห็น เช่น ผึ้งไม่เห็นสีแดง แต่เห็นสีฟ้า เหลือง ชมพู ส้ม ได้ดี ดังนั้น ถ้าสวนเรามีดอกไม้หลากหลายสีสัน รูปทรง ก็ย่อมดึงดูดผีเสื้อและแมลงได้หลากหลายชนิด กว่าสวนที่มีดอกสวยเพียงชนิดเดียว

4. หญ้าหลากหลายระดับความสูง

เรามักสบายใจเมื่อเห็นหญ้าเรียบเตียน และรู้สึกขัดตากับความรกเมื่อเห็นหญ้ายาว ๆ ซึ่งหากเราลองสังเกตดอกหญ้าในเมือง เราจะพบว่าจะเห็นความหลากหลายของหญ้าเพียงไม่กี่ชนิด เนื่องจากเมล็ดหญ้าที่ฝังอยู่ในดินไม่ได้มีโอกาสได้งอก เพราะโดยตัดเสียก่อน ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเราต่างเคยมีสัญชาตญาณที่ต้องเอาตัวรอดในทุ่งหญ้า เพื่อระวังภัยจากสัตว์ป่าในอดีต การได้เห็นทุ่งโล่งจึงเกิดความสบายใจในระดับพันธุกรรม

แต่ในเมืองปัจจุบันไม่ต้องกลัวสัตว์ป่าเหมือนในอดีต และการมีพื้นที่ที่ปล่อยให้หญ้ายาวได้บ้างนั้นก็ดีกับระบบนิเวศ เช่น เมล็ดหญ้าบางชนิดเป็นอาหารให้นกปากสั้น ๆ อย่าง นกกระจอก นกกะติ๊ด อีกทั้งพงหญ้ายังเป็นที่หลบภัยและบ้านให้สัตว์และแมลง อย่าง เต่าทอง หรือแม้แต่เป็นวัสดุทำรังของนกกระจาบ อีกทั้งการมีพื้นที่รกชัฏให้หญ้าได้ยาวบ้างในพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น ริมแม่น้ำ ริมคลอง จึงช่วยกรองสารเคมีจากพื้นที่เมืองลงแหล่งน้ำ หรืออุณหภูมิของใต้ดินบริเวณนั้นยังลดลงกว่าพื้นที่หญ้าประดับสั้น ๆ และการเว้นพื้นที่มุมใดมุมหนึ่งของบ้านให้หญ้ามีโอกาสยาวได้บ้าง อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนิเวศของเมืองได้

5. แหล่งน้ำ

แหล่งน้ำจำเป็นกับสัตว์และแมลง ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ แอ่งน้ำที่ตื้นมาก ๆ ประมาณ 2 – 15 เซนติเมตร อย่างถาดดินเผาเพื่อให้นกอาบน้ำ กินน้ำ หรือสระน้ำตื้น ๆ ซึ่งอาจเป็นบ่อปูนหรือบ่อดินที่ลึกตั้งแต่ 15 – 50 เซนติเมตร แหล่งน้ำที่ว่านี้อาจเป็นอันเดียวกันได้ โดยต้องมีขนาดความลึกหลากหลาย เพราะความต่างระดับที่หลากหลายของระดับน้ำ ทำหน้าที่ต่างกัน เช่น เป็นที่อาบน้ำ กินน้ำของนก เป็นที่กินน้ำของผึ้ง วางไข่ของแมลงปอ หรือเป็นที่วางไข่ของกบ หรือเลี้ยงปลา

รวมทั้งพืชน้ำที่หลากหลายก็ชอบระดับที่แตกต่างกัน จุดสำคัญคือ แหล่งน้ำนี้ต้องมีจุดที่นกและแมลงเกาะได้อย่างปลอดภัย หรือจุดสัญจรให้สัตว์ขึ้นลงน้ำได้อย่างปลอดภัย แหล่งน้ำนี้ควรมีส่วนที่โดนแดดบ้าง และอยู่ในร่มบ้าง เพื่อไม่ให้อุณหภูมิของน้ำร้อนเกินไป หรือร่มจนพืชน้ำทั้งชายน้ำและในน้ำขึ้นไม่ได้ เพราะความหลากหลายของพืชในน้ำและพืชชายน้ำ เป็นตัวสร้างสมดุลของธาตุอาหารในแหล่งน้ำ

6. กองใบไม้ กองท่อนไม้

ตรงบริเวณกองใบไม้หรือกองปุ๋ยหมักของบ้าน มักเป็นพื้นที่ชื้นเย็น สัตว์เลื้อยคลานและแมลงมักไปวางไข่หรือทำรัง จุดนี้ควรจะอยู่ห่างจากตัวบ้าน และแต่ละปีควรรื้อออกไปใช้เป็นปุ๋ยบ้าง เพื่อให้นก (หรือไก่) มาช่วยกำจัดแมลงหรือแมงที่มีพิษ เช่น ตะขาบ แมงป่อง กองท่อนไม้ที่วางไว้ในตำแหน่งเย็น ๆ แบบนี้ มักดึงดูดให้ผึ้งมิ้มมาอยู่ รวมทั้งจิ้งเหลนซึ่งไม่ได้มีพิษมาอยู่ และทั้งสองเป็นแหล่งอาหารสำคัญของนกผู้ล่า