บ้านโมเดิร์นพื้นถิ่น

ความงามของ บ้านโมเดิร์นพื้นถิ่น จากการประดิดประดอยอย่างตั้งใจ

บ้านโมเดิร์นพื้นถิ่น
บ้านโมเดิร์นพื้นถิ่น

บ้านโมเดิร์นพื้นถิ่น ที่แสดงถึงตัวตนของความเป็น Craftmanship ผ่านการเล่นและทดลองวัสดุ แม้องค์ประกอบหลายๆ อย่างไม่ได้เป็นสิ่งใหม่แปลกตาอะไร แต่ผู้ออกแบบนำมาเรียบเรียงภาษาในการออกแบบใหม่ ผ่านการทดลองกันหน้างาน จนเกิดเป็นความงาม ณ ช่วงเวลานั้น

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Housescape Design Lab

บ้านโมเดิร์นพื้นถิ่น ที่ทำเป็นบ้านพักตากอากาศโทนสีดำ สะท้อนตัวตนเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงามในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ออกแบบภายนอกให้ดูสงบนิ่ง ส่วนภายในบ้านห่อหุ้มบรรยากาศอบอุ่น รองรับการใช้ช่วงเวลาพักผ่อนในวันหยุดของครอบครัว

บ้านโมเดิร์นพื้นถิ่น
บ้านโมเดิร์นพื้นถิ่น
ตัวบ้านแบ่งออกเป็น 2 หลัง วางแนวอาคารเป็นตัวแอล (L) เพื่อสร้างสวนคอร์ตตรงกลาง ทั้งสองอาคารเชื่อมต่อถึงกันโดยชานทางเดิน โดยมีโซนจอดรถแยกตัวอยู่บริเวณด้านหน้าริมรั้ว

คุณบอย – อภิชาติ เจริญสุข ตั้งใจสร้างบ้านหลังนี้มาจากความต้องการขยับขยายพื้นที่ใช้สอยให้มากขึ้น เนื่องจากบ้านพักตากอากาศเดิมมีพื้นที่ไม่เพียงพอใช้งาน ด้วยความชื่นชอบในวิถีเรียบง่ายและสนใจความเป็นพื้นถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการออกแบบของสตูดิโอ Housescape Design Lab เจ้าของบ้านจึงมอบหมายโจทย์ในการออกแบบที่ค่อนข้างเปิดกว้างให้สถาปนิก คุณเบล – พีระพงษ์ พรมชาติ ที่ขอเพียงตอบสนองการใช้งานตามวิถีคนเมือง และยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของความเป็นพื้นถิ่นล้านนา โดยสามารถใส่ลูกเล่นและทดลองได้อย่างเต็มที่

ฟังก์ชันร่วมสมัยตามวิถีชีวิตคนเมือง

เนื่องจากสมาชิกในบ้านล้วนหลงรักการทำอาหาร และชอบการพูดคุยแลกเปลี่ยน ห้องรับแขกของบ้านจึงไม่ได้มาในรูปแบบของชุดโต๊ะและโซฟาแต่อย่างใด แต่ออกแบบให้เป็นพื้นที่รับประทานอาหารซึ่งเชื่อมต่อไปยังเคาน์เตอร์เตรียมอาหาร และห้องครัว สถาปนิกจึงจัดวางให้ตำแหน่งห้องรับประทานอาหารอยู่บริเวณด้านหน้าซึ่งเป็นพื้นที่แรกพบของบ้าน เพื่อต้อนรับแขกที่แวะเวียนมาพบปะสังสรรค์

ออกแบบฟังก์ชันให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในครอบครัวซึ่งอยู่อาศัยแบบคนเมือง โดยแบ่งตัวบ้านออกเป็นสองหลัง และจัดวางแนวอาคารเป็นรูปตัวแอล (L) ล้อมคอร์ตซึ่งเป็นพื้นที่สวนไว้ พื้นที่ส่วนกลางเป็นเรือนขนาดใหญ่ประกอบด้วยพื้นที่รับประทานอาหาร ส่วนเตรียมอาหาร ห้องครัว ห้องนั่งเล่น และห้องนอนลูก ส่วนห้องนอนหลัก (Master Bedroom) จะแยกออกมาเป็นอีกเรือนที่มีขนาดเล็กกว่า สามารถเดินเชื่อมต่อมาจากห้องนั่งเล่นผ่านชานทางเดินคอนกรีตที่ตกแต่งด้วยต้นไม้ใบเขียวช่วยสร้างบรรยากาศร่มรื่นระหว่างทาง

ตัวบ้านผสมผสานความร่วมสมัยและกลิ่นอายท้องถิ่น บางส่วนจึงเลือกใช้เป็นกระจกบานขนาดใหญ่ และผนังคอนกรีตแทนการใช้ไม้อย่างบ้านพื้นถิ่นดั้งเดิม เน้นการใช้งานที่สะดวกสบายด้วยเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน แต่คงไว้ซึ่งกลิ่นอายของความเป็นบ้านล้านนา โดยถ่ายทอดผ่านองค์ประกอบของตัวอาคาร และวัสดุจากท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ       

บ้านโมเดิร์นพื้นถิ่น
ทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารปลูกไม้เลื้อยบนหลังคาให้ร่มรื่น ลานบ้านปูพื้นกระเบื้องดินเผาสร้างขอบเขตให้เป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างภายนอกกับภายในบ้าน โดยมีต้นไม้ใหญ่บริเวณลานช่วยสร้างร่มเงา
หลังคารูปทรงจั่วมีชายคายื่นยาวลงมาตามลักษณะบ้านไทย ใช้วัสดุมุงหลังคากระเบื้องกว่าสองหมื่นชิ้นร้อยเรียงเป็นแพตเทิร์นที่สวยงามด้วยฝีมือของช่างในท้องถิ่นชาวลำพูน และทาสีดำเพื่อให้สอดคล้องไปกับสีเข้มของผนังคอนกรีตและไม้
พื้นที่รับประทานอาหารออกแบบให้เป็นพื้นที่ต้อนรับแขกของบ้าน ทำเป็นผนังบานเลื่อนกระจกให้เปิดพื้นที่และมุมมองไปยังสวน ภายในห้องเลือกใช้วัสดุโทนสีอ่อนอบอุ่นให้ตัดกับภายนอกอย่างสิ้นเชิง และออกแบบฝ้าเพดานโชว์โครงสร้างของหลังคาบางส่วน
เคาน์เตอร์เตรียมอาหาร
เคาน์เตอร์เตรียมอาหารต่อเนื่องกับพื้นที่รับประทานอาหาร ออกแบบให้เป็นเคาน์เตอร์ยาวหน้าบานไม้ที่กลมกลืนกับโทนวัสดุโดยรวมของบ้าน

ความเป็นท้องถิ่นในลุคโทนสีดำทันสมัย

“เกือบทั้งหมดของบ้านหลังนี้มาจากฝีมือของช่างในท้องถิ่น” คือสิ่งที่สถาปนิกตั้งใจให้เกิดขึ้นกับบ้านหลังนี้ แน่นอนว่าวัสดุที่ใช้ในการออกแบบก็หาได้ง่ายในเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง และใช้ฝีมือการก่อสร้างจากคนในท้องถิ่นเพื่อลดการนำเข้าวัสดุที่ผลิตจากโรงงานให้มากที่สุด ซึ่งเป็นหนึ่งในปรัชญาที่ทางสตูดิโอ Housescape Design Lab ยึดมั่นมาโดยตลอด จะมีบางส่วนเท่านั้นที่ไม่สามารถหาได้ในท้องถิ่น โดยทีมสถาปนิกจะคัดสรรวัสดุ และคิดค้นวิธีประยุกต์ใช้ในส่วนต่างๆ ของบ้าน เพื่อถ่ายทอดเอกลักษณ์ความเป็นบ้านพื้นถิ่นภาคเหนือให้ลงตัวที่สุด

“กระเบื้องหลังคาบ้าน เราสั่งผลิตจากช่างในจังหวัดลำพูน ส่วนไม้ทั้งหมดที่นำมาใช้ก็หาได้จากท้องถิ่น บ้างเป็นไม้เก่านำมาปรับปรุงใช้ใหม่ โดยยังคงเสน่ห์ของเนื้อไม้ เพียงแต่นำมาย้อมสีโทนดำ ให้ดูมีความโมเดิร์นมากขึ้นกว่าการโชว์สีของเนื้อไม้จริง”

ตัวบ้านถอดลักษณะสถาปัตยกรรมมาจากเรือนล้านนา บริเวณหน้าบ้านมี “เติ๋น” หรือพื้นที่นั่งเล่นกึ่งภายนอกภายใต้ชายคาที่ยื่นยาวออกมาสร้างร่มเงาให้พื้นที่นั่งเล่นส่วนนี้ สำหรับคนในบ้านออกมานั่งทำกิจกรรมและรับลมภายนอกในวันที่อากาศดี บานประตูหน้าต่างของห้องรับประทานอาหารออกแบบให้เป็นกระจกบานใหญ่เต็มบาน เพื่อเปิดมุมมองไปยังพื้นที่สวน ผสมผสานไปกับผนัง “ฝาไหล” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบ้านแบบพื้นถิ่นภาคเหนือ นำมาใช้ในส่วนของห้องนอนหลัก เนื่องจากเป็นห้องที่ไม่จำเป็นต้องการช่องเปิดขนาดใหญ่มากนักเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว

บ้านสีดำ
ออกแบบอาคารของห้องนอนหลักให้เป็นผนังไม้ทั้งหมด และเลือกใช้เผนังฝาไหลแทนการเป็นบานหน้าต่างกระจก เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว ด้านหน้ามีบ่อน้ำและสวนขนาดย่อม ห้องนอนจึงใกล้ชิดกับพื้นที่สีเขียวและได้รับความเย็นจากลมที่พัดผ่านบ่อน้ำเข้าสู่ตัวบ้าน
เติ๋น
เติ๋น
เติ๋นหรือพื้นที่นั่งเล่นกึ่งภายนอกบริเวณด้านหน้าตัวบ้าน ออกแบบให้อยู่ภายใต้ชายคาที่ยื่นยาวตามลักษณะของเรือนในภาคเหนือ ซึ่งเชื่อมต่อมาจากพื้นที่รับประทานอาหารด้านใน เป็นการเพิ่มพื้นที่การใช้งานต่อขยายมาจากด้านในบ้าน โดยเลือกใช้ไม้ทำสีดำเป็นวัสดุปูพื้น ไว้สำหรับให้คนในบ้านออกมานั่งทำกิจกรรมรับลมภายนอกในวันที่อากาศดี 
เติ๋น
โถงต้อนรับบริเวณทางเข้าบ้านเป็นพื้นที่รองรับและเชื่อมต่อระหว่างห้องรับประทานอาหารกับห้องนั่งเล่นอีกฝั่ง ประดับด้วยโคมไฟซึ่งออกแบบโดยสถาปนิก
ฐานเสา
ฐานเสาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมไทย โดยออกแบบให้ตัวฐานลดหลั่นกันเพื่อเพิ่มมิติความสวยงามเปรียบเสมือนเครื่องประดับให้เสา
ขอบพื้นกันปีน ออกแบบให้โครงสร้างเหล็กยื่นออกมา เพื่อบังคับวิธีการใช้งานไม่ให้เดินเหยียบพื้นดินขึ้นมาบนบ้านโดยตรง แต่ให้เดินผ่านพื้นที่ล้างเท้าก่อน
ที่ล้างเท้า
ทำที่ล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน ออกแบบโดยถอดลักษณะการย่อมุมแบบไทยประยุกต์ใช้กับวัสดุร่วมสมัยอย่างเหล็ก
เสาเหล็ก
ใช้เป็นโครงสร้างเสาเหล็กกล่องนำมาประกบ ช่วยสร้างเส้นสายของโครงสร้างทำให้เสาดูโปร่งขึ้นมากกว่าการใช้เสาที่ทึบตัน

การปรากฏขึ้นของความงาม ณ ช่วงเวลาทดลอง

หากจะกล่าวว่ารายละเอียดความงามในการออกแบบบ้านหลังนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้างก็คงไม่ผิด เพราะด้วยความชอบในงานประดิดประดอยของสถาปนิกเป็นทุนเดิม ความสนุกในการเล่นกับวัสดุในบ้านหลังนี้จึงปรากฏอยู่ในองค์ประกอบต่างๆ ของบ้านตั้งแต่โครงสร้าง วัสดุ เฟอร์นิเจอร์ ผ่านการคิดค้นทดลองภายในสตูดิโอออกมาเป็นโมเดลตัวอย่างแบบหนึ่งต่อหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ แม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์เองบางชิ้นก็ออกแบบขึ้นเพื่อบ้านหลังนี้โดยเฉพาะ “องค์ประกอบหลายๆ อย่างของบ้านหลังนี้ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่แปลกตาอะไร แต่เรานำมาเรียบเรียงภาษาในการออกแบบใหม่ ผ่านการทดลองกันหน้างาน จนเกิดเป็นความงาม ณ ช่วงเวลานั้น”

จุดที่น่าสนใจคือซุ้มประตูที่มีสัดส่วนสะดุดตา และการเรียงร้อยของวัสดุหลังคา “หลังคาของซุ้มประตูทางเข้าเกิดจากความตั้งใจอยากเรียงไม้ในแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน จึงทดลองนำมาเรียงใหม่จนได้แพตเทิร์นที่เห็นว่าสวยงาม และเหมาะสมเพียงพอต่อการใช้งาน”

ประตูบ้านสีดำ
สถาปนิกตั้งใจออกแบบซุ้มประตูทางเข้าบ้านให้เป็นทางเข้าที่ดูไม่จริงจังมากนัก เป็นเพียงซุ้มขนาดเล็กแต่มีความน่าสนใจจากการเลือกใช้วัสดุมาผสมผสานกันของหลังคาโครงสร้างเหล็ก และมุงแผ่นไม้จากท้องถิ่นควบคู่ไปกับบานประตูไม้สีเข้ม
หลังคาสีดำ
นำแผ่นหลังคาไม้เก่ามาทดลองเรียงต่อกันแบบใหม่ จนได้แพตเทิร์นที่สวยงาม
ใช้หวายเทียมสานทำสีดำยึดเข้าไว้กับเฟรมเหล็ก รั้วบ้านจึงดูมีมิติมากยิ่งขึ้นจากแพตเทิร์นของการสาน ช่วยสร้างเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้หน้าตาของบ้าน
ห้องนอน
ภายในห้องนอนหลักใช้วัสดุโทนสีอ่อนเช่นเดียวกับพื้นที่ภายในบ้านส่วนอื่นๆ เพื่อให้ความรู้สึกอบอุ่นต่อเนื่องกันทั้งหลัง พื้นผิวผนังภายในใช้ฉาบด้วยปูนซีเมนต์ผสมกับแกลบ เพื่อสร้างพื้นผิวของผนังที่สะท้อนลักษณะความเป็นชนบทออกมา
โถงทางเดินภายในบริเวณห้องนอนหลัก ออกแบบผนังแบบฝาไหล เปิดมุมมองไปยังสวน แต่ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวได้ดี  
ห้องน้ำ
ออกแบบห้องน้ำในห้องนอนหลักให้มีไม้แทรกอยู่บริเวณผนังและฝ้าบางส่วน เพื่อเติมกลิ่นอายของความเป็นพื้นถิ่น ภายนอกมีสวนขนาดย่อม ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศที่ดี และนำแสงธรรมชาติเข้ามาในห้องน้ำเพื่อลดความอับชื้น
เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เลือกสรรโดยเจ้าของบ้าน มีความทันสมัยสอดคล้องไปกับพื้นที่ภายในบ้านและไลฟ์สไตล์

สวนน้อยแต่มาก ด้วยการจัดวางเฉกเช่นงานศิลปะ

สวนของบ้านหลังนี้มอบความสงบนิ่งไม่ต่างจากตัวบ้าน พรรณไม้ภายในสวนเลือกชนิดที่ดูแลรักษาได้ง่าย และเน้นเป็นสวนหินโรยกรวด ซึ่งจัดเรียงองค์ประกอบเส้นสายไว้อย่างตั้งใจ เราจะเห็นก้อนหินวางนิ่งอยู่ในพื้นที่ว่างที่ออกแบบไว้ให้พอดิบพอดี พื้นที่บางส่วนทำเป็นเนินดินสูงเพื่อสร้างมิติให้พื้นที่สวนมากขึ้น มีบ่อน้ำช่วยสร้างบรรยากาศร่มรื่นให้ตัวบ้าน โดยมีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาด้วยรูปทรงลำต้นที่สวยงาม ต้นไม้จึงเปรียบเสมือนงานประติมากรรมที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้บ้านน่าอยู่ยิ่งขึ้น

การผสมผสานระหว่างความร่วมสมัยกับความเป็นพื้นถิ่นเป็นเสนห์ของบ้าน โดยนำมาตีความใหม่ได้อย่างลงตัว เมื่อมองภายนอกเราจะเห็นบ้านสไตล์โมเดิร์นร่วมสมัย แต่เมื่อมองในเชิงรายละเอียดจะพบว่าบ้านหลังนี้ไม่ได้ละเลยความเป็นพื้นถิ่นไปเลยแม้เเต่น้อย มีวัสดุท้องถิ่นสอดแทรกอยู่ในตัวสถาปัตยกรรมภายใต้รูปทรงอาคารที่นอบน้อมต่อบริบทในชุมชน แต่ยังคงไว้ซึ่งการใช้งานที่ตอบสนองคนเมืองได้อย่างดีตามที่สถาปนิกได้ทิ้งท้ายว่า

บรรยากาศของบ้านในยามค่ำคืน จะเห็นได้ว่าพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้านดูโปร่งโล่งและเชื่อมต่อถึงกัน
ห้องนั่งเล่นสามารถเดินเชื่อมต่อไปยังอาคารอีกหลังได้โดยผ่านลานทางเดินคอนกรีต ออกแบบให้พื้นบ้านยกลอยจากพื้นดินตามลักษณะของบ้านไทยพื้นถิ่น และเพื่อสร้างเส้นสายของกรอบอาคารให้ดูชัดเจนยิ่งขึ้น
บ้านชั้นเดียวสีดำ
บรรยากาศยามเย็น บริเวณสวนใช้เป็นพื้นที่สำหรับนั่งเล่นผิงไฟกลางแจ้ง และทำกิจกรรมภายนอก

“บ้านหลังนี้คือบ้านแสดงถึงตัวตนของความเป็น Craftmanship ผ่านการเล่นและทดลองวัสดุจากท้องถิ่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ”

เจ้าของ : คุณอภิชาติ เจริญสุข

ออกแบบสถาปัตยกรรม – ออกแบบตกแต่งภายใน : Housescape Design Lab โดยคุณพีระพงษ์ พรมชาติ


เรื่อง  : Nantagan

ภาพ : Rungkit Charoenwat

บ้านล้านนา – โมเดิร์น คืนชีวิตใหม่ให้เรือนไม้หลังเก่า

รวม 70 แบบบ้านชั้นเดียว