บ้านไม้พื้นถิ่นร่วมสมัย

“บ้านสวนอธิษฐาน” บ้านไม้พื้นถิ่นร่วมสมัย

บ้านไม้พื้นถิ่นร่วมสมัย
บ้านไม้พื้นถิ่นร่วมสมัย

บ้านไม้พื้นถิ่นร่วมสมัย หลังนี้มีชื่อว่า “บ้านสวนอธิษฐาน” ซึ่งออกแบบให้มีสัดส่วนรูปทรงที่สอดคล้องกับการวางฟังก์ชันภายใน ใช้งานตามทิศแดดลมฝนได้ดี ดูกลมกลืนไปกับบ้านไม้ของชุมชนโดยรอบ

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Jaibaan Studio

บ้านไม้พื้นถิ่นร่วมสมัย หลังนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการออกแบบใหม่ให้ตรงกับการใช้งานของเจ้าของบ้าน คุณตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร แห่ง ใจบ้านสตูดิโอ ซึ่งเป็นสถาปนิกผู้ร่วมพัฒนาชุมชน จนเป็นเหมือนคนคุ้นเคยของหมู่บ้านที่น่ารักทั้งบรรยากาศและคนในท้องที่

บ้านไม้พื้นถิ่นร่วมสมัย
ตัวบ้านทั้งหมดเมื่อมองจากภายนอกจะเป็นบ้านไม้ที่มีระเบียงขนาดใหญ่ คุณตี๋ เจ้าของบ้านและสถาปนิกผู้ออกแบบยืนอยู่ด้านหน้าพร้อมสวนสวยที่เรียบง่าย
บ้านไม้พื้นถิ่นร่วมสมัย
จากลานโล่งและต้นไม้ใหญ่หน้าบ้าน หลังคาเป็นกระเบื้องวิบูลย์ศรีของจังหวัดลำพูน

ด้วยรักและผูกพันกับชุมชน

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว คุณตี๋ได้เข้ามาทำงานวางผังร่วมกับชุมชนในหมู่บ้านของตำบลแม่ทา เกิดเป็นความรักความผูกพันกับผู้คน จึงได้ซื้อที่ดินผืนนี้เพื่อปลูกบ้าน  “จริงๆ ผมก็โตมาในชนบทเหมือนกัน เลยอยากให้ลูกได้เห็นความหลากหลายของผู้คน ของธรรมชาติ พอดีได้ที่ผืนนี้มาเพราะใกล้กับบ้านเพื่อน และพี่น้องที่นี่ก็น่ารัก เดิมที่ตรงนี้เป็นที่นาเดิมที่เขาไม่ได้ทำนา มีขนาดประมาณ 3 งาน เราก็ขุดสระนิดหนึ่ง เพราะลำเหมืองด้านหลังถ้าน้ำล้นมา เราก็จะดักน้ำนี้เพื่อเติมน้ำใต้ดินในที่ของเรา”  

แปลงผักสวนครัว
มุมมองของบ้านเมื่อมองจากถนนเข้ามา ตัวบ้านขยับเข้าไปด้านใน รอบสระปลูกโสนใช้ปรุงอาหารได้

บ้านไม้ตามบริบทโดยรอบ

โจทย์ของการออกแบบคือ อยากให้บ้านดูกลมกลืนไปกับบ้านไม้ของชุมชนโดยรอบ แต่ก็ยังอยากให้บ้านมีสัดส่วนรูปทรงที่สอดคล้องกับการวางฟังก์ชันภายใน ใช้งานตามทิศแดดลมฝนได้ดี บ้านไม้ตามรูปแบบบ้านส่วนใหญ่แถวนั้นจึงเป็นภาพร่างแรกที่ถูกกำหนดขึ้นมา แต่เนื่องจากด้านหน้าบ้านติดถนนที่รับวิวดอยขุนตาลเป็นทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศที่มีแดดแรง ก่อนสร้างบ้านจึงได้ปลูกต้นไม้ที่จะเติบโตเป็นไม้ใหญ่ไว้ก่อน อาทิ หว้าขี้กวาง เสี้ยวป่า ซ้อ สมอพิเภก เลี่ยน เพื่อช่วยบังแดด และกำหนดให้ชายคาด้านนี้ยื่นยาวออกมา กลายเป็นระเบียงนั่งเล่นแนวยาวขนาดใหญ่ ช่วยลดความร้อนและแสงที่จะเข้าสู่ตัวบ้าน แตกต่างไปจากบ้านพื้นถิ่นทั่วไป

ส่วนตัวบ้านก็กำหนดให้มีขนาดใกล้เคียงกับบ้านแถวนั้น ไม่อยากให้รู้สึกว่าเป็นคนนอกที่เข้ามาอยู่อย่างแปลกแยก ให้มีต้นไม้บังๆ บ้างบางส่วน แต่ก็จะมีการปรับการใช้งานบางส่วน ให้บันไดอยู่ภายในตัวบ้าน และพื้นที่ชั้นล่างที่ส่วนใหญ่เป็นใต้ถุนกลายเป็นพื้นที่ปิด เพราะไม่ได้มาอยู่เป็นประจำ

รั้วไม้ไผ่
รั้วไม้ไผ่
รั้วหน้าบ้านทำเป็นรั้วลวดหนามทั่วไป แต่สร้างบรรยากาศให้เชื่อมต่อกับบ้านไม้ด้านในโดยการทำไม้ไผ่เป็นลำๆ มาเรียงขัดเป็นจังหวะ ช่วยลดความแข็งกระด้างของโครงสร้างรั้วปูน

ภูมิปัญญาดั้งเดิมกับการใช้งานใหม่

โครงสร้างฐานรากเป็นปูน ตัวบ้านส่วนพื้นใช้เหล็กในส่วนคานและตง เพื่อง่ายต่อการก่อสร้างและประหยัด ปูพื้นไม้จริง ระเบียงหน้าบ้านใช้คานไม้จริง ซึ่งไม้ทั้งหมดเป็นไม้เก่าที่มาจากบ้านสามหลัง โดยคัดสีไม้ ให้ไม้สักเป็นส่วนโชว์และผนัง พื้นเป็นไม้เนื้อแข็งคละสีคละลายตามที่มี ขณะที่โครงสร้างด้านนอกก็มีการลดทอนให้เรียบง่าย ไม่ได้ใส่เชิงชาย แป้นน้ำย้อยหรือกาแล แต่ยังคงเป็นบ้านไม้ที่สวยงามและดูสบายๆ

โครงสร้างฐานรากของบ้านเป็นเสาปูนเพื่อป้องกันความชื้นเข้าสู่เนื้อไม้ ในส่วนของคานและตงของตัวบ้านเป็นเหล็ก นอกจากจะช่วยให้งานก่อสร้างง่ายและเร็วขึ้นแล้ว ยังทำให้ประหยัดไม้ นอกจากนี้ยังมีการทำแผ่นไม้มาปิดช่องหน้าตัดของเหล็กเพื่อให้ดูกลมกลืนกัน และไม่มีแมลงไปอาศัย
หลังคาส่วนระเบียงขึ้นโครงเสาคานไม้ มุงด้วยด้วยกระเบื้องลอนใส เพื่อช่วยลดแสงที่เข้ามา แต่ไม่มืดทึบ ส่วนตงไม้ปลายสุดมีการเฉือนปลายออกให้เอียง ทำให้หลังคาดูเบาขึ้น ปล่อยกระเบื้องลอนยื่นออกไประบายน้ำลงสวนโดยตรง

ทางเข้าทำสเต็ปลดหลั่นใช้พักถอดรองเท้าเป็นสัดส่วนคล้ายแบบบ้านญี่ปุ่น บันไดซึ่งย้ายมาอยู่ภายใน ใช้เป็นโครงเหล็กบันไดวนดูแปลกตาแต่ลงตัว ขณะที่เมื่อเดินขึ้นไปชั้น 2 ก็จะพบกับพื้นที่ที่เรียกว่า “เติ๋น” ยกระดับขึ้นมาจากพื้นเล็กน้อย คุณตี๋อธิบายว่า เติ๋นแบบดั้งเดิมจะเป็นที่รับแขกในเวลากลางวัน และเป็นที่นอนของลูกชายที่ไม่ได้อยู่ในห้อง ไม่มีประตูปิดมิดชิด เพราะตอนกลางวันลูกชายไปทำนา ไปทำงาน ไม่ค่อยอยู่บ้าน เมื่อโตจะออกเรือนไปสร้างบ้านของตัวเอง ต่างจากลูกสาวที่มีห้องเป็นของตัวเองในบ้าน แต่เติ๋นในบ้านนี้ปรับให้เป็นพื้นที่นั่งเล่นแบบนั่งกับพื้น ดูน่าสบาย เหมาะกับการเอกเขนกพร้อมรับวิวจากภายนอก 

ทางเดินเข้าหน้าบ้านเป็นสัดส่วนโดยการแยกระดับ ตั้งแต่พื้นปูกรวดล้างก่อนเข้า ไปจนถึงด้านในก่อนขึ้นไปถึงระดับพื้นไม้
ช่องหน้าต่างด้านข้างของบ้านเปิดแบบบานกระทุ้ง จัดวางเป็นจังหวะตามโครงสร้างเส้นสายของบ้าน
ระเบียงไม้
ระเบียงด้านหน้าเป็นส่วนยื่นออกมาจากตัวบ้าน บรรยากาศคล้ายบ้านญี่ปุ่นที่ประยุกต์ให้กลายเป็นบ้านไม้แบบไทยๆ ได้อย่างกลมกลืน
โต๊ะกินข้าว
มุมโต๊ะรับประทานอาหารและครัวมีแสงธรรมชาติเข้ามาจากด้านหน้าบ้าน และช่องกระจกต่างๆ ด้านบนเป็นพื้นห้องนอนโชว์โครงสร้างไม้
ครัวปูน
ส่วนเตรียมอาหาร
ดับเบิลสเปซ
พื้นโล่งชั้นล่างเปิดเป็นดับเบิลสเปซทะลุไปถึงหลังคา ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี นอกจากนี้ยังมีแสงที่เข้ามาจากช่องกระจกด้วย
มุมหนึ่งของชั้นล่างจัดเป็นโต๊ะทำงานเล็กๆ ง่ายๆ เป็นสัดส่วนแบบเปิดโล่ง
ห้องน้ำ
ระแนงไม้ไผ่
ห้องน้ำชั้นล่างแยกออกจากตัวบ้านเล็กน้อย ต้องเดินผ่านพื้นที่กึ่งเอาต์ดอร์ ด้านบนเป็นหลังคาลอนใสดูสว่าง ให้แสงและความร้อนเข้ามาได้เพื่อช่วยเรื่องสุขอนามัย

โถงสูงรับลมและแสงจากภายนอกสู่ภายใน

บนชั้น 2 ยังมีช่องเปิดที่ไหลเชื่อมต่อมาจากชั้นล่าง กลายเป็นดับเบิลสเปซเพดานสูงซึ่งต่อเนื่องมาจากชั้นล่าง ช่วยให้บ้านดูโปร่ง และมีการถ่ายเทอากาศที่ดีขึ้นต่างจากบ้านพื้นถิ่นในแบบดั้งเดิม เป็นการเพิ่มไอเดียใหม่ๆ ให้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นด้วยการวางผังที่ได้รับแนวคิดมาจากบ้านโมเดิร์น คุณตี๋เล่าให้ฟังว่า บ้านหลังนี้ใช้ช่าง (สล่า) ท้องถิ่นสร้าง คุยกันตอนแรกช่างก็รู้สึกแปลกๆ เพราะไม่เคยทำและเป็นแบบจากสถาปนิก แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วช่างก็ภูมิใจในผลงานมาก

นอกจากนี้ยังมีกำหนดช่องลมไว้หลายจุดบนชั้น 2 ช่วยในการระบายความร้อนออกไป ให้ลมไหลเวียนได้ดี มีแสงเข้า และยังถูกจัดวางในจังหวะที่สวยงามด้วย ระหว่างการก่อสร้างก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบได้อย่างน่าสนใจ เช่น ตอนแรกสถาปนิกต้องการให้ช่างเข้าสลักและเดือยไม้ตรงการต่อช่วงเสาและคาน แต่ช่างยึดสกรูไปเสียก่อนเพราะไม่เคยทำมาก่อน จึงทำเป็นเหมือนหัวน็อตไม้วงกลมมาปิด ดูน่ารักไปอีกแบบ

ผนังด้านในสุดเป็นผนังซีเมนต์บอร์ดฉาบสีดินแบบพื้นถิ่น แต่เลือกโทนสีสว่าง เพื่อใช้เป็นฉากรับแสงจากด้านหน้าระเบียงเข้ามา ทำให้บ้านดูไม่มืดทึบเกินไป ขณะที่ห้องน้ำชั้น 2 มีการวางโครงสร้างที่แข็งแรงเป็นพิเศษเพื่อรองรับอ่างอาบน้ำในพื้นที่ส่วนเปียกในทิศตะวันตก ผนังหลายส่วนในชั้น 2 ยื่นจากคานและมีสองชั้นเพราะต้องการเน้นฟอร์มของบ้านให้ชัดเจน และเพื่อเป็นพื้นที่เก็บที่กลืนไปกับผนัง รวมถึงช่วยป้องกันความร้อนในทิศตะวันตก

เติ๋น
พื้นที่ยกระดับที่เรียกว่า “เติ๋น” ของทางภาคเหนือ ใช้เป็นพื้นที่รับแขกและที่นอนของลูกชายในเวลากลางคืน
ช่องเปิดไม้
รายละเอียดของช่องเปิดและช่องแสงที่รับวิวจากภายนอกเข้ามา
คานไม้
คานไม้เป็นระยะในชั้น 2 คานด้านในสุดเป็นไม้ที่ครอบคานเหล็กอีกที พื้นเป็นไม้เนื้อแข็งคละสี ผนังทางขวาในภาพเป็นซีเมนต์บอร์ดฉาบสีดินให้ดูสว่างและมีพื้นผิวเฉพาะ
ห้องน้ำไม้
ห้องน้ำเล็กๆบนชั้น 2 แต่ครบครัน แยกส่วนแห้งและส่วนเปียกแบบโมเดิร์น ดูสะอาดตา พร้อมอ่างอาบน้ำสีขาว
ห้องนอนไม้
ห้องนอนที่เรียบง่าย ชั้นเก็บของเป็นผนังสองชั้นไปในตัว
ช่องเปิด
ช่องเปิดต่างๆ ของบ้านช่วยให้ดูโปร่งสบาย รับวิวจากบริบทที่อยู่รายล้อม
การเข้าไม้
รายละเอียดการปิดสกรูที่ใช้ต่อไม้ในส่วนเสาและคาน สถาปนิกคุยกับสล่าให้ช่วยทำไม้ทรงกระบอกกลมๆ มาปิด ดูแปลกตาแต่น่ารัก น่าสนใจ ทำให้บ้านดูมีสีสันคล้ายของเล่นไม้ของเด็ก

สวนที่ใช้งานได้กับต้นไม้พื้นถิ่น

สวนรอบๆ บ้านมีการวางไว้เป็น 2 จุดหลัก คือ ตรงลานหน้าบ้านที่ไว้ทำกิจกรรมได้ ค่อนข้างโล่ง และมีสวนรอบสระซึ่งตั้งใจปลูกไม้ดอก โดยมีแรงบันดาลใจมาจากชาวบ้านแถวนี้ที่ชอบปลูกดอกไม้เพื่อใช้ถวายพระ เวลาไปวัด ซึ่งเวลาตัดดอกไม้ก็จะมีบทสวดขอโทษต้นไม้ด้วย จึงนำมาขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น อยู่รอบๆ บ่อบาดาลที่ก่อมาเป็นเหมือนบ่อน้ำสมัยก่อน พรรณไม้ที่ปลูกก็มีหางนกยูงไทย หงอนไก่ พันงูเขียว และดอกไม้ป่า ผสมผสานไปกับสมุนไพรที่ใช้งานได้ด้วย

บ้านไม้
มุมมองจากประตูทางเข้าบ้านไปยังสวนสวยที่จัดกลุ่มด้านหน้า
บ่อน้ำบาดาล
บ่อน้ำบาดาลที่ก่อปูนขึ้นมาบังพร้อมจัดสวนผสมผสานด้วยพืชพื้นถิ่นกับสมุนไพรต่างๆ อย่างเป็นธรรมชาติ

บ้านสวนอธิษฐาน

“บ้านหลังนี้ตั้งชื่อว่า ‘บ้านสวนอธิษฐาน’ เพราะในอินเดียที่ใช้ภาษาสันสกฤต อธิษฐาน หมายถึง ความตั้งจิตมั่น ไม่ได้หมายถึง การร้องขอ อยากให้การที่ได้มาอยู่ในบ้านหลังนี้ เข้ามาแล้วจิตใจสงบมั่นคง ได้เชื่อมโยงเข้ากับธรรมชาติและผู้คนที่นี่ อยากให้ลูกได้มีประสบการณ์แบบนี้ ซึ่งเขาน่าจะจดจำได้ในเวลาที่โตขึ้น” คุณตี๋กล่าวทิ้งท้ายถึงความตั้งใจในการสร้างบ้านไม้หลังเล็กสวยๆ น่ารักๆ ที่ใส่ใจบริบทแวดล้อมหลังนี้

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร
คุณตี๋ เจ้าของบ้านและสถาปนิกผู้ออกแบบจากใจบ้านสตูดิโอ

เจ้าของ: คุณศุภวุฒิ บุญมหาธนากร

ออกแบบ: ใจบ้านสตูดิโอ

รับเหมาก่อสร้าง: Banjerd Atelier

ช่างไม้: คุณพงศกร ยืนน้อย (สล่ากิ้ว)


เรื่อง: สมัชชา วิราพร

ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข

สไตล์: ศลิษา วิราพร

JAIBAAN STUDIO หัวใจของคราฟต์คือ “ชุมชน”

รวมแบบบ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว เรียบง่าย อยู่สบายแบบไทยๆ