บ้านมินิมัลทรงกล่อง ที่ห่อหุ้มความสุขและสภาวะน่าสบาย - บ้านและสวน

บ้านกล่องของขวัญที่ห่อหุ้มความสุขและสภาวะน่าสบายไว้ภายใน

บ้านมินิมัลทรงกล่อง ที่ทำผนังกันร้อนสองชั้น (Double Skin) เพื่อป้องกันความร้อน และเปิดคอร์ตกลางบ้านให้อากาศถ่ายเท สร้างสุขภาวะที่ดีในบ้าน

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: MAKE It POP Co.,Ltd.

ประกายความคิดในการสร้างบ้าน บ้านมินิมัลทรงกล่อง หลังนี้เริ่มมาจากลูก คุณตาล – สุภาพร งามไสว เจ้าของบ้านเล่าที่มาว่า “พอเรามีลูกคนที่สอง เราก็เริ่มรู้สึกว่าลูกไม่มีที่วิ่งเล่น เดิมบ้านที่อยู่เป็นอาคารพาณิชย์ ลูกก็ต้องเล่นอยู่แต่ในบ้าน หรือไม่ก็ต้องออกไปเล่นที่สวนสาธารณะนอกบ้าน เลยมาคุยกันกับคุณจี (สามี) ว่าถึงเวลาที่เราต้องทำบ้านกันสักหลังแล้วล่ะ”

บ้านมินิมัลทรงกล่อง
พื้นที่สวนและสนามหญ้าข้างบ้านที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ให้ร่มเงาแก่เด็กๆยามออกมาวิ่งเล่น มีฉากหลังเป็นตัวบ้านทำฟาซาดบังแดดได้อย่างน่าสนใจ ฝั่งหนึ่งเป็นผนังทึบที่ฝังบล็อกช่องลมเป็นจังหวะ อีกฝั่งเป็นระแนงเหล็กที่รอให้ไม้เลื้อยเต็มผนัง 
บ้านมินิมัลทรงกล่อง
หลังบ้านเป็นระเบียงนั่งเล่นชมน้ำตกและสวนสไตล์ทรอปิคัลสร้างบรรยากาศร่มรื่น ทำให้พื้นที่ในบริเวณบ้านมีความชุ่มชื้น ลดความร้อน และทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของอากาศจากอุณหภูมิที่ต่างจากบริเวณโดยรอบ
บ้านมินิมัลทรงกล่อง

หลังจากคุณตาลและคุณจีหาแบบบ้านที่ชอบ และลองผิดลองถูกในการหัดทำแบบด้วยตัวเองอยู่นาน ด้วยการดูนิตยสารและแบบตัวอย่าง แม้กระทั่งมองหาแบบบ้านสำเร็จรูป ก็ยังไม่ได้สิ่งที่ถูกใจ โดยมีโจทย์ที่อยากได้ คือ บ้านสีขาวรูปทรงกล่องที่ไม่เหมือนใครแต่แล้วโชคชะตาฟ้ากำหนด ก็นำพาผลงานของ Make It Pop โดย คุณแป้ง-ใยชมภู นาคประสิทธิ์ และคุณก้อง-จิตรทิวัตถ์ อู่ทรัพย์ มาให้เห็นผ่านทางโซเชียลมีเดีย เมื่อได้ดูแล้วก็พบว่านี่แหละใช่เลย หลังจากติดต่อไปและแจ้งโจทย์เบื้องต้นกับสถาปนิกแล้ว ก็ยังเปิดกว้างให้ผู้ออกแบบได้จินตนาการต่อยอดพื้นที่ภายในบ้านสำหรับสมาชิกในบ้าน และนำเสนอลูกเล่นเพิ่มเติมที่มาจากความต้องการพื้นฐานของครอบครัว ซึ่งเคยอยู่อาศัยในอาคารพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่ บ้านมินิมัลทรงกล่อง

ทางเข้าบ้านมีมุมเล่นทรายของเด็กๆ ที่ออกแบบให้ซ่อนอยู่ใต้พื้นไม้ระแนงที่ปูเว้นร่องไว้สำหรับดักทรายที่ติดเท้าเด็กๆไม่ให้หลุดออกไปยังพื้นที่อื่นๆ และยังสามารถปิดฝากระบะทรายนี้เมื่อไม่ใช้แล้ว

เงื่อนไขของพื้นที่ตั้ง “แดดแรงตากผ้าไหม้” สู่แรงบันดาลใจในการออกแบบ

พื้นที่ตั้งโครงการนั้นอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี ในช่วงที่ผู้ออกแบบได้ลงสำรวจก็พบว่า เป็นพื้นที่ที่มีแดดแรง อากาศร้อนอบอ้าว อุณหภูมินอกร่มกับในร่มมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน มีความชื้นในอากาศ และปริมาณฝนตกต่อปีค่อนข้างน้อย และตกเป็นช่วงสั้นๆ อีกทั้งยังติดถนนใหญ่มีฝุ่นละอองมาจากรถยนต์ที่สัญจรไปมาตลอดวัน ประกอบกับทางเข้าสู่ที่ดินนั้นหันทางด้านทิศตะวันตก เป็นการบังคับให้หน้าบ้านจะต้องหันมาเจอกับแดดช่วงบ่ายที่ร้อนอบอ้าว จนเจ้าของบ้านเปรียบเทียบว่า “แดดแรงตากผ้าไหม้” และกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการออกแบบบ้านหลังนี้

บ้านมินิมัลทรงกล่อง
เปิดรับแสงสว่างเหนือผนังด้านนอกอาคาร นอกจากจะให้แสงสว่างกับพื้นที่ด้านล่างแบบอินไดเร็กซ์ไลต์แล้ว ยังใช้เป็นช่องทางให้อากาศหมุนเวียนอากาศระหว่างผนังด้วย
บ้านมินิมัลทรงกล่อง
ออกแบบผนังสองชั้นให้พอดีบังองศาแดดไม่ให้โดนผนังบ้าน โดยเว้นช่วงล่างให้โปร่ง ทำให้มีอากาศไหลเวียนและถ่ายเทความร้อนระหว่างผนังได้ดี

แนวคิดหลักคือการสร้างสภาวะน่าสบาย

จากเงื่อนไขสำคัญของพื้นที่ตั้งดังกล่าว จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการออกแบบอาคารให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีคุณภาพและมีสภาวะน่าสบาย โดยมีการจัดวางแนวอาคาร และการออกแบบผนังอาคารที่เน้นให้มีค่าสัมประสิทธิ์การบดบังเงา (Shading Coefficient : SC) มากขึ้น โดยใช้วิธีการเพิ่มแผงบังแดด (Shading Device) และการเพิ่มเปลือกอาคารอีกชั้น หรือการทำผนังสองชั้น (Double Skin) ในด้านที่ได้รับแสงแดดมาก ทำให้อาคารมีคุณสมบัติในการบดบังแสงแดด การป้องกันการแผ่รังสีความร้อน การลดแสงตกกระทบ และลดการนำความร้อนที่เกิดขึ้นกับผนังอาคารโดยตรง ผู้ออกแบบได้มีการทำแบบจำลองสามมิติ เพื่อเป็นการทดลองการจัดวางตำแหน่งและกำหนดขนาดแผงบังแดดที่เหมาะสม ทำให้อาคารได้รับแสงสว่างและอุณหภูมิในพื้นที่อยู่อาศัยระหว่างวันที่เหมาะสมและมีคุณภาพ มีสภาวะน่าสบายและประหยัดพลังงานเมื่อยามเปิดเครื่องปรับอากาศ

บ้านมินิมัลทรงกล่อง
พื้นที่ห้องนั่งเล่นที่เปิดโล่งสูงถึงชั้นบน โอบล้อมด้วยผนังอีกชั้นที่ติดตั้งห่างจากผนังกระจกเพื่อให้อากาศถ่ายเทความร้อนได้ โดยทำเป็นแผงบังแดดที่ออกแบบช่องให้แสงลอดผ่านเข้ามาสร้างลูกเล่นบนผนังในบ้าน
หลังบ้านเป็นระเบียงนั่งเล่นชมน้ำตกและสวนสไตล์ทรอปิคัลสร้างบรรยากาศร่มรื่น ทำให้พื้นที่ในบริเวณบ้านมีความชุ่มชื้น ลดความร้อน และทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของอากาศจากอุณหภูมิที่ต่างจากบริเวณโดยรอบ
พื้นที่รับประทานอาหารและครัวที่สามารถมองออกไปเห็นสวนภายนอกและคอร์ตกลางบ้านได้ ตกแต่งด้วยเส้นสายเรียบง่าย จับคู่กับโทนสีขาวและไม้สีอ่อนที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นและเรียบง่าย
บ้านมินิมัลทรงกล่อง
ทุกมุมมีความต่อเนื่องกับคอร์ตกลางบ้าน ที่นอกจากนำแสงธรรมชาติเข้ามาแล้ว ยังเชื่อมต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันด้วย

ผนังสองชั้นเป็นเหมือนกระดาษห่อของขวัญที่ทำให้บ้านประหยัดพลังงาน

ผู้ออกแบบได้จัดวางตัวอาคารห่างออกมาจากถนนทางเข้าด้านหน้า มีการจัดสวนที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งนอกจากจะให้ร่มเงาและใช้เป็นพื้นที่เล่นของลูกๆแล้ว ก็ยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ดักจับและกรองฝุ่นละอองได้อีกทางหนึ่ง ออกแบบรูปทรงของอาคารเป็นกล่องสี่เหลี่ยม มีช่องว่างตรงกลางสำหรับเป็นคอร์ตปลูกต้นไม้ และกระบะทรายของลูกทั้ง 2 คน ทำหลังคาเป็นช่องแสงที่นำแสงสว่างเข้าสู่พื้นที่โถงกลางบ้านซึ่งสูงโล่งถึงชั้น 2 โดยมีผนังภายในบางส่วนเป็นกระจก ที่ให้ความรู้สึกโปร่ง และยังสามารถมองเห็นลูกๆวิ่งเล่นได้

ช่องแสงบนหลังคาเหนือพื้นที่คอร์ตทำหน้าที่ให้แสงสว่างที่มีคุณภาพ และสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น โดยที่ไม่ต้องเปิดไฟเพิ่มในเวลากลางวัน แล้วยังมองเห็นเด็กๆเล่นที่ชั้นล่างได้
บ้านมินิมัลทรงกล่อง

การออกแบบกรอบอาคารและผนังภายนอกกำหนดให้ผนัง 3 ใน 4 ด้านทำเป็นผนังสองชั้น (Double Skin) ล้อมรอบตัวบ้าน โดยผนังชั้นนอกสุดเป็นเหมือนกระดาษห่อของขวัญใบนี้ จะเป็นผนังทึบที่สร้างยื่นออกจากโครงสร้างหลักของบ้าน มีการทำช่องแสงโดยใช้บล็อกช่องลมที่มีการจัดเรียงเป็นจังหวะสวยงาม ซึ่งผนังชุดนี้จะทำหน้าที่เป็นแผงบังแดดขนาดใหญ่ ป้องกันแสงแดดและความร้อนที่จะเข้าสู่พื้นที่ภายในโดยตรง แต่ก็ยังอนุญาตให้มีแสงสว่างผ่านเข้าสู่ภายในบ้านตามช่องแสงที่กำหนดไว้ เพื่อสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นจากแสงสว่างที่มีคุณภาพ สร้างการรับรู้ช่วงเวลาของคนในบ้าน และส่งเสริมกิจกรรมตามช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับแสงสว่างภายนอกบ้าน ซึ่งหลังจากบ้านสร้างเสร็จแล้ว สถาปนิกได้ทดลองวัดอุณหภูมิพบว่า ในช่วงบ่ายที่ร้อนที่สุดของวัน อุณหภูมิในบ้านเย็นกว่าภายนอก 5 องศาเซลเซียส

นอกจากนั้น อีกโจทย์ของเจ้าของบ้านที่ต้องการบ้านสีขาว ก็ยังเป็นผลดีต่อการออกแบบบ้านโดยรวมไปด้วย เนื่องจากสีขาวเป็นสีที่ไม่ดูดแสง และยังสามารถสะท้อนแสงแดดเพื่อลดการสะสมความร้อนที่ผนังหรือหลังคาได้ดี

ห้องพักผ่อน ทำการบ้าน และทำกิจกรรมร่วมกัน ที่ทำผนังภายในเป็นผนังกระจกให้สามารถมองเห็นกันและกันไม่ว่าจะมองจากชั้นล่างหรือชั้นบน
บ้านมินิมัลทรงกล่อง

บ้านทรงกล่องที่เป็นกล่องแห่งความสุข

เน้นการออกแบบพื้นที่ภายในบ้านให้เป็นที่วิ่งเล่นและทำกิจกรรมของเด็กๆ โดยไม่มีซอกหลืบหรือพื้นที่แคบที่เป็นอันตรายกับเด็ก มีผนังภายในบางส่วนเป็นกระจกเพื่อให้สามารถมองเห็นเด็กๆว่าอยู่บริเวณใดภายในบ้าน ปูพื้นด้วยกระเบื้องยาง SPC ที่ไม่แข็งกระด้างแบบปูนเปลือยหรือกระเบื้อง เผื่อเด็กๆลื่นล้มจะได้ไม่บาดเจ็บถึงขั้นเลือดออก

เมื่อเราถามถึงไลฟ์สไตล์และมุมโปรดภายในบ้าน ทั้งคู่ก็ตอบเป็นเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทุกที่ในบ้านหลังนี้ เพราะบ้านนี้เป็นกล่องของขวัญของครอบครัวเราที่เมื่อเปิดดูก็จะพบความสุข” เป็นความสุขซึ่งเปรียบเสมือนของขวัญที่คนในบ้านตั้งใจมอบให้แก่กัน และก็เป็นของขวัญที่ผู้ออกแบบได้รับแล้วก็มีความสุขไปด้วย เมื่อได้นำทฤษฎีการออกแบบเพื่อลดความร้อนและสร้างสภาวะน่าสบายมาใช้ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

บ้านมินิมัลทรงกล่อง
บ้านมินิมัลทรงกล่อง
ห้องเวิร์กช็อปสำหรับทำงานอดิเรก เฟอร์นิเจอร์ไม้ในบ้านบางตัวก็เป็นฝีมือคุณจี ซึ่งจากเดิมที่อยู่ในอาคารพาณิชย์ก็จะทำได้ไม่สะดวก คราวนี้สามารถชวนลูกๆมาช่วยทำได้ด้วย
ปลูกไม้เลื้อยให้เป็นแผงบังแดดโดยทำฟาซาดเป็นระแนงเหล็กแนวตั้งสูงถึงหลังคา เพื่อให้ไม้เลื้อยเกาะเกี่ยวขึ้นไปได้
ทำพื้นโถงทางเข้าบ้านให้เตี้ยกว่าพื้นภายในบ้าน 10-15 เซนติเมตร ให้เป็นพื้นที่ใส่รองเท้า ช่วยลดฝุ่นจากภายนอก และแบ่งสัดส่วนให้ทำความสะอาดง่าย

เจ้าของ : คุณสุภาพร งามไสว
ออกแบบสถาปัตยกรรม – ตกแต่งภายใน : MAKE It POP Co.,Ltd. โทรศัพท์ 08-2914-5396
จัดสวน : Ayothaya Landscape


คอลัมน์บ้านสวย พ.ย.66
เรื่อง : อรรถสิทธิ์ แจ่มจันทร์
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
สไตล์ : Suntreeya


ระบบนิเวศของความสุขที่ออกแบบได้

25 แบบบ้านทรงกล่อง ดีไซน์เส้นสายตรงๆ ดูทันสมัย

ติดตามบ้านและสวน