“บ้านยานอวกาศ” บ้านโมเดิร์นสีขาว ของคนกลัวจิ้งจก
บ้านโมเดิร์นสีขาว ที่มีโจทย์ตั้งต้นจาก “จิ้งจก” สัตว์ตัวเล็ก ๆ ผลักดันจนเกิดเป็นความท้าทายในการออกแบบได้อย่างน่าสนใจ ทำความสะอาดง่าย อยู่สบาย พร้อมที่เก็บของเยอะและไม่เก็บฝุ่น
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: AAd – Ayutt and Associates Design
เจ้าของ : คุณอรวรรณ อัคคชญานนท์
ออกแบบ : Ayutt and Associates design (AAd) โดยคุณอยุทธ์ มหาโสม และคุณสุวัฒนา สัตตบรรณศุข
“บ้านยานอวกาศ” คือฉายาที่เเขกผู้มาเยี่ยมเยือนต่างรู้จักกันดีและมักใช้เรียกขณะบอกกล่าวกับรปภ.หน้าหมู่บ้าน ตามรูปลักษณ์ บ้านโมเดิร์นสีขาว ที่มีความโดดเด่นกว่าบ้านหลังอื่น ๆ ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกันในโครงการหมู่บ้านจัดสรร สำหรับจุดเริ่มต้นในการออกแบบบ้านหลังนี้นั้นมาจากคุณพ่อและคุณแม่ของ คุณอรวรรณ อัคคชญานนท์ ต้องการให้ลูกมาอยู่ใกล้ๆ จึงติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงติดกันเพื่อสร้างบ้านในแบบที่ลูกชอบ
“ผมรับออกแบบบ้านหลังนี้ เพราะเจ้าของบ้านกลัวจิ้งจกมาก ความท้าทายในการออกแบบคือทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้มีจิ้งจกเข้ามาในบ้าน”
คุณอยุทธ์ มหาโสม และ คุณสุวัฒนา สัตตบรรณศุข ผู้ออกแบบจาก Ayutt and Associates design (AAd) เล่าให้ฟังถึงที่มาของการรับออกแบบ บ้านโมเดิร์นสีขาว หลังนี้ โดยมี “ความท้าทาย” เป็นแรงผลักดัน แต่การจะออกแบบให้บ้านในเขตร้อนชื้นไม่มีจิ้งจกเลยดูจะเป็นเรื่องยากกว่าที่คิด ผู้ออกแบบจึงต้องหาข้อมูลอย่างหนักทั้งเรื่ององศาของหลังคาและลักษณะของบ้านในแบบต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เอื้อต่อการเกาะของจิ้งจก รวมไปถึงการออกแบบป้องกันไม่ให้จิ้งจกเข้าบ้าน แต่สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า ควรออกแบบให้ทุกส่วนของบ้านมองเห็นจิ้งจกได้ชัดเจน! เพราะอย่างน้อย เจ้าของบ้านก็จะได้เห็นจิ้งจกจากที่ไกล ๆไม่เจอในระยะกระชั้นชิด นั่นจึงเป็นที่มาของบ้านสไตล์โมเดิร์นสีขาวเพื่อให้มองเห็นจิ้งจกได้ง่าย นอกจากเรื่องการใช้สีขาวเป็นหลักแล้ว ผู้ออกแบบยังผสมผสานเรื่องการนำไฟส่องสว่างมาใช้ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการฉายหนังตะลุงของภาคใต้ เมื่อไฟส่องไปที่จิ้งจกก็จะเกิดเป็นเงาขนาดใหญ่ขึ้น กลายเป็นลูกเล่นที่แปลกตาไปอีกแบบ
ความน่าสนใจของบ้านที่มีที่มาที่ไปไม่ธรรมดาหลังนี้ นอกจากเรื่องการออกแบบบ้านโมเดิร์นในเมืองไทยเพื่อรับมือกับจิ้งจกแล้ว ฟังก์ชันสำคัญและน่าสนใจยังมีเรื่องของการที่เจ้าของบ้านเคยอาศัยและชินกับการใช้ชีวิตอยู่ใคอนโดมิเนียม จึงมีโจทย์ว่าต้องทำความสะอาดง่าย อยู่แล้วสบาย ที่เก็บของเยอะ และไม่เก็บฝุ่น ส่งผลให้บ้านหลังนี้มีฟังก์ชันที่กะทัดรัดเข้ากับไลฟ์สไตล์เจ้าของเป็นอย่างดี
หลังจากได้รับโจทย์มาแล้วผู้ออกแบบใช้เวลาออกแบบ 1-2 เดือน และก่อสร้างเพียง 1 ปีครึ่งเท่านั้นก็แล้วเสร็จ อีกทั้งภายในพื้นที่ 450 ตารางเมตร ยังได้เพิ่มห้องอีก 1 ยูนิตที่บริเวณชั้นล่างของบ้าน ซึ่งเปรียบเสมือนห้องชุดขนาดหนึ่งห้องนอนเล็ก ๆ สำหรับคุณพ่อ โดยห้องนี้จะใช้โครงสร้างชุดเดียวกันกับตัวบ้านหลัก ซึ่งเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ไม่ใช้ผนังร่วมกัน รวมถึงออกแบบทางเดินมายังห้องนี้ผ่านทางระเบียงเท่านั้นเพื่อความเป็นส่วนตัว และไม่ลืมออกแบบให้มีคอร์ตยาร์ดระหว่างตัวบ้านเพื่อเป็นช่องลมให้ทุกห้องได้รับแสงและลมธรรมชาติอย่างทั่วถึง เป็นการแก้ปัญหาผนังทึบตันสุดคลาสสิกได้เป็นอย่างดี
เมื่อรูปลักษณ์ภายนอกของบ้านลงตัวแล้ว การออกแบบพื้นที่ภายในให้อยู่สบายก็เป็นอีกสิ่งที่ละเลยไม่ได้ โดยออกแบบบริเวณห้องนั่งเล่นให้เป็นดับเบิ้ลสเปซเพื่อให้บรรยากาศดูโปร่งโล่งเย็นสบาย ซึ่งเกิดจากความร้อนที่ลอยสูงขึ้นด้านบนร่วมกับการใช้ระแนงอะลูมิเนียมมากรุเป็นเปลือกอาคารช่วยระบายความร้อนได้อีกทางหนึ่ง ส่วนเส้นแนวตั้งของอะลูมิเนียมที่เห็นตัดกับกระเบื้องสีดำในแนวนอน ยังทำให้ดูเหมือนมีก้อนอาคารสีเงินลอยอยู่เหนืออาคารคอนกรีตสีขาวสร้างมุมมองใหม่ๆให้ผู้พบเห็น
คอนเซ็ปต์การตกแต่งภายใน คุณอยุทธ์เน้น “สไตล์ไทยโมเดิร์น” เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับรูปลักษณ์ของบ้านที่เป็นสไตล์โมเดิร์น โดยเลือกใช้วัสดุและของตกแต่งที่ดูดีและดูแลรักษาง่าย หลอมรวมเข้ากับองค์ประกอบและของตกแต่งแบบไทย ๆ เช่น หมอนอิง งานอาร์ตเวิร์ค เสื่อ ฯลฯ เพื่อให้รู้สึกว่าบ้านอบอุ่นและช่วยลดทอนความแข็งของเส้นสายในงานสถาปัตยกรรม
เราได้ยินมาบ่อยครั้งกับประโยคที่ว่า “ใช้งานดีไซน์เพื่อเปลี่ยนแปลง” แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เราพบกับการนำงานดีไซน์มาใช้ในมุมมองที่ต่างออกไป เพราะ บ้านโมเดิร์นสีขาว หลังนี้มีโจทย์ตั้งต้นจาก “จิ้งจก” สัตว์ตัวเล็ก ๆ ผลักดันจนเกิดเป็นความท้าทายในการออกแบบได้อย่างน่าสนใจ จริงอยู่ว่าบ้านหลังนี้เริ่มจากการออกแบบเพื่อแก้ไข แต่ระหว่างทางไปจนถึงตอนจบกลับเป็นการสร้างความสุขในพื้นที่ จนกลายเป็นบ้านที่พร้อมอยู่แบบพอดีตัว เหมือนการสั่งตัดชุดแบบพิเศษเพื่อคุณคนเดียว
เรื่อง : Ektida N.
ภาพ : ศุภกร, อยุทธ์ มหาโสม