บ้านสตูดิโอ ของนักออกแบบ เด่นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมเหล็กที่ดูเบาลอย เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย เน้นความโปร่งโล่ง มีช่องเปิดเพียงพอเพื่อระบายอากาศร้อน พร้อมการออกแบบโครงสร้างที่เผื่อไว้สำหรับรองรับการใช้งานอันหลากหลาย
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Studiomake
บ้านหลังนี้เป็นทั้งที่พักอาศัยเเละสตูดิโอออกแบบของ Studiomake ที่รับออกแบบทั้งงานสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน เเละเฟอร์นิเจอร์ ดังนั้นเพื่อให้ บ้านสตูดิโอ แห่งนี้ เพียบพร้อมไปด้วยฟังก์ชันการใช้งาน เเละเป็นพื้นที่พักผ่อนอย่างเหมาะสม จึงเเยกฟังก์ชันการใช้งานออกเป็น สตูดิโอออกแบบกำหนดให้อยู่ที่พื้นที่ชั้นล่าง ส่วนชั้นบนเป็นพื้นที่พักอาศัยที่มีความเป็นส่วนตัว โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การเลือกใช้วัสดุหลักอย่าง โครงสร้างเหล็ก ซึ่งเอื้อต่อต่อการใช้งานของอาคารอย่างมาก เช่น ช่วยให้อาคารไม่ทึบตัน ดูเบา ไม่หนาหนัก ประกอบกับการออกแบบระยะของเสาที่ห่างกันช่วงละ 5 เมตร ยังมีข้อดีคือ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนผังตามการใช้งานได้ง่ายในอนาคต
จากรูปแบบพื้นฐานการทำงานของสตูดิโอนี้ ที่มักใส่ใจรายละเอียดเป็นพิเศษ และพยายามนำวัสดุธรรมดาที่คุ้นเคย มาสร้างสรรค์ให้เกิดการใช้งานรูปแบบใหม่ที่คุ้มค่า เราจึงได้เห็นองค์ประกอบงานออกแบบที่น่าสนใจหลายจุด อย่างการออกแบบพื้นที่ชั้นล่างให้เป็นส่วนของสตูดิโอเเละเวิร์กชอป สถาปนิกเลือกทำพื้นที่เเบบเปิดโล่ง กรุผนังส่วนใหญ่ด้วยกระจกใส ผสมผสานร่วมกับวัสดุประเภทอื่นอย่าง ไม้ เเละเเผ่นหล็กในบางส่วน ที่สามารถเข้ากันได้อย่างดี ในขณะที่ชั้นสองที่เป็นพื้นที่พักอาศัย ประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง ห้องนั่งเล่น ครัวส่วนรับประทานอาหาร ห้องน้ำ และระเบียง
หากสังเกตเเล้ว จะพบว่าแปลนของบ้านมีความเรียบง่ายตรงไปตรงมา เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นว่าเส้นสายต่าง ๆ ดูต่อเนื่อง และเป็นเรื่องราวเดียวกัน แต่การจะได้ผลลัพธ์เช่นนี้ ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสถาปนิกจำเป็นจะต้องคำนึงถึงเรื่องการก่อสร้างวัสดุที่ใช้ รวมถึงรายละเอียดที่เป็นปัจจัยอันส่งผลให้เกิดรูปแบบของบ้าน เช่น จะทำอย่างไรให้สามารถติดตั้งงานระบบภายในได้โดยที่ยังคงความเรียบบางของโครงสร้างเหล็กไว้ การออกแบบให้บ้านมีช่วงเสาเท่ากันทั้งหลัง โดยที่หน้าตาของบ้านยังคงความน่าสนใจ หรือการให้ความสำคัญกับการป้องกันและระบายความร้อน
การแก้ปัญหาตามแนวทางของสตูดิโอนี้ นอกจากจะไม่ซ้ำใครแล้ว ยังเป็นการใส่ใจรายละเอียดในส่วนที่หลาย ๆ คนอาจไม่เคยนึกถึงเลยก็เป็นได้ ซึ่งกลายเป็นผลลัพธ์ที่ดี ทั้งในเเง่ของการอยู่อาศัย เเละเปรียบเสมือนเป็นห้องทดลองให้แก่สถาปนิก ในการนำวัสดุต่าง ๆ มาใช้ตอบโจทย์งานก่อสร้าง ก่อนนำข้อดีของการใช้วัสดุเหล่านั้น ไปต่อยอดสู่งานออกแบบอื่น ๆ ต่อไป
เรื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
สไตล์ : ภควดี พะหุโล
เรียบเรียง : ดุษยา สุขวราภิรมย์
อ่านต่อ : โฮมออฟฟิศ ที่เป็นทั้งบ้านและที่ทำงาน
HOW HOME & OFFICE “โฮมออฟฟิศ” ทริคจัดการบ้านและที่ทำงานอย่างลงตัว