มาทำความรู้จักระบบน้ำ เพื่อเลือกขนาด ท่อน้ำในบ้าน ให้เหมาะสมต่อการใช้งาน มีน้ำใช้ไหลแรงและน้ำทิ้งระบายได้ดีไม่มีกลิ่นย้อน
ระบบน้ำภายในบ้านมีอะไรบ้าง ?
- ระบบท่อน้ำดี เป็น ท่อน้ำ สะอาดที่นำมาใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่ต่อเข้าเครื่องกรองน้ำดื่ม ก๊อกน้ำล้างมือ ก๊อกรดน้ำต้นไม้ สุขภัณฑ์ต่างๆ ในห้องน้ำ เป็นต้น โดยลำเลียงน้ำจากท่อประปาสาธารณะเข้ามากักเก็บไว้ในแทงก์น้ำ ก่อนปั๊มเข้าไปสู่จุดต่างๆ ของตัวบ้าน
- ระบบท่อน้ำทิ้ง ใช้สำหรับลำเลียงน้ำที่ไม่ใช้แล้วออกไปทิ้ง เช่น น้ำจากอ่างล้างหน้า น้ำระบายพื้น น้ำฝนจากหลังคา เป็นต้น
- ระบบท่อโสโครก ใช้ระบายสิ่งโสโครก เช่น จากโถส้วม ถังดักไขมันจากน้ำในครัว น้ำจากท่อโสโครกต่างๆ ที่ต้องนำไปบำบัดน้ำเสีย
- ระบบท่อระบายอากาศ ใช้ระบายอากาศภายในท่อน้ำทิ้งและท่อโสโครก ส่วนมากนิยมต่อท่อระบายอากาศขึ้นไปถึงระดับหลังคา เพื่อทำให้เกิดความสมดุลของอากาศในท่อน้ำและท่อโสโครก กลิ่นของเสียและอากาศจะได้ออกไปได้เหนือที่พัก ไม่รบกวนผู้คน
ทำไมท่อน้ำทิ้งและท่อโสโครกต้องต่อท่อระบายอากาศ ?
- เพื่อให้ระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจาก ท่อน้ำ สองประเภทนี้ระบายน้ำโดยอาศัยความลาดเอียงของท่อ ไม่เหมือนท่อน้ำดีที่อาศัยแรงดันสูงจากเครื่องปั๊มน้ำ ท่อน้ำทิ้งและท่อโสโครกต้องอาศัยแรงดันอากาศจากภายนอก จึงจะช่วยระบายน้ำ ตะกอน และสิ่งปฏิกูลออกไปนอกท่อได้
- กันกลิ่นย้อนกลับ หากไม่มีท่อระบายอากาศนี้ แรงดันตามธรรมชาติจะดันอากาศภายในท่อ แล้วตีกลับขึ้นไปยังทางเข้า เป็นสาเหตุหนึ่งของกลิ่นเหม็นจากท่อน้ำทิ้งต่างๆ ดังนั้นหากเราติดตั้งท่อระบายอากาศอย่างถูกต้อง เวลาที่ราดน้ำ กดน้ำ น้ำจะไล่สิ่งปฏิกูลออกไปจากระบบท่อได้อย่างรวดเร็ว อากาศภายในไหลออกไปตามท่อระบายอากาศ ไม่ย้อนกลับไปทางสุขภัณฑ์
ท่อน้ำ ภายในบ้านควรมีขนาดเท่าไร ?
ท่อน้ำดี ท่อน้ำในบ้าน ต่อจากปั๊มน้ำส่วนมากจะใช้ท่อ ¾” แล้วลดขนาดเป็นท่อ ½” เมื่อต่อเข้าอุปกรณ์ เช่น ฝักบัว ก๊อกน้ำ เนื่องจากการใช้ท่อขนาดเล็กลง จะช่วยเพิ่มแรงดันปลายท่อ ทำให้น้ำไหลเร็วและแรงขึ้น หากใช้ท่อที่มีขนาดใหญ่เกินไป น้ำปลายท่อจะไหลเอื่อย ดังนั้นความหนาท่อควรใช้ระดับชั้นที่ทนแรงดันได้ เพื่อไม่ให้น้ำที่ลำเลียงมาจากปั๊มน้ำดันจนท่อแตก
ท่อระบายอากาศ ใช้ขนาด 2” ต่อเข้ากับท่อน้ำทิ้งและท่อโสโครกโดยใช้ข้อต่อลด และควรต่อขึ้นไปในระดับที่สูงกว่าระดับสุขภัณฑ์ภายในบ้าน โดยมากนิยมต่อสูงถึงระดับหลังคา เพื่อให้กลิ่นที่ระบายออกมาจากท่อน้ำทิ้งและท่อโสโครกไม่รบกวนคนในบ้าน
ท่อน้ำทิ้ง มีขนาดใหญ่กว่าท่อน้ำดี ส่วนมากจะเป็นขนาด 1 ½” ถึง 2” เนื่องจากต้องอาศัยการไหลตามธรรมชาติของน้ำเพื่อระบายออก จึงต้องใช้ขนาดหน้าตัดที่ใหญ่ขึ้นทำให้เกิดช่องอากาศในท่อ ช่วยให้น้ำทิ้งสามารถไหลออกไปตามท่อที่มีการกำหนดความลาดเอียงเพื่อบังคับทิศทางการไหลของน้ำทิ้งไปยังจุดที่ต้องการ โดยสัดส่วน 1 : 50 จะทำให้ระบายน้ำออกได้สะดวก
ท่อโสโครก เป็นท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาท่อประปาภายในบ้าน ส่วนมากมักใช้ขนาด 4” และวางท่อให้มีความลาดเอียงในอัตราส่วนที่เหมาะสมต่อการระบาย หากน้อยเกินไป จะระบายได้ช้า หากมากเกินไป น้ำจะไหลไว สิ่งปฏิกูลที่ไหลช้ากว่าจะฝืดตัวเกาะค้างอยู่ในท่อเพราะไม่มีน้ำพาระบายออก ควรใช้อัตราส่วนความลาดเอียง 1 : 50 เพื่อให้มวลต่างๆ ที่ไหลมาพร้อมกับน้ำ ทำให้ไหลออกไปได้โดยที่ไม่เปลืองน้ำมากนัก ท่อน้ำในบ้าน
ท่อประปา ท่อพีวีซี ท่อเหล็ก เลือกใช้อย่างไรให้ถูกประเภท
ชั้นคุณภาพท่อ คืออะไร ?
ชั้นคุณภาพ คือ ความสามารถในการทนแรงดันของท่อ บางคนก็เรียกว่า ความหนา หรือ คลาส ซึ่งจะมีระบุไว้ที่ด้านข้างของท่อ กำหนดเป็นตัวเลข โดยแต่ละชั้นจะมีความหนาและความทนทานแตกต่างกัน ดังนี้
ชั้นคุณภาพ 5 สามารถทนแรงดันได้ 5 บาร์ เหมาะกับงานที่มีแรงดันไม่สูงมาก เช่น ท่อลำเลียงน้ำทางการเกษตร ท่อระบาย ท่อน้ำทิ้ง ท่อโสโครกต่างๆ ที่มีการเดินท่อลอย
ชั้นคุณภาพ 8.5 สามารถทนแรงดันได้ 8.5 บาร์ มีความหนาและทนทานมากกว่าชั้น 5 เหมาะกับงานที่มีแรงดันมากขึ้น เช่น ท่อน้ำดีในอาคาร ท่อฝังดิน ท่อฝังผนัง ที่ต้องรับแรงดันทั้งจากภายในและภายนอกท่อ
ชั้นคุณภาพ 13.5 สามารถทนแรงดันได้ 13.5 บาร์ เหมาะกับงานที่ต้องรับแรงดันสูง เช่น ท่อหลักของอาคารที่มีชั้นสูงๆ งานสระว่ายน้ำ
เลือกชั้นคุณภาพท่ออย่างไรให้เหมาะกับบ้าน
- ในบ้านพักอาศัยส่วนใหญ่ ปั๊มน้ำที่ใช้ภายในที่พักอาศัยส่วนใหญ่มีแรงดันไม่เกิน 3 บาร์ ซึ่งหมายความว่า ในกรณีเดินท่อลอย เลือกใช้ท่อชั้น 5 – 8.5 ก็ถือว่าเพียงพอ แต่หากมีการเดินท่อฝังผนัง ต้องรับแรงจากทั้งน้ำในท่อและแรงดันโครงสร้าง ก็ควรเลือกใช้ชั้น 13.5 ซึ่งราคาก็จะสูงขึ้น
- การใช้ชั้นความดันท่อสูงๆ ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหาท่อแตกเสมอไป เพราะส่วนใหญ่ท่อมักจะแตกบริเวณข้อต่อและอุปกรณ์ ดังนั้น ควรเลือกใช้รุ่นที่ผู้ผลิตแนะนำ เลือกใช้กาวทาท่อให้ถูกประเภทและติดตั้งให้เหมาะสมด้วย
ปั๊มน้ำทำงานเองแม้ไม่มีคนใช้งาน แก้อย่างไรดี
เรียนรู้ทำความเข้าใจ ระบบน้ำในบ้าน
ติดตามบ้านและสวน
เรื่อง/ภาพประกอบ : ณัฐวรา ธวบุรี