รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์

รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ ที่แสนอึดอัด ให้ดูโปร่งสว่างในสไตล์โมเดิร์นคลาสสิก

รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์
รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์

รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ ซึ่งเดิมค่อนข้างทึบเเละอึดอัด สู่บ้านหลังใหม่สไตล์โมเดิร์นคลาสสิก โดยเปิดรับแสงธรรมชาติ ทำให้บ้านดูโปร่งโล่งและทันสมัยขึ้น

เจ้าของ : คุณยุพาพรรณ พลพรประเสริฐ

ออกแบบสถาปัตยกรรม – ออกแบบตกแต่งภายใน : Design In Motion 

รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์
บ้านทาวน์เฮ้าส์ที่รีโนเวตใหม่ โดยออกแบบฟาซาดให้เรียบง่ายสไตล์โมเดิร์นคลาสสิกด้วยโทนสีขาวและเทาเข้ม
ทาวน์เฮ้าส์เก่า
ภาพทาวน์เฮ้าส์เดิมก่อนการรีโนเวต

“เรียบ นิ่ง เเละคลาสสิก” คือนิยามที่สะท้อนตัวตนของบ้าน คุณยุพาพรรณ พลพรประเสริฐ จากบ้านทาวน์เฮ้าส์เดิมที่ค่อนข้างทึบเเละอึดอัดสู่การ รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ ให้กลายเป็นบ้านหลังใหม่สไตล์โมเดิร์นคลาสสิกโดย คุณโจ้ – นรินทร์ บุญจุน ทีมสถาปนิกแห่ง Design In Motion มารับหน้าที่ออกแบบภายใต้โจทย์บ้านทาวน์เฮ้าส์สำหรับการปล่อยเช่า เมื่อรูปแบบพื้นที่เดิมของบ้านยังไม่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยในยุคสมัยปัจจุบัน สถาปนิกจึงได้จัดการกับพื้นที่ใหม่ทั้งหมดให้เกิดประโยชน์ในเชิงใช้สอยมากขึ้นภายในกรอบของโครงสร้างเดิม เเละเปลี่ยนโฉมบ้านให้เเลดูทันสมัยได้อย่างน่าสนใจ


เปลี่ยนพื้นที่อึดอัดให้กลายเป็นพื้นที่โล่ง รับเเสงแดดธรรมชาติ

จากฟังก์ชันเดิมที่ค่อนข้างซ้ำซ้อน สถาปนิกจึงนำฟังก์ชันมาจัดเรียงใหม่ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ในชั้น 1 จึงประกอบด้วยพื้นที่นั่งเล่น เเละพื้นที่รับประทานอาหารซึ่งต่อเนื่องไปกับโซนครัวขนาดย่อม สำหรับการทำอาหารเล็กๆ น้อยๆ ในแบบครัวฝรั่ง สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้พื้นที่บริเวณนี้เปิดโล่งมากขึ้น ด้วยการสร้างดับเบิลสเปซเพื่อทลายความอึดอัดจากฝ้าเพดานเดิมที่ค่อนข้างเตี้ย และเลือกใช้ช่องเปิดเป็นหน้าต่างบานขนาดใหญ่เปิดรับแสงธรรมชาติจากทางทิศเหนือเข้ามาภายในบ้านอย่างเต็มที่ จากบ้านที่ดูทึบจึงโปร่งโล่งขึ้นด้วยเเสงสว่างที่พอเหมาะตลอดวัน

เมื่อหน้าต่างบานใหญ่อยู่ในทิศทางที่เหมาะสมอย่างทิศเหนือ แสงธรรมชาติจึงผ่านไปยังห้องนอนเเละพื้นที่อเนกประสงค์ในชั้น 2 สถาปนิกเล่าถึงการออกแบบว่า “ด้วยข้อจำกัดของโครงสร้างบ้านเดิม เราจึงสามารถจัดการกับพื้นที่ได้บางส่วน ออกแบบเป็นดับเบิลสเปซโดยทุบพื้นชั้นสองออกบริเวณหลังบ้านเพื่อให้ได้ประโยชน์ในหลายทาง ทั้งช่วยให้บ้านดูโปร่งขึ้น เเละเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นล่าง-ชั้นบนโดยไม่ตัดขาดจากกันเหมือนกับบ้านเดิม”

ห้องนั่งเล่น
พื้นที่นั่งเล่นต่อเนื่องไปกับพื้นที่เตรียมอาหารเดิมมีระดับฝ้าเพดานค่อนข้างเตี้ยจึงทำให้บ้านดูอึดอัด จึงทุบพื้นชั้น 2 บางส่วนออกให้เป็นโถงสูง และใช้โทนสีขาวครีมที่ทำให้บ้านดูสว่าง

แพนทรี่
ทุบพื้นชั้น 2 ออกเพื่อสร้างพื้นที่โถงสูง (Double Space) บริเวณส่วนรับประทานอาหารเเละโซนครัว โดยเลือกใช้ชุดบานประตูหน้าต่างขนาดใหญ่เพื่อเปิดรับเเสงเเละลมธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
โถงดับเบิลสเปซ
เมื่อออกเเบบเป็นพื้นที่โถงสูง จึงเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นที่สามารถมองเห็นกันเเละกันได้จากพื้นที่นั่งเล่น ห้องนอนชั้น 2 กับพื้นที่รับประทานอาหารชั้นล่าง

ดีไซน์ร่วมกับของเดิมที่มีอยู่อย่างประนีประนอม

เนื่องจากเป็นบ้านทาวน์เฮ้าส์ที่ค่อนข้างเก่า การออกแบบจึงต้องคำนึงถึงโครงสร้างเเละผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบ้านหลังข้างเคียง สถาปนิกจึงออกแบบให้กระทบกับโครงสร้างให้น้อยที่สุด โดยเลือกจัดการกับโครงสร้างเพียงจุดที่สำคัญเท่านั้น อย่างคานบริเวณหน้าต่างบานขนาดใหญ่ฝั่งพื้นที่รับประทานอาหาร ซึ่งเดิมมีคานคอนกรีตพาดผ่าน สถาปนิกจึงเลือกที่จะเปลี่ยนจากคานคอนกรีตมาเป็นคานเหล็กซึ่งมีหน้าตัดขนาดเล็กกว่า เพื่อให้ดูโปร่งเบา โชว์ความสวยงามของเฟรมกระจกอย่างที่ตั้งใจไว้  ‘“การรีโนเวตคือการทำความรู้จักกับของเดิมให้มากที่สุดก่อน แล้วนำมาจัดการต่อกับดีไซน์ใหม่ที่เราตั้งใจอยากให้เกิดขึ้น”

การจัดการกับงานระบบเป็นอีกหนึ่งโจทย์ยากของบ้านหลังนี้ สถาปนิกตั้งใจซ่อนงานระบบรวมไปถึงเเนวท่อต่างๆ เกือบทั้งหมด ให้มุมมองภายในบ้านดูเรียบร้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความหนาคานที่เพิ่มขึ้นหรือระดับฝ้าภายในบ้านอยู่บ้าง แต่ยังอยู่ในขอบเขตที่ตั้งใจไว้เพื่อความสวยงามเเละเป็นระเบียบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  “สิ่งที่ไม่คาดฝันจากการรีโนเวตบ้านเก่า มักเกิดจากโครงสร้างที่ค่อนข้างซับซ้อนหรือมีการรีโนเวตมาก่อนซ้ำเเล้วซ้ำเล่า ซึ่งต้องระมัดระวังอย่างมาก เเละอาศัยการสำรวจหน้างานอย่างละเอียด” สถาปนิกผู้ออกแบบอธิบายเพิ่มเติม        

ซ่อนงานระบบท่อให้เดินไปตามแนวคาน แล้วกรุปิดให้ดูเรียบร้อย แต่ก็จะเห็นคานมีความหนาเพิ่มขึ้น
เปิดพื้นที่หลังบ้านให้โล่ง โดยรื้อผนังและทุบคานคอนกรีตเสริมเหล็กออก แล้วเปลี่ยนเป็นคานเหล็กที่บางเบากว่ามารับน้ำหนักเเทน เพื่อให้เข้ากับดีไซน์ของบานประตูหน้าต่างที่ตั้งใจอยากให้ดูเปิดโล่งมากที่สุด
ประตูลูกฟักกระจก
เลือกใช้เป็นประตูบานเปิดกระจกในทิศเหนือ นอกจากจะได้เเสงแดดเเล้วยังได้รับลมธรรมชาติอีกด้วย โดยเลือกใช้ประตูลูกฟักกระจกเเทนการใช้กระจกเต็มบาน ช่วยเพิ่มรายละเอียดให้บ้านโมเดิร์นคลาสสิก
เคาน์เตอร์ลายหินสีขาว
ออกแบบแพนทรี่ให้เล็กลงกว่าเดิม ที่เหมาะกับการประกอบอาหารเบาๆ เพื่อทำให้พื้นที่พักผ่อนโปร่งโล่งขึ้น
เคาน์เตอร์ลายหินสีขาว
คุมสีบิลท์อินครัวคุมโทนสีเบจคู่ไปกับเคาน์เตอร์ลายหินสีขาว

มอบพื้นที่ว่างไว้บางส่วน ให้ผู้อยู่อาศัยได้มาเเต่งเติม

พื้นที่ภายในบ้านบางส่วนเป็นพื้นที่อเนกประสงค์บริเวณชั้น 2 เเละชั้น 3 ซึ่งออกแบบให้เป็นพื้นที่โล่งที่เหมือนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่มีขนาดพื้นที่พอเหมาะพอดี เพื่อให้ยืดหยุ่นต่อการใช้งานที่หลากหลายตามไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย การตกเเต่งภายในเน้นที่การออกแบบวัสดุปิดผิว โดยคุมธีมบ้านสไตล์โมเดิร์น คลาสสิก เเละเลือกใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวมากกว่าการทำเป็นเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน รอการแต่งเติมจากผู้อยู่อาศัยเพื่อให้บ้านสะท้อนความเป็นตัวตนมากที่สุด

โถง
.ส่วนพักผ่อนบริเวณชั้น 2 ทำเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ให้ปรับเปลี่ยนได้ตามการใช้งาน ออกแบบให้ต่อเนื่องมาจากโถงบันได เเละสามารถมองเห็นกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั้น 1 ได้

ประตูลูกฟักกระจก
มุมมองจากห้องนอนมองมายังชั้น 1 มองเห็นพื้นที่ภายนอกผ่านชุดบานประตูหน้าต่างขนาดใหญ่เต็มแนวผนัง เอื้อให้เเสงธรรมชาติเข้ามาในบ้านได้อย่างเต็มที่ผ่านหลังคาสกายไลต์
ห้องนอนสีขาว
ห้องนอนใหญ่ชั้น 2 ออกแบบให้ห้องนอนมีหน้าต่างทั้งสองฝั่งจากทั้งฝั่งหน้าบ้านเเละในบ้านเพื่อรับเเสงธรรมชาติจากทั้งสองทาง
ห้องแต่งตัว
ห้องแต่งตัวใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่เลือกมาขนาดพอดีกับพื้นที่ เเทนการออกเเบบเป็นบิลท์อินเพื่อการใช้งานที่ยืดหยุ่น

ความเรียบง่ายที่คมคายด้วยวัสดุและโทนสีน้อยเฉด

เมื่อมองจากมุมมองหน้าบ้านเข้ามาจะเห็นมิติที่ต่างกันในการใช้สีโทนสีขาวเเละเทาเข้มของบ้านกลิ่นอายโมเดิร์นคลาสสิก การออกแบบหน้าตาอาคารเน้นความเรียบง่ายของช่องเปิดหน้าต่างที่ใช้กรอบอะลูมิเนียมสีดำให้ดูโดดเด่นออกมาจากเเนวผนัง เเละออกแบบให้สัดส่วนหน้าต่างเป็นเเนวตั้งสอดคล้องไปกับสไตล์โมเดิร์นคลาสสิก โดยเว้นจังหวะช่องเปิด ประตู เเละรั้วบ้านให้สัมพันธ์กับพื้นที่ว่างบนผืนผนังคล้ายกับการจัดวางองค์ประกอบของภาพภาพหนึ่ง

โทนสีภายในบ้านจึงเน้นคุมโทนสีเรียบของขาวเเละเทาเข้มเช่นเดียวกับภายนอก โดยใช้สีอ่อนเป็นหลักกับองค์ประกอบต่างๆ ในบ้าน ทั้งสีขาวนวลของผนัง พื้นไม้โทนอ่อนลายก้างปลา รวมไปถึงสีเบจของเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน เพื่อให้ตัดกับสีเข้มของบานประตูหน้าต่าง เมื่อช่องเปิดประตูหน้าต่างคุมธีมสีดำเพื่อให้บ้านดูเรียบร้อยตามเเบบฉบับคลาสสิก การมีดีเทลเล็กน้อยอย่างลูกฟักกระจก จึงกลายเป็นกิมมิกที่ช่วยเติมเต็มให้บ้านดูมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น

ห้องน้ำ
ห้องน้ำคุมโทนสีอ่อนเพื่อตัดกับองค์ประกอบสีดำของท็อปหินและอุปกรณ์ต่างๆ ออกแบบให้มีช่องเปิดหน้าต่างในโซนอาบน้ำ ให้เเสงธรรมชาติสามารถเข้าถึงเพื่อลดความชื้นในพื้นที่ได้
โถงบันได
โถงบันไดภายในบ้านยังคงตำแหน่งและโครงสร้างเดิม เลือกเปลี่ยนเพียงวัสดุปูพื้นเท่านั้น

ทาวน์เฮ้าส์หลังนี้ไม่ได้ออกแบบให้มีหน้าตาที่หวือหวาซับซ้อนเเม้เเต่น้อย แต่ออกแบบเพื่อแก้ปัญหาของพื้นที่บ้านเดิมที่ยังไม่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยเท่าที่ควร จนกลายเป็นบ้านที่เหมาะสมพอดีต่อการใช้ชีวิต โดยผู้ออกแบบตั้งใจที่จะเปิดสเปซและสร้างคาแร็กเตอร์ให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้บ้านมีความเรียบง่าย พร้อมรอการมาแต่งเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น


เรื่อง : Nantagan

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

รีโนเวตบ้านจัดสรร กลิ่นอายทรอปิคัลรองรับวิถีชีวิตในทุกฤดู

DESIGN IN MOTION OFFICE ออฟฟิศสถาปนิกที่โชว์ผิววัสดุ โครงสร้าง และสเปซคุณภาพ