ออกแบบ-ตกแต่ง : BHX Architects
บ้านกล่องหลังคาทรงจั่ว ที่มีข้อจำกัดของรูปทรงที่ดินที่แคบยาว จึงเลือกสร้างบ้านให้เต็มพื้นที่ แล้วเปิดคอร์ตกลางบ้านทำหน้าที่เป็นช่องเปิดขนาดใหญ่ ช่วยดึงแสงธรรมชาติ ระบายอากาศ และเป็นพื้นที่เอาต์ดอร์ของเด็กๆตอบโจทย์เรื่องการนำธรรมชาติมาไว้ใกล้ตัว
บ้านกล่องสีเทาหลังคาทรงจั่วสุดโมเดิร์น เคียงคู่อยู่ใต้ร่มจามจุรีที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาขนาดใหญ่ พร้อมการต้อนรับจากเจ้าของบ้านตัวน้อยที่ตั้งใจตื่นนอนแต่เช้าเพื่อมารอพี่ๆทีมงานอย่างกระตือรือร้น
“สำหรับบ้านของตัวเองไม่เหมือนคิดงานดีไซน์ให้ลูกค้า แบบเบื้องต้นยังไม่มีอะไรชัดเจน ผมกับภรรยาจำเป็นต้องตอบโจทย์ตัวเองก่อนว่าเราต้องการอะไร คอมเม้นต์งานกันเอง เป็นขั้นตอนของการหาความพอดี มีจุดกึ่งกลางสำหรับนำข้อมูลมาแชร์กัน แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็มาจากลูก ๆ เพราะสิ่งสำคัญคือต้องเป็นบ้านที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ”
คำบอกเล่าจาก คุณกร ทองทั่ว ผู้เป็นทั้งเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบจากสำนักงานออกแบบ BHX Architects โดยได้คุณมุ่ย – นาถฤดี ตรีศักดิ์ศรีสกุล ผู้เป็นภรรยาและอินทีเรียร์ดีไซเนอร์มาออกแบบตกแต่งภายในบ้านของตัวเอง ต้องบอกเลยว่างานนี้ไม่ง่าย เพราะมีตัวแปรสำคัญคือลูกชาย “น้องจิตรกร” และลูกสาว “น้องจามิกร” รวมถึงตัวของคุณกรและคุณมุ่ยซึ่งมีความเป็นสถาปนิกนักคิดทั้งคู่
จากที่ดินที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 9 x 30 เมตร คุณกรได้ออกแบบบ้าน 2 ชั้น โดยมีจุดเด่นอยู่ที่หลังคาทรงจั่วหน้าตาโมเดิร์น ซึ่งถอดแบบมาจากรูปวาดในจินตนาการของคุณมุ่ยสมัยเด็ก ที่มักวาดบ้านที่มีหลังคาทรงจั่ว มีหน้าต่าง และต้นไม้หนึ่งต้น ประกอบกับข้อจำกัดของรูปทรงที่ดินที่แคบยาว คุณกรจึงเลือกสร้างบ้านให้เต็มพื้นที่ โดยร่นระยะเพียงด้านละ 50 เซนติเมตร รอบตัวบ้านเป็นผนังปิดทึบทั้งหมด เสมือนเป็นโลกอีกใบที่ตัดขาดจากสภาพแวดล้อมภายนอกอย่างสิ้นเชิง เริ่มด้วยพื้นที่อเนกประสงค์ขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งที่จอดรถ พื้นที่วิ่งเล่นของเด็ก ๆ ทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อรองรับกิจกรรมได้ทุกโอกาส ขนานไปกับทางเดินแบบเส้นตรง (Linear Corridor) และตู้เก็บของเพื่อช่วยประหยัดพื้นที่ ถัดเข้าไปด้านในจะพบกับคอร์ตกลางบ้านทำหน้าที่เป็นช่องเปิดขนาดใหญ่ ช่วยดึงแสงธรรมชาติ ระบายอากาศ และเป็นพื้นที่เอาต์ดอร์ของเด็กๆตอบโจทย์เรื่องการนำธรรมชาติมาไว้ใกล้ตัว ซึ่งได้รับการคิดและออกแบบอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้พื้นที่ภายในบ้านสามารถเปิดรับความงามของธรรมชาติจากคอร์ตกลางนี้ได้ทุกมุมมองแบบไม่มีสภาพแวดล้อมภายนอกมากวนใจ ซึ่งมีข้อดีทั้งในด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของลูก ๆ
ขึ้นมายังชั้นบน เจ้าของแบ่งพื้นที่ใช้งานออกเป็นสองก้อนหลัก ๆ คือฝั่งหนึ่งเป็นห้องนอนและอีกฝั่งเป็นพื้นที่กึ่งดับเบิ้ลสเปซสูงจากพื้นจรดฝ้าเพดานที่ลาดเอียงไปตามหลังคาทรงจั่ว ช่วยให้บ้านดูโปร่งโล่ง ไม่อึดอัด ร่วมกับการจัดพื้นที่แบบโอเพ่นแปลนเชื่อมต่อพื้นที่ได้อย่างลื่นไหล โดยเริ่มจากส่วนนั่งเล่น แพนทรี่ โต๊ะรับประทานอาหาร มุมเล่นของเด็กและห้องเพลย์รูม เพื่อสร้างความต่อเนื่องของพื้นที่แต่ละฟังก์ชันให้ทุกคนสามารถมองเห็นกันได้ อีกทั้งให้ลูกอยู่ในสายตาของพ่อแม่ตามคอนเซ็ปต์ “ใกล้หูใกล้ตา”
ภายใต้ความเรียบง่ายของรูปทรงและสีสันของบ้าน ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าของบ้านให้ความพิถีพิถันและใส่ใจเป็นพิเศษนั่นคือ “เฟอร์นิเจอร์” โดยแต่ละชิ้นล้วนเป็นระดับมาสเตอร์พีซ ซึ่งคุณมุ่ยได้เลือกสรรไว้ตั้งแต่ช่วงออกแบบ ด้วยการใส่ในภาพเพอร์สเป็กทีฟตอนออกแบบว่าควรจะวางเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นในตำแหน่งไหนจึงจะเหมาะสม จนเมื่อถึงเวลาหน้างานจริงภาพที่ออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ลงตัวสวยงามอย่างที่เธอคิดไว้ เรียกได้ว่าเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นล้วนผ่านการไตร่ตรองและบรรจงจัดวางแล้วเป็นอย่างดี
“การเลือกเฟอร์นิเจอร์ของเราจะไม่เลือกตามเทรนด์ ถ้าเลือกตามเทรนด์เมื่อไรเทรนด์เปลี่ยนเราเชยเลย เพราะเราไม่ใช่สายแฟชั่น โดยเก้าอี้ทุกตัวต้องถูกใช้งานจริง ถ้าเก้าอี้จะเป็นรอยก็เพราะลูกเรา วันหนึ่งลูก ๆโตขึ้น เก้าอี้ก็ยังคงร่องรอยความทรงจำจากพฤติกรรมของพวกเขาไว้ กลายเป็นเรื่องเล่าและความทรงจำดีๆ ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไป เก้าอี้ก็ยังคงอยู่เมื่อถึงวันที่พ่อแม่ไม่อยู่แล้ว จิตรกรและจามิกรก็ยังสามารถนั่งเก้าอี้ตัวนี้ได้ เก้าอี้มีเรื่องราวของมัน นี่คือสิ่งที่เราละเมียดในการเลือกของ และถึงแม้อนาคตบ้านหลังนี้จะโดนรีโนเวตใหม่ เปลี่ยนเรื่องราวใหม่ แต่เฟอร์นิเจอร์พวกนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ กลายเป็นของเก่าที่มีคุณค่า”
เมื่อบ้านไม่จำเป็นต้องหรูหรา หวือหวาหรือใหญ่โตเสมอไป หากแต่ความเรียบง่ายสุดธรรมดานี้ต่างหากที่กลับซ่อนไว้ด้วยดีเทลในการออกแบบ ร่วมกับการนำพฤติกรรมและความชื่นชอบของทุกคนในครอบครัวมาตีความ กลายเป็นพื้นที่การใช้งานที่มีความพิเศษ พร้อมเติมเต็มความสุขในทุกขณะของการอยู่อาศัย
เรื่อง : BRL
ภาพ : นันทิยา
สไตล์ : วรวัฒน์