บ้านกล่องสีสด

บ้านกล่องสีสด เปี่ยมเสน่ห์

บ้านกล่องสีสด
บ้านกล่องสีสด

เจ้าของ : พลตำรวจเอก ดร.วัชรพล -รองศาสตราจารย์ปิยานันต์ ประสารราชกิจ

สถาปนิก : COMPO Architects โดยคุณเมธี รัศมีวิจิตรไพศาล

จัดสวน : ต้นไม้ใหญ่ สวนนงนุช, ไม้ประดับ บ้านก้ามปู โดยอาจารย์สุรัตน์ วัณโณ

บ้านกล่องสีสด ที่แบ่งการตกแต่งภายในแบ่งเป็นสองภาค ภาคแรกเป็นแบบมินิมัล ส่วนการตกแต่งอีกภาคหนึ่งเป็นการผสมผสานสิ่งที่เรียบง่ายกับงานฝีมือที่มีสัมผัสของธรรมชาติ

รูปทรงภายนอกดูทันสมัยเหมือนการนำกล่องต่างขนาดมาเรียงต่อกันได้อย่างลงตัว อาจารย์ปิยานันต์บอกว่าได้แรงบันดาลใจจากบ้านแบบเม็กซิโก “เลือกทาสีแดงที่มีชื่อว่า ‘Red Ochre’ ซึ่งบาร์นเฮ้าส์ในสวีเดนนิยมใช้มากค่ะ เพราะเป็นสีที่ดูสวยงามทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนเช้า สาย บ่าย หรือเย็น”

ที่ตั้งของบ้านหลังนี้จัดว่าอยู่ในทำเลทอง เพราะด้านหน้าบ้านเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ แม้ตัวบ้านจะหันหน้าสู่ทิศตะวันออกเป็นแนวเฉียงและด้านหลังเป็นทิศตะวันตก ทว่าแสงแดดก็ไม่ส่องตรงเข้าภายในบ้านที่มีลักษณะคล้ายกล่องเรียบ ๆ ทาสีแดงแต้มสีขาวตามขอบกรอบประตูและช่องแสงขนาดใหญ่ รองศาสตราจารย์ปิยานันต์ ประสารราชกิจ เจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสี รวมทั้งเป็นมัณฑนากรด้วย เล่าถึงบ้านหลังนี้ให้ฟังว่า

ผนังด้านนอกของบริเวณศาลานั่งเล่นที่ติดกับตัวบ้านก็ยังทาสีแดงที่มีส่วนผสมพิเศษ แม้โดนแสงแดดส่องกระทบก็ไม่จัดจ้ามาก หรือเมื่อมีเงาทาบลงมาก็ยังดูเย็นสบายตา แผ่นกระเบื้องปูพื้นสีขาวสลับเทาที่อาจารย์ปิยานันต์เป็นผู้เลือก ยิ่งเสริมให้มุมนี้ดูสวยงามยิ่งขึ้น
ส่วนกลางในชั้นล่างเป็นพื้นที่ใช้สอยรวม  พื้นปูกระเบื้องสลับสีเทา- ขาวเป็นส่วนต่อเนื่องมาจากแพนทรี่ จัดวางโซฟายาวตัวใหญ่บุหนังสีฟ้าอ่อนสำหรับนั่งเล่นอยู่บนพื้นไม้ที่ยกระดับต่างกัน ส่วนแกรนด์เปียโนย้ายมาจากบ้านเก่า เป็นสิ่งที่จัดวางยากที่สุด ถึงขนาดต้องทำเป็นโมเดลห้องแล้วลองวางดูจนได้ตำแหน่งที่เหมาะที่สุด 
ทางเดินภายในบ้านเป็นส่วนที่ต่อมาจากโถงทางเข้า เป็นเสมือนแกนกลางของการสัญจรภายใน ด้านซ้ายทำเป็นชั้นหนังสือจัดวางอย่างมีระเบียบ มีภาพวาดเป็นจุดเด่นที่ผนังปลายทาง ส่วนภายในเพดานตลอดแนวเป็นที่เก็บซ่อนงานระบบทุกชนิดก่อนกระจายสู่ส่วนต่างๆ ของบ้าน

“ชอบบ้านสไตล์เม็กซิโก หาหนังสือมาดูแล้วก็สเก็ตช์แบบ จากนั้นก็จัดวางแปลนว่าห้องไหนจะอยู่ตรงไหนขนาดเท่าไร ความต่อเนื่องของแต่ละห้องเป็นอย่างไร ระดับเพดานควรจะสูงเท่าไร จึงจะทำให้ภายในบ้านสวยงามน่าอยู่ โชคดีที่รู้จักกับ คุณเมธี รัศมีวิจิตรไพศาล สถาปนิกซึ่งชอบสไตล์เม็กซิโกเหมือนกัน เขารับอาสาทำแบบบ้านที่เราคิดไว้ให้เป็นรูปร่าง เพราะเราเองก็ไม่แตกฉานในเรื่องโครงสร้าง แต่รูปร่างหน้าตาบ้านเขาตามใจเรา”

แพนทรี่อยู่ด้านในสุดของทางเดินต่อมาจากครัวและโรงรถ ตู้แพนทรี่เป็นแบบเรียบ ด้านข้างและด้านบนเป็นสีดำ บานเปิดทั้งหมดเป็นไม้สีธรรมชาติ “ไม่ใช่คนทำอาหารเก่ง แต่พอย้ายมาอยู่บ้านนี้ต้องทำอาหารเอง ทำไปทำมาก็รู้สึกว่าการทำอาหารก็เหมือนการวาดรูประบายสีหรือการตกแต่งภายใน เพราะทุกอย่างต้องมีส่วนผสมที่เข้ากันพอดี ถ้ามีความสมดุลก็จะออกมาดีค่ะ” วันนั้นทำให้เราทราบว่าอาจารย์ปิยานันต์ทำอาหารอร่อยมาก
ห้องทำงานแยกส่วนจากแนวทางเดินกลางบ้านกั้นขอบเขตด้วยประตูบานพับกระจกใส ภายในห้องจัดวางโต๊ะรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกลางห้อง เก้าอี้เป็นของเก่าจากบ้านหลังเดิมที่ยังคงสวยงามและอยู่ในสภาพดี
ผนังทึบบริเวณส่วนรับประทานอาหาร “ผนังของส่วนนี้อยากได้สีเขียวแบบถั่วพิสตาชิโอ เป็นสีที่ทดลองในห้องแล็บ โดยนำมาทาแล้วครูดให้เป็นริ้วรอยแบบ
ไม่ตั้งใจ เพราะอยากได้ความรู้สึกเหมือนต้นไผ่หรือต้นหญ้า ผนังด้านนอกทาสีแดง ด้านในทาสีเขียวอมฟ้าก็จะทำให้ผนังบ้านมีความสวยงามกว่าปกติค่ะ”

อาจารย์ปิยานันต์ยังบอกอีกว่าทำแบบบ้านอยู่เกือบปี เดิมจะทำเป็นบ้านสามชั้น แต่ก็เปลี่ยนใจ เพราะอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง และเมื่อตัดสินใจสร้างบ้านสองชั้น ก็เป็นเวลาที่วัสดุก่อสร้างขึ้นราคาเกือบเท่ากับการสร้างบ้านสามชั้น

“เมื่อคิดทำบ้านก็คิดถึงอนาคตเผื่อสำหรับลูกๆไว้เลยว่า ต่อไปหากลูกจะมีครอบครัวก็สามารถแยกภายในเป็นสัดส่วนได้ จึงทำบ้านเป็นสองปีก แต่ละปีกมีบันไดขึ้นชั้นบนแยกกัน ของลูกสาวด้านหนึ่ง ของลูกชายอีกด้านหนึ่ง แต่มีพื้นที่ใช้สอยรวมอยู่ชั้นล่างทั้งหมด

“ส่วนเรื่องสไตล์การตกแต่งภายในแบ่งเป็นสองภาค ภาคแรกเป็นแบบมินิมัล เห็นได้จากความเรียบเกลี้ยง อย่างราวบันไดจะไม่มีอะไรสลักเสลา หรือเพดานในทุกห้องก็จะเรียบหมด ไม่มีหลืบอะไร และด้วยความที่ชื่นชอบงานฝีมืออย่างเฟอร์นิเจอร์หรือของประดับ แต่ไม่ได้กำหนดว่าเป็นสไตล์อะไร การตกแต่งอีกภาคหนึ่งจึงเป็นการผสมผสานสิ่งที่เรียบง่ายกับงานฝีมือที่มีสัมผัสของธรรมชาติ”

ห้องนั่งเล่นในห้องพักแขกจัดวางโซฟายาวสีขาวรูปตัวแอล (L) แบบเข้ามุม เพื่อเว้นพื้นที่ว่างตรงกลาง ทำให้ห้องดูกว้างยิ่งขึ้น
ห้องนอนแขก ผนังด้านหัวเตียงทาสีน้ำเงินเข้มดูหนักแน่น แต่เป็นการใช้เฉพาะส่วน เพราะตู้เสื้อผ้าด้านปลายเตียงและโต๊ะหัวเตียงเป็นสีขาว จึงทำให้บรรยากาศในห้องไม่อึดอัด เติมความนุ่มนวลด้วยผ้าคลุมเตียงในโทนสีเดียวกับผนัง
ห้องน้ำในห้องพักแขก ผนังกรุแผ่นกระเบื้องสีเหลือง ติดกระจกเงาซึ่งเป็นงานศิลปะในตัวและมีกลุ่มสีที่กลมกลืนกัน
พื้นที่ส่วนกลางชั้นบนตั้งอยู่ในตำแหน่งกลางบ้าน สมาชิกทุกคนจึงสามารถมาใช้งานร่วมกันได้สะดวก จัดวางเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่เคยใช้งานที่บ้านเดิมร่วมกับเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน

บ้านนี้ใช้เวลาดำเนินการประมาณปีครึ่งจึงแล้วเสร็จ การเลือกหาเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งก็อยู่ในช่วงเวลานี้ แม้เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จะเป็นของใหม่ แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่เลือกจากบ้านเก่ามาใช้ อาจารย์ปิยานันต์บอกว่าเป็นชิ้นที่รัก บางชิ้นกำหนดวางในแปลนล่วงหน้า บางชิ้นไม่ได้กะเกณฑ์ไว้ แต่ก็จัดวางลงในบรรยากาศใหม่ได้อย่างไม่เคอะเขิน ซึ่งต้องใช้เวลาในการจัดนานมากกว่าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง แต่ละห้องจึงมีสีสันที่แตกต่างกันด้วยฝีมือการเลือกสีอย่างพิถีพิถันของอาจารย์ปิยานันต์

ห้องลูกสาววางเตียงเหล็กสีขาวแบบกึ่งคลาสสิก พื้นปูไม้สีอ่อน เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นสีขาวดูตัดกับผนังทาสีน้ำเงินอมเขียว ซึ่งเจ้าของห้องเป็นผู้เลือกเอง
ส่วนทำงานในห้องลูกสาวซึ่งชอบสไตล์คลาสสิก โต๊ะทำงานแบบโต๊ะซีเคร็ตทารี (Secretary) ที่ตัดทอนลวดลายต่างๆ ออกคงไว้ซึ่งความเรียบ เก้าอี้ดูโดดเด่น หน้าผนังทาสีน้ำเงินอมเขียว โต๊ะสีม่วงเข้ม หน้าโต๊ะเป็นกระจกใส มองลงไปเห็นสิ่งของที่เจ้าของห้องเก็บสะสม
ห้องทำงานของลูกชาย (คุณปัณฑพล ประสารราชกิจ) ที่บอกว่าต้องใช้สีดำเท่านั้น ห้องนี้เป็นทั้งที่ทำงาน นั่งเล่น ดูหนัง ฟังเพลง และทำกิจกรรมเกี่ยวกับเพลง  เพราะเจ้าของห้องเป็นนักดนตรี
ห้องนอนใหญ่ อาจารย์ปิยานันต์เลือกใช้สีแดงแบบเดียวกับที่ทาภายนอก “ในความรู้สึกของคนทั่วไป สีแดงจะทำให้ห้องร้อน แต่สีแดงนี้มีส่วนผสมพิเศษและยังค้นพบข้อมูลที่บอกว่าสีแดงมีคลื่นยาวกว่าสีอื่นๆ เมื่อหรี่ไฟให้น้อยลง สีแดงจะกลายเป็นสีที่มืดกว่ากลุ่มสีนวลทั้งหลาย แต่เมื่อต้องแสงก็จะกลายเป็นสีที่สดใสค่ะ”

“ยอมรับว่ารู้เรื่องสีมากย่อมต้องคิดมาก ตัดสินใจนานมากค่ะว่าควรเลือกสีอะไร อันนี้ก็จะธรรมดาเกินไป อันนั้นก็ไม่เข้ากับเรา (หัวเราะ) สีที่เลือกก็ต้องมั่นใจ เพราะว่าเป็นซูเปอร์ชิลด์ ซึ่งมีอายุการใช้งานนานเป็นสิบปีและก็พยายามเลือกค่าของสีที่เข้ากับธรรมชาติได้ดี ถ้าเปิดหน้าต่างทุกห้องและมองจากนอกบ้านเข้าไปก็จะเห็นสีสันของแต่ละห้องต่างกัน บ้านนี้จึงเปรียบเสมือนกล่องสีค่ะ”

แม้จะใช้เวลาในการเลือกนาน แต่ทุกสีที่อาจารย์ปิยานันต์เลือกมาใช้ล้วนสวยงาม ยิ่งเมื่อมองจากสีหนึ่งไปยังอีกสีหนึ่งก็เกิดเป็นความกลมกลืนอย่างลึกล้ำ บวกกับการจัดวางเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งอย่างมั่นใจทุกพื้นที่ภายในบ้านจึงเปี่ยมด้วยเสน่ห์ ที่สำคัญให้สัมผัสของการอยู่อาศัยอันแสนสบาย


เรื่อง : อาทิตย์

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

25 แบบบ้านทรงกล่อง สำหรับผู้ชื่นชอบเส้นสายตรงๆ ดูทันสมัย

บ้านสีหวานสไตล์คาเฟ่เกาหลี