บ้านพื้นถิ่นสมัยใหม่ ที่นำแนวคิดเรือนพื้นถิ่น 2 หลังมาเชื่อมต่อกันเป็นเรือนเจ้าของบ้านและเรือนรับแขก โดยยืดเหยียดตัวอาคารออกเพื่อไปหาธรรมชาติด้วยการต่อชายคาเพิ่มมุมเฉลียงให้ใกล้ชิดกับแสงและลมมากขึ้น
เจ้าของ : คุณภาวิณี – คุณกิตติคุณ แข็งขยัน
Design Directory สถาปนิก : INchan atelier โดยคุณอินทนนท์ จันทร์ทิพย์
แม้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านต่างจังหวัดจะไม่ครบเครื่องเรื่องความทันสมัยและสะดวกสบายเท่ากับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมชาติและอากาศที่ปลอดโปร่งโล่งสบายรอบพื้นที่บ้านต่างจังหวัดคือสิ่งที่คนเมืองกรุงอิจฉาและอยากจะมีสเปซโล่งๆ ให้ออกมานั่งหายใจนอกบ้านกันบ้างเหมือนกัน นั่นเป็นที่มาของ บ้านพื้นถิ่นสมัยใหม่ หลังนี้
และเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการออกแบบบ้านหลังนี้ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีบริบทเป็นพื้นที่โล่งกว้าง และเจ้าของก็ต้องการมีพื้นที่ใช้งานกึ่งกลางแจ้งให้ออกมานั่งเหม่อมองธรรมชาติไปจนถึงชมดาวสวยในเวลาค่ำคืน แม้โดยหลักจะอาศัยกันอยู่แค่สองคน แต่จะมีญาติพี่น้องและเพื่อนมาเยือนประจำ จึงต้องมีพื้นที่เผื่อขยายสำหรับครอบครัว ภายใต้งบประมาณที่ไม่มากเกินไป ทั้งหมดนี้จำต้องอาศัยสถาปนิกผู้มีประสบการณ์อย่าง คุณนนท์-อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ แห่ง INchan atelier มาช่วยดูแล
เรือนอาศัยในยุคใหม่
ทำเลของบ้านอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรเก่าที่แวดล้อมไปด้วยเรือนพื้นถิ่นหลังคาจั่วและปั้นหยาคล้ายๆ กัน สถาปนิกไม่ต้องการออกแบบบ้านที่เรียกร้องความสนใจต่อสายตาเพื่อนบ้านมากเกินไป จึงนำแนวคิดของเรือนอาศัยแบบพื้นถิ่นนี้มาปรับดีไซน์ให้ทันสมัยเพื่อตอบรับความต้องการของ คุณนก-ภาวิณี กับคุณอาร์ม-กิตติคุณ แข็งขยัน ผู้เป็นเจ้าของบ้านได้ดีขึ้น
“เมื่อก่อนเราเคยซื้อคอนโดเพื่อใช้อยู่อาศัย แต่พอใช้ชีวิตอยู่จริงไม่เป็นอย่างที่คิด ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของตัวเอง จึงคิดจะสร้างบ้านของตัวเองเพื่อใช้พักผ่อนดูแลกายใจทุกช่วงเวลาชีวิต ให้มีกำลังในการใช้ชีวิตให้ดีทุกวันและใช้ต้อนรับแขก ให้พลังชีวิตแก่ผู้ที่มาเยือนด้วย แต่เราไม่ชอบบ้านสไตล์โมเดิร์นทรงกล่อง เพราะอยากได้บ้านที่มีหลังคา และไม่มีแบบบ้านในใจ เลยเขียนความต้องการถึงสิ่งที่อยากได้ให้สถาปนิกอ่านเพื่อออกแบบบ้านให้ตรงกับการใช้สอยและการใช้ชีวิตจริงของเราทั้งสองคน อยากได้บ้านที่ดูแลเองได้ทั้งยามหนุ่ม ยามแก่ ยามเจ็บป่วยและยามที่ต้องอยู่ลำพัง เราชอบความโล่งสบายไม่แออัดอุดอู้ ชอบบรรยากาศธรรมชาติ ชอบความเรียบง่ายและไม่ล้าสมัย นกชอบอยู่บ้าน อาร์มชอบไปร้านกาแฟ จึงอยากให้บ้านไม่น่าเบื่อ มีมุมกาแฟ มุมส่วนตัว มุมทำกิจกรรมของแต่ละคน และกิจกรรมส่วนรวม ให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่บ้านได้ทั้งวัน”
บนที่ดินรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 140 ตารางวา คุณนนท์ สถาปนิกผู้ออกแบบได้นำรูปแบบของเรือนพื้นถิ่นที่มีฟังก์ชันครบภายในยูนิตเดียวมาเชื่อมต่อกันให้เกิดเป็นเรือนเจ้าของบ้านและเรือนรับแขก โดยมีสะพานทางเดินระหว่างกัน ชั้นบนเป็นพื้นที่ส่วนตัวส่วนชั้นล่างปรับพื้นที่ใต้ถุนให้เป็นพื้นที่ใช้งานร่วมกัน รูปทรงหน้าตาบ้านมีการเน้นความชัดเจนของจังหวะเสาและคานสัมพันธ์ไปกับสัดส่วนของหลังคาและการวางผนังต่อช่องเปิด พื้นผิวที่หยาบและสีตุ่นๆ ของภายนอกยังตัดกับความเรียบและความสว่างของพื้นที่ภายใน ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ปริมาตรภายในห้องชั้นล่างนั้นดูโปร่งโล่งแตกต่างกับปริมาตรด้านบนที่ดูกระชับพอดี ซึ่งรวมแล้วมีพื้นที่ใช้สอยภายในอยู่ที่ประมาณ 240 ตารางเมตร
ส่วนยืดเหยียดออกไปเป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้ง
หัวใจหลักของบ้านหลังนี้อยู่ที่โต๊ะรับประทานอาหาร เพราะเจ้าของบ้านชอบทำอาหารรับประทานกันเองภายในบ้าน พร้อมกับใช้เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ญาติผู้ใหญ่ในทุกสัปดาห์ มุมนี้จึงมีการเปิดผนังให้เป็นกระจกบานใหญ่สู่คอร์ตต้นไม้กลางบ้าน เพิ่มด้วยแนวคิดของการยืดเหยียดตัวอาคารออกเพื่อไปหาธรรมชาติอีกด้านด้วยการต่อชายคาเพิ่มมุมเฉลียงเชื่อมจากส่วนรับประทานอาหารออกมาให้เป็นพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับแสงและลมมากขึ้น โดยคุณนนท์เล่าถึงแนวคิดนี้ว่า
“เราออกแบบบ้านให้รองรับกิจกรรมที่เจ้าของบ้านชอบ เพราะทั้งคู่เป็นคนช่างฝัน ชอบอ่านหนังสือ ดูสารคดี รักการเดินทาง และชอบอยู่ใกล้ธรรมชาติ ก็เลยยืดพื้นที่ภายในออกมาเป็นเฉลียงระแนงไม้เลื้อยแบบกึ่งกลางแจ้งภายใต้หลังคาโปร่งแสง แล้วปลูกต้นไม้ไว้เป็นรั้วธรรมชาติด้านนอก มุมนี้เหมาะกับการจิบกาแฟตอนเช้าหรือเอนหลังนอนอ่านหนังสือ จะได้ยินเสียงนกและมีต้นไม้โปร่งให้มองได้แบบบ้านต่างจังหวัด ถ้ามองขึ้นไปข้างบนเราก็ใช้ระบบยืดเหยียดของ Cantilever ส่วนระเบียงทำให้มีพื้นที่ยื่นออกมาเป็นระเบียงห้องน้ำและที่วางแอร์เพื่อสร้างบรรยากาศ รวมพื้นที่กึ่งภายใน-นอก พื้นที่ภายนอก คอร์ตสวนกลางบ้าน ลานเชื่อม และระเบียงต่างๆ แล้วก็ประมาณ 150 ตารางเมตรเลย”
พื้นที่ชั้นบนเน้นกระชับและเป็นส่วนตัว
จากพื้นที่ชั้นล่างที่เน้นการเปิดโล่งเพื่อใช้งานร่วมกัน ชั้นบนซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวจึงปรับให้รู้สึกกระชับขึ้นด้วยจังหวะของอาคารที่ดูเตี้ยลงจากการออกแบบให้มีเส้นทับหลังกั้นระหว่างหน้าต่างและช่องแสงที่เรียกว่า “คอสอง” เป็นช่องเปิดรับแสงธรรมชาติ เติมไปที่แนวผนังเดิมหลอกสายตาไม่ให้รู้สึกว่าสูงเกินไป
“แม้ผนังชั้นบนจะมีปริมาตรสูงเท่าชั้นล่างแต่เราใช้เส้นทับหลังแบ่งหน้าต่างออกเป็นสองส่วน คือส่วนพอดีๆ กับส่วนช่องแสง ทำให้ได้ความรู้สึกโปร่งสบายจากแสงธรรมชาติเข้าบ้าน โดยไม่ต้องเพิ่มความสูงของตัวผนัง รักษาระดับวงกบประตูห้องต่างๆ ให้ไม่สูงเกินไป ขนาดกรอบอะลูมิเนียมก็ใช้ระยะมาตรฐาน จึงไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าวัสดุเพิ่ม และยังมีการปรับโทนสีห้องนอนให้ละมุนตามากขึ้น แต่จัดสเปซแบบพอดีกับส่วนของเตียงนอน เติมมุมเก้าอี้โยกอ่านหนังสือ และซ่อนห้องดูบอลซึ่งเป็นกิจกรรมโปรดของคุณอาร์มไว้โดยทำประตูปิดกั้นเพื่อไม่ให้รบกวนส่วนของห้องนอน ส่วนหน้าต่างทั้งหมดหันหน้าเข้าหาคอร์ตกลางบ้านเพื่อให้มองเห็นยอดต้นเสม็ดแดง เป็นการสร้างธรรมชาติให้เชื่อมโยงทางสายตามาเพิ่มความผ่อนคลาย”
มีธรรมชาติ มีสุข และมีสติ
ด้วยการออกแบบพื้นที่ใช้งานให้อยู่สบายทั้งภายในและกึ่งภายนอก ตอบรับไลฟ์สไตล์ของคุณนกและคุณอาร์มที่ไม่อยากให้บ้านเป็นเพียงพื้นที่สี่เหลี่ยมที่ปิดทึบ ทั้งคู่จึงสามารถสนุกได้กับทุกกิจกรรมที่แตกต่างไปตามฟังก์ชันของบ้าน อีกทั้งยังสามารถใช้เวลากับแสงแดดและลมประจำฤดูได้อย่างคุ้มค่าทั้งกลางวันและกลางคืน คุณนนท์เรียกบ้านหลังนี้ว่า “เรือน” ในขณะที่เจ้าของบ้านอยากให้การอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ เต็มไปด้วยความสุข สงบ รู้จักจิตใจตัวเองอยู่ทุกขณะ จึงกลายเป็นที่มาของชื่อเต็มว่า “เรือนมีสติ”
“เราชอบแสงธรรมชาติที่เข้ามาทำให้บ้านโปร่ง โล่ง สบายมากๆ กลางวันไม่ต้องเปิดไฟเลย ชอบที่สุดก็คือโต๊ะรับประทานอาหารกลางบ้านเพราะสามารถเปลี่ยนวิวมองได้หลากหลายในห้องเดียว เวลาหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เราจะเห็นมุมเฉลียงที่มีระแนงเหล็กไม้เลื้อย ถ้าหันอีกด้านจะเห็นต้นสเม็ดแดงที่ลานกลางบ้าน หันทางตะวันออกเป็นห้องดูทีวี ส่วนทิศตะวันตกเป็นครัว มันทำให้เราอยู่บ้านได้สนุกและไม่เบื่อ แล้วก็ยังมีมุมรับลมนอกบ้านที่ชอบมากๆ ด้วย แม้แต่เวลาที่อากาศแย่ๆ เราก็ยังปิดบ้านและใช้ชีวิตแบบมองเห็นธรรมชาติรอบๆ ได้โดยไม่รู้สึกอัดอึด รู้สึกเลยว่าบ้านที่ดีทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ”
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์, ธนากร บรรเทือง