semi-outdoor-space

Semi – outdoor Space Design บ้านอยู่สบายด้วย พื้นที่กึ่งภายนอก

semi-outdoor-space
semi-outdoor-space

พื้นที่กึ่งภายนอก (Semi – outdoor Space) ที่มีหลังคาคลุม เช่น ระเบียง เฉลียง ทำให้เราออกมาใช้งานและสัมผัสธรรมชาติได้สะดวกสบายขึ้น ทั้งยังป้องกันบ้านจากแดดและฝน มาทำความรู้จักและรู้เทคนิคการออกแบบพื้นที่กึ่งภายนอกที่เหมาะกับการใช้งานของเรา เพื่อให้เราใช้ชีวิตในทุกส่วนของบ้านได้อย่างเป็นสุข

พื้นที่กึ่งภายนอก
บ้านคุณนรวีร์ วัยนิพิฐพงษ์

Semi – outdoor Space คืออะไร

คือส่วนการใช้งานของบ้านที่มีลักษณะการใช้งานแบบกึ่งภายใน – ภายนอก โดยบ้านหนึ่งหลังจะประกอบไปด้วยพื้นที่ 3 ส่วนหลักๆ ที่แบ่งตามการใช้งานและความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ดังนี้

พื้นที่ภายในอาคาร (Indoor Space) เป็นพื้นที่ใช้งานที่มีลักษณะปิดล้อมด้วยส่วนประกอบอาคารในทุกระนาบ ทั้งพื้น ผนัง เพดาน ไม่สัมผัสกับแดดและฝนโดยตรง เชื่อมต่อกับห้องอื่นๆ ด้วยประตูและหน้าต่าง ใช้สำหรับทำกิจกรรมที่ต้องการความเป็นส่วนตัว มีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกน้อย

พื้นที่กึ่งภายนอก (Semi – outdoor Space) เป็นพื้นที่ใช้งานใต้ชายคา แต่ไม่ปิดล้อมเป็นห้อง ซึ่งป้องกันแดดฝนได้ในระดับหนึ่ง ทำหน้าที่รองรับการใช้งานที่ต้องการมองเห็นและสัมผัสธรรมชาติ ในบางกรณีก็ใช้เป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างอาคาร

พื้นที่ภายนอกอาคาร (Outdoor Space) เป็นพื้นที่ว่างลักษณะเปิดโล่งรับธรรมชาติโดยตรง ไม่มีหลังคาคลุม อาจมีการกำหนดขอบเขตด้วยรั้ว วัสดุปูพื้นที่แตกต่าง หรือการยกระดับสูงต่ำ ใช้สำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเป็นพื้นที่สีเขียวของอาคาร

Semi – outdoor Space อยู่ส่วนไหนของอาคารได้บ้าง

ขึ้นชื่อว่า “กึ่งภายนอก” ไม่ได้หมายความว่าจะต้องอยู่ส่วนนอกของบ้านเสมอไป แต่สามารถออกแบบให้สัมพันธ์กับตัวบ้านได้ 2 รูปแบบหลักๆ ดังนี้

อยู่ภายนอกอาคาร เป็นรูปแบบที่สามารถเข้าถึงได้จากภายนอก จึงมักถูกใช้เป็นส่วนต้อนรับ พื้นที่พักคอย ส่วนพักผ่อนของคนในครอบครัวที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านได้ นอกจากประโยชน์ด้านการใช้พื้นที่แล้ว ในด้านความรู้สึกสำหรับผู้มาเยือน พื้นที่ส่วนนี้จะปรับความรู้สึกด้านความเป็นส่วนตัว ให้ค่อยๆ เปลี่ยนผ่านจากความจอแจของถนนสาธารณะ สู่พื้นที่กึ่งภายนอกที่ให้ความเป็นส่วนตัวมากขึ้นแต่ยังรู้สึกได้ถึงสภาพแวดล้อมและธรรมชาติโดยรอบ แล้วจึงเข้าสู่ภายในตัวอาคารที่ปิดล้อม

อยู่ภายในอาคาร เป็นพื้นที่กึ่งภายนอกซึ่งอยู่ด้านในอาคารที่เน้นความเป็นส่วนตัว ไม่ให้คนภายนอกมองเห็น หรือเข้าถึงได้โดยง่าย โดยหากต้องการเข้าถึงส่วนนี้ จะต้องผ่านพื้นที่ภายในอาคารก่อน รูปแบบนี้มักมีการออกแบบเป็นส่วนพักผ่อน หรือทำกิจกรรมของสมาชิกภายในบ้านโดยเฉพาะ สร้างมุมมองส่วนตัวภายในอาคาร หรือเป็นทางสัญจรเพื่อกระจายไปยังส่วนต่างๆ ของอาคาร นอกจากใช้ประโยชน์ทางด้านกิจกรรมแล้ว ยังช่วยในเรื่องการระบายอากาศได้ ด้วยการเปิดช่องให้แดดและลมเข้ามาสร้างประโยชน์ในอาคาร เช่น การเปิดช่องแสงธรรมชาติใช้แทนไฟฟ้าในเวลากลางวัน ช่องระบายอากาศเปิดให้ลมพัดถ่ายเทอากาศและความชื้น หรือพื้นที่สีเขียวสร้างความสดชื่นในอาคาร

ออกแบบพื้นที่กึ่งภายนอกให้มีลมผ่าน ไม่ร้อน

บรรเทาความร้อนด้วยการสร้างร่มเงา

ทิศทางแดดของประเทศไทยที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกนั้น ส่วนใหญ่แล้วเกือบทั้งปีจะโคจรอ้อมทิศใต้ ทำให้ทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นทิศที่รับแดดแรงที่สุดในช่วงวัน ซึ่งในการออกแบบสามารถใช้ประโยชน์จากทิศแดดนี้ สร้างร่มเงาให้พื้นที่กึ่งภายนอก โดยวางผังเพื่อใช้ความสูงของอาคารช่วยสร้างร่มเงา ร่วมกับการออกแบบระแนงและกันสาดเพื่อกรองแสงแดดจากทิศทางต่างๆ เมื่อใช้งานระหว่างวันก็ไม่รู้สึกร้อนมากเกินไป

พื้นที่กึ่งภายนอก

เปิดช่องให้ลมไหลผ่านสะดวก

หากบ้านอยู่ในพื้นที่โล่งที่ลมประจำฤดูพัดผ่านได้ตามธรรมชาติ อาจยึดคติปลูกบ้านที่โบราณสอนต่อกันมาว่าให้ “ปลูกบ้านตามตะวัน” คือ การวางผังพาดด้านยาวของบ้านตามแนวตะวันออก – ตะวันตก  และเจาะช่องเปิดรับลมประจำฤดูเต็มที่ ส่วนบ้านในเมือง ที่แม้ทิศลมประจำถูกหักเหด้วยตึกน้อยใหญ่ อีกทั้งไม่สามารถวางผังให้ตรงกับทิศทางลมได้โดยตรง ก็สามารถออกแบบเฉลียงพักผ่อนให้ลมไหลผ่านได้เช่นกัน โดยจะต้องมีทางสำหรับลมเข้า และทางสำหรับลมออก ซึ่งการออกแบบช่องเปิดสามารถส่งผลกึงความแรงของลมที่ไหลผ่านช่อง ดังนี้

พื้นที่กึ่งภายนอก

อ่านต่อฉบับเต็มใน นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนธันวาคม 2566


คอลัมน์ Home Expert

เรื่องและภาพประกอบ : ณัฐวรา ธวบุรี

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


โครงสร้างเฉลียงและชนิดของไม้ปูพื้นภายนอกอาคาร

บ้านไม้อบอุ่น ชวนห้อยขาล้อมคอร์ตสีเขียว

ติดตามบ้านและสวน