ช่วงวันหยุดยาว หลายๆคนมักมีความตั้งใจที่จะลุกขึ้นมา จัดบ้าน เก็บข้าวของที่ไม่ใช้ ให้บ้านเรียบร้อย แต่ในบางครั้งก็มีข้าวของมากมายเสียจนไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนก่อนดี
จะหยิบชิ้นนี้ทิ้งก็ดูน่าเสียดาย อยากจะเก็บชิ้นนี้ไว้ แต่จะได้ใช้บ้างหรือเปล่านะ ลองมาดูไอเดียการคัดแยกข้าวของเพื่อช่วยลดปริมาณ และเพิ่มพื้นที่ว่างให้กับบ้าน จัดบ้าน เพื่อเคลียร์บ้านครั้งใหญ่กันทั้งที เพื่อบ้านที่ปลอดโปร่ง สบายตา สบายใจ พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆไปด้วยกัน
พาของที่อยู่ผิดที่กลับห้อง
บ่อยครั้งที่เราหยิบของมาใช้ แต่ไม่ได้นำกลับไปที่ที่ควรจะอยู่ ของถูกกองไว้ตามมุมต่างๆ จนกินที่ในห้องแทบไม่เหลือทางเดิน โต๊ะทำงาน โซฟาก็เต็มไปด้วยข้าวของจนแทบไม่เหลือที่นั่ง ข้าวของทุกชิ้น ควรจะมีที่อยู่ของตัวเอง ไม่เก็บรวมสุมๆกันไว้ นอกจากจะทำให้บ้านรกแล้ว ยังมีโอกาสที่จะหาไม่เจอเพราะกองทับถมกันจนมองไม่เห็น
จับใส่ลังยกกลับห้อง – เตรียมลังมาหลายๆใบ คัดแยกของใส่ลังของแต่ละห้องเอาไว้ และยกกลับห้องไปในทีเดียว โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินไป เดินมาให้เหนื่อยหลายรอบ เมื่อของกลับเข้าห้อง ก็ทยอยเก็บกลับเข้าที่ที่ควรอยู่ให้เรียบร้อย
ค่อยๆเคลียร์ที่ละจุด
ถ้าใครเคยตั้งเป้าว่าจะ จัดบ้าน แต่กลับทำให้รกกว่าเดิม ลองเริ่มต้นด้วยการ จัดการทีละมุม โฟกัสทีละตู้ เตรียมกล่อง ตะกร้า หรือถุง สำหรับใส่ของที่ไม่ต้องเก็บที่มุมนี้รอไว้ ชิ้นไหนไม่ควรอยู่ที่มุมนี้ ให้โยนใส่กล่องไว้ก่อน โฟกัสที่จุดเดียวให้เรียบร้อย ค่อยๆทำแบบนี้ไปทีละมุม ก็จะช่วยให้มีกำลังใจในการลงมือทำมุมต่อๆไป
ตลอดปีที่ผ่านมาเคยได้ใช้บ้างมั้ย
เราต่างมีของที่ครอบครองไว้และไม่ได้ใช้เลยเป็นจำนวนมาก ถ้าเป็นของชิ้นเล็กๆ ไม่ได้กินพื้นที่ในการเก็บ อาจไม่ส่งผลมากมายนัก แต่ถ้าเป็นของชิ้นใหญ่ที่เก็บไว้ ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่าจะไม่ได้ใช้อยู่ดี บางทีการตัดใจ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาค ยกให้คนอื่น หรือ ขาย ก็ควรรีบลงมือทำก่อนที่ข้าวของจะเสื่อมสภาพและก็ต้องทิ้งในที่สุด
เตรียมขนไปบริจาคแต่ก็ยังอยู่
ถุงใบใหญ่ที่คัดเสื้อผ้าแยกไว้เตรียมยกไปบริจาค หรือตั้งใจจะยกให้ใคร แต่จนแล้วจนรอด ถุงนี้ก็ยังอยู่ไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้สักที ความตั้งใจสำเร็จไปแล้วครึ่งทาง ตั้งแต่เราคัดเลือกเสื้อผ้าใส่ลงถุง เหลืออีกครึ่งทางก็จะได้พื้นที่กลับคืนมา ลงมือ จัดบ้าน ครั้งนี้ จะขอคืนพื้นที่มุมนี้ให้จงได้
จัดการให้หายไปจากตู้เสียที – ตั้งใจให้แน่วแน่อีกสักครั้ง จดลงตารางนัดหมายกับตัวเองไว้ล่วงหน้า ว่าจะยกไปบริจาควันไหน ขนใส่รถรอเอาไว้ เหลือแค่ขนไปให้ถึงที่หมายอีกนิดเดียว
กล่องสินค้าได้เวลารื้อทิ้งบ้างแล้ว
กล่องสินค้าที่เก็บเอาไว้ เผื่อเคลม เผื่อใช้ขนของ เผื่อย้ายบ้าน กล่องเหล่านี้กินพื้นที่ในห้องเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นแหล่งสะสมฝุ่น และ เป็นที่ชื่นชอบของปลวกอีกด้วย จัดบ้าน ครั้งนี้รื้อออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์เสียเลย
เก็บ – กล่องที่ยังอยู่ในประกัน ที่ต้องมีกล่องเพื่อใช้ในการเคลม พับกล่องให้แบนเพื่อประหยัดพื้นที่
ทิ้ง – กล่องที่หมดประกันแล้ว กล่องที่ย่อยยับเยิน กล่องที่แม้แต่เราก็ยังจำไม่ได้ว่านี่คือกล่องอะไร
ถ้าต้องย้ายบ้านจะเอาของชิ้นนี้ไปด้วยมั้ย
สำหรับคนที่เคย ย้ายบ้าน ย้ายหอ น่าจะเข้าใจคำถามนี้ได้เป็นอย่างดี ของก็เยอะ รถขนของก็มีพื้นที่จำกัด ไหนจะค่าใช้จ่ายในการขนอีก รวมไปถึงการจัดแพค ใส่ถุง ใส่ลัง ที่ไม่จบไม่สิ้น ความเหนื่อยกับการขนของ จนเราเองก็เริ่มรู้สึกว่า “ไม่เอาชิ้นนี้ไปก็ได้นะ” จะเริ่มต้นขึ้น แปลว่าของชิ้นนี้อาจจะไม่ได้จำเป็นกับเราเท่าไหร่แล้วก็ได้นะ
คุ้มมั้ยที่จะซ่อม
ของที่ใช้งานต้อง มีเสีย มีพัง บ้างตามการเวลา ถ้าซ่อมได้ย่อมเป็นเรื่องดี ทำให้ได้ใช้งานอย่างคุ้มค่า แต่ถ้าราคาค่าซ่อมของชิ้นที่เราพยายามยื้อเอาไว้นั้น สูงจนใกล้เคียงกับราคาสินค้าใหม่ จนเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า คุ้มค่ามั้ยกับการซ่อม การตอบคำถามนี้ น่าจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าจะเก็บ หรือปล่อยไปเสียที
เก็บไว้เผื่อได้ใช้แต่ก็ได้เพิ่มมาตลอด
กล่องอาหาร แก้วน้ำ ช้อนส้อม ตะเกียบ เครื่องปรุง ของเหล่านี้ที่ได้มาจากการซื้ออาหาร กลายเป็นของสะสมยอดฮิต ที่มักจะเก็บไว้เพื่อใช้ซ้ำ วางเรียงซ้อนกันไว้เป็นภูเขาขนาดย่อมๆในครัว ในตู้ บนชั้น บนโต๊ะกินข้าว ซึ่งบ่อยครั้งเราก็เก็บของเหล่านี้เอาไว้มากเกินกว่าที่เราจำเป็นต้องใช้ กลายเป็นที่เก็บฝุ่น ดูไม่สวยงาม เป็นที่อยู่ของแมลง และ เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอีกด้วย
เก็บ – เลือกเก็บเฉพาะขนาดที่ใช้เป็นประจำ ไม่ต้องกักตุนไว้มากเกินความจำเป็นเพราะเดี๋ยวก็ได้มาอีก
ทิ้ง – กล่องเหลือง ซีด มีกลิ่น แตก บิ่น ผิดรูป
ทิ้ง – กล่องไร้คู่ มีกล่องไม่มีฝา มีฝาไม่มีกล่อง ทิ้งได้เลย
เคลียร์บิลเอกสารประจำปี
ใช้การจัดบ้านในครั้งนี้ เป็นการรวบรวมเอกสารทั้งหมดของบ้านในคราวเดียวกัน โดยแยกเป็นกลุ่มง่ายๆ ดังนี้
- บิล ใบเสร็จ – แยกเก็บไว้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ประมาณ 1 เดือน) และทิ้งได้เมื่อไม่ต้องการ
- ใบกำกับภาษี เอกสารประจำปี – รวบรวมไว้ด้วยกันแยกเป็นปีต่อปี เพื่อความสะดวกในการรื้อค้น
- คู่มือการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ – เก็บไว้ในกล่องเดียวกัน อาจจะรวมไปถึงอุปกรณ์สำรองต่างๆเท่าที่จำเป็น
อัปเดตตู้ยาประจำบ้าน
ยา และ อุปกรณ์ต่างๆควรอยู่ในสภาพดีพร้อมให้หยิบใช้ได้ทันท่วงทีเมื่อถึงเวลาฉุกเฉิน ตรวจสอบคุณภาพและวันหมดอายุของยา ถ้าสลากซีดจาง ตัวยาเริ่มเปลี่ยนสภาพ เช่น ยาเม็ดเริ่มแตกร่วน เหนียวเยิ้ม ยาแคปซูลบวมพอง ยาน้ำมีการแยกชั้น หรือ เกาะตัวกันเป็นก้อน รวมทั้งอาจเปลี่ยนสีและมีกลิ่น ควรจัดการทิ้งไป และซื้อมาเติมใหม่ให้พร้อมใช้งาน
เรื่อง : jOhe
ภาพประกอบ : Pstaryu