บ้านโมเดิร์น มีคอร์ตยาร์ด

บ้านโมเดิร์น ที่มีคอร์ตยาร์ด และมีรั้วเป็นอาร์ตแกลเลอรี่

บ้านโมเดิร์น มีคอร์ตยาร์ด
บ้านโมเดิร์น มีคอร์ตยาร์ด

บ้านโมเดิร์น หลังนี้มีส่วนผสม 3 อย่าง ได้แก่ พื้นที่อยู่อาศัย คอร์ตยาร์ดกลางบ้าน และอาร์ตแกลเลอรี่ในบ้าน ต่างทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว ตั้งแต่เป็นบ้าน เป็นวิวให้ความรื่นรมย์ เป็นรั้ว เป็นส่วนบังสายตาจากเพื่อนบ้าน รวมทั้งเป็นความภาคภูมิใจของเจ้าของบ้าน

เจ้าของ : คุณเสาวภา ทั้งไพศาล ชูตระกูล และคุณมุขพล ชูตระกูล

ออกแบบ : Research Studio Panin โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ต้นข้าว ปาณินท์

ด้านซ้ายเป็นรั้วทางเข้าสีดำของบ้าน เมื่อมองจากถนนจะเห็นผนังอิฐและช่องเปิดทแยงสีเทาเข้มของชั้น 2 เหนือส่วนอาร์ตแกลเลอรี่
ผนังอิฐเทา
ผนังอิฐก่อสีเทาและตะแกรงเหล็กเพื่อใช้ปิดและเปิดมุมมองของบ้านตามที่กำหนดไว้ ส่วนเปิดช่วยให้อากาศไหลเวียนได้ดี ระบายความร้อนมาจากคอร์ตด้านล่าง

โจทย์แรก คือ เพื่อนบ้านและที่ดินโดยรอบ

หลังจากหาที่ดินเพื่อจะสร้างบ้านหลังใหม่แทนคอนโด เจ้าของบ้านหลังนี้ได้เลือกที่ดินในซอยย่านพหลโยธิน ซึ่งเป็นย่านที่มีบ้านขนาดเล็กๆ ที่อยู่กันมานาน โดยมีลักษณะที่ดินล้อมรอบด้วยเพื่อนบ้านในระยะประชิด และมีส่วนที่ดินที่ยื่นออกมาใช้เป็นที่จอดรถได้พอดี

“อยากให้บ้านหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่อยากให้บ้านรอบๆ รู้สึกแปลกแยก แบบบ้านหลังนี้สร้างรั้วขึ้นมาสูงเลย 3 เมตร” รองศาสตราจารย์ ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ สถาปนิกแห่ง Research Studio Panin ผู้ออกแบบ เล่าถึงการพูดคุยกับเจ้าของบ้าน ขณะที่คอร์ตยาร์ดคือแนวทางในการแก้ปัญหามุมมองในการใช้ชีวิตภายในบ้าน แต่จะทำอย่างไรให้ใช้พื้นที่ได้ตอบโจทย์ทุกความต้องการจริงๆ

ที่จอดรถ
บริเวณที่จอดรถซึ่งเป็นที่ดินส่วนยื่นจากตัวบ้านหลัก ทั้งสองด้านปล่อยเป็นรั้วร่วมด้านหลังของเพื่อนบ้าน
บ้านโมเดิร์น มีคอร์ตยาร์ด
ชั้น 2 ของบ้านด้านซ้ายเป็นห้องนอน หลังคาส่วนอาร์ตแกลเลอรี่เป็นหลังคาแบนเรียบ พร้อมอิฐเทาก่อช่วยบังแดดและบังสายตา
ผนังอิฐเทา
ผนังก่ออิฐสีเทาเรียงแบบพิเศษเจาะรูมีโครงเหล็กภายใน ช่วยให้บ้านมีบุคลิกน่าสนใจ ซึ่งมาจากการหาข้อมูลของเจ้าของบ้านและมาช่วยฝึกช่างด้วยตัวเอง
บ้านโมเดิร์น มีคอร์ตยาร์ด
มุมมองบนดาดฟ้าชั้น 2 จากด้านในสุดของบ้าน มองยาวไปยังประตูทางเข้าจากที่จอดรถด้านล่าง

บ้านอยู่อาศัย คอร์ต และอาร์ตแกลเลอรี่

เจ้าของบ้านสวยน่าอยู่หลังนี้ยังเป็นนักสะสมงานศิลปะ ต้องการให้งานศิลปะเป็นพระเอกและอยู่ในชีวิตประจำวันได้ด้วย โดยไม่ต้องเกร็งจนรู้สึกไม่สามารถเข้าใกล้ได้ ผู้ออกแบบจึงศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดวางพื้นที่ โดยออกแบบให้มีคอร์ตยาร์ดกว้าง 5 เมตรตรงกลาง มีพื้นที่อยู่อาศัยกว้าง 5 เมตร และอีกด้านเป็นแกลเลอรี่กว้าง 2 เมตร ซึ่งเป็นขนาดแกลเลอรี่เล็กที่สุดเท่าที่พอจะทำได้

พื้นที่หลักทั้ง 3 ส่วนนี้จะทำงานร่วมกัน ยึดจากการใช้ชีวิตเป็นหลัก เจ้าของบ้านสามารถนั่งเล่น ทำอาหาร รับประทานอาหาร พร้อมชื่นชมงานศิลปะฝั่งตรงข้าม ผ่านร่มไม้และแสงแดดที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงของวัน ซึ่งการมีคอร์ตเปิดขนาดใหญ่นี้ยังช่วยให้อยู่สบาย อากาศไหลเวียนได้ดีและไม่ร้อน แปลนบ้านยาวขนานไปกับอาร์ตแกลเลอรี่ เริ่มจากโซนนั่งเล่น โซนรับประทานอาหาร และครัวอยู่ด้านในสุด ในรูปแบบโมเดิร์นที่เปิดโล่งเชื่อมต่อถึงกัน เพื่อแทนความทรงจำที่เคยอาศัยในคอนโดมาก่อน

ส่วนนั่งเล่น
แปลนบ้านแบบโอเพ่นสเปซในส่วนชั้นล่าง ด้านซ้ายมีรั้วร่วมของเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศทั้งหมด
มุมมองจากครัวไปยังประตูหน้าทางเข้า ผนังหินสีเทาลายขาวคุมโทนเช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของบ้าน
แพนทรี่
โซนอยู่อาศัยในมุมครัวที่ต่อกับโต๊ะรับประทานอาหาร คุมโทมด้วยสีเทา ขาว และไม้
ตู้เก็บของ
ตู้เก็บของวางจังหวะช่องเปิดไว้โชว์งานศิลปะ ดีไซน์ตู้ซ่อนมือจับเป็นแนวร่องและมีลายไม้ ได้บรรยากาศแบบเฟอร์นิเจอร์ยุค Mid-century
ห้องทำงาน
ห้องทำงานที่สุดปลายทางเดินของบ้าน สามารถนั่งทำงานพร้อมชมวิวต้นไม้ได้อย่างเพลิดเพลิน

คอร์ตเชื่อมทะลุถึงพื้นที่ส่วนต่างๆ ด้วยบานเลื่อนขนาดใหญ่ ลดระดับลงมาสองขั้นเพื่อช่วยในการระบายน้ำ โดยเลือกสีของวัสดุพื้นให้ดูกลมกลืน ช่วยทำให้ห้องดูกว้างขึ้น รับกับหินกรวดสีเทา นอกจากนี้ภายในบ้านยังมีต้นไม้ใหญ่อีก 3 ต้นที่เลือกปลูกโดยพ่อ แม่ ลูก และแบ่งกันดูแลคนละต้น สังเกตได้ว่าโคนต้นจะมีการตกแต่งที่ต่างกันไปเล็กน้อยตามความชอบของเจ้าของต้นไม้

ห้องอาร์ตแกลเลอรี่เป็นส่วนกั้นมุมมองจากเพื่อนบ้านในด้านนี้ ทำหน้าที่เสมือนรั้วบ้านไปในตัว สร้างความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่อยู่อาศัย โดยด้านบนไม่ได้ทำเป็นห้อง เพื่อให้ห้องนอนบนชั้น 2 ของบ้านดูโปร่งโล่ง แต่แก้ปัญหาเรื่องมุมมองของเพื่อนบ้านด้วยผนังอิฐสีเทาทำมุมเฉียงสลับกับตะแกรงเหล็กที่โปร่งกว่า โดยที่ผนังอิฐในด้านแคบมีการก่ออิฐแบบพิเศษที่เจ้าของบ้านศึกษาและคุยกับช่างด้วยตัวเอง

บ้านโมเดิร์น มีคอร์ตยาร์ด
เมื่อมองจากครัวไปยังอาร์ตแกลเลอรี่ ต้นไม้จะเป็นส่วนหนึ่งของการชมงานศิลปะ ซึ่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน
บ้านโมเดิร์น มีคอร์ตยาร์ด
ภาพของคอร์ตกลางบ้านแบบเต็มๆ กว้าง 5 เมตร เช่นเดียวกับส่วนพักอาศัย ขณะที่อาร์ตแกลเลอรี่มีขนาด 2 เมตร
อาร์ตแกลเลอรี่ในบ้าน
ภายในห้องแกลเลอรี่ขนาดเล็ก จัดวางอาร์มแชร์หนังตัวเก่าที่มาจากคอนโด
อาร์ตแกลเลอรี่ในบ้าน
อาร์ตแกลเลอรี่ในบ้าน
งานศิลปะในจุดต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ยิ่งเมื่อมองผ่านต้นไม้แล้ว ยิ่งมีเสน่ห์มากขึ้น
คอร์ต
คอร์ตที่เปิดโล่งกลางบ้านช่วยให้เกิดลมไหลเวียน พัดเอาอากาศร้อนด้านล่างขึ้นไปด้านบน และตัวอาคารโดยล้อมก็สร้างเงาบังแดดให้กันและกัน พร้อมทั้งให้ผู้อยู่อาศัยรับรู้ได้ถึงธรรมชาติที่อยู่นอกชายคาบ้าน
โถงบันได
โถงบันไดที่ขึ้นจากชั้นล่าง สามารถขึ้นตรงมาถึงห้องนอนได้เลยหากไม่ต้องการเข้าในห้องนั่งเล่น
บรรยากาศในห้องนอน ด้านในมีการเจาะช่องหน้าต่างให้แสงเข้ามาจากด้านบนแต่ยังมีความเป็นส่วนตัว
ห้องแต่งตัวเป็นงานไม้เส้นเรียบน้อยดูสบายตา เปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามาเพื่อความโปร่งโล่ง

รั้วร่วมและมุมมอง

ความลงตัวที่น่าสนใจอีกอย่างของบ้านหลังนี้คือ การเปิดมุมมองให้รั้วร่วมของเพื่อนบ้านซึ่งสร้างมาก่อน ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านได้อย่างกลมกลืน อาจมีบางส่วนที่ดูเก่าบ้าง ไม่ได้เรียบร้อยตามปกติบ้าง แต่ก็ดูไม่ขัดเขิน เพราะโซฟาหนัง ตู้ไม้เรียบๆ ในบ้านก็ให้ความรู้สึกเข้ากันได้กับการก่ออิฐรั้วที่อาจดูเป็นด้านหลังของอีกบ้านได้ กลายเป็นบรรยากาศเก่าและใหม่ที่มีชีวิตชีวา โดยผ่านการออกแบบทั้งแสงและลมที่จะเข้ามา ช่องเปิดหน้าต่างที่ไม่ตรงกันพอดี บางส่วนที่มีช่องเปิดเยอะก็ออกแบบให้ทางฝั่งเราเป็นช่องปิดหรือมีอะไรกั้นสายตา

ผนังอิฐเทา
ผนังอิฐเทาบางจุดมีแนวการก่อต่างจากปกติ โดยสถาปนิกได้เขียนรายละเอียดให้ช่าง แต่เจ้าของเป็นผู้ชื่นชอบงานออกแบบ จึงได้ศึกษาด้วยตัวเองเพิ่มเติมและมาสอนช่างด้วยตัวเองจนงานสำเร็จ
รายละเอียดของตู้บิลท์อินในบ้าน นอกจากจะมีขอบหลบเข้าไปเล็กน้อยแล้ว ยังออกแบบให้ขนาดพอดีกับปลั๊กไฟด้วย ทำให้บ้านดูเรียบร้อยยิ่งขึ้น
ชายคาระแนง
ส่วนชายคาและหลังคาของบ้านที่ซ้อนกันและทำหน้าที่ต่างกันไป ชายคาระแนงด้านล่างช่วยบังแดดบางส่วน ยื่นยาวออกไปตามระยะที่สถาปนิกได้ออกแบบไว้ ขณะที่หลังคาด้านบนทำหน้าที่หลักในการป้องกันฝน และมีความลาดเอียงที่เหมาะสม

สุดท้ายแล้วบ้านหลังนี้ถือเป็นการอยู่ร่วมกันของทั้งภายในและภายนอกรั้ว หรือแม้จะอยู่ในชายคาแต่นอกชายคาก็เชื้อเชิญให้เราออกไปนั่งเล่นได้เสมอ รวมถึงงานศิลปะจากอาร์ตแกลเลอรี่ในบ้าน ที่เมื่อมองผ่านฉากด้านหน้าของใบไม้แล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้อย่างมีความสุข


เรื่อง: สมัชชา วิราพร

ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

สไตล์: Suntreeya

บ้านกล่องหลังคาทรงจั่ว ที่เปิดคอร์ตกลางรับพื้นที่สีเขียว

O House เปิดคอร์ตให้เป็นหัวใจของบ้าน