อุทยานแห่งชาติ น้ำหนาว เกิดป่าเปลี่ยนสี
อุทยานแห่งชาติ น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ผืนป่ากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ที่ใบเริ่มเปลียนสีจากสีเขียวเป็นสีเหลืองหรือแดง สร้างความสดใสให้โลก
![อุทยานแห่งชาติ](https://www.baanlaesuan.com/app/uploads/2024/01/418723421_678424574484341_4073106458933505700_n.jpg)
อุทยานแห่งชาติ มหัศจรรย์ป่าเปลี่ยนสีที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ นับเป็นช่วงที่ผืนป่าและธรรมชาติหลายแห่งกำลังจัดแสดงโชว์สีสันกันอย่างตระการตาในช่วงเดือนมกราคมนี้ รวมทั้งป่าหลายๆที่ก็กำลังมีสีสันของไม้ดอกที่เริ่มแย้มดอกเบ่งบานกันในช่วงนี้ อีกหนึ่งปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่ดูแล้วใจฟูอยากไปเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้งคือที่ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ผืนป่ากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ที่ใบเริ่มเปลียนสีจากสีเขียวเป็นสีเหลืองหรือแดง สร้างความสดใส และทยอยร่วงโรยสู่พื้นดิน ซึ่งเป็นอีกการปรับตัวของธรรมชาติก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูร้อนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
![](https://www.baanlaesuan.com/app/uploads/2024/01/418725193_678424611151004_6770247119692595262_n.jpg)
“ป่าเปลี่ยนสี” คืออีกหนึ่งภาพปรากฎการณ์แห่งความงามของธรรมชาติที่ 1 ปี จะมีมาให้ชมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วเราเคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า ทำไมเมื่อเริ่มเข้าสู่หน้าหนาวแล้วใบไม้ถึงมีการเปลี่ยนสี แล้วสีเหล่านั้นมาจากอะไร ไปทำความเข้าใจพร้อมๆกันเลย
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สีต่างๆของใบไม้นั้นเกิดจากสารที่มีสี หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ รงควัตถุ ซึ่งจะมีสีต่างๆ เช่น สีเขียว เกิดจากสารสีคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) สีแดงหรือสีส้ม เกิดจากสารสีแคโรทีน (Carotene) และสีเหลืองหรือสีน้ำตาล เกิดจากสารสีแซนโทฟิลล์ (Xantrophyll)
![](https://www.baanlaesuan.com/app/uploads/2024/01/418727507_678424761150989_7918739105302606156_n.jpg)
ซึ่งเหตุผลที่ใบไม้เปลี่ยนเป็นสีส้ม สีเหลือง ไปจนถึงสีน้ำตาลแล้วร่วงโรยไปตามกาลเวลานั้น เป็นกลไกทางธรรมชาติที่เกิดจากการสังเคราะห์แสงและผลิตอาหาร ก็เพราะในช่วงหน้าหนาวที่มีกลางวันสั้นกว่าฤดูอื่นๆ จึงส่งผลกระทบต่อระบบสังเคราะห์แสงของพืช ซึ่งพืชจะผลิตใบด้วยการสร้างชั้นกั้นระหว่างใบและกิ่ง กิ่งจะหยุดส่งน้ำไปหล่อเลี้ยงใบ ทำให้คลอโรฟิลล์ที่มีอยู่ค่อยๆสลายไป ใบจึงเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นสีเหลือง สีส้ม หรือสีแดง จนกระทั่งค่อยๆร่วงไปตามกาลเวลา
![อุทยานแห่งชาติ](https://www.baanlaesuan.com/app/uploads/2024/01/418725200_678424687817663_1377386047792127069_n.jpg)
![](https://www.baanlaesuan.com/app/uploads/2024/01/418723075_678424601151005_7597849891228183371_n.jpg)
ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก : คุณ Yujang Khachitphan Arunrattanakan
หมายเหตุ : ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง
รุกขกร นักศัลยกรรมต้นไม้ อาชีพที่ควรสนับสนุน
ต้นไม้รากไม่ทำลายโครงสร้าง
ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com