บ้านสีขาว สไตล์โมเดิร์น หลังนี้มีระยะห่างระหว่างความสัมพันธ์แบบพอดี พร้อมกับมีพื้นที่ส่วนตัวอันสงบสุขและปลอดโปร่ง โดยเชื่อมต่อกันผ่านคอร์ตต้นไม้ตรงกลางซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่สร้างพลังงานบวกให้ทุกชีวิตภายในบ้าน
Design Directory : Black Pencils Studio
คนที่อาศัยใกล้กับพื้นที่สีเขียวมักมีแนวโน้มของความเครียดน้อยกว่าคนที่อยู่ในบรรยากาศแบบเมืองๆ แถมยังส่งผลต่อพลังชีวิตในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขขึ้นด้วย ซึ่งก็น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักของการออกแบบ บ้านสีขาว สไตล์โมเดิร์น หลังนี้ขึ้นมา นอกเหนือไปจากความต้องการบ้านไว้อยู่อาศัยรวมกันแบบสองครอบครัว
เพราะจากที่เคยแยกกันอยู่คนละบ้านกับคุณพ่อคุณแม่ เมื่อถึงช่วงเวลาที่ทุกอย่างในชีวิตพร้อม ความคิดจะสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยร่วมในรอบรั้วเดียวกันจึงเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังอยากรักษาความเป็นส่วนตัวของแต่ละครอบครัวเอาไว้ด้วย นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านที่มีระยะห่างระหว่างความสัมพันธ์แบบพอดี พร้อมกับมีพื้นที่ส่วนตัวอันสงบสุขและปลอดโปร่ง โดยเชื่อมต่อกันผ่านคอร์ตต้นไม้ตรงกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่สร้างพลังงานบวกให้ทุกชีวิตภายในบ้าน
บ้านสีขาว สไตล์โมเดิร์น กับบทสนทนาผ่านคอร์ตสีเขียว
คุณแพท-ชุติ ศรีสงวนวิลาส สถาปนิกจาก Black Pencils Studio เล่าถึงการออกแบบบ้านหลังนี้ว่า
“ถ้ามองจากภายนอกจะเห็นว่าบ้านหลังนี้เป็นกล่องสีขาวที่ดูทึบตันลอยอยู่ด้านบน นั่นเพราะเราถมที่ให้สูงจากระดับถนนหน้าบ้าน แล้วทำชั้นล่างให้เป็นส่วนเซอร์วิส ห้องเก็บของ ห้องแม่บ้าน และทางเข้าลิฟต์ เพราะตั้งใจออกแบบให้ผู้สูงวัยใช้งานได้ในระยะยาว คือมีทางลาดและทางเดินเชื่อมต่อถึงลิฟต์ขึ้นไปสู่พื้นที่พักผ่อนส่วนตัวบนชั้น 3 ได้เลย บริเวณชั้น 2 จึงเป็นพื้นที่ส่วนกลางทั้งหมด ซึ่งแยกออกเป็นฝั่งของลูกและฝั่งของคุณพ่อคุณแม่ แล้วยังสามารถเปิดหน้าต่างและประตูเชื่อมต่อพื้นที่แต่ละส่วนให้กลายเป็นพื้นที่เปิดได้ทั้งชั้น
“เราวางตัวบ้านให้อยู่ชิดที่ดินด้านในที่สุด เพราะด้วยทิศทางของแสงหน้าบ้านซึ่งเป็นทิศตะวันตกเฉียงใต้ จึงเว้นสเปซตรงนี้ให้เป็นส่วนของที่จอดรถและทางเข้า ช่วยป้องกันเรื่องแสงแดดและความร้อนไม่ให้ปะทะกับส่วนพักอาศัยโดยตรง แล้วออกแบบการเข้าถึงพื้นที่ภายในแบบค่อยเป็นค่อยไป จากทางเข้าจะค่อยๆ เผยตัวออกมาผ่านมุมทางเดินต่างๆ จากมุมเล็กๆ สู่มุมที่ใหญ่และกว้างขึ้นจนกลายเป็นมุมของหน้าต่างบานใหญ่ที่สุดที่เปิดให้เห็นส่วนรับประทานอาหารและมุมนั่งเล่นซึ่งอยู่ด้านในสุดของบ้าน ตอบรับเรื่องความสงบและเป็นส่วนตัว สามารถมองเห็นบรรยากาศของธรรมชาติสีเขียว ดูสบายตาจากสวนคอร์ตกลางบ้าน ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ฝั่งซ้ายกับฝั่งขวาของครอบครัวสองวัย จึงเกิดเป็นบทสนทนาผ่านหน้าต่างและคอร์ตต้นไม้ตรงกลาง โดยรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมของบริบทเมืองให้น้อยที่สุด”
เปิดรับแสงและลม ปิดเพื่อความเป็นส่วนตัว
เพราะคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวค่อนข้างมาก สถาปนิกจึงเน้นการทำช่องเปิดในทิศทางและขนาดที่สัมพันธ์กับฟังก์ชันใช้งานภายในบ้าน อย่างเช่นช่องหน้าต่างหน้าบ้านที่มีขนาด 2.40 เมตร ที่ดันให้หลบลึกกว่าแนวผนังบ้านเพื่อเล่นกับเงาที่พาดผ่านของแสงแดด และเปิดจำนวนช่องไว้ไม่มากเพราะเป็นแสงจากทิศตะวันตก พื้นที่ภายในด้านนี้จึงไม่ใช่ที่อยู่อาศัยหลักแต่เป็นส่วนของทางเดินและบันได แล้วค่อยเปิดมุมมองภายในซึ่งมีส่วนรับประทานอาหาร ส่วนนั่งเล่น และแพนทรี่ของแต่ละฝั่งผ่านผนังกระจกที่สามารถเลื่อนเปิดได้ยาวตลอดแนว 12 เมตร พร้อมชมวิวสวนสีเขียวกลางบ้าน โดยเจ้าของบ้านยังสามารถเลือกที่จะปิดได้เมื่อต้องการแยกการใช้งานแต่ละห้องให้เป็นพื้นที่ส่วนตัว
“เราเลือกใช้ต้นปีบ 4 ต้นเป็นไม้ประธานของสวนคอร์ต เพราะลำต้นที่สูงตรงจะช่วยเปิดมุมมองระหว่างสองครอบครัวให้เห็นและสนทนากันได้ พร้อมกับมีสเปซให้แสงและลมหมุนเวียนถ่ายเทเข้าบ้าน โดยช่องลมที่กำหนดไว้ทางทิศใต้จะนำลมประจำพัดเข้าสู่พื้นที่ในบ้านได้ตลอดทั้งปี เวลาอยู่ในบ้านทั้งเสียง ฝุ่น และแสงจากภายนอกจะถูกกรองออกไปหมด เหลือแค่ความเป็นส่วนตัว ส่วนพุ่มใบไม้สวยๆ บนเรือนยอดต้นปีบก็จะขึ้นไปสร้างวิวธรรมชาติให้ห้องนอนบนชั้น 3 ซึ่งเราเล็งตำแหน่งของกิ่งใบให้พอดีกับช่องหน้าต่างไว้เลย และยังต่อเนื่องไปกับต้นไทรที่ปลูกอยู่ริมราวกันตกของดาดฟ้าชั้นบนสุด ซึ่งตกแต่งให้เป็นสวนสีเขียวเต็มพื้นที่ พร้อมกับทางเดินจงกรมและที่นั่งเล่นสำหรับดูดวงอาทิตย์ตกดินได้ทุกวัน”
แสงเงาจากธรรมชาติ
ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกแล้วบ้านหลังนี้อาจดูเป็นบ้านขนาดใหญ่สีขาวที่เรียบนิ่ง แต่ภายในซ่อนความสดชื่นและผ่อนคลายผ่านสวนคอร์ตตรงกลาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการจูงใจสมาชิกของทั้งสองครอบครัวให้มาอยู่ร่วมกันได้ ไม่เพียงแค่ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสบาย แต่ยังดูดซับพลังงานบวกจากธรรมชาติในพื้นที่ส่วนตัวแบบไม่ต้องแบ่งปันกับใคร ทำให้ทุกคนรู้สึกหลงรักการใช้ชีวิตภายในบ้านจนไม่อยากออกไปไหน
“ต้นไม้ทำให้บ้านสีขาวมีความนุ่มนวลขึ้นมาก และที่เลือกออกแบบบ้านให้เป็นกล่องสีขาวตามรูปทรงเรขาคณิตก็เพราะอยากให้แสงเงาแสดงรูปทรงออกมาได้อย่างชัดเจน เพราะเวลาที่มีแสงพาดผ่านตัวอาคารหรือช่องหน้าต่างจะเกิดเงาสวยๆ ที่เคลื่อนไหวไปตามช่วงเวลาของวัน ส่วนภายในบ้านก็ใช้ต้นไม้สร้างเงาและบรรยากาศของธรรมชาติให้ทอดยาวเข้ามาสู่พื้นที่ภายใน ตามทางเดิน ผนัง และพื้นในบ้าน เคลื่อนไหวเปลี่ยนอารมณ์ตามเวลาและฤดูกาล สร้างประสบการณ์ความเป็นบ้านที่มีชีวิตชีวา อบอุ่น และผ่อนคลาย ยิ่งบ้านมีเลเยอร์เยอะก็ยิ่งดูนุ่ม แม้แต่ตอนกลางคืนที่ใช้ไลต์ติ้งช่วยให้บ้านมีมิติแตกต่างไปจากตอนกลางวัน ทำให้อยู่บ้านได้ทั้งวันโดยไม่รู้สึกเบื่อเลย”
แม้จะเป็นบ้านที่อยู่กลางเมือง แวดล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านและตึกสูงน้อยใหญ่ แต่เมื่อเข้ามาสู่พื้นที่พักผ่อนภายในก็สามารถสัมผัสได้ทั้งความสงบเงียบ สเปซที่เปิดโล่งอย่างมีอิสระ บรรยากาศอันสดชื่นจากธรรมชาติ และความเป็นส่วนตัว พร้อมที่จะชาร์จพลังชีวิตใหม่ๆ ได้ในทุกวัน
สถาปนิก : Black Pencils Studio โดยคุณชุติ ศรีสงวนวิลาส
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล, Spaceshift