คอร์ตกลางบ้านขนาดเล็กที่เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยสวนแนวตั้ง

บ้านบนพื้นที่ 70 ตารางวาหลังนี้ แอบซ่อนพื้นที่สีเขียวที่ดูน่าทึ่งเอาไว้ โดยเป็น สวนป่าแนวตั้ง ที่สวยสมบูรณ์ ในพื้นที่เพียง 24 ตารางเมตร และสามารถมองเห็นได้จากทุกมุมของบ้าน

หน้าบ้านชั้นล่างเป็นพื้นที่สำหรับทำคาเฟ่ และเป็นอู่ซ่อมรถขนาดเล็กซึ่งเป็นงานอดิเรกของคุณพ่อ ถัดมาด้านในเป็นห้องพักผ่อน ทุกห้องมีผนังและประตูบานเลื่อนกระจกเต็มบาน ฝั่งตรงข้ามติดฟาซาดขนาดใหญ่เพื่อบังมุมมองจากข้างบ้าน ส่วนอีกด้านเป็นผนังปูนของอาคาร ชั้น 2 มีทางเดินชิดผนังที่กรุด้วยกระจกเช่นกัน พื้นที่สวนเป็นคอร์ตกลางบ้านที่มีขนาดเพียง 4 x 6 เมตร ทั้งยังสามารถมองเห็นได้จากหลายมุม ถือว่าเป็นโจทย์ท้าทายที่ต้องคำนึงถึงการออกแบบเป็นพิเศษ

สวนป่าขนาดเล็กแค่ 24 ตารางเมตร เพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยออกแบบเป็น สวนป่าแนวตั้ง เต็มพื้นที่บนผนังของอาคารสูงสองชั้น เทคนิคที่ใช้ลวงตาให้รู้สึกว่าสวนมีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริง

“ผมได้รับการติดต่อจาก คุณอาร์ต-อยุทธ์ มหาโสม แห่ง AAd – Ayutt and Associates Design สถาปนิกผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ครับ ข้อมูลเบื้องต้นคืออยากได้สวนป่าที่มีน้ำตกลำธาร พื้นที่สวนขนาดค่อนข้างเล็ก แต่อยากให้บ้านมีพื้นที่สีเขียวมากที่สุด สวนต้องดูเป็นป่าที่สวยสมบูรณ์เร็วที่สุดแบบที่ไม่ต้องใช้เวลารอนาน ๆ ที่สำคัญคือทำสวนให้เหมือนป่า ไม่ใช่ทำสวนให้เหมือนสวน” คุณเปิ้ล-คเชนทร์  ศรีมาก เล่าที่มาของการออกแบบสวนนี้ให้ฟัง

ผนังของห้องนั่งเล่นพักผ่อนเป็นประตูบานเลื่อนกระจกขนาดใหญ่ ถ้าเปิดประตูก็จะเชื่อมพื้นที่ให้ดูต่อเนื่องกัน แม้จะปิดประตูเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวก็ยังเห็นสวนด้านนอก การใช้กระจกสีเข้มเมื่อมองจากด้านนอกก็จะเห็นเงาสะท้อนของสวน ลวงตาให้รู้สึกว่าสวนมีขนาดใหญ่

“พื้นที่สวนมีแค่ 24 ตารางเมตร เราจะทำอย่างไรให้เป็นสวนป่าที่ดูใหญ่เกินจริง ผมมองว่าผนังของอาคารเป็นพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ที่น่าจะทำอะไรได้มากกว่าปล่อยให้เป็นแค่ผนังปูนโล่ง ๆ ผมออกแบบให้เป็นสวนแนวตั้งเต็มพื้นที่ เป็นการจัดสวนรูปตัวแอล (L) ที่ลามจากพื้นขึ้นไปที่ผนังครับ เราทำโครงสร้างเหล็กกัลวาไนซ์ซ้อนทับผนังปูนของตัวอาคารที่ทากันซึมไว้แล้ว ยึดด้วยแผ่นพลาสวูดซึ่งเป็นแผ่นไม้เทียมที่มีความแข็งแรง แต่ยังคงมีความนุ่มและทนต่อความชื้น เพื่อจะยิงแม็กซ์ยึดผ้าจีโอเท็กซ์ไทล์ที่ปูทับได้ โดยเลือกผ้าที่มีความหนามากกว่าปกติปูซ้อนกันสองชั้น เวลาจะปลูกต้นไม้ก็กรีดผ้าให้เป็นกระเปาะคล้ายรังนกแล้วยัดตุ้มต้นไม้ลงไป แล้วยิงแม็กซ์เพื่อรัดตุ้มต้นไม้ไว้ให้แน่น

สวนที่ล้อมด้วยอาคารและผนังสูงทั้งสี่ด้าน ได้รับแสงแดดแค่ช่วง 12.00 น. – 15.00 น. ซึ่งเป็นเหตุผลหลักในการเลือกใช้ไม้ใบในร่มเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องเป็นไม้ที่ทนแสงแดดจัดในช่วงบ่ายและฤดูร้อนที่แดดแรงได้เช่นกัน เลือกชนิดที่โตช้า จัดวางตำแหน่งต้นเล็กใหญ่สลับกันเป็นกลุ่มเพื่อให้เกิดร่มเงาเอื้อต่อกัน ติดตั้งระบบให้น้ำแบบตั้งเวลาอัตโนมัติเพื่อง่ายต่อการจัดการและดูแลรักษา เกิดเป็นระบบนิเวศที่ดูแลตัวเองได้
ชานพักบันไดออกแบบให้เป็นห้องกระจกยื่นออกไปในสวน เวลาที่ยืนอยู่ด้านในแล้วมองลงมาจะให้อารมณ์เหมือนยืนอยู่บนผาน้ำตกธรรมชาติ

“บริเวณสวนจะได้รับแสงแดดแค่วันละ 3-4 ชั่วโมงช่วงเที่ยงถึงบ่ายครับ ต้นไม้ที่เลือกใช้ต้องเป็นไม้ใบในร่มเป็นหลัก และต้องเป็นต้นไม้ที่อยู่ได้ในสภาพแสงที่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องทนแดดในตอนเที่ยงและแดดจัดในช่วงฤดูร้อนได้ด้วยครับ ต้นไม้หลัก ๆ ที่เลือกใช้เป็นไม้ป่าที่สั่งจากทางใต้ เป็นเฟินโตช้าที่มีรากอากาศที่สามารถจับความชื้นในอากาศได้ เช่น เฟินข้าหลวง เฟินปีกนก เสริมด้วยเฟินอินโด เฟินนาคราช ส่วนไผ่ด่างแคระและกนกนารีจะเป็นต้นไม้ที่โตเร็วหน่อย ที่เลือกมาใช้เพราะอยากให้สวนมีสีเขียวเพิ่มมากขึ้นเร็ว ๆ ครับ และถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าบนสวนแนวตั้งมีทางน้ำไหลลงมาจากด้านบนสุดของผนังอาคาร การวางตำแหน่งปลูกต้นไม้ต้องออกแบบเหมือนลายกนก เพื่อเว้นจังหวะให้มีช่องว่างเป็นทางน้ำไหลครับ

คุณเปิ้ลตั้งใจออกแบบให้น้ำตกไม่สูงมากนัก และมีความก้ำกึ่งระหว่างน้ำตกกับลำธาร จะเห็นเป็นแค่ชั้นย่อยๆ เล็กๆ ลดหลั่นกันเท่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดเสียงดังจนเกินไป

“หัวน้ำตกจะอยู่ใต้ห้องกระจกซึ่งเป็นชานพักบันไดในบ้านที่ยื่นออกมาในสวน เวลาที่เราไปยืนอยู่ในห้องกระจกแล้วมองลงมาจะให้อารมณ์เหมือนยืนอยู่บนผาน้ำตกธรรมชาติ น้ำตกก่อด้วยหินฟองน้ำทั้งหมด ออกแบบให้ก้ำกึ่งระหว่างน้ำตกผสมกับลำธาร ไม่เห็นว่าเป็นชั้นน้ำตกที่แยกกันชัดเจน จะเป็นแค่ชั้นย่อย ๆ เล็ก ๆ ลดหลั่นกันเท่านั้น ด้านล่างเป็นบ่อน้ำลึก 20 เซนติเมตร ตั้งใจทำให้ฟีลเหมือนเป็นลำธารตื้น ๆ บ่อน้ำตื้นแบบนี้ดูแลจัดการยากประมาณหนึ่งเลยนะครับ เพราะปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย ต้องคำนวณให้ดีเพื่อให้ปริมาณเพียงพอที่จะดึงน้ำขึ้นไปที่หัวน้ำตก โครงสร้างด้านล่างลงเสาเข็มหกเหลี่ยมยาว 2 เมตร ระยะ 1 x 1 เมตร ทำคานและเทคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด โดยแยกส่วนกับโครงสร้างของอาคารเพื่อป้องกันปัญหาการทรุดตัวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“ต้นไม้ใหญ่ผมเลือกใช้ เสม็ดแดง แค่ต้นเดียว เลือกต้นที่มีลักษณะเป็นกอขนาดใหญ่ เพื่อให้เส้นแนวตั้งของลำต้นที่มีหลายลำดูคอนทราสต์กับเส้นแนวนอนของฟาซาดด้านหลัง บริเวณที่ติดกับฟาซาดจะทำเป็นเนินให้สูงขึ้นเล็กน้อยเพื่อทำให้พื้นที่สวนที่มีขนาดเล็กดูมีมิติเพิ่มมากขึ้น บริเวณน้ำตกยังคงใช้ไม้ใบในร่ม เช่น เฟินหัสดำ เฟินเปรูก้านดำ ทรีเฟิน เป็นหลักครับ  เติมไคร้มะเดื่อ กนกนารี ปลูกมอสส์น้ำเพิ่มโดยใช้วิธีแปะกับหินฟองน้ำธรรมดา ๆ เลยครับ ไม่มีเทคนิคอะไรเป็นพิเศษ ด้วยสภาพแสงและพื้นที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของมอสส์อยู่แล้วครับ

ฟาซาดขนาดใหญ่นอกจากทำหน้าที่บังมุมมองจากข้างบ้าน สร้างความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังใช้เป็นแบ็กกราวนด์ของสวน ปลูกเสม็ดแดงกอใหญ่ที่ตั้งใจให้เส้นแนวตั้งของลำต้นตัดกับเส้นแนวนอนของฟาซาด เกิดภาพที่น่าสนใจ

“ทีนี้ติดตั้งระบบระบบสปริงเกลอร์ไว้ทั้งหมดเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องการดูแลต้นไม้ โดยแยกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนแรกเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นจะวางหัวสปริงเกลอร์กระจายอยู่ทั่วบริเวณน้ำตก อีกส่วนจะอยู่บริเวณสวนแนวตั้ง ติดหัวไว้กับท่อเมนหลักสองเส้น ระยะห่างหัวละ 30 เซนติเมตร ให้น้ำค่อย ๆ ไหลลงจากผนังด้านบนลงมา การให้น้ำสำหรับต้นไม้ที่อยู่ในร่มค่อนข้างสำคัญนะครับ ต้องระวังไม่ให้น้ำมากเกินไป ไม่อย่างนั้นต้นจะเน่าตายได้ง่าย เพิ่มลูกเล่นด้วยระบบพ่นหมอกแบบอัลตราโซนิกที่วางไว้บริเวณน้ำตก สร้างไอหมอกเติมเต็มบรรยากาศของสวนป่าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นครับ”  

ชั้น 2 ของบ้านมีทางเดินชิดผนังที่กรุด้วยกระจก รวมไปถึงผนังของห้องนอนก็เป็นกระจกเต็มผืนเช่นกัน ทำให้ทุกห้องบนชั้น 2 มีวิวสวนของตัวเอง ได้เห็นสวนในมุมที่ต่างกันไปในแต่ละมุมมอง

นอกจากสวนแนวตั้งที่เป็นเทคนิคสำคัญในการเพิ่มพื้นที่สวนจากแนวราบลามไปแนวตั้งแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือการเลือกใช้วัสดุตกแต่งภายในห้องที่มีโทนสีเข้มและผิวมันเงา เช่น ผนังและประตูบานเลื่อนกระจกสีเข้มที่มองเห็นสวน กระจกเงาสีดำในห้องที่ทำให้เกิดรีเฟล็กซ์สะท้อนภาพเงาสวน  ช่วยให้รู้สึกเหมือนกับว่าธรรมชาติอยู่รอบๆ ตัว ลวงตาให้สวนขนาดเล็กนี้ดูกว้างกว่าความเป็นจริง เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบสวนกับสถาปนิกที่ให้ผลลัพธ์น่าทึ่ง และย้ำจุดยืนของบ้านธรรมสวนที่ชัดเจนว่า “แม้จะเป็นสวนป่าเหมือนกัน แต่สวนของแต่ละบ้านจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นและน่าจดจำไม่ซ้ำกัน”

นิตยสาร บ้านและสวน ฉบับเดือนมกราคม 2567
เจ้าของ : คุณเจษฎา บำรุงเวช
ออกแบบ : บริษัทบ้านธรรมสวน จำกัด โดยคุณคเชนทร์ ศรีมาก
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, ธนายุต วิลาทัน