รวม แบบบ้านสองชั้น หลากหลายสไตล์ สวย มีเอกลักษณ์
แบบบ้านสองชั้น ทั้ง 50 หลังนี้ มีดีไซน์ที่แตกต่างกันไป แต่ทุกหลังออกแบบได้อย่างมีเอกลักษณ์ และสามารถอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย
บ้านพริกแกง ยกครกและโทนสีเครื่องแกง มาโขลกรวมเป็นรูปลักษณ์สถาปัตยกรรม
- เจ้าของ: คุณอมรวรรณ ธาราสุข
- ออกแบบ: BodinChapa Architects
- วิศวกรรมโครงสร้าง: Papop Mora
- ก่อสร้าง: Studio Chieng-neur
- ภาพ: shootative / Witsawarut Kekina
แบบบ้านสองชั้น ที่นำสีสันของพริกแกงและรูปลักษณ์ของครกมาตีความหมายผ่านการเลือกใช้วัสดุสองชนิดคือ ใช้ไม้เก่าที่มีโทนสีคล้ายพริกแกงในฝั่งโรงงาน และใช้อิฐบล็อกโทนสีเทาเป็นตัวแทนของครกซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการโขลกพริกแกงอิฐบล็อกและไม้เก่ามาจากอาคารเดิมที่เคยอยู่ตรงนี้ก่อนรื้อสร้างใหม่ โดยเรียงร้อยเป็นเรื่องราวผ่านวัสดุ รูปทรง และการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ >> อ่านต่อ
บ้านพื้นถิ่นอีสานร่วมสมัยในจังหวัดขอนแก่น
- เจ้าของ : คุณจัตวา ชุณหบุญญทิพย์ และคุณอนุสรา แท่นพิทักษ์
- ออกแบบ: S PACE STUDIO
- ภาพ : S Pace Studio
บ้านอีสานร่วมสมัยที่เกิดจากการตีความ “วิถีความเป็นอยู่” ของผู้คนในอีสานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีจุดเด่นที่การปรับการใช้งานพื้นที่ใต้ถุนให้แปรเปลี่ยนเป็นการจัดวางพื้นที่แบบผังเปิดต่อเนื่องกันระหว่างบ้านกับสวนได้อย่างลงตัว >> อ่านต่อ
รีโนเวตบ้านเก่า 80 ปี มาเป็นบ้านโนบิตะแสนอบอุ่น
- เจ้าของ: คุณปัญจมา – คุณชัชวาล เลิศบุษยานุกูล
- สถาปนิก: Jun Sekino A+D โดยคุณจูน เซคิโน
- ออกแบบสวน: D.garden design โดยคุณเปรมฤดี ชีวโกเศรษฐ
รีโนเวตบ้านเก่าอายุ 80 ปีให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แม้จะต้องแก้ปัญหาใหญ่หลายเรื่อง ทั้งความทรุดโทรม น้ำท่วม แคบ มืดทึบ และเพดานต่ำ แต่คงไว้ซึ่งคาแร็กเตอร์เดิมของบ้านที่ให้อารมณ์อบอุ่นของความเป็นบ้านไม้ หลังคาจั่วสวยๆ พร้อมกับเพิ่มกิมมิกที่น่าสนใจอย่างการจัดสวนญี่ปุ่นบริเวณข้างบ้าน โดยปรับหลายสิ่งให้เป็นไทย อย่างต้นขนุนดั้งเดิมก็ยังคงมีอยู่ เพิ่มพรรณไม้อย่างไผ่ หนวดปลาดุกแคระ ที่ง่ายต่อการดูแล ไม่ดูเป็นญี่ปุ่นมากเกินไป มีส่วนชานและทางเดินเล็กๆ ให้ออกมาใช้งาน กลายเป็นส่วนหนึ่งในความน่ารักของบ้านหลังนี้ >> อ่านต่อ
บ้านขนาดพอดีอยู่ในรูปทรงโรงนาฝรั่ง
- เจ้าของ : คุณประจวบ – คุณเจฟฟรี เฮสส์
- สถาปนิก : blankstudio โดยคุณศตวัชร ขัตลิวงศ์
บ้านขนาด 2 ชั้นที่มีรูปทรงคล้ายๆ โรงนาฝรั่งซึ่งมีหลังคาทรงจั่วยกสูงพร้อมระเบียงที่เปิดมุมมองออกสู่ทุ่งนาสวย พื้นที่ใช้สอย 150 ตารางเมตร กับ 2 ห้องนอนซึ่งเป็นขนาดอยู่สบายสำหรับสองคน ต้องการให้แสงธรรมชาติเข้าถึงภายในเพื่อสร้างบรรยากาศปลอดโปร่ง ก็เลยทำหน้าต่างเปิดรับแสงไว้รอบๆ เน้นช่องเปิดใหญ่พร้อมระเบียงออกมาชมวิวได้จากห้องนอนซึ่งรับกับแสงเช้าทางทิศตะวันออก และวางส่วนของบันไดกับห้องน้ำไว้ทางทิศใต้เพื่อเป็นตัวกั้นแดดและความร้อนไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ภายในโดยตรง >> อ่านต่อ
อยู่กับลมและแสงในบ้านทรอปิคัลที่พอดี
- เจ้าของ : คุณบุษยา ยินดีสุข
- ออกแบบ: OTATO Architect โดย คุณภุชงค์ สถิรพิพัฒน์กุล
บ้านหลังนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านแบบสุขุมวิท ซึ่งเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นยุคแรกๆ ประมาณปีพ.ศ.2500 ที่ผสมผสานเส้นสายเรียบง่ายแบบโมเดิร์นให้เข้ากับหลังคาทรงจั่วเพื่อความอยู่สบายในสภาพอากาศเมืองร้อน ตัวบ้านจัดวางตามแนวตะวัน เน้นเปิดโล่งทางทิศเหนือ ให้มุมหน้าบ้านได้หันออกสู่สวน เปิดรับลมจากทางทิศใต้ มุมที่ต้องโดนแดดบ่ายจัดวางเป็นส่วนทางเดิน บันได และ ระเบียง บริเวณโถงกลางยกฝ้าเพดานสูงเพื่อถ่ายเทอากาศ เลือกเจาะช่องรับแสงธรรมชาติจากหลังคาในส่วนห้องน้ำ และแกนกลางของบ้าน ส่วนทิศตะวันตกจะปิดกั้นเป็นผนังทึบเพื่อลดความร้อนจากแดดที่เข้าสู่ตัวบ้าน เป็นสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติโดยไม่เน้นการใช้เทคโนโลยี >> อ่านต่อ
จังหวะไทยๆ ของบ้านริมคลองสามเสน
- เจ้าของ : คุณขจร ธนะแพสย์ และ Mr.Eugene Kroon
- ออกแบบ: Research Studio Panin โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ และ คุณธนาคาร โมกขะสมิต
บ้านปูนสมัยใหม่ริมคลองที่มีแนวคิดในการออกแบบให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย แม้ภายนอกบ้านดูเรียบง่าย แต่แฝงด้วยรายละเอียดในการใช้ชีวิตที่ชัดเจน สวยงาม โดยการออกแบบที่เผื่อในเรื่องทิศทางของแดด ลมฝน และบริบทรอบข้าง จึงช่วยสร้าง “สภาวะน่าสบาย” ให้บ้านหลังนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ นี่จึงเป็นบ้านในกรุงเทพฯที่พึ่งพาเครื่องปรับอากาศแต่น้อยอย่างที่เจ้าของบ้านต้องการ >> อ่านต่อ
บ้านมินิมัลกึ่งสตูดิโอที่อบอวลไปด้วยกลิ่นขนมปังหอมกรุ่น
- เจ้าของ: คุณอังสุมารินทร์ เหล่าเรืองธนา และคุณนิกร ศรีพงศ์วรกุล
บ้านมินิมัลสีขาวที่ออกแบบให้ชั้นล่างเป็นร้านขนมปังแสนอร่อย ภายในเน้นให้เห็นถึงความโปร่งโล่ง สบายตา สอดรับกับการติดตั้งประตู-หน้าต่างกระจกบานใหญ่เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวจากภายนอก ขณะที่การตกแต่งภายในสื่อสารออกมาในรูปแบบมินิมัลที่เรียบนิ่ง จนแอบค่อนไปทางเซนในแบบฉบับของญี่ปุ่น >> อ่านต่อ
บ้านชุบชีวิต รีโนเวต ปรับฟังก์ชัน แก้ปัญหาพื้นระเบิด
- เจ้าของ : คุณผึ้ง
- ออกแบบสถาปัตยกรรม-ออกแบบตกแต่งภายใน : Gooseberry Design โดยคุณณัฐพงศ์ เพียรเชลงเอก
รีโนเวตบ้านโคโลเนียลอายุร่วม 20 ปี ให้มีกลิ่นอายสไตล์โพสโมเดิร์น รองรับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน แต่ยังคงความคุ้นเคยกับบริบทเดิม >> อ่านต่อ
รีโนเวตบ้านเก่า หลังคาทรงจั่ว ให้งดงามด้วยเส้นสายเรียบนิ่งทันสมัยสไตล์มินิมัล
- เจ้าของ : คุณเปรม – คุณวศินี ฉัตรมานพ
- ออกแบบ: Perspacetive Design Studio โดย คุณสิทธิชัย ชมภู
บ้านเก่าอายุร่วม 40 ปี ที่ผุพังและทรุดโทรมากจนต้องรื้อพื้น ผนัง และเพดานทิ้งออกทั้งหมด ให้เหลือไว้เพียงโครงสร้างเสา คาน และรูปแบบหลังคาทรงจั่ว แล้วยกระดับพื้นของตัวบ้านให้สูงขึ้นจากระดับถนน จึงจำเป็นต้องเปิดฝ้าโชว์คานเพื่อดันเพดานไปให้สุด พร้อมจัดเรียงสเปซภายในใหม่ให้เน้นถึงการเปิดช่องแสงและการเชื่อมต่อมุมมองหรือฟังก์ชันระหว่างกัน ลดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นลงให้ดูเรียบง่ายทันสมัย โดยคงโครงสร้างแบบเดิมไว้และเพิ่มเติมครีบกันแดดด้านหน้าซึ่งเป็นดีไซน์เส้นแนวตั้งสวย ๆ จนกลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวให้แก่บ้านหลังนี้ >> อ่านต่อ
บ้านโมเดิร์นมินิมัล ที่อยู่ร่วมกับเด็กๆ ได้
- สถาปนิก: คุณแพไพลิน จันทรโชติวงศ์
- มัณฑนากร : คุณไธปันฬ์ นพลัดดารมย์
บ้านโมเดิร์นมินิมัลที่เน้นสเปซเปิดโล่ง เรียบง่าย น้อยชิ้น และสามารถอยู่ร่วมลูกชายวัยซนอีก 3 คน โดยไม่ทำให้บ้านดูรกตา แถมยังมีพื้นที่สวนสวยๆ ที่สามารถเป็นสนามหญ้าให้เด็กปล่อยพลังเต็มที่ >> อ่านต่อ