เลือกหลอดไฟ เติมใส่โคมเดิม
เมื่อต้องเปลี่ยนหลอดไฟดวงเดียวมาเติมในไฟกิ่ง อุตส่าห์ เลือกหลอดไฟ มาอย่างดี แต่แสงไฟดันไม่ตรงกับหลอดไฟดวงเก่าเสียนี่ แล้วจะเลือกอย่างไรให้ได้อย่างใจ บ้านและสวนมีข้อแนะนำในการเลือกหลอดไฟ โดยการดูจากฉลาก เพื่อให้ไฟดวงใหม่เติมเต็มโคมเก่าให้สวยเนียนดังเดิม
1. เลือกโทนสีของหลอด เลือกหลอดไฟ
การ เลือกหลอดไฟ นอกจะเลือกให้โทนสีตรงกับหลอดเก่าที่มีแล้วนั้น ควรเลือกตัวที่มีค่าเคลวินใกล้เคียงหรือเท่ากันกับหลอดเก่าก็จะทำให้โทนสีที่ได้กลมกลืนไปกับหลอดอื่นๆ ซึ่งที่กล่องจะระบุเป็นชื่อโทนสี และตัวเลขอุณหภูมิสี มีหน่วยเป็น องศาเคลวิน (K) โดยแสงที่มีค่าเคลวินต่ำจะให้แสงโทนอุ่น และค่าเคลวินสูงๆ โทนสีจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นโทนขาว และโทนเย็นตามลำดับ
- Warm White แสงวอร์มไวท์ มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 2,000 – 3,000 เคลวิน เป็นแสงโทนอุ่นสีขาวอมเหลืองนวลๆ ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เหมาะสำหรับห้องนอน ห้องรับประทานอาหาร ห้องน้ำ
- Cool White แสงคูลไวท์ มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 4,000 – 5,000 เคลวิน เป็นแสงโทนเย็นสีขาวอมฟ้า ช่วยขับสีของวัตถุให้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้นมักใช้ในการจัดแสดงสินค้าต่างๆ หรือแฟชั่นโชว์
- Day Light แสงเดย์ไลท์ มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 6,000 เคลวิน เป็นแสงสีออกโทนขาวที่คล้ายแสงเวลากลางวันในธรรมชาติ เป็นแสงสีที่สว่างที่สุด ทำให้มองเห็นวัตถุได้ชัด สีใกล้เคียงวัตถุจริง ให้ความรู้สึกสดใส กระฉับกระเฉง
2. เลือกความสว่าง
ความสว่างของหลอดไฟ ดูได้จากตัวเลข ลูเมน (Lumen) เป็นหน่วยแสดงปริมาณแสงที่ถูกผลิตจากแหล่งกำเนิดแสง ยิ่งตัวเลขมาก แปลว่า หลอดไฟดวงนั้นก็จะยิ่งสว่าง
3. เลือกการกินไฟ
ตัวเลข วัตต์ (Watt) เป็นหน่วยวัดการใช้พลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า ยิ่งตัวเลขวัตต์สูงก็จะยิ่งกินไฟมาก แน่นอนว่าหลอดไฟที่สว่างย่อมต้องใช้พลังงานส่องสว่างสูงเป็นธรรมดา แต่หากอยากเช็คดูว่าหลอดไฟที่เรากำลังถืออยู่ประหยัดไฟหรือไม่ ลองเปรียบเทียบหลอดไฟที่มีค่าลูเมนเท่ากัน หลอดที่เลขวัตต์ต่ำ หมายถึงหลอดดวงนั้นใช้พลังงานให้การส่องสว่างน้อยกว่า หรือ “กินไฟ” น้อยกว่าทั้งๆ ที่ให้ความสว่างเท่ากัน ซึ่งก็จะช่วยประหยัดค่าไฟได้มากกว่านั่นเอง
ที่กล่าวมาด้านบนเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเลือกหลอดไฟให้ได้ความสว่างตามต้องการ หากหลอดไฟเดิมนั้นเก่ามากจนเลิกจำหน่ายไปแล้ว รุ่นเทียบเท่าก็ควรตรวจเช็ครายละเอียดอื่นๆ ให้ถูกต้องหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด ทั้งรูปทรงหลอดไฟ องศาการส่องสว่างค่า ขั้วหลอด อายุการใช้งาน CRI (ค่าความถูกต้องของสี) รวมไปถึงอายุการใช้งานเพื่อให้ใช้ได้อย่างคุ้มค่า
เรื่อง : ณัฐวรา ธวบุรี
ภาพ : Freepik
3 สิ่งต้องรู้..ก่อนเลือกซื้อหลอดไฟ