รวม แบบบ้านชั้นเดียว ต่างจังหวัด ดีไซน์สวยงามน่าอยู่ เลือกใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น จึงมีราคาไม่แพง บางหลังจึงสร้างได้ในราคาประหยัด ไม่แพงมาก ท่ามกลางบริบทของต่างจังหวัดที่มีความเป็นธรรมชาติ จึงน่าจะเป็นบ้านในฝันของใครหลายคน
บ้านชั้นเดียวริมนา
- เจ้าของ: คุณฆนา – คุณณิชนาฏ ภูลสนอง
- ออกแบบ: คุณทักษ์ดนัย ภักดี
- รับเหมาก่อสร้าง: Blackbean design & construction Co.,Ltd.
แบบบ้านชั้นเดียว ต่างจังหวัด หลังนี้ เกิดขึ้นเพราะความประทับใจในวิวท้องนาและอากาศเย็นสบายของอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ทำให้เจ้าของบ้านเลือกที่ดินผืนนี้ที่โอบรอบด้วยวิวสามเขา อย่างดอยนางนอน ดอยสะโง้ และดอยผาฮี้ เรียงตัวกันเป็นวิวยอดดอยแบบพานอรามา เพื่อสร้างบ้านปูนชั้นเดียวหลังเล็กสำหรับนั่งดื่มกาแฟแล้วชมวิวได้แบบชิลๆ โดยแบ่งตัวอาคารออกเป็นสองส่วน คือ พื้นที่ทำกิจกรรมที่พยายามเปิดโล่งให้มากที่สุด เพื่อรับลม แสงแดด และวิวธรรมชาติจากทุกด้าน และพื้นที่ห้องนอนที่ค่อนข้างปิดเพื่อความเป็นส่วนตัว จุดเด่นอีกอย่างของบ้านหลังนี้คือผนังปูนทำลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากองค์ประกอบของผนังคอนกรีตลอนในบ้านสมัยก่อน ซ่อนกลิ่นอายของความดิบเท่เอาไว้ >> ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือ “COUNTRY HOUSE บ้านท้องถิ่น วิถีโมเดิร์น”
บ้านต่างจังหวัด ฟังก์ชันพอดีสำหรับใช้ชีวิต และทำงานจากบนดอย
- ออกแบบ: IS Architects
- Lead Architect: คุณปวิณ ทารัตน์ใจ
- ภาพ: Rungkit Charoenwat
แบบบ้านชั้นเดียว ต่างจังหวัด หลังเล็กกะทัดรัดขนาดพื้นที่ 35 ตารางเมตร ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติบนภูเขาที่ตำบลดอยฮาง จังหวัดเชียงราย เจ้าของบ้านเป็นคู่รักที่ต้องการสร้างบ้านหลังเล็กเพื่อหลีกเร้นจากความวุ่นวายและเร่งรีบของเมืองหลวง ออกไปสร้างพื้นที่ขนาดย่อมไว้ใช้ชีวิต และทำงานได้จากที่บ้าน พื้นที่ใช้สอยประกอบด้วยห้องพักสำหรับนอนและทำงาน 1 ห้อง ห้องน้ำ 1 ห้อง เคาน์เตอร์ครัวสำหรับทำอาหารต่อเนื่องกับบาร์ชงกาแฟ ตู้เสื้อผ้า และระเบียงสำหรับทำกิจกรรมนอกบ้าน ซึ่งข้อดีของบ้านเล็ก นอกจากจะเป็นเรื่องการคุมงบไม่ให้บานปลาย ยังดูแลรักษาง่าย ทำให้เจ้าของบ้านมีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นในชีวิตอีกด้วย ที่สำคัญสถาปนิกยังออกแบบบ้านโดยคำนึงถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงเลือกวิธีออกแบบช่องประตู-หน้าต่างให้ป้องกันฝุ่นได้ ด้วยการติดหน้าต่างแบบบานกระทุ้งทั้งหมดที่เมื่อปิดบานแล้วจะปิดได้สนิท ลดช่องว่างระหว่างวงกบไม่ให้ฝุ่นเข้ามาภายในบ้าน >> อ่านต่อ
บ้านไม้ทดลองที่อยู่สบายทุกฤดูกาล
- เจ้าของ : คุณเพียงออ พัทธยากร และคุณทรงธรรม ศรีนัครินทร์
- ออกแบบ : 1922architects
- รับเหมาก่อสร้าง : สล่าบุญทัมม์
- ภาพ : Songtam Srinakarin
บ้านชั้นเดียวขนาด 40 ตารางเมตร ที่เจ้าของบ้านซึ่งเป็นสถาปนิกด้วยเลือกนำไม้มา “ทดลอง” ใช้งานในรูปแบบต่างๆ โดยยกระดับใต้ถุนขึ้น 40 เซนติเมตร เพื่อป้องกันปลวกและระบายความชื้น ส่วนหลังคาเลือกมุงหญ้าคา ช่วยซับเสียงจากฝนตกและลดวามร้อนให้บ้านเย็น จึงเป็นบ้านที่อยู่สบายในทุกฤดูกาลจริงๆ >> ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือ “COUNTRY HOUSE บ้านท้องถิ่น วิถีโมเดิร์น”
โฮมสตูดิโอเชียงใหม่ อบอุ่นใจด้วยแสงแดดและสองแมว
- เจ้าของ- ออกแบบ – ตกแต่ง : คุณโสภิดา จิตรจำนอง และคุณสุจินดา ตุ้ยเขียว
โฮมสตูดิโอท่ามกลางธรรมชาติของคู่รักนักออกแบบ ซึ่งผสมผสานองค์ประกอบต่างๆ ที่ทั้งคู่ชอบ อย่างระเบียงนั่งเล่นใต้แสงแดดรำไรยามเช้า บานประตู-หน้าต่างมือสองที่มากด้วยเสน่ห์ และสเปซสำหรับน้องแมวไทย 2 ตัวที่มาช่วยเติมเต็มชีวิตในบ้านให้อบอุ่นยิ่งขึ้น รวมถึงไม่พลาดโอกาสที่จะได้ทดลองใช้วัสดุและเทคนิคการก่อสร้างใหม่ๆ ด้วย อาทิ อิฐบล็อกคอนกรีตแทนบริก (Tan Brick) ที่ทั้งคู่นำมาก่อเป็นผนังบ้านแบบโชว์แนว โดยทดลองทำพื้นผิวหลากหลายวิธี ทั้งผนังบริเวณระเบียงกลางบ้านที่เคลือบใสด้วยน้ำยากันซึมสูตร A-100 ให้ผิวมันวาว ผนังภายนอกเกือบทั้งหมดทาสีเทาเข้ม ผนังภายในทาสีเทาอ่อน และผนังบางส่วนไม่ทาน้ำยาใดๆ เลย ทั้งหมดนี้ยังคงเผยให้เห็นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของวัสดุ ด้วยอารมณ์ที่ต่างกันตามแต่ละพื้นที่ >> อ่านต่อ
บ้านชนบทชั้นเดียว สไตล์ไทยผสมญี่ปุ่น
- เจ้าของ-ออกแบบ : คุณทรงชัย ทองผาสุข
บ้านชนบทชั้นเดียวที่มีกลิ่นอายแบบชนบทไทยและใส่รายละเอียดบางอย่างแบบบ้านญี่ปุ่นแบบที่เจ้าของบ้านชอบเอาไว้ โดยนำเอาระบบโมดูลาร์มาใช้ เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้รวดเร็วและเหลือเศษวัสดุน้อยที่สุด >> อ่านต่อ
บ้านอิงสุข สถาปัตยกรรมเชิงทดลองจากการนำทรัพยากรมาใช้ซ้ำเเละนำวัสดุเก่ากลับมาใช้ใหม่
- เจ้าของ : คุณวริษฐ์ – คุณมุกดา วรรละออ
- ออกแบบสถาปัตยกรรม – ออกแบบตกแต่งภายใน : Yangnar Studio
บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียวที่ผสมผสาน “ขนำ” เพิงแบบภาคใต้ และ “เพิงผาม”ของภาคเหนือ ประกอบขึ้นจากฟังก์ชันการใช้งานพื้นฐานเพียงไม่กี่อย่าง แต่เพียงพอสำหรับการอยู่อาศัยได้อย่างสบายในขนาด 50 ตารางเมตร ด้วยลักษณะบ้านเเบบเรือนไทยพื้นถิ่น ภายในบ้านแบ่งแยกพื้นที่ออกจากกันและสามารถเชื่อมต่อถึงกันด้วยชานทางเดินซึ่งทอดยาวไปตลอดทั้งเเนวอาคาร >> อ่านต่อ
บ้านร่วมสมัยจากวัสดุพื้นถิ่นสไตล์อ่างทอง
- ออกแบบ : PHTAA living design
- ภาพ: Beer Singnoi
บ้านหลังนี้สร้างขึ้นภายในพื้นที่โรงงานแปรรูปน้ำมันรำข้าว เพราะเจ้าของบ้านต้องการที่พักภายในพื้นที่ทำงาน โดยมีโจทย์ว่าบ้านต้องดูแลง่าย มีความเป็นส่วนตัว เหมาะแก่การพักผ่อน ที่สำคัญราคาต้องย่อมเยา สร้างได้ง่ายและรวดเร็ว ผู้ออกแบบจึงเลือกใช้วัสดุบ้านบ้านที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างบล็อกช่องลม อิฐบล็อก และลอนไฟเบอร์ซีเมนต์ ซึ่งสามารถขนส่งและซื้อหามาใช้ได้ง่าย อีกทั้งช่างในพื้นที่ยังมีความชำนาญ สามารถจัดการงานก่อสร้างได้อย่างดี >> อ่านต่อ
บ้านปูนชั้นเดียว ตกแต่งแบบธรรมชาติ
- เจ้าของ – ออกแบบ : คุณวัชรมน มหัทธนาสิงห์ และคุณกฤษณพร เรืองสุวรรณ
แบบบ้านชั้นเดียว ต่างจังหวัด ของคู่สามีภรรยาตัดที่สินใจทิ้งชีวิตเมืองกรุงหันไปสร้างบ้านปูนชั้นเดียวอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เน้นความกะทัดรัดด้วยขนาดความกว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร โดยใช้วัสดุที่มีในพื้นถิ่น อย่างอิฐ ไม้ และกระเบื้องดินเผา เพื่อความเรียบง่ายและช่วยประหยัดงบประมาณ แปลนบ้านจึงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ตรงไปตรงมา ตัวบ้านออกแบบให้มีช่องเปิดมากมายรับแสงสว่างและช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีการทำฝ้าเพดานทำให้บ้านหลังเล็กมีสเปซที่เปิดโล่งไม่อึดอัด แล้วตกแต่งภายในด้วยเครื่องเรือนไม้แบบเรียบๆ และของตกแต่งกลิ่นอายแบบพื้นถิ่น แถมบางชิ้นก็ประดิษฐ์เอง ทำให้บรรยากาศของบ้านดูสงบ อบอุ่น และน่าอยู่มาก >> อ่านต่อ
แบบบ้านนอร์ดิก หลังเล็กน่ารัก สร้างในต่างจังหวัด
- เจ้าของ-ออกแบบ : คุณนัตชนก – คุณพิกุล ภูมิลา
- รับเหมาก่อสร้าง : คุณศรศิลป์ ชัยสิทธิ์
บ้านมินิมัลหลังเล็กสีขาวผสมผสาน แบบบ้านนอร์ดิก ท่ามกลางธรรมชาติในหมู่บ้านหนองแดงแห่งนี้สะดุดตาตั้งแต่แรกเห็น ด้วยขนาดกะทัดรัด หน้าตาทันสมัย ภายในบ้านมีพื้นที่ใช้สอยเท่าที่จำเป็นพอดีสำหรับครอบครัวเล็กๆ ที่นานๆครั้งจะมาพักที่บ้านหลังนี้ >> อ่านต่อ
THP House บ้าน Tropical Modern กลางสวนป่าส่วนตัว
- ออกแบบ: OAAS
- ภาพ: Add Peerapat Wimolrungkarat Something Architecture
บ้านสวนชั้นเดียวที่ออกแบบด้วยวิธีคิดแบบสมัยใหม่ แต่ใช้องค์ประกอบแบบบ้านพื้นถิ่นเข้ามาช่วยให้พื้นที่ชีวิตของบ้านนั้นสามารถใช้งานร่วมกับบริบทธรรมชาติโดยรอบอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นหน้าจั่วที่รับลมระบายความร้อนออกจากตัวบ้าน หรือชายคายื่นยาวที่กลายเป็นเฉลียง และชานบ้าน ที่ไม่เพียงเพิ่มพื้นที่กึ่งเอาต์ดอร์เท่านั้น แต่ยังช่วยให้แดดไม่สาดเข้าสู่พื้นที่อาศัยโดยตรงอีกด้วย >> อ่านต่อ
เรียบเรียง : Tarnda
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, สำนักพิมพ์บ้านและสวน, room Books