สมถะ-สถาน บ้านสวนล้อมแปลงผัก ดูแลง่าย ของสถาปนิก
บ้านสวนล้อมแปลงผัก ครึ่งปูนครึ่งไม้ ที่เป็นทั้งบ้าน สตูดิโอออกแบบ และสถานฝึกใจของสถาปนิกผู้เป็นเจ้าของบ้านเอง โดยออกแบบบ้านให้ดูแลง่าย มินิมัลด้วยรูปแบบการอยู่อาศัย และปลูกผักทำเกษตรเอง
Design Directory : Dharmlane Studio (ทำเล่นสตูดิโอ)
กิจวัตรยามเช้าของ บ้านสวนล้อมแปลงผัก ในชื่อ “สมถะ – สถาน” แห่งนี้คือการรดน้ำดูแลแปลงผักที่กำลังแตกยอด ฟูสะพรั่ง มีเบื้องหลังเป็นวงล้อมของอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้น้อยใหญ่ที่เป็นทั้งบ้าน สตูดิโอออกแบบ และ สถานฝึกใจของ คุณม่อน – กนกอรและคุณเจมส์ – อิทธินันท์ ใจมั่น ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของบ้านและ ผู้ออกแบบด้วย
คุณเจมส์เล่าถึงที่มาที่ไปของบ้านว่า หลังจากไปบวชและกลับมาทำงานเป็นสถาปนิกอย่างที่เคย ทำได้เพียงสามเดือนก็รู้ตัวเองอย่างชัดเจนว่าจังหวะชีวิตในเมืองนั้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องการอีกต่อไป
ในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จึงมองหาแนวทางการเลี้ยงตัวโดยที่ไม่ต้องกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเร่งรีบเช่นเดิมอีก จนมาหยุดที่การทำเกษตร ซึ่งตรงใจพอดีกับอนาคตที่คุณพ่อหมายมั่นปั้นมือ ไว้ว่าจะอยู่กับพืชผักหลังจากปลดเกษียณ จึงตัดสินใจหยุดทุกอย่างเพื่อไปเรียนรู้วิถีเกษตรเป็นเวลา 4 เดือน จากพ่อเลี่ยม บุตรจันทา ปราชญ์ชาวบ้าน แล้วจึงกลับมาทำบ้านสวนด้วยตัวเอง บนที่ดินของครอบครัว ขนาด 2 งาน โดยมีเป้าหมายเพื่อ “ตอบโจทย์วัยเกษียณที่ทุกคนในครอบครัวอยากจะมี”
มีเท่าที่จำเป็น ก็อยู่ได้แล้ว
คุณเจมส์ตั้งใจเตรียมที่ดินผืนนี้ให้เป็นบ้านที่รองรับกิจกรรมของทุกคนในครอบครัว ซึ่งประกอบ ด้วยคุณพ่อมือวางอันดับหนึ่งของบ้านด้านการทำสวน คุณเจมส์และคุณม่อนจำหน่ายผลิตผลทางการ เกษตรจากชาวบ้านในละแวกนั้น พร้อมกับแผนระยะยาวในการเปิดเวิร์กช็อปสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้น ทำเกษตร โดยมีคุณแม่ที่มีฝีมือในการทำอาหารเป็นแรงสนับสนุนหลักให้แก่ทุกคนในบ้าน
การออกแบบผังบ้านแยกเป็น 4 เรือน เริ่มจากเรือนประธานที่ประกอบด้วยห้องนั่งเล่น แพนทรี่ ห้องครัว และห้องพระ ซึ่งมีการใช้งานมากที่สุด วางอาคารตามทิศแดดและลมเป็นหลัก โดยวางตามแนว ทิศตะวันออก – ตะวันตก เพื่อให้รับลมได้ตลอดทั้งวัน ส่วนอีก 3 เรือนไล่เรียงต่อกันตามกิจวัตรที่เรียบง่าย ได้แก่ เรือนอาบน้ำ เรือนนอน และสตูดิโอ โอบล้อมรอบแปลงผักเขียวชอุ่มที่เป็นผลงานการดูแลของคุณพ่อ
กลิ่นอายความมินิมัลที่สัมผัสได้นั้นไม่ได้มาจากผิววัสดุ แต่มาจากรูปแบบการอยู่อาศัยที่เรียบง่าย และตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายของคุณเจมส์ที่ตั้งใจจะใช้งานออกแบบชี้นำให้ผู้อาศัย เป็นอิสระจากความคุ้นเคยของสังคม
“ตรงไหนควรมีอะไรก็ให้มีแค่นั้น ไม่ต้องเผื่อเยอะ ฟังก์ชันที่ต้องทำสำหรับการนอน มีเตียง ที่นอน โต๊ะเขียนหนังสือกับโคมไฟ เท่านี้ก็นอนได้แล้ว” คุณเจมส์ยกตัวอย่าง พร้อมเสริมว่าในช่วงแรกอาจดูบังคับ ผู้อาศัยอยู่พอสมควร แต่การฝึกจะค่อยๆ ดึงจิตใจที่เคยชินกับการแวดล้อมด้วยวัตถุมากมายให้กลับมา อยู่กับสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เหมือนอย่างคุณพ่อคุณแม่ที่ในช่วงแรกแวะเวียนมาทุกสุดสัปดาห์ เพียงเพราะ เป็นห่วงลูกชาย แต่เมื่อนานวันเข้าก็ยิ่งไม่อยากกลับกรุงเทพฯ อยากจะอยู่นิ่งๆ ฟังเสียงใบไม้พัด ปูฟูก กางมุ้งนอนรับลมที่ระเบียงเสียมากกว่า
หัวใจหลักของบ้าน ที่แค่ชำเลืองตาก็เจอกัน
นิสัยของคนในครอบครัวที่มีความคล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ชอบอยู่ติดบ้าน แต่ไม่อยู่ติดห้อง ตั้งแต่สมัยเด็กที่เดิมอยู่ทาวน์เฮ้าส์ ทุกคนในบ้านจะออกจากห้องของตัวเองมารวมกันอยู่ที่ห้องส่วนกลาง จึงเคยชินกับการอยู่ตรงไหนก็มองเห็นกัน แม้ขยับขยายมาเป็นบ้านเดี่ยวในโครงการจัดสรรที่มีห้องส่วนตัว ทุกคนก็ยังมารวมตัวกันที่ห้องนั่งเล่น มีโซฟาไว้อิงหลัง มีเตียงก็นอนที่พื้น ยกกับข้าวมาร่วมมื้อเย็นกันที่หน้า โทรทัศน์อยู่ดี คุณเจมส์จึงนำความอบอุ่นนี้มาเติมลงในบ้านหลังใหม่ โดยออกแบบให้มีลักษณะเปิดโล่ง เชื่อมถึงกันทั้งหมด เน้นการใช้งานร่วมกันตรงกลาง แม้อาคารที่อยู่ห่างกันก็เชื่อมกันด้วยชานร่มที่เดินได้ เรื่อยๆ อย่างไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ มีบางมุมที่ซ้อนเหลื่อมให้มีความเป็นส่วนตัวบ้าง แต่เมื่อ บิดมุมไปสักเล็กน้อย ก็สามารถมองเห็นกันได้ว่าสมาชิกในบ้านอยู่ที่จุดไหน
นอกจากนี้ ยังนำสัดส่วนความสูงฝ้าเพดานของบ้านเดิมที่เคยอยู่มาใช้ในการออกแบบ เพื่อให้ เวลาที่นั่งพื้นจะไม่รู้สึกว่าสูงโล่งจนขัดเขิน ถึงแม้ในระหว่างวันที่แดดร้อนจัด ชั้น 2 ของบ้านที่ออกแบบให้ เป็นช่องลมผ่าน ช่วยระบายความร้อนออกไปจากตัวบ้าน ทำให้ชั้นล่างของเรือนประธานยังอยู่สบายเกือบทั้งวัน และด้วยการเลือกใช้ไม้ที่คลายความร้อนเร็วมาเป็นวัสดุหลักของบ้าน เมื่อแดดคล้อยต่ำ ความร้อน ที่แผ่เข้ามาในบ้านก็จะหมดไปพร้อมๆ กับแดด
ไม่ให้บ้านโดดเด่นเกินกว่าที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
การสังเกตและฝึกปฏิบัติเป็นเหมือนการเร่งเวลาของจิตใจ ข้ามความอยากต่างๆ จนมาถึง แก่นสุดท้ายคือการยึดติดกับสิ่งต่างๆ รอบตัวให้น้อยที่สุด อยู่กับความเป็นไปและเป็นส่วนหนึ่งของ ธรรมชาติ ซึ่งนำมาสู่การเลือกใช้วัสดุที่แสดงเนื้อแท้ “ตั้งใจไม่ให้บ้านโดดเด่นเกินกว่าที่เราจะนั่งฟังเสียงนก ไม่มีฟังก์ชันที่จะทำให้เรารู้สึกสนใจมากกว่าเสียงใบไม้พัด” ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไม้เก่า ปูนเปลือย และหินขัดที่มีความไม่สมบูรณ์ในตัวเอง ขาดบ้างเกินบ้างเป็นธรรมดาของวัสดุ ช่วยให้ใจยึดติดกับสิ่งที่ ควรจะเป็นไปน้อยลง
“พอใจยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เปื้อนได้ แล้วเราไม่ได้ไปทุกข์ร้อนว่าจะต้องสวยเนี้ยบ มันเหมือนเป็น การสะท้อนกลับมาที่ใจของเราเอง เราอาจยึดติดกับมันมากไปว่าต้องสวยเนี้ยบตลอดเวลา แทนที่จะอยู่ อย่างมีความสุข กลับไม่มีความสุข ซึ่งในบางทีก็มีเผลอไปบ้าง ก็ได้คนข้างๆ ช่วยเตือนสติกลับมา”
หากมองให้ลึกลงไป “สมถะ – สถาน” ไม่ได้เป็นเพียงบ้านสวนพักผ่อนสงบสุข แต่เป็นโรงเรียน ที่มีธรรมชาติเป็นอาจารย์ ในบทเรียนรูปแบบกิจวัตรเรียบง่ายที่สอนให้อยู่กับความสำเร็จได้อย่างปกติสุข สอนให้อยู่กับความล้มเหลวได้อย่างไม่ทุรนทุราย ซึ่งคำตอบจะค่อยๆ เกิดขึ้นในจิตใจของคนโดยไร้ซึ่งคำ พูดใดๆ
Designer’s Tips บ้านสวนล้อมแปลงผัก
ออกแบบบ้านเพื่อให้ดูแลน้อย
นอกจากออกแบบบ้านให้สวยอยู่สบายแล้ว คุณเจมส์ – อิทธินันท์ ใจมั่น สถาปนิก ยังคำนึงถึงการดูแลรักษาในระยะยาว โดยแนะนำวิธีการออกแบบเพื่อช่วยให้ดูแลบ้านน้อยลง ดังนี้
- กำหนดฝ้าเพดานให้ไม่สูงมาก (2.50 – 2.80 เมตร) เวลาทำความสะอาดก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ลำบากมาก มีเพียงไม้กวาดก็ทำความสะอาดได้
- เลือกใช้วัสดุไม่เน้นความเนี้ยบ ผิวหยาบ สาก มีร่องรอยในตัวเอง หรือหากเป็นคราบก็ดูไม่เลอะเทอะ มาก เช่น ไม้เก่า ปูนเปลือย หินขัด ตัดการดูแลเพื่อคงความเนี้ยบเหมือนใหม่ออก ให้เหลือเเค่ดูแลเพื่อให้ สะอาดเท่านั้น
- แยกฟังก์ชันที่ใช้น้ำออกมาเป็นเรือนเดี่ยว ออกแบบงานระบบด้วยการเดินลอย เมื่อเกิดความเสียหาย จะสามารถตรวจเช็กได้ตามเส้นทางการเดินท่อ และซ่อมแซมได้ถูกจุดโดยไม่จำเป็นต้องรื้อผนังหรือ ฝ้าเพดานออก จะลดหรือเพิ่มจุดก็ทำได้ง่ายกว่า
เจ้าของ : คุณอิทธินันท์ – คุณกนกอร ใจมั่น
สถาปัตยกรรม : Dharmlane Studio (ทำเล่นสตูดิโอ) โดยคุณอิทธินันท์ ใจมั่น
เรื่อง : ณัฐวรา ธวบุรี
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, วีรวัฒน์ สอนเรียง
สไตล์ : Suanpuk