ไม้อัดทนความชื้น HMR VS MDF
ไม้อัดทนความชื้น หรือแผ่นใยไม้อัดทนความชื้น HMR (High Moisture Resistance) คืออะไร และต่างจากแผ่น MDF อย่างไร มาทำความรู้จักและเปรียบเทียบคุณสมบัติกัน
ในปัจจุบันการผลิตเฟอร์นิเจอร์เปลี่ยนแปลงไป การใช้ไม้จริงยังคงทำได้ แต่ก็ลดลงไปอย่างมาก ไม้อัดทนความชื้น จึงถูกพัฒนาขึ้น เกิดจากการผลิตวัสดุแปรรูปจากเศษไม้ เศษขี้เลื่อยไม้จริงผสมกับวัสดุประสานและสารเติมคุณสมบัติ กลายเป็นวัสดุแผ่นประเภทไม้อัดและแผ่นใยไม้อัด โดยมีวัสดุแผ่นที่นิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอ์และงานบิลท์อิน คือ แผ่น MDF และแผ่นไม้อัดทนความชื้น HMR มาดูคุณสมบัติว่าแตกต่างกันอย่างไร
- MDF ( Medium Density Fiber Board ) แผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง ไม้ที่นำมาใช้อาจจะเป็น ไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส หรือไม้ชนิดอื่นขึ้นอยู่กับผู้ผลิต โดยนำเศษไม้ ชิ้นไม้บดละเอียด มาผสมกับวัสดุประสาน แล้วผ่านกระบวนการอัดเป็นแผ่นด้วยเครื่องอัดแรงดันสูงโดยใช้ความร้อน ผิวสัมผัสที่ออกมาจึงมีความเรียบเนียน เนื้อไม้มีความแน่น มักปิดผิวด้วยแผ่นลามิเนต HPL (High Pressure Laminate) หรือแผ่นไม้วีเนียร์
- HMR (High Moisture Resistance) มีวิธีการผลิตเช่นเดียวกันกับ MDF แตกต่างที่การอัดประสานด้วยกาวเมลามีนชนิดพิเศษ ที่สามารถป้องกันการบวมเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง เนื้อไม้มีสีเขียวจากการใส่สีเพิ่มเข้าไปในกระบวนการผลิต เพื่อให้แตกต่างจากไม้ MDF
คุณสมบัติ | MDF ( Medium Density Fiber Board ) | HMR (High Moisture Resistance) |
---|---|---|
ลักษณะทางกายภาพ | -สีน้ำตาลอ่อน เนื้อละเอียด เรียบ | -สีเขียว เนื้อละเอียด เรียบ รับน้ำหนักได้ดี กว่า MDF |
ค่าความหนาแนน (kg/m3 ) กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร | 700-720 kg/m3 | 800-1,040 kg/m3 |
การทนต่อความชื้น | -ทนความชื้นได้พอประมาณ | -ทนความชื้นได้ดี แต่ไม่ควรแช่ในน้ำ |
ลักษณะการใช้งาน | -เหมาะสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินทั่วไปที่ไม่โดนความชื้น -เจาะ ฉลุลาย หรือ CNC เป็นรูปแบบสามมิติ นูนต่ำได้ | -เหมาะสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินทั่วไปและบริเวณที่โดนความชื้น เช่น ตู้ใต้อ่างล้างหน้า ตู้เคาน์เตอร์อ่างล้างจาน ชั้นวางของในห้องน้ำ -เจาะ ฉลุลาย หรือ CNC เป็นรูปแบบสามมิติ นูนต่ำได้ |
ข้อจำกัด | -ไม่กันปลวก -บวมเมื่อแช่น้ำนาน 30นาที-1ชั่วโมง | -ไม่กันปลวก |
ขนาดและราคา | -ขนาดมาตรฐาน 1.20×2.40 ตร.ม. -เริ่มต้น ที่ความหนา 3 มม. ราคา 75-80 บาท ความหนา 4 มม. ราคา 125-130 บาท ความหนา 6 มม. ราคา 150-155 บาท ความหนา 9 มม. ราคา 220-225 บาท ความหนา 12 มม. ราคา 290-295 บาท ความหนา 15 มม. ราคา 340-345 บาท ความหนา 18 มม. ราคา 410-415 บาท ความหนา 25 มม. ราคา 640-645 บาท | -ขนาดมาตรฐาน 1.20×2.40 ตร.ม. -เริ่มต้น ที่ความหนา 3 มม. ราคา 120-150 บาท ความหนา 4 มม. ราคา 160-165 บาท ความหนา 6 มม. ราคา 210-215 บาท ความหนา 9 มม. ราคา 300-305 บาท ความหนา 12 มม. ราคา 400-405 บาท ความหนา 15 มม. ราคา 460-465 บาท ความหนา 18 มม. ราคา 560-565 บาท ความหนา 25 มม. ราคา 880-885 บาท |
จะเห็นได้ว่าคุณสมบัติของไม้ทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกัน เจ้าของบ้านควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งาน บางตำแหน่งที่ไม่ต้องระวังเรื่องความชื้นมาก สามารถใช้ MDF ได้ จะได้ลดเรื่องค่าใช้จ่าย บางตำแหน่งที่มีความชื้น ก็ควรใช้ HMR อาจลงทุนมากหน่อยแต่คุ้มค่าในระยะยาว
ข้อควรรู้ : วัสดุปิดผิว แผ่น MDF และแผ่นไม้อัดทนความชื้น HMR ที่นิยมใช้
- เมลามีน (Melamine Paper Films Foil) นิยมนำมาปิดผิวเคาน์เตอร์ มีผิวเรียบ กันน้ำ ทำความสะอาดง่าย ไม่เหมาะกับการใช้งานนอกอาคาร
- ลามิเนต (High Pressure Laminate /HPL) มีผิวให้เลือกหลากหลาย มีความยืดหยุ่นและรับแรงกระแทกได้ดี ราคาสูงกว่าวัสดุปิดผิว เมลามีนและพีวีซี
- พีวีซี (Polyvinyl Chloride / P.V.C) เหมาะสำหรับผู้ที่ประหยัดงบประมาณ เป็นอีกวัสดุที่นิยมนำมาปิดผิวเคาน์เตอร์แต่ควรปิดในส่วนที่ไม่สัมผัสกับน้ำโดยตรง
- วีเนียร์ (Veneer) เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการผิว และสีที่เป็นธรรมชาติเพราะทำมาจากผิวไม้จริง ไม่กันน้ำ
เรื่อง : ปาราเมศ
ภาพ : ภูเบศ บุญเขียว