พื้นไม้ลามิเนตดีไหม ? ต่างกับพื้น SPC (Stone Plastic Composite)อย่างไร มาทำความรู้จักและเปรียบเทียบคุณสมบัติของทั้งสองวัสดุกัน
ก่อนจะไปสู่คำถามว่า พื้นไม้ลามิเนตดีไหม พื้น SPC ทนกว่าจริงหรือ มีกี่เกรด ค่า AC คืออะไร สารพันคำถามเรื่องพื้นๆที่ไม่พื้น เรามาทราบถึงคุณสมบัติของวัสดุทั้งสองชนิดกันก่อน เพื่อช่วยในการตัดสินใจในการเลือกใช้วัสดุปูพื้น
- พื้นไม้ลามิเนต (Laminate) เกิดจากกระบวนการผลิตที่นำเอาผงไม้ที่บดละเอียดผสมกับวัสดุประสาน อัดขึ้นรูปเป็นแผ่นไม้ด้วยเครื่องอัดแรงดันสูง ชั้นบนเป็นชั้นเคลือบผิว ถัดไปเป็นชั้นผิวลายไม้ ชั้นเนื้อไม้ลามิเนต ตามลำดับ มีระบบคลิกล็อก ปูทับบื้นเดิมได้แต่ต้องปรับพื้นหากพื้นเดิมไม่เรียบเนียน
- พื้น SPC (Stone Plastic Composite) มีส่วนผสมหลักคือแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) พลาสติก PVC ชั้นบนเป็นชั้นเคลือบผิว Wear Layer กันรอยขีดข่วน ถัดไปเป็นชั้นผิวลายไม้ ชั้น SPC Core และส่วนใหญ่จะมีชั้นโฟมรอง เพื่อช่วยรองรับแรงกระแทก และการกดทับ พร้อมทั้งเป็นฉนวนกันเสียง ช่วยลดเสียงระหว่างพื้นกับเพดานชั้นล่าง
คุณสมบัติ | พื้นไม้ลามิเนต | พื้น SPC |
วัสดุที่ใช้ผลิต | -ฝุ่นไม้ เศษไม้มาผ่านกรรมวิธีการบีบอัดให้เป็นแผ่นไม้หนา | -แคลเซียมคาร์บอเนต และพลาสติก PVC |
ลักษณะการใช้งาน | -ทั้งสองวัสดุใช้ปูพื้นภายในอาคาร และควรปรับระดับพื้นเดิมให้เรียบก่อนปูทับ -ทั้งสองวัสดุใช้ระบบ Click-Lock ติดตั้งสะดวก | |
ความทนทาน และข้อจำกัด | -รองรับต่อแรงกดจากวัตถุที่มีปลายแหลม ได้น้อยกว่าพื้น SPC -มีส่วนผสมของไม้จริง มีโอกาสเป็นอาหารของปลวกได้ ไม่กันน้ำ และลามไฟ | -ทนต่อรอยขีดข่วน -กันปลวก กันน้ำไม่บวมน้ำ และไม่ลามไฟ |
การดูแลรักษา | -สามารถใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดถูทำความสะอาด -ห้ามใช้แวกซ์ สบู่ น้ำยาขัดเงา ไม่ควรใช้แปรงขนแข็งขัดพื้น เพราะฟิล์มเคลือบผิวอาจหลุดลอกได้ | -เช็ดถูทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ -ทนต่อการใช้น้ำยาขัดเงา |
ราคา | เริ่มต้นที่ 390-400 บาท/ตร.ม. | เริ่มต้นที่ 490-500 บาท/ตร.ม. |
วิธีเลือกพื้นไม้ลามิเนต
- เลือกจากขนาด พื้นลามิเนตมีความหนาตั้งแต่ 4-12 มม. ที่นิยมในประเทศไทย มีอยู่ 2 ความหนา คือ ความหนา 8 มม. และ 12 มม.
- เลือกจากเกรดของลามิเนต พื้นไม้ลามิเนตมีการวัดคะแนนความสามารถในการทนแรงกระแทกและความทนทานต่อการสึกของผิวหน้าพื้นไม้ลามิเนต โดยใช้มาตรฐานของยุโรป คือ IC และ AC
- ค่า IC (Impact Classification) ค่าการทนแรงกระแทกลงบนผิวหน้าพื้นไม้ลามิเนต มีตั้งแต่ IC1 – IC3 โดยค่ายิ่งมากยิ่งทนทานมาก
- ค่า AC (Abrasion Classification) ค่าความทนทานต่อการสึก ของผิวหน้าพื้นไม้ลามิเนต มีตั้งแต่ AC1-AC5 โดยค่ายิ่งมากยิ่งทนทานมาก เช่นเดียวกันกับราคาก็สูงขึ้นตามเกรด
AC1:21 เหมาะกับพื้นบ้านที่มีการเดินผ่าน ปานกลาง เช่น ห้องนอน หรือห้องรับแขก AC2:22 เหมาะกับพื้นบ้านที่มีการเดินผ่าน ทั่วไป เช่น ห้องนั่งเล่น หรือห้องทานอาหาร AC3:23 เหมาะกับพื้นบ้านที่มีการเดินผ่านมาก เหมาะกับทุกห้องในพื้นที่อยู่อาศัย AC4:32 เหมาะกับการใช้งานเชิงพาณิชย์ที่มีการใช้สอยหนัก AC5:33 ทนทานที่สุด และมีการใช้สอยหนักมาก
วิธีเลือกพื้น SPC
- เลือกจากขนาด มีตั้งแต่ขนาดความหนา 4-8 มม. เช่น ในบริเวณพื้นที่นั้นมีคนสัญจรค่อนข้างเยอะ และไม่มีการเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์บ่อย เลือกพื้น SPC ที่มีความหนา 4-5 มม. แต่ถ้าในพื้นที่นั้นมีการวาง หรือเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่อยู่บ่อยครั้งแนะนำให้เลือกพื้น SPC ที่มีความหนา 5 มม. เป็นต้นไป เพื่อรองรับการใช้งานตามความเหมาะสม และยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น
- เลือกจาก เกรด ของ SPC เพราะพื้น SPC มีส่วนผสมหลักคือ แคลเซียมคาร์บอเนต และพลาสติก PVC จึงมีเกรดวัสดุของพลาสติกให้เลือก 2 เกรด
- เกรดรีไซเคิล ( Recycle Material ) : เป็นเกรดที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลอาจมีความทนทานต่อการสึกหรอ ทนต่อรอยขีดข่วน ได้ไม่ดีเท่าเกรดบริสุทธิ์ มีแนวโน้มที่จะโก่งตัวทำให้พื้นไม่เรียบเสมอกัน
- เกรดบริสุทธิ์ ( Pure Virgin Material ) : เป็นเกรดที่ทำจากวัสดุพลาสติกใหม่ที่ปราศจากสารเคมีที่ทำให้ก่อมะเร็ง มีความแข็งแรง ทนรอยขีดข่วน มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าเกรดรีไซเคิล
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพลาสติกเกรดไหน
- เอกสารแนบผลิตภัณฑ์ หากเป็นเกรดบริสุทธิ์ จะมีข้อความระบุชัดเจนว่า ไม่มีสาร Formaldehyde
- สี พลาสติกเกรดรีไซเคิล เนื้อพลาสติกจะมีสีเข้ม หากสีเข้มมากแสดงว่าผ่านการรีไซเคิลมาหลายครั้ง / พลาสติก เกรดบริสุทธิ์ เนื้อพลาสติกจะมีสีขาวหรือสีเบจ
- กลิ่น เกรดรีไซเคิล มีกลิ่นสารเคมีที่คล้ายกับถุงขยะพลาสติก ที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจในระยะยาวได้
ปัจจุบันทิศทางในการเลือกใช้วัสดุปูพื้น ระหว่างพื้นไม้ลามิเนต กับพื้น SPC มีแนวโน้มว่า พื้น SPC จะได้รับความนิยมสูงขึ้น เพราะดูแลรักษาง่าย ทนทานกว่า ไม่ต้องกังวลปัญหาเรื่องปลวก และการโก่งตัวเมื่อโดนความชื้น ถึงแม้จะมีราคาที่สูงกว่าแต่ก็คุ้มค่าในระยะยาว
เรื่อง : Pakaho
ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง