บ้านโรงนาสไตล์โมเดิร์น

บ้านโรงนาสไตล์โมเดิร์น กลางทุ่งสีเขียวที่เชียงใหม่

บ้านโรงนาสไตล์โมเดิร์น
บ้านโรงนาสไตล์โมเดิร์น

บ้านโรงนาสไตล์โมเดิร์น ณ กลางทุ่งสีเขียวในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่สูงโปร่งและห่อหุ้มด้วยเมทัลชีตหลังนี้ ออกแบบมาเพื่อต้อนรับญาติมิตรของครอบครัวขยายที่มารวมตัวกันอย่างมีความสุขในทุกเทศกาล

Designer Directory : Gooodlux Design Consultancy

บ้านโรงนาสไตล์โมเดิร์น
ทางเข้าบ้านเห็นโครงสร้างของบ้านเหมือน บ้านโรงนาสไตล์โมเดิร์น ที่ผสมผสานวัสดุท้องถิ่นเป็นฟาซาดบางส่วน
พื้นที่เกษตรกรรม
จากทางเข้าบ้านออกไปยังถนน เห็นพื้นที่โดยรอบที่ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมห่างไกลจากความวุ่นวาย

บ้านโรงนาสไตล์โมเดิร์น กลางทุ่ง คือคำตอบของครอบครัว

โจทย์แรกของ บ้านโรงนาสไตล์โมเดิร์น หลังนี้คือทำเล คุณกั๊ก-อมรฤต พิทักษ์ เจ้าของบ้านและมัณฑนากรแห่ง Gooodlux Design Consultancy มีโจทย์ที่ต้องออกแบบบ้านเพื่อใช้เป็นที่รวมตัวของครอบครัว ซึ่งต่างก็มีถิ่นฐานในหลายจังหวัดทั่วภาคเหนือและในกรุงเทพฯ โดยเลือกให้บ้านตั้งอยู่ในแถบอำเภอแม่ริม เนื่องจากเป็นจุดที่ทุกคนสามารถเดินทางมาได้ง่าย ใกล้โรงพยาบาลสำหรับญาติผู้ใหญ่ และเห็นวิวดอยสุเทพอันสวยงาม ต่างจากบ้านในตัวเมืองเชียงใหม่

บ้านกลางทุ่งหรือบ้านบนเนินเขาคือโจทย์ข้อที่สองของการเลือกที่ดิน คุณกั๊กตัดสินใจเลือกที่ดินกลางทุ่งนา เพราะได้มุมมองที่สบายตา ไม่ใกล้เพื่อนบ้านมากเกินไป และมีความผูกพันจากบ้านหลังเก่าที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมองออกไปเห็นทุ่งนาสีเขียวชอุ่ม

บ้านโรงนาสไตล์โมเดิร์น
ตัวบ้านเมื่อมองจากทุ่งนาข้าวเข้าไป เห็นเป็นอาคารสองก้อนแยกกันอย่างชัดเจน อาคารสูงด้านหน้าที่เป็นโครงเหล็กและกระจกใช้งานเป็นครัว ส่วนอาคารแนวนอนด้านที่หันเข้าท้องนาเป็นหน้าต่างของห้องนอน ในภาพคุณกั๊กเจ้าของบ้านยืนอยู่ด้านหน้ากลางทุ่งนา
มุมนอนเปล
มุมนั่งเล่นเล็กๆ ที่เรียบง่ายใต้ต้นไม้ใหญ่ตรงลานจอดรถหน้าบ้าน

บ้านที่ทุกคนอยากมา

บ้านหลังนี้เป็นบ้านพักที่เป็นจุดรวมตัวกันของครอบครัวที่มี 3 เจเนอเรชั่น 2 วัฒนธรรม ได้แก่ รุ่นคุณพ่อคุณป้า รุ่นคุณกั๊กเอง และรุ่นหลานที่มีหลากหลายอายุ บางส่วนมาจากรุงเทพฯ จึงอยากให้เด็กๆ ได้สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติและชีวิตชายทุ่ง พร้อมๆ ไปกับการมาพักผ่อนไปในตัว

รวมทั้งบางครอบครัวแต่งงานกับชาวต่างชาติซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างออกไป ขณะที่คุณกั๊กก็เคยไปทำงานต่างประเทศอยู่หลายปี จนบางครั้งมีผู้ใช้งานบ้านนี้ถึง 20 คนในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ทำอย่างไรจึงให้ทุกคนอยากจะมาใช้เวลาร่วมกัน เลย์เอาต์แปลนบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยบ้านจะมีลานใช้งานเป็นระเบียงได้สองจุด ระเบียงใหญ่ออกแบบให้ไม่ร้อน มีเงาจากอาคารบังแดดไว้เกือบตลอดทั้งวัน ขนานไปกับตัวอาคารที่ยาวเป็นแนวนอน

มุมสังสรรค์หน้าบ้าน
ลานสังสรรค์ด้านในยามเย็นที่มีแขกมาใช้งาน ส่วนระเบียงสามารถนั่งห้อยขาต่อเนื่องกับโต๊ะไม้สักตัวยาวขนานไปกับตัวอาคาร
บ้านโรงนาสไตล์โมเดิร์น
มุมด้านในของบ้านเป็นลานอเนกประสงค์ต่อไปยังโรงเรือนปลูกผักที่อยู่ด้านใน
ด้านข้างของบ้านที่ติดกับทุ่งนาและวิวดอย ปลูกไม้ใหญ่ให้ร่มเงาเป็นระยะเพื่อบังแดดจากทิศใต้
ผนังเมทัลชีตภายนอกเป็นผนังสองชั้นเพื่อป้องกันความร้อน สังเกตจากความหนาของขอบหน้าต่าง ที่หนาราว 30 เซนติเมตร
เรนชาวเวอร์
บรรยากาศห้องน้ำสามารถเปิดรับแสงและวิวเข้ามาได้อย่างเต็มที่
ทางเดินเชื่อมจากบ้านไปสู่ครัวแยกส่วนต่างระดับลงไป ด้านขวาเป็นประตูบานเลื่อนไปสู่ลานสังสรรค์ที่ได้ร่มเงาอยู่ตลอดเวลาจากเงาของอาคาร
เพดานสูงยาวตลอดแนวอาคาร บางส่วนแบ่งเป็นพื้นที่เก็บของคล้ายชั้นลอย ใช้เก็บเครื่องนอนเวลาที่ญาติมาพัก หรือของที่ไม่ได้ใช้งานบ่อยๆ และยังทำบันไดรางเลื่อนสำหรับหยิบของได้ตลอดแนว

กำหนดวิวยามเช้า และแยกครัวเป็นส่วนกลาง

ตัวอาคารพักอาศัยเป็นอาคารแนวนอนยาวทอดตัวไปเชื่อมกับส่วนครัวที่ดูคล้าย บ้านโรงนาสไตล์โมเดิร์น ช่วยให้บ้านทั้งหลังดูมีจุดเด่น โดยส่วนครัวนี้มีเพดานสูงถึง 9.50 เมตร ออกแบบเป็นบ้านชั้นครึ่ง เพื่อให้มีมุมพักผ่อนด้านบนสำหรับญาติบางคนที่ต้องการความเป็นส่วนตัว และยังเป็นเสมือนพื้นที่ส่วนกลางของทุกคน เนื่องจากคุณแม่และคุณลุงถ้าตื่นเช้าขึ้นมาก็มักจะเข้าครัวทำอาหารก่อนเป็นกิจวัตรในยามมาพักอาศัย

ทางเดินขึ้นชั้นลอยตกแต่งโดยการวางต้นไม้กระถางไว้ตามขั้นบันได สร้างความรู้สึกสดชื่น
ชั้นลอย
อาคารทรงจั่วที่เน้นให้มีมิติเด่นชัดมากขึ้นด้วยการซ่อนไฟแบบ Indirect Light ตามเส้นขอบของอาคาร เป็นเสน่ห์ของการใช้ไฟที่คุณกั๊กเจ้าของบ้านออกแบบให้แสงดูสบายตาเกือบทุกพื้นที่ภายในบ้าน
แพนทรี่
การตกแต่งในห้องครัวที่เพดานสูง 9.50 เมตร และทำเป็นชั้นลอยไว้ด้านบน ตรงกลางมีโต๊ะเป็นไอส์แลนด์ท็อปหินไว้จัดเตรียมอาหาร พร้อมโต๊ะไม้นั่งรับประทานอาหารกลิ่นอายชนบทผสมโครงสร้างเหล็กที่ดูทันสมัย

ห้องนอนมีการกำหนดว่าทุกคนตื่นมาต้องได้เห็นวิวทุ่งนาสวยๆ จึงมีหน้าต่างหันไปทางทิศใต้ซึ่งเป็นทุ่งนา และวิวดอยสุเทพ ขณะที่แสงไฟส่วนใหญ่ของบ้านเป็นสีโทนวอร์มไวต์อมเหลืองๆ เล็กน้อย ดูอบอุ่นสบายตา เลือกใช้ไฟซ่อนในหลืบแบบ Indirect Light ที่เรียบง่าย แต่เน้นให้เห็นรูปทรงของอาคารได้เด่นชัด

อาคารเรือนนอนมีทางเดินยาวตลอดแนว แบ่งห้องไปทางขวา ใช้เป็นห้องนอนรับวิวทุ่งนา
ห้องนอน
ห้องนอนตกแต่งเรียบง่าย มีชั้นให้วางของและทำงานได้ในช่วงที่มาพัก
ห้องนอนมีประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่เพื่อรับวิวทุ่งนาด้านข้าง และยังมีชั้นลอยสำหรับรองรับแขกที่เพิ่มขึ้นได้ด้วย

แชร์ประสบการณ์จริงในการอยู่อาศัย

ด้านหนึ่งของอาคารมีการทดลองใช้กระเบื้องดินเผาของเชียงใหม่ที่เรียกว่า “กระเบื้องดินขอ” มาติดเป็นฟาซาดในแนวตั้ง พบว่าเมื่อโดนพายุหนักๆ กระเบื้องจะถูกลมตีเสียหาย คุณกั๊กจึงปลูกตีนตุ๊กแกเพื่อกลบในส่วนที่เสียหาย นอกจากนี้ผนังบ้านภายนอกที่เป็นเมทัลชีตทั้งหมดยังเป็นผนังสองชั้น หนา 30 เซนติเมตร ที่เว้นช่องอากาศไว้ภายในเพื่อกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน

กระเบื้องดินขอ
ผนังภายนอกบ้านส่วนหนึ่งปลูกตีนตุ๊กแกให้เลื้อยขึ้นไปบนวัสดุจากช่างท้องถิ่นอย่างกระเบื้องดินขอที่ใช้ทำฟาซาดของบ้าน แม้บางส่วนจะมีการหลุดล่อนจากพายุ ก็ยังดูสวยงามได้กลิ่นอายชนบท
กระเบื้องดินขอ
ฟาซาดกระเบื้องดินขอติดตั้งและมีหลุดร่วงบางส่วนจากลมพายุ แต่ดูกลมกลืนไปกับตีนตุ๊กแกที่เลื้อยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผนัง

ด้านโครงกระจกขนาดใหญ่ที่เป็นจั่วก็พบปัญหานกบินมาชนกระจกแตกเสียหาย ซึ่งเคยเปลี่ยนมาแล้ว ขณะที่เรื่องต้นไม้จัดสวนก็น่าสนใจตรงที่การใช้สารเคมีของบริเวณแปลงข้างเคียงอาจทำให้ต้นไม้บางชนิดตายได้ง่าย อาทิ ไม้พุ่ม ไม้ดอก ปาล์ม จั๋ง มะลิ ต้อยติ่งที่คุณกั๊กเคยปลูก ส่วนต้นไม้ที่รอด ได้แก่ ตะขบ มะม่วง ยางอินเดีย และใบเตย

คุณกั๊กยังทิ้งท้ายให้เราฟังว่า “บ้านหลังนี้ออกแบบจากภายในสู่ภายนอก อาจไม่ได้มีคอนเซ็ปต์หวือหวา แต่ตอบโจทย์คนหลายรุ่น หลายวัฒนธรรม หลายช่วงเวลา เป็นบ้านฟาร์ม Holiday Home เอาไว้ให้พักผ่อนอย่างมีความสุข”

เจ้าของ – ออกแบบ -ตกแต่งภายใน : Gooodlux Design Consultancy โดยคุณอมรฤต พิทักษ์


เรื่อง: สมัชชา วิราพร

ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข

สไตล์: Suntreeya

บ้านขนาดพอดีอยู่ ในรูปทรงโรงนาฝรั่ง

รับวิวตะวัน ที่บ้านไร่สไตล์โรงนา