บ้านชั้นเดียวสไตล์โปรวองซ์ ที่เขาใหญ่ ซึ่งมีกลิ่นอายแบบชนบทฝรั่งเศส ภายในเต็มไปด้วยสิ่งละอันพันละน้อยที่เจ้าของบ้านช่วยกันเลือกสรร ที่เปี่ยมด้วยความทรงจำจากการเดินทาง เพื่อนำมาสร้างบรรยากาศแสนอบอุ่น
บ้านชั้นเดียวสไตล์โปรวองซ์ ในโทนสีชมพูอ่อนจางมีกรอบประตูหน้าต่างสีเขียวมินต์ รอบๆ แวดล้อมด้วยพรรณไม้ปลูกเล่นระดับ ทั้งไม้พุ่มเตี้ยฟอร์มสวยแซมไม้ดอกเบาๆ เปิดมุมมองให้เห็นบ้านแบบเต็มตา เป็นบรรยากาศที่ชวนให้เผลอนึกไปว่ากำลังเดินอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ในแคว้นโปรวองซ์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส
เจ้าของบ้านหลังสวยนี้คือ คุณปู-สิทธิรัชต์ และคุณเป้-บราลี ธนะรัชต์ เมื่อทั้งสองท่านตัดสินใจซื้อบ้านตากอากาศหลังนี้ ซึ่งเป็นบ้านในฝันกลิ่นอายแบบชนบทฝรั่งเศสที่ประทับใจ และด้วยใจรักในการตกแต่งบ้านเป็นทุนเดิม บ้านชั้นเดียวสไตล์โปรวองซ์ หลังนี้จึงเต็มไปด้วยรายละเอียดและสิ่งละอันพันละน้อยที่ทั้งคู่ช่วยกันเลือกสรร ทั้งข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนของสะสมที่ค่อยๆ ซื้อเก็บเอาไว้ และนำมาสร้างบรรยากาศบ้านพักผ่อนแสนอบอุ่นกลิ่นอายแบบโปรวองซ์แท้ๆ
“อิตาลีและฝรั่งเศสเป็นสถานที่ที่เราสองคนชอบ เวลาไปเที่ยวโปรวองซ์และทัสกานีเรารู้สึกหลงใหลในบรรยากาศและสถาปัตยกรรม บ้านจึงเป็นส่วนเติมเต็มความฝันอีกอย่างของเรา บ้านตากอากาศอีกหลังของเราเป็นบ้านหลายชั้นขนาดกะทัดรัด ส่วนหลังนี้เป็นบ้านชั้นเดียว เรามองในระยะยาวว่าตอนที่สูงอายุแล้วการมีบ้านชั้นเดียวที่ไม่ต้องขึ้นบันไดจะสะดวกมากกว่า” คุณเป้เล่าอย่างสบายๆ ถึงความชื่นชอบจากการเดินทาง ที่กลายมาเป็นบ้านแสนอบอุ่นหลังนี้
รูปแบบบ้านโปรวองซ์มีจุดเด่นคือ ความกลมกลืนกับธรรมชาติ ผนังอาคารฉาบแบบไม่เรียบมีร่องรอยของงานทำมือปรากฏอยู่ นิยมใช้หน้าต่างบานเล็กๆ ภายในบ้านมีช่องผนังคว้านเข้าไปทำเป็นชั้นวางของ และมีคานไม้โชว์เท็กซ์เจอร์หยาบของท่อนไม้ บ้านหลังนี้เป็นบ้านชั้นเดียวแต่มีการเล่นระดับภายในบ้านที่น่าสนใจ ห้องนั่งเล่นลดระดับตํ่าลงมาเล็กน้อยจากส่วนครัว และมุมรับประทานอาหารที่อยู่ต่อเนื่องกันทำ ให้ดูเป็นสัดส่วน เนื่องจากคุณปูและคุณเป้ซื้อบ้านตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง จึงสามารถเพิ่มเติมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้เหมาะกับการใช้งานได้ เช่น เพิ่มชั้นคอนกรีตหล่อบริเวณครัว ขยายขนาดช่องประตูให้พอดีกับบานประตูที่ซื้อมาแล้ว เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งส่วนหนึ่งได้มาเมื่อครั้งไปเที่ยวยุโรปและตั้งใจไปฟลีมาร์เก็ตในฝรั่งเศสกับ คุณนาง -พีรยา บุนนาค (เจ้าของโครงการ Provence และร้าน Provencal) จึงทำตู้คอนเทนเนอร์ส่งกลับมา พร้อมกัน อีกส่วนคือคุณปูเสาะหาจากช่องทางออนไลน์ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นของแอนทีคและของเก่าดั้งเดิมแท้ๆ แต่ละชิ้นในบ้านจึงมีที่มาและเรื่องราวไม่เหมือนกัน
“เทคนิคการเสิร์ชหาของในออนไลน์คือ ใช้คำค้นที่ถูกต้องจริงๆ อาจต้องค้นด้วยชื่อเรียกของชิ้นนั้นแบบเฉพาะเจาะจง ชื่อท้องถิ่นแท้ๆ หรือชื่อเรียกในภาษานั้นๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน จึงจะเจอของที่เราต้องการ เวลาไปเที่ยวกันเอง แล้วเจอชิ้นที่ไม่ใหญ่มาก พวกผ้าต่างๆ อย่างผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ปลอกหมอน เราก็จะหิ้วติดมือกลับมา ตั้งแต่ซื้อบ้านเราก็เริ่มหาของเตรียมไว้เลยประมาณ 2 ปีกว่า เก็บมาเรื่อยๆ จินตนาการว่าบ้านจะออกมาอารมณ์ไหน เราอยากได้มู้ดแอนด์โทนสีเพล ไม่ฉูดฉาด เป็นอารมณ์ขาว เบจ อิงกับธรรมชาติ อีกอย่างคือบ้านแบบโปรวองซ์จะมีสไตล์รัสติกด้วย เครื่องใช้จะเป็นของที่ใช้จริงๆ ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น”
จุดเด่นของเฟอร์นิเจอร์แบบโปรวองซ์คือ โทนสีธรรมชาติอย่างสีขาว เบจ ครีม มีรายละเอียดฝีมือแบบช่างยุโรปดูอ่อนหวานและร่องรอยเก่าๆ จากการใช้งานจริง มีงานบุผ้าลินิน และองค์ประกอบที่ดูไม่หรูหราเกินไป อย่างเช่น ที่บังไฟหน้าเตาผิงลวดลายเฟมินีนอ่อนหวาน แชนเดอเลียร์ขนาดเล็กๆ แต่มีรายละเอียดที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีของเก่าที่ตกทอดมาจากรุ่นคุณพ่อของคุณปู เช่น เครื่องฉายหนัง ซึ่งกลายเป็นของตกแต่งคลาสสิกในบ้านหลังนี้แบบที่หาไม่ได้จากที่ไหน
“แชนเดอเลียร์ส่วนหนึ่งซื้อจากร้าน Provencal ของพี่นาง ส่วนหนึ่งมาจากฟลีมาร์เก็ตที่เมือง Lille ประเทศฝรั่งเศส ที่นั่นจะมีงานประจำปีปีละครั้ง เป็นหนึ่งในฟลีมาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มีการปิดถนนขายของทั้งเมืองช่วงต้นเดือนกันยายน ส่วนใหญ่คนที่ไปซื้อจะเป็นมืออาชีพ แต่ถึงเราเป็นมือสมัครเล่นก็ได้มาเยอะพอสมควร แต่มันหายไปส่วนหนึ่งสลับกับลูกค้าคนอื่นเพราะสื่อสารกันค่อนข้างยาก อย่างเดย์เบดก็ได้มาจากที่นี่ ตอนนั้นบ้านเรายังไม่เสร็จ ต้องเอาไปฝากโกดังเพื่อนไว้เกือบ 2 ปี ของแบบนี้เจอแล้วต้องซื้อเก็บไว้ เพราะเราไม่สามารถกลับไปเอาทีหลังได้”
คุณปูเสริมว่าการซื้อของแต่ละชิ้นจะวางแผนไว้ก่อนแล้วว่ามีจำนวนห้องเท่านี้ ผังห้องแบบนี้ ต้องการเฟอร์นิเจอร์ประมาณไหน กี่ชิ้น ใช้ของใหม่และของเก่าผสมกัน แต่เลือกรูปแบบให้กลมกลืน มิกซ์แอนด์แมตช์เข้าด้วยกัน เช่น โต๊ะรับประทานอาหารซื้อจาก Chanintr เข้ากับเก้าอี้โรโกโกมาจากฝรั่งเศสในราคาตัวละ 10 ยูโรเท่านั้น
“เก้าอี้ที่ได้มา 6 ตัวเราจะจับแยกไม่วางให้ดูจงใจเกินไป พอเราเลือกมาเองกับมือก็จะรู้สึกรักทุกชิ้น แต่ละชิ้นมีที่มาที่ไปมีความทรงจำต่างกัน ส่วนตัวพี่ชอบเตียงห้องมาสเตอร์ที่สุด เป็นเตียงในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ขนาดพิเศษเล็กกว่าควีนไซซ์ แต่นอนสองคนได้ ชิ้นนี้ซื้อทางออนไลน์และส่งมาทางเรือ”
ของตกแต่งอีกหลายชิ้นในบ้านยังมาจากฝีมือของคุณเป้ลงมือทำ เอง เช่น ผ้าม่านแต่ละห้อง ป้ายไม้ต่างๆ หรือโต๊ะข้างเตียงในห้องนอนที่ลงมือขัดสีเอง “พี่พยายามหาโต๊ะข้างเตียงมานานแล้วยังไม่เจอที่ถูกใจ ไม่มีขนาดที่ชอบ จนกระทั่งไปเจอโต๊ะนักเรียนคู่นี้ เคยเห็นตามแมกกาซีนต่างประเทศจะมีโต๊ะทำนองนี้ รู้สึกว่าเหมือนโต๊ะนักเรียนบ้านเรา ก็เลยเอามาประยุกต์ให้ช่างลงสีพื้นและเติมลิ้นชัก ส่วนพี่มาขัดเองให้ดูเก่าๆ พอเอามาทำสีเขียวแบบหน้าต่างก็ดูเข้ากับบ้านดี ต้องขอบคุณพี่ปูที่จุดประกายว่าคุณทำได้ เป็นกองเชียร์ให้เราทำของ ตกแต่งบ้านเองหลายๆ ชิ้น จากที่คิดว่าเราทำไม่ได้ ก็เลยได้ลองลงมือทำดู
“ถ้ามาเห็นวันที่จัดของจะรู้ว่าวุ่นมาก (หัวเราะ) มีรถขนของมาลงหน้าบ้าน ของกองอยู่ข้างนอก ต้องจ้างคน 7 – 8 คนมาแกะและทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนเอาเข้าบ้าน ในใจคือวางแผนไว้แล้วว่าอะไรวางมุมไหน ใช้เวลาทั้งหมด 6 วัน จัดทั้งวันแทบไม่ได้นั่งเลย โชคดีว่าตอนที่เราย้ายเข้ามาอยู่ยังมีช่างของโครงการมาช่วยเราได้ ทั้งเจาะผนังและติดมือจับต่างๆ ทำให้งานเร็วขึ้น พี่ปูมีหน้าที่แกะแพ็กของทั้งหมด พี่มีหน้าที่เอาไปวาง บางทีต้องเดินหมุนไปหมุนมาว่าได้ไหม จำได้ว่าเหนื่อยมากแต่สนุก (หัวเราะ) แต่พอมาเห็นบ้านที่เสร็จแล้วก็ภูมิใจว่าเราสามารถทำได้จริงๆ” คุณเป้เล่าย้อนไปถึงวันที่จัดบ้านหลังนี้ให้ฟังอย่างมีความสุข
เนื่องจากเขาใหญ่อยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯมากนัก ทั้งสองท่านจึงมาพักผ่อนที่นี่บ่อยๆ แต่ละครั้งก็อยู่ยาว 2 สัปดาห์ ข้าวของที่บรรจงจัดตกแต่งเองทุกมุม ทำให้บ้านตากอากาศหลังงามนี้เต็มไปด้วยเรื่องราว ความสุข และความทรงจำดีๆ ทุกครั้งที่เห็นข้าวของแต่ละชิ้นก็เหมือนได้ย้อนนึกถึงช่วงเวลาต่างๆ ในการเดินทางออกมาเป็นภาพที่ชัดเจนอยู่เสมอ
เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณสิทธิรัชต์ – คุณบราลี ธนะรัชต์
จัดสวน : Little Tree โดยคุณศิริวิทย์ ริ้วบำรุง และคุณจาตุรงค์ ขุนกอง
เรื่อง : วรัปศร
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, อภิรักษ์ สุขสัย