ขั้นบันได ในทางสถาปัตยกรรมถือเป็นโครงสร้างหนึ่งของบ้านที่ทำหน้าที่เชื่อมชั้นต่างๆเข้าด้วยกัน
ปัจจุบัน ขั้นบันได ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เชื่อมชั้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ถือเป็นหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมที่นักออกแบบต่างให้ความสำคัญ ทั้งในเรื่องขององค์ประกอบ โครงสร้าง รูปแบบ การวางตำแหน่งบันไดให้ถูกที่ถูกทาง ช่วยให้การใช้งานสะดวกและเหมาะสม
องค์ประกอบของบันได
- แม่บันได คือ ส่วนโครงสร้างของบันได มีหน้าที่รองรับน้ำหนักที่เกิดจากการใช้งาน มีทั้งบันไดไม้ บันไดเหล็ก และบันไดโครงสร้าง คอนกรีตเสริมเหล็ก
- ลูกนอน คือ ขั้นบันไดในแนวนอน ควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร
- ลูกตั้ง คือ ขั้นบันไดในแนวตั้ง มีความสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร
- ชานพัก คือ พื้นที่ที่คั่นอยู่ระหว่างช่วงบันได ต้องมีความกว้าง × ยาวไม่น้อยกว่าความกว้างบันได
- ราวบันได ใช้สำหรับช่วยประคองตัวขณะขึ้นหรือลงบันไดเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ระยะความสูงที่เหมาะสมประมาณ 80 – 100 เซนติเมตร
- พื้นหน้าบันได คือ บริเวณพื้นที่ว่างก่อนขึ้นหรือลงบันได และพื้นที่ว่างเมื่อขึ้นหรือลงบันได ขั้นสุดท้าย
- ช่วงบันได บันได 1 ช่วงไม่ควรสูงเกิน 3 เมตร หากมากกว่านั้นต้องมีชานพักบันได
โครงสร้างบันได
แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ
- โครงสร้างแม่บันไดคู่
- โครงสร้างแม่บันไดเดี่ยว
- บันไดเป็นโครงสร้างด้วยตัวเอง เป็นงานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใส่โครงสร้างอยู่ในขั้นบันได
รูปแบบของบันได
บันไดหักฉาก (L-Shaped Stairs) เป็นบันไดที่มีการเลี้ยวเป็นมุม 90 องศา โดยจุดที่หักเลี้ยวนั้นนิยมใช้เป็นชานพักคั่นกลางระหว่างสองช่วงบันได จำนวนบันไดในแต่ละช่วงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน สำหรับบ้านที่มีมากกว่า 2 ชั้น การวางบันไดของแต่ละชั้นในตำแหน่งเดียวกัน จะทำให้การเดินขึ้น – ลงบันไดมีความต่อเนื่อง และทางราบของแต่ละชั้นควรยาวเพียงพอให้ได้พักขาก่อนเดินขึ้นสู่บันไดชุดต่อไป
บันไดหักกลับ (U-turn Stairs) เป็นบันไดทางตรง 2 ชุดเชื่อมต่อกันด้วยชานพัก เพื่อการเปลี่ยนทิศทางเดิน 180 องศา ช่วยลดจำนวนของขั้นบันไดในแต่ละชุด ทำให้ได้ผ่อนคลายความเมื่อยล้าก่อนจะขึ้นหรือลงบันไดชุดต่อไป ซึ่งบันไดแบบนี้จะมีพื้นที่ใต้บันไดค่อนข้างเตี้ยและแคบ จึงมักใช้เป็นที่เก็บของที่ไม่ค่อยได้ใช้ เช่น กระเป๋าเดินทาง
บันไดทางตรง (Straight Run Stairs) เป็นบันไดเชื่อมระหว่าง 2 ชั้นโดยไม่มีการเลี้ยวหรือโค้ง เหมาะกับบ้านที่มีหน้าแคบแต่ยาว พบได้บ่อยในตึกแถว โดยมักวางให้ชิดไปกับผนังฝั่งใดฝั่งหนึ่งเพื่อประหยัดพื้นที่ ถ้าความสูงระหว่างพื้นสองชั้นแตกต่างกันมาก ควรมีชานพักตรงกลางเพื่อความปลอดภัย
บันไดโค้ง (Curved Stairs) เป็นบันไดที่สวยงามและใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก จึงเหมาะกับบ้านที่มีขนาดใหญ่ นิยมวางตำแหน่งของบันไดโค้งไว้บริเวณโถงหน้าบ้าน ซึ่งมองเห็นบันไดได้อย่างชัดเจน มักจะใส่รายละเอียดที่ราวบันไดเพื่อความหรูหราและสวยงาม
บันไดเวียน (Spiral Stairs) เป็นบันไดที่ใช้พื้นที่น้อยที่สุด เพราะบันไดทุกขั้นถูกยึดอยู่กับเสาหลักเพียงต้นเดียว ทำให้ขนาดของบันไดค่อนข้างเล็ก ต้องใช้ความระมัดระวังเมื่อใช้งาน ไม่นิยมใช้เป็นบันไดหลักของบ้าน นอกเสียจากมีพื้นที่จำกัดจนไม่สามารถสร้างบันไดรูปแบบอื่นได้
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับบันได
- บันได ต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลูกนอนหักส่วนขั้นบันไดที่เหลื่อมกันแล้วกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร แต่ระยะที่เดินสบาย ลูกตั้งควรสูงประมาณ 18 เซนติเมตร และมีลูกนอนกว้าง 25-27.5 เซนติเมตร
- ชานพักและพื้นที่หน้าบันได ต้องมีความกว้างยาวไม่น้อยกว่าความกว้างสุทธิของบันได เว้นแต่บันไดที่มีความกว้างสุทธิเกิน 2 เมตร ชานพักและพื้นที่หน้าบันไดจะมีความยาวไม่เกิน 2 เมตรก็ได้ ถ้าบันไดสูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักทุกช่วง 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น ระยะดิ่งจากขั้นบันไดถึงส่วนต่ำสุดของอาคารที่อยู่เหนือบันไดต้องสูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร
- ราวกันตก ควรสูง 85-90 เซนติเมตร และอย่าลืมทำแผงกันเด็กตกบริเวณส่วนล่างสูงจากพื้น 10-15 เซนติเมตร
- ขั้นบันได แต่ละขั้นควรเหลื่อมกัน 1 นิ้ว จะทำให้เดินสะดวกขึ้น
- พื้นที่ใต้บันได ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ถ้าเป็นบันไดโชว์ก็จัดสวน สวนกรวด หรือบ่อน้ำให้สวยงาม หรือถ้าเป็นบันไดใช้สอย สามารถทำเป็นตู้เก็บของหรือใช้แผ่นไม้อัดติดล้อเลื่อนสำหรับวางของ สามารถดึงเข้า-ออกแล้วหยิบของได้สะดวกขึ้น
- วัสดุปูบันได ใช้วัสดุที่ทนทานและไม่ลื่นอย่างหิน กระเบื้องเซรามิก ไม้ เหล็กกันลื่น และทำจมูกบันไดกันลื่นด้วยการเซาะร่อง ติดแถบกันลื่น หรือใช้จมูกบันไดสำเร็จรูปที่ทำจากพีวีซีหรืออะลูมิเนียม
บ้านและสวน มี ขั้นบันได แบบต่างๆมาให้คุณเลือกนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสไตล์ของบ้าน ดังนี้
เรื่อง : ศรายุทธ, jOhe
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, room, my home
ภาพประกอบ : นราวิชญ์ มวลจุมพล