บ้านสีขาวสไตล์ญี่ปุ่น ภายใต้หลังคาทรงจั่ว ภายในตกแต่งให้อบอุ่นโปร่งสบาย ซ่อนด้วยเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในแบบของ Smart Home
Design Directory : สถาปนิก Depth Architect Studio
ปัจจุบัน เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนเรามากขึ้นในแทบทุกช่องทาง รวมไปถึงเพิ่มความสะดวกสบายภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบความปลอดภัย ไฟส่องสว่าง และความบันเทิงที่สั่งงานได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้วหรือผ่านเสียงพูดคุย แม้จะยังไม่ล้ำแบบที่โทนี่ สตาร์ค คุยกับจาร์วิส ผู้ช่วยจากระบบคอมพิวเตอร์ AI แต่ก็เชื่อว่าบ้านยุคใหม่ในอนาคตอันใกล้ก็น่าจะเข้าสู่รูปแบบของ Smart Home กันมากขึ้นแน่นอน เช่นเดียวกับ บ้านสีขาวสไตล์ญี่ปุ่น หลังนี้
คุณแก๊ป-รณรงค์ วงศ์มาลาสิทธิ์ ผู้เป็นเจ้าของบ้านเรียนมาทางด้านวิศวกรรมการบินและมีความสนใจในเรื่องเทคโนโลยีเป็นพิเศษอยู่แล้ว หลังจากแต่งงานกับ คุณแนท-ธีรนันท์ บุญชัย แล้ว จึงวางแผนสร้างบ้านหลังใหม่พร้อมติดตั้งเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสบายไว้ตามจุดต่างๆ ของบ้านตั้งแต่แรกเริ่ม
วางระบบให้บ้านฉลาด
“เราอยากมีบ้านที่อยู่ในโซนเมืองของเชียงใหม่กันค่ะ” คุณแนทเล่า “แก๊ปเขามีไอเดียเยอะแยะ เลยอยากสร้างบ้านเองมากกว่าไปซื้อบ้านจัดสรร ก็พอดีเจอที่ดินตรงนี้ราว 60 ตารางวา เป็นช่วงที่กำลังแต่งงานเลย แล้วก็มาถูกใจบ้านที่คุณโปลก้าเคยออกแบบไว้ เป็นบ้านสีขาวๆ ทรงจั่ว ภายในผสมงานไม้สว่างตากลิ่นอายญี่ปุ่นหน่อยๆ ซึ่งเป็นแบบที่เราชอบ ส่วนเรื่องพวกระบบ Smart ในบ้านหลายอย่างต้องวางตำแหน่งและเตรียมการไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าเราจะมีอะไรตรงไหนบ้าง”
ด้วยความตั้งใจนี้เอง ทำให้ทั้งคู่เลือกซื้อตู้เย็นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นแรกภายในบ้าน เพราะสามารถสั่งการและควบคุมระบบ Smart ต่างๆ ในบ้านได้ตั้งแต่ระบบรักษาความปลอดภัย การเปิด-ปิดประตู ม่าน เครื่องปรับอากาศ และความสว่างของไฟ เพียงแค่แตะคำสั่งบนจอหน้าตู้เย็น หรือจะเลือกสั่งงานผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือก็ได้เช่นกัน
“ก่อนจะมาติดตั้งในบ้าน เราได้ทดลองใช้ในคลินิกรักษาสัตว์ของตัวเองมาแล้วทุกอย่าง ที่สำคัญคือเราติดระบบระบายอากาศที่ประยุกต์ขึ้นมาเอง เพราะเชียงใหม่เวลาเข้าช่วงฝุ่น PM2.5 ก็จะหนักมาก เราต้องกรองอากาศดีเข้าบ้านและปล่อยออกไปใต้ฝ้าชั้นบน ช่วยให้บ้านคลายร้อนและมีอากาศดีหมุนเวียนอยู่ภายในบ้าน รวมทั้งติดเซ็นเซอร์วัดสภาพอากาศ ถ้าวันไหนค่า PM2.5 เกิน เครื่องก็จะเปิดทำงานเองเลย แล้วก็มีแผนว่าจะติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาด้วย เพราะเราใช้ไฟค่อนข้างเยอะ เลยเตรียมพื้นที่ไว้แล้ว แต่อยากลองดูก่อนว่าปกติเราใช้ไฟกันเท่าไหร่ แล้วค่อยมาคำนวณและเลือกปริมาณแผงโซลาร์เซลล์กัน”
บ้านสีขาวสไตล์ญี่ปุ่น อยู่สบาย คลายร้อน
ด้วยตัวบ้านหันด้านหน้าไปทางทิศใต้ คุณโปลก้า ผู้เป็นสถาปนิกจึงวางแปลนพื้นที่ของห้องนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และห้องนอนชั้นล่างให้อยู่ทางทิศเหนือและตะวันออกเป็นหลัก แต่ก็ต้องการแสงเข้าบ้านด้วยจึงเว้าตัวอาคารด้านหลังเพื่อเปิดเป็นคอร์ตสำหรับปลูกต้นไม้เล็กๆ ไว้ แล้ววางห้องนั่งเล่นกับห้องน้องแมวให้ติดกับคอร์ตเพื่อสามารถเชื่อมต่อออกมาข้างนอกได้เลย
“จริงๆ พื้นที่ส่วนกลางเปิดโล่งแบบโอเพ่นแปลนไว้ กลมกลืนกันด้วยผนังสีขาวและพื้นไม้ แต่เพิ่มตู้บิลท์อินมาช่วยกั้นแยกส่วนของห้องกินข้าวกับส่วนนั่งเล่น โดยออกแบบขนาดตู้ให้พอดีกับสแปนเสาเพื่อซ่อนเสาโครงสร้างไปเลย ส่วนฝั่งที่ร้อนๆ ก็วางตำแหน่งให้เป็นบันได ห้องน้ำ และระเบียงเพื่อช่วยเว้นระยะไม่ให้ความร้อนเข้าถึงส่วนพักผ่อนโดยตรง แล้วยังเบิ้ลผนังส่วนใหญ่ให้เป็นสองชั้นเพื่อป้องกันความร้อนและช่วยรักษาอุณหภูมิภายในบ้านด้วย”
รายละเอียดที่มีเสน่ห์
ภายในบ้านสีขาวที่ดูเรียบง่ายไม่ซับซ้อนนี้ยังซ่อนรายละเอียดของงานออกแบบไว้ตามจุดต่างๆ ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่สร้างเสน่ห์เฉพาะตัวได้ดี ไม่ว่าจะเป็นโถงทางเข้าที่ยกสูงจนเห็นฝ้าทรงจั่วซึ่งล้อรับไปกับทรงหลังคา เพิ่มหน้าต่างทรงกลมเล็กๆ มาช่วยลดความแข็งของเส้นตรง การออกแบบช่องเก็บหุ่นยนต์ดูดฝุ่นไว้เฉพาะ การติดเซ็นเซอร์ไฟตามขั้นบันไดเพื่อส่องสว่างให้รับกับจังหวะก้าวเดิน การทำช่องแมวลอดเป็นรูปทรงจั่วรับกับดีไซน์ของบ้าน เช่นเดียวกับที่นำไปใช้เป็นซุ้มจั่วในห้องนอนลูก และพลิกจั่วให้คว่ำลงเพื่อใช้เป็นช่องวางหนังสือเหนือหัวเตียงในห้องนอนหลัก รวมถึงการซ่อนประตูทางออกไปสู่ระเบียงสำหรับติดระบบโซลาร์เซลล์ไว้หลังชั้นไม้ในห้องนอนลูก ซึ่งทั้งหมดนี้ผ่านการคิดและวางแผนร่วมกันมาอย่างดีระหว่างเจ้าของบ้านกับสถาปนิก
ความสุขไม่รู้จบ
แม้ว่าบ้านจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ให้เจ้าของบ้านได้เข้ามาอยู่อาศัยกันแล้ว แต่คุณแนทก็ยอมรับด้วยรอยยิ้มว่า “ยังใช้ฟังก์ชันไม่ครบเลยค่ะ ชอบที่บ้านมีที่เก็บของซ่อนตามจุดต่างๆ ทำให้บ้านดูเรียบร้อยสวยงามได้ตลอดเวลา มีระบบต่างๆ ช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้น และก็ชอบห้องนอนเป็นพิเศษ เพราะเวลานอนเรามองเห็นจั่วบ้านสวยๆ แบบที่อยากได้ หรือจะเปิดหน้าต่างมองวิวท้องฟ้าข้างนอกได้ ส่วนแก๊ปก็มีความสุขตั้งแต่บ้านยังไม่เสร็จดีเลย และยิ่งสนุกเวลาได้ใช้ฟังก์ชันจากระบบต่างๆ ที่ติดไว้ เชื่อว่าต่อไปจะต้องหาพวกแกดเจ็ตอื่นๆ มาเติมความสนุกให้บ้านอีกแน่นอนค่ะ”
เจ้าของ : คุณธีรนันท์ บุญชัย และคุณรณรงค์ วงศ์มาลาสิทธิ์
สถาปนิก : Depth Architect Studio โดยคุณธนกร ฉัตรทิพากร
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม,อภินัยน์ ทรรศโนภาส
สไตล์ : Suntreeya