บ้านชั้นเดียวสไตล์บาร์นเฮ้าส์ ที่มีกลิ่นอายแบบบ้านในฟาร์มในต่างประเทศทั้งสองหลังนี้ นับเป็นไอเดียในการสร้างบ้านที่ใช้งบประมาณไม่มาก วัสดุที่ใช้สามารถหาซื้อได้ง่ายมีขายอยู่ทั่วไป แต่ได้กลิ่นอายบ้านในต่างประเทศที่ทั้งสวยและน่าอยู่
ราว 200 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯมายังอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ถนนสายเล็กๆเลียบแม่น้ำน้อยพาเรามาถึง Happy Uncle Farm สวนเกษตรของครอบครัว “ยมะสมิต” ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่น้อยนานาชนิดภายในสวนได้รับการดูเป็นอย่างดี สนามหญ้าตัดเรียบ มีแปลงดอกไม้และสมุนไพรฝรั่งส่งกลิ่นหอมอ่อนๆอยู่ใกล้กับลานกรวดรอบกองไฟบริเวณหน้า บ้านชั้นเดียวสไตล์บาร์นเฮ้าส์ ดูน่าอยู่และถัดไปคือบ้านแบบคอตเทจหลังเล็กแสนอบอุ่น
คุณกัญจน์ ยมะสมิต เจ้าของบ้านเล่าว่า คุณพ่อซื้อที่แปลงนี้มาตั้งแต่เมื่อสมัยยังหนุ่ม ในยุคนั้นยังเป็นป่าและมีเพียงถนนดินสายเล็กๆ เมื่อคุณพ่อเกษียณมาแล้วหลายปีจึงเริ่มมาทำสวนและสร้างบ้านพักผ่อนหลังเกษียณ ภายในบริเวณมีเรือนหลังใหญ่สไตล์อเมริกันคันทรีที่คุณพ่อและพี่ชายพักอาศัยเป็นประจำและบ้านหลังเล็กที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่นานอีก 2 หลัง หลังแรกเป็นบ้านไม้สไตล์คอตเทจ ใช้เป็นเรือนรับรองญาติและเพื่อนฝูงที่มาหาเป็นประจำ ส่วนบ้านอีกหลัง คุณกัญจน์และคุณแจน-ปรารถนา จันทร์อุ่น ภรรยา เพิ่งจะปรับปรุงจากเรือนรับรองหลังเก่าเป็นบ้านพักส่วนตัวเวลาเดินทางมาที่นี่ทุกสัปดาห์
บ้านคอตเทจอบอุ่นน่าอยู่
บ้านขนาดกะทัดรัดกรุไม้ชิงเกิลทั้งหลังนี้สร้างเสร็จได้ราว 1 ปี คุณกัญจน์ซึ่งเป็นสถาปนิกอยู่แล้วออกแบบเอง โดยมีคุณแจน ซึ่งเป็นอินทีเรียร์ดีไซเนอร์รับหน้าที่วางคอนเซ็ปต์และรูปแบบบ้านทั้งหมด ตัวบ้านเป็นสไตล์คอตเตจที่มีกลิ่นอายแบบบ้านบนเกาะแนนทัคเก็ต (Nantucket) ทางตอนใต้ในรัฐแมสซาชูเซตส์ เป็นบ้านริมทะเลที่มีการนำเอาไม้ชิงเกิลมากรุผนังเหมือนบ้านตากอากาศดูสบาย ๆ เป็นกันเอง
“คุณพ่อคุณแม่ชอบสไตล์แบบแนนทัคเก็ต เขาบอกให้ทำให้เขาหลังหนึ่ง เอาไว้ให้เพื่อนๆมานั่งดื่มน้ำชา ในพื้นที่ที่วางไว้มันสามารถทำเป็นบ้าน 2 ห้องนอนได้ ก็มาคิดว่าเราทำเป็นดับเบิลไฮต์แล้วใส่ความสวยงามเข้าไป พี่เองชอบสไตล์นี้อยู่แล้วเพราะว่าเรียนที่อเมริกามา เราเลยทำให้มันเป็นคอตเทจ ในสวนปลูกดอกไม้รอบ ๆ ซึ่งเพื่อนคุณพ่อคุณแม่ หรือเด็กๆจะชอบมาก”
บ้านหลังนี้มีการลงเสาเข็มและยกพื้นสูงขึ้นมา 60 เซนติเมตร ทำโครงสร้างเสาปูนเทคานและเทพื้นคอนกรีต ส่วนตัวบ้านก่อสร้างตามแบบบ้านชิงเกิลในต่างประเทศ คือไม่มีการก่ออิฐแต่ทำโครงเหล็กขึ้นมา ผนังด้านนอกและหลังคาแปะไม้ชิงเกิล ส่วนผนังด้านในกรุแผ่นยิปซัม ตรงกลางใส่ฉนวนกันความร้อนและซ่อนท่อร้อยสายไฟไว้ในผนังทั้งหมด
“ไม้ชิงเกิลมันทำมาสำเร็จแล้ว จริงๆ ไม่ต้องเคลือบอะไรมันจะเก่าไปตามกาลเวลาเป็นสีเทาเฟดไปเอง แต่ด้วยความที่ช่างต่างจังหวัดเขาชินกับงานไม้ต้องทาเคลือบ เขาก็แอบทาแล็กเกอร์ ทำให้สีกับผิวสัมผัสมันเสียไป บ้านหลังนี้เราทำง่าย ๆ เร็ว ๆ พอเราอยู่ต่างจังหวัดมันไม่ต้องกันเสียงกันอะไร แต่เราใส่ฉนวนกันความร้อนที่ผนัง ถ้าเป็นบ้านที่อยู่จริงจังก็อาจจะใส่ฉนวนกันเสียงและกันความร้อนให้หนาหน่อย ข้อดีของผนังแบบนี้คือท่อร้อยสายไฟมันใส่ในผนังเลย เราแค่มาร์กตำแหน่งไฟไว้”
ภายในบ้านประกอบด้วยส่วนพักผ่อนจัดเป็นมุมนั่งเล่นต่อเนื่องกับแพนทรี่ วางโต๊ะรับประทานอาหารชิดโซฟาเพื่อประหยัดพื้นที่ พื้นที่ส่วนนี้เป็นโถงสูงโปร่งและเจาะช่องหน้าต่างให้แสงธรรมชาติเข้ามา มีห้องนอนขนาด 3 x 3 เมตร 2 ห้อง ห้องนอนใต้หลังคาอีก 1ห้อง ห้องน้ำใหญ่ขนาด 2 x 2 เมตร 1 ห้อง และห้องน้ำเล็กๆ ขนาด 1.50 x 2 เมตร อีก 1 ห้อง เป็นบ้านขนาดกะทัดรัดที่ใช้งบประมาณในการสร้างไม่ถึง 2 ล้านบาท
“คุณพ่ออยากได้ห้องนอน 2 ห้อง แต่พอความสูงของหลังคามันได้ เพราะเราทำบ้านสูง 4.50 เมตร เลยทำชั้นลอยและมีบันไดขึ้นไป ตอนแรกจะทำบันไดลิง แต่ผู้ใหญ่จะขึ้นยากเดินไม่ไหว จึงปรับเป็นบันไดที่เดินง่ายขึ้น เลยได้ห้องใต้หลังคามาเพิ่มเป็นอีก 1 ห้องนอน พอเพิ่มมาแล้วปรากฏว่าสามารถอยู่ได้ 6 คน ห้องน้ำที่ทำไว้เพียงห้องเดียวเลยไม่พอเราเลยต่อห้องน้ำข้างหลังออกไปนิดหนึ่ง
“พื้นในบ้านปูพื้นไม้ที่คุณพ่อซื้อไม้เก่ามากองๆไว้ เราก็ให้ช่างเอามาปูเลย แต่ด้วยความไม้เก่าของไทยมันจะมีสีแดงบ้าง เหลืองบ้าง เราอยากจะฟอกเป็นสีอ่อนๆก็ไม่ได้ ก็เลยให้ลงสีดำ ต้องยอมให้เป็นสีนี้ไม่อย่างนั้นมันสีจะสะเปะสะปะแล้วมีรอยตะปูกับตาไม้ ซึ่งพอเป็นสีดำก็ดูไม่ขัดตากับสไตล์นี้ เมื่อปูพรมลงไปก็ใช้ได้ เฟอร์นิเจอร์ในบ้านส่วนใหญ่เป็นของเดิมที่มีอยู่ ทั้งโซฟา เก้าอี้ เตียงนอน ยกมาจากบ้านที่กรุงเทพฯ ยกเว้นเคาน์เตอร์ครัวและตู้ลอยที่ซื้อของ SB Furniture หลังนี้ถือไม่แพงมากถ้าเทียบกับหน้าตาบ้านที่ออกมา หลายคนมาบ้านจะรู้สึกว่าบ้านหรูจังเลย จริง ๆแล้วใช้วัสดุเรียบง่ายมาก แต่นำทุกอย่างมาดัดแปลง เลือกสี ตกแต่งให้ดูสวย ก็ทำให้บ้านสวยได้”
บ้านบาร์นเอ้าส์ที่รีโนเวตมาจากบ้าน 2 หลัง
บ้านอีกหลังอยู่ถัดมา เป็น บ้านชั้นเดียวสไตล์บาร์นเฮ้าส์ มีกลิ่นอายแบบบ้านในฟาร์มในต่างประเทศ เป็นบ้านที่คุณกัญจน์รีโนเวตมาจากบ้านหลังเดิมที่คุณพ่อทำเป็นบ้านรับรองแขก ซึ่งเดิมเป็นบ้านสไตล์ทรอปิคัลหลังเล็ก 2 หลังและมีการรีโนเวตโดยรวมบ้านเป็นหลังเดียว โดยใช้โครงเดิมทั้งหมด แต่เปลี่ยนหน้าตาใหม่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
“บ้านหลังคอตเตจสร้างเสร็จมาประมาณ 1 ปี ส่วนหลังนี้เพิ่งทำเสร็จไม่กี่เดือน เดิมทีเวลามาที่นี่เราจะพักที่บ้านคุณพ่อบ้าง บ้านคอตเทจบ้าง แต่พอระยะหลังมาบ่อยขึ้น เรียกว่าทุกสัปดาห์จะอยู่ที่นี่ครึ่งๆ กับกรุงเทพฯ เรารู้สึกว่าบ้านคอตเทจมันเหมาะสำหรับเฟรนด์แอนด์แฟมิลี่ ไม่ใช่สไตล์เรา พี่เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นมาทำอันนี้ดีกว่า ตอนแรกคิดว่าจะปลูกบ้านใหม่ แต่ดูแล้วว่าเราไม่ได้อยู่ประจำขนาดนั้นก็เลยเอาบ้านหลังเดิมมาทำระเบียงเชื่อมตรงกลางเข้าด้วยกัน ทำจาก 2 เป็น 1 เรารู้แล้วว่าจะทำอะไรกับมัน เราไม่ได้อยากได้พื้นที่เยอะ แค่ไว้นั่งเล่น มีห้องนอน ส่วนครัวก็มีครัวใหญ่อยู่แล้วที่บ้านหลังใหญ่ แค่อยากมีบาร์ทำกาแฟนิดๆหน่อย ๆ”
ตัวบ้านขนาด 7 x 16 เมตร มีการปิดช่องเปิดเดิมตรงส่วนหน้าบ้านและกรุผนังทึบ ส่วนด้านข้างเจาะช่องหน้าต่างใหม่ ตรงกลางระหว่างบ้านทำโครงเหล็กล่องเชื่อมเป็นระเบียงยกพื้นที่สูงขึ้นมาระดับเดียวกับพื้นบ้านและทำหลังคาเพิ่ม ใช้งานเป็นพื้นที่ลีฟวิ่ง มีทั้งส่วนพักผ่อนพร้อมบาร์เล็กๆ ส่วนตัวบ้าน 2 หลังเดิมเปลี่ยนฟังก์ชันเป็นห้องนอน 2 ห้อง โดยคงตำแหน่งห้องน้ำไว้ที่เดิม สำหรับหลังคาทำโครงหลังคาเหล็กทับโครงเดิมโดยที่ไม่รื้อหลังคาเก่า มุงกระเบื้องลอนคู่สีขาวซึ่งเป็นวัสดุราคาถูกและหาซื้อง่ายในร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป และเพิ่มระเบียงหน้าบ้านเป็นที่นั่งพักผ่อน
“บ้านหลังนี้ไม่มีงานปูนเลย ทำเร็วๆเดือนสองเดือนก็เสร็จแล้ว วัสดุทุกอย่างซื้อตามร้านขายวัสดุในต่างจังหวัด พี่ไม่ได้เขียนแบบ แต่ถ่ายรูปบ้านเดิมและสเก็ตช์ทับว่าหน้าตาแบบนี้ ห้องมันต้องแบบนี้ เขียนแปลนง่าย ๆ ช่างจะได้เข้าใจเพราะถ้าไม่มีภาพเลยเขาอาจจะนึกไม่ออก
“เหมือนเรามาแต่งหน้ามันใหม่ ตรงผนังหน้าบ้านเราทำโครงคร่าวแล้วปิดทับด้วยแผ่นซีเมนต์บอร์ดแล้วฉาบปูนซีเมนต์ขาวให้มีเท็กซ์เจอร์ ตรงรอยต่อระหว่างแผ่นก็เอาไม้ซีดาร์มาแปะทับ เป็นไม้ที่ทรีตน้ำยามาแล้ว แต่พอเอามาตกแต่งบ้านในประเทศที่มีฝนตกเยอะแบบบ้านเรา มันก็มีสิทธิ์ที่จะผุเปื่อยตามอายุ แต่พี่ก็คิดว่าถ้าถึงเวลาค่อยเปลี่ยนใหม่ก็ได้ ตรงระเบียงกับพื้นในบ้านส่วนที่ทำใหม่ก็ใช้แผ่นซีเมนต์บอร์ดเหมือนกัน หนา 24 มิลลิเมตร ตอนแรกปูชั้นเดียว แต่พี่รู้สึกว่าเดินแล้วไม่แน่น เลยซ้อนพื้นอีกแผ่นเป็น 48 มิลลิเมตร แล้วใช้ปูนซีเมนต์ขาวฉาบทับอีกที ซึ่งจริงๆต้องมีเทคนิคที่ละเอียดมากกว่านี้ในการเก็บรอยต่อก่อนฉาบตกแต่ง แต่ช่างที่ทำบ้านเป็นช่างท้องถิ่นซึ่งไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อนก็จะไม่เข้าใจ ทำให้เห็นรอยต่อค่อนข้างเยอะ ต้องมาตามแก้กันทีหลัง ซึ่งเราก็ต้องทำใจ เพราะเราไม่มีแบบที่ละเอียดให้ช่าง ไม่มีคนคุมหน้างาน เป็นลักษณะสั่งงานและซื้อวัสดุมาให้ เขาก็ทำตามความเข้าใจของเขา”
พื้นที่ตรงกลางระหว่างบ้าน 2 หลังตั้งใจทำเป็นลีฟวิ่งแอเรีย มีที่นั่งยกพื้นขึ้นมาวางเบาะง่าย ๆแทนโซฟาอยู่ 2 ฝั่ง และบาร์ขนาดกว้างซึ่งซ่อนตู้เย็นและชั้นวางของไว้ด้านล่าง ตอนเช้ามุมนี้จะเป็นคอฟฟี่บาร์ พอตกเย็นก็จะกลายเป็นมุมเครื่องดื่มสบาย ๆ เคล้าเสียงเพลงเพราะๆ ภายในห้องนอนทั้ง 2 ห้องดีไซน์แบบเดียวกันโดยยกพื้นขึ้นมาเป็นตั่งประมาณ 30 เซนติเมตร วางฟูกที่นอน ให้บรรยากาศเหมือนมาพักในรีสอร์ต คุณกัญจน์และคุณแจนเล่าว่าใช้งบประมาณในการรีโนเวตไปประมาณ 1 ล้านบาท เป็นค่าแรงและค่าของ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม่ได้ซื้อใหม่ แต่เอาชิ้นที่ไม่ได้ใช้มาจากบ้านที่กรุงเทพฯ และทำบิลท์อินง่าย ๆ แทน
“แทนที่จะใช้โซฟาพี่ก็ให้ช่างทำแท่นแล้วเอาเบาะมาวาง ซื้อหมอนมา มันก็ง่าย ๆ ใช้นั่ง ๆนอน ๆ เอาเบาะมากอง ๆกับพื้นบ้าง มาบ้านหลังนี้เหมือนมาพักผ่อนจริง ๆ บางทีก็ชวนเพื่อนๆมาเที่ยวบ้าง ชัยนาทอาจจะเป็นเมืองรองที่คนส่วนใหญ่ใช้เป็นทางผ่าน แต่ขับรถไม่นาน รถไม่เยอะ แล้วถนนหนทางดี เดี๋ยวนี้เลยกลายเป็นบ้านหลังที่สองของเราไปแล้วอาทิตย์หนึ่งเราจะมาอยู่ 3-4 วัน”
บ้านทั้งสองหลังนี้นับเป็นไอเดียในการสร้างบ้านที่ใช้งบประมาณไม่มาก วัสดุที่ใช้สามารถหาซื้อได้ง่าย มีขายอยู่ทั่วไป แต่ได้กลิ่นอายบ้านในต่างประเทศที่ทั้งสวยและน่าอยู่ เป็นบ้านขนาดกะทัดรัดที่มีฟังก์ชันพอดีกับการอยู่อาศัย เหมาะสำหรับสร้างเป็นบ้านพักผ่อนในต่างจังหวัดหรือดัดแปลงเป็นบ้านอยู่อาศัยจริงจังก็ได้เช่นกัน
เจ้าของ-ออกแบบ : คุณกัญจน์ ยมะสมิต
เรื่อง : วรัปศร
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ