บ้านโมเดิร์นสีขาว สำหรับคน 3 ช่วงวัย มีทั้งการเชื่อมต่อในพื้นที่ส่วนรวมและแยกสู่พื้นที่ส่วนตัว ผนังด้านข้างเปิดออกเป็นแผ่นระนาบวางเหลื่อมซ้อนกันให้เกิดเป็นช่องว่างรับแสงและลม
Design Directory : สถาปนิก Black Pencils Studio
เป็นเรื่องยากจริง ๆ หากต้องตัดสินใจทุบบ้านหลังแรกที่คุณพ่อสร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเองและเป็นบ้านที่อยู่อาศัยร่วมกันมานานกว่า 30 ปี แต่ความเก่าที่ทรุดโทมจนยากจะซ่อมแซมของบ้าน ทำให้ คุณณัฐ-ณัฐกิจ มัตตะธีรสิทธิ์ ลูกชายคนเล็กของบ้าน ตัดสินใจจับเข่าพูดคุยกับคุณพ่อวัยเกษียณให้รื้อบ้านเดิมทิ้ง เพื่อสร้าง บ้านโมเดิร์นสีขาว หลังใหม่สำหรับครอบครัวที่เติบโต
บ้านหลังใหม่บนที่ผืนเดิม
ช่วง 2 ปีก่อนจะสร้างบ้านหลังใหม่นี้ คุณณัฐแต่งงานกับ คุณเบล-ปรียานุช ตั้งกุญแจทอง และย้ายออกไปใช้ชีวิตคู่ที่อาคารพาณิชย์ไม่ไกลจากบ้านมากนัก ส่วนพี่สาวอีกสองคนก็แยกย้ายไปอยู่คอนโด แต่เมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ ประกอบกับพื้นที่ใช้งานในบ้านหลังเดิมไม่สะดวกสบาย แม้จะผ่าน การต่อเติมมาแล้วหลายครั้ง ลำบากที่สุดก็เมื่อถนนหน้าบ้านถมสูงจนเกิดปัญหาน้ำท่วมเข้าบ้านอยู่บ่อยครั้ง ความรู้สึกที่อยากกลับมาอยู่ร่วมเพื่อดูแลซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้น
“ตอนนั้นพ่อต้องคอยวางเครื่องสูบน้ำออกนอกบ้านอยู่คนเดียว ผมเลยคิดว่าถึงเวลาต้องสร้าง บ้านใหม่จริงจังแล้ว พอได้คุยกับทุกคนก็มีความต้องการเดียวกัน คืออยากอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมมากกว่า ไปซื้อบ้านตามโครงการที่อื่น เพราะอุ่นใจเรื่องเพื่อนบ้าน ความปลอดภัย และผูกพันคุ้นชินกับบริบท แถวนี้ดีอยู่แล้ว เมื่อต้องสร้างบ้านใหม่ก็อยากได้พื้นที่ที่เพียงพอให้ทุกคนได้มาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง”
In-between House
การออกแบบบ้านสำหรับคน 3 ช่วงวัยกลายเป็นโจทย์แรกที่คุณณัฐบอกกับ คุณแพท-ชุติ ศรีสงวนวิลาส สถาปนิกจาก Black Pencils Studio พร้อมกับให้ผังตำแหน่งทิศทางของห้องต่างๆ ในบ้านจากการดูฮวงจุ้ยของชินแสที่คุณแม่เลือกสรรมาแล้วเพื่อความสบายใจ และคุณแพทก็สามารถ นำมาสานต่อได้อย่างดี
“ไดอะแกรมแรกของบ้านมาจากการดึงคนต่างวัยให้เข้าหากันก่อน แล้วก็คิดโซนนิ่งจากตรงนั้น เพราะแนวคิดหลักของบ้านต้องมีทั้งการเชื่อมต่อในพื้นที่ส่วนรวมและแยกสู่พื้นที่ส่วนตัว แปลนบ้านก็ล้อรับ มาจากผัง 9 กริดของชินแส แล้วแบ่งออกเป็น 3 เลเยอร์ คือ ชั้นนอก กลาง และใน นอกคือตั้งแต่ด้านหน้า มาถึงส่วนจอดรถ กลางเป็นโถงกลางบ้านที่ใช้งานและเชื่อมต่อกับทุกชั้นในบ้าน ส่วนในก็คือห้องนอนส่วนตัว ทั้งหมด ทีนี้นอกบ้านค่อนข้างติดกับถนนแล้วจะทำอย่างไรให้คนในบ้านรู้สึกเป็นส่วนตัวได้ ก็เลยต้องปิดผนัง ด้านหน้าไว้ โดยตัวผนังที่ปิดนี้หันไปทางทิศใต้ที่มีแดดพาดผ่านตลอดวัน เลยมองเห็นแสงและเงาที่หมุน เคลื่อนไหวไปบนผนังอาคารสีขาวได้อย่างมีมิติ ส่วนตรงกลางเราเปิดผนังด้านข้างออกเกือบหมด แล้วออกแบบแผ่นระนาบขึ้นมาโดยวางเหลื่อมเป็นชั้นๆ ให้เกิดเป็นช่องว่างระหว่างกัน สิ่งที่ตามมา คือลมหมุนเวียนดี ได้แสงธรรมชาติที่ไม่ต้องเปิดไฟในช่วงกลางวันเลย และรู้สึกปลอดภัยที่จะใช้งานในพื้นที่ เหล่านั้นโดยไม่สูญเสียความเป็นส่วนตัว เพราะเปิดมุมมองออกไปด้านข้างแทน”
นอกจากฟังก์ชันใช้งานร่วมกันแล้ว ยังออกแบบให้มีพื้นที่เฉพาะสำหรับวัยที่แตกต่างกันด้วย เช่น บ่อปลาพร้อมชานไม้นั่งเล่นกึ่งกลางแจ้ง ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวของคุณพ่อและคุณณัฐเอง โดยอยู่ใกล้กับห้องนอนคุณพ่อชั้นล่างเพื่อจะได้ไม่ต้องเดินขึ้นลงบันได หรือพื้นที่กิจกรรมสำหรับเด็กๆ ที่อยู่บริเวณชั้น 2 ซึ่งไม่ว่าแต่ละคนจะใช้พื้นที่แยกไปอยู่ตรงไหน สเปซที่โปร่งโล่งจะยังคงทำให้เสียง และความเคลื่อนไหวเชื่อมถึงกันได้ นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งของการเพิ่มช่องหน้าต่างพิเศษ ไว้ตรงโถง กลางบริเวณชั้น 2 และชั้น 3 เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เรียกหาลูกหลานชั้นบน หรือลูกหลานชั้นบน มองลงมาเห็นคุณพ่อคุณแม่ชั้นล่างได้เช่นกัน
ประติมากรรมจากบันได
เพราะความต้องการเชื่อมต่อสเปซใช้งานภายในบ้าน 3 ชั้น ซึ่งมีพื้นที่กว่า 500 ตารางเมตรไว้ด้วยกันยังทำให้เกิดบันไดหลักตรงกลางขึ้นมา โดยสถาปนิกเลือกใช้โครงสร้างเหล็กเพื่อให้ดูโปร่งเบาและไม่กีดขวางทางหมุนเวียนของลม อีกทั้งด้วยดีไซน์ที่สวยงามจึงดูเหมือนประติมากรรมสวยๆ ของบ้านไปในตัว
“ตัวโครงสร้างเหล็กที่ดูเหมือนลอยแบบเบาๆ นั้นต้องซ่อนตัวยึดโครงไว้ในผนังด้วยเพื่อความแข็งแรง ผสมกับขั้นบันไดที่ปูด้วยไม้สักตามความชอบของคุณพ่อคุณแม่ เป็นไม้สักหนา 8 นิ้วย้อมสีให้อ่อนสว่างเพื่อให้เข้ากับโทนสีรวมของบ้าน แต่ละขั้นบันไดยังเว้นช่องไม่ให้ดูตันทำให้ลมกับแสงผ่านได้ โดยวางตัวบันไดสลับฝั่งกันไปมาระหว่างชั้นเพื่อให้สเปซมีไดนามิกขึ้น และยังเห็นแสงที่เคลื่อนไหวจากตอนเช้าที่ส่องพาดเฉียงไปทางหนึ่ง แสงบ่ายก็เฉียงไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งรวมๆ แล้วทำให้ภายในบ้านดูสว่างตลอดวัน”
เติมความสุขลงในช่องว่าง
ในความเรียบง่าย โปร่งโล่ง และการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ไม่มากชิ้น คุณณัฐบอกว่าเพราะในบ้านมีคนอยู่ร่วมกันหลายคนและหลายวัย จึงอยากให้ทุกอย่างดูกลางๆ ทั้งโทนสีและสไตล์ เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้อย่างสบายใจและไม่อึดอัด
“ตอนบ้านเสร็จ พ่อผมก็เกษียณพอดี เลยได้อยู่บ้านเต็มที่ มีความสุขกับมุมบ่อปลาของเขาได้ทั้งวัน คุณแม่ชอบนั่งเล่นที่โซฟากลางบ้าน พี่สาวที่เคยแยกไปอยู่คอนโดก็กลับมาอยู่บ้านด้วยกันทั้งสองคน ส่วนผมกับภรรยาและลูกๆ บางทีเราก็ชอบนั่งเล่นกันที่ลานไม้ใต้บันได มันให้ความรู้สึกเหมือนใต้ถุนบ้านดี บางทีปล่อยลูกเล่นตรงชั้น 2 แล้วเราคอยฟังเสียงจากโต๊ะกินข้าวได้ว่าเล่นกันปกติดีไหม ผมคิดว่าบ้านไม่ต้องดูเฟอร์เฟ็กต์ก็ได้ แต่เราทุกคนในบ้านจะค่อยๆ เติมตัวตนของเราเข้าไปให้เป็นบ้านในแบบของเราเอง”
เจ้าของ : คุณณัฐกิจ มัตตะธีรสิทธิ์ และคุณปรียานุช ตั้งกุญแจทอง
สถาปนิก : Black Pencils Studio โดยคุณชุติ ศรีสงวนวิลาส
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส,ธนายุต วิลาทัน
ผู้ช่วยช่างภาพ : วีรวัฒน์ สอนเรียง
สไตล์ : Suntreeya