ลงทุนบ้านเก่า ให้ทำเงินในแบบที่เป็นตัวเองแม้ไม่มีประสบการณ์ด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ กับ Business Talk by Spotlight ว่าด้วยเรื่อง “วิกฤติ หรือ โอกาส ลงทุนอสังหาฯ ยุคนี้ ให้มีกำไร” ซึ่งได้จัดไปเมื่อวันวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุม MR214 – 216 ชั้น 2 ไบเทค บางนา
ลงทุนบ้านเก่า เป็นหนึ่งหัวข้อที่หลายคนให้ความสนใจ ซึ่งทาง Amarin Academy ภายใต้ Amarin Media and Event ร่วมกับ Business Talk by Spotlight โดย บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยในเมืองมายาวนานกว่า 30 ปี เป็นผู้สนับสนุนหลักในงานนี้ กับหัวข้อ กลยุทธ์รวยด้วยอสังหาฯ Session 2 : สำเร็จ เสร็จ รวย ตัวช่วยลงทุนบ้านเก่า
ผู้ร่วมเสวนา
คุณกวาง – กชมล ทวิภาคธีรโชติ เจ้าของ Tavihome Studio รีโนเวทบ้านมือสองเป็นสตูดิโอให้เช่า
คุณลุงเหมียว – จรัส ภาคอัด เจ้าของร้านอาหาร เรือนจรุง Ayutthaya real chillin house
โดย คุณอิก – บรรพต ธนาเพิ่มสุข ที่ปรึกษาการเงิน และผู้ร่วมก่อตั้งเพจ ถามอีก กับอิก (Tam-Eig) เป็นผู้ดำเนินรายการ
คุณกวาง – กชมล ทวิภาคธีรโชติ
เจ้าของ Tavihome Studio รีโนเวทบ้านมือสองเป็นสตูดิโอให้เช่า
จุดเริ่มต้นของการทำสตูดิโอมาจากการทำงานถ่ายแบบนอกบ้านตามคาเฟ่ในช่วงโควิด ความไม่สะดวกในการทำงานทำให้เกิดไอเดียแปลงบ้านให้เป็นสตูดิโอถ่ายภาพเพื่อหารายได้เสริม โดยเริ่มจากการหาบ้านมือสองและมาปรับใหม่โดยอิงจากการใช้งานของตัวเอง
คุณกวางเล่าที่มาของบ้านซึ่งไม่ได้ศึกษาเรื่องกับทำเลหรือการเดินทางใดๆ มีเพียงตำแหน่งบ้านที่อยู่ใกล้บ้านเดิม และความสวยถูกใจที่เกิดจากเซ้นส์ด้านความงามของครีเอทีฟดีไซเนอร์ซึ่งเป็นอาชีพเดิม ทำให้ตัดสินใจซื้อบ้านเก่าหลังนี้ด้วยความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากคุณพ่อ ส่วนค่าตกแต่งคุณกวางเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ด้วยงบประมาณที่จำกัดแต่ต้องการให้บ้านสวยงามอย่างที่ใจคิด คุณกวางจึงลาออกจากงานเก่าเพื่อมาคุมงาน รวมไปถึงทำงานช่างบางอย่างด้วยตัวเองเพื่อให้งานถูกต้องตามต้องการ
การตลาดออนไลน์เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณกวางให้ความสำคัญและอัปเดตอย่างสม่ำเสมอ ทั้งแพลตฟอร์ม Tiktok, Facebook และ Instagram รวมถึงเปลี่ยนมุมถ่ายรูปบ่อยครั้งพร้อมอัปเดตผ่านช่องทางออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถรองรับได้ทั้งกลุ่มลูกค้าที่มาถ่ายแบบ ถ่ายมิวสิควิดีโอ ถ่ายภาพยนตร์ และในปัจจุบันช่องทางออนไลน์ก็ต่อยอดอีกหลายงานให้กับคุณกวาง ไม่ว่าจะเป็นงานตกแต่งคาเฟ่ งานรีวิวสินค้าแต่งบ้าน รวมถึงสปอนเซอร์จากสินค้าแบรนด์อื่นๆ ด้วย
จุดคุ้มทุนอาจตอบเป็นเชิงตัวเลขได้ไม่ชัดเจนนักสำหรับนักสำหรับธุรกิจแบบ DIY เพราะมีการปรับเปลี่ยน เติมแต่งอยู่เรื่อยๆ ตลอด แต่เมื่อบวกเข้าไปกับคุณภาพชีวีตในบ้าน รายได้ที่สามารถสร้างขึ้นได้มในบ้าน รวมถึงความอิ่มใจและความสุขในบ้านที่ตัวเองรังสรรค์มากับมือ เจ้าของบ้านก็ให้คำตอบอย่างมั่นใจว่า คุ้มค่ามากๆ
คุณลุงเหมียว – จรัส ภาคอัด
เจ้าของร้านอาหาร เรือนจรุง Ayutthaya real chillin house
เมื่องานสาย Creative Production ในยุคคุณลุงลดน้อยลงและแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จึงเริ่มต้นทำบ้านจากคำชวนของคุณพ่อที่ให้นำบ้านไม้หลังเก่าของที่บ้านมาปลูกบนที่ดินผืนใหม่ โดยมีจุดประสงค์ง่ายๆ เพื่อเป็นที่นอนหลับในวันที่ดื่มเหล้าจนดึก คุณลุงลงมือปลูกบ้านกับคนงานเพียงไม่กี่คนในช่วงว่างระหว่างรอโอกาสงานครีเอทีฟที่จะเข้ามา จนเงินทุนทำบ้านเริ่มเหลือน้อย จึงเริ่มมองหาลู่ทางการสร้างรายได้ คุณลุงชวนคุณแม่ซึ่งมีฝีมือในการทำอาหารมาเปิดร้าน โดยปรับวิธีการสั่งอาหาร การคัดเมนูให้เป็นแบบที่คุณลุงและคุณแม่สะดวก บวกกับการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาและจริงใจ จึงเกิดเป็นร้านอาหารที่ใหประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งดำเนินการมาได้กว่าเจ็ดปีแล้ว
ที่มาของระบบการจองด้วยจดหมายที่หลายคนพูดถึง คุณลุงเล่าว่าเกิดจากการแก้ปัญหาคิวงานที่ล้นมากเกินกว่าจะจัดการไหว จึงหาวิธีลดปริมาณคนด้วยการให้เขียนจดหมายจองคิวซึ่งลดจำนวนไปได้มากหลายเท่า และเป็นต้นเหตุของกิมมิคการตอบจดหมายซึ่งกลายเป็นไวรัล และให้ผลพลอยได้ทางการตลาดไปโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีกลยุทธทางการตลาดอื่นๆ ที่ทำให้ธุรกิจมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยมีพื้นฐานเพื่อให้การมารับประทานอาหารที่ร้านในครั้งหนึ่งๆ ทุกคนได้รับประสบการณ์ที่คุณลุงตั้งใจมอบที่สุด
จากพื้นฐานที่ไม่ได้เป็นนักลงทุน การเกิดขึ้นของธุรกิจจึงเป็นการมาดูรอบตัวว่ามีอะไรเป็นต้นทุนที่ไม่เหมือนใคร คุณลุงแนะนำว่า ให้คิด แล้วลงมือทำเลย ไม่จำเป็นต้องคิดให้เสร็จทั้งหมด เพราะอย่างไรแล้ว ก็จะต้องเจอปัญหาที่คิดไม่ถึงอยู่ดี เมื่อเจอปัญหา ก็แก้ไขและเรียนรู้ระหว่างทางไป เพราะสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเป็นรูปเป็นร่างได้ คือการลงมือทำ
เรื่อง : ณัฐวรา ธวบุรี
ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง
เพิ่มมูลค่าบ้านไม้เก่าเกือบร้อยปี ให้กลับมาสวย สร้างรายได้
รีโนเวตตึกแถวครึ่งศตวรรษให้กลับมา “Work” อีกครั้ง
ขมิ้น ร้านอาหารใต้รสมือแม่ในบ้านรีโนเวตจากยุค MID-CENTURY MODERN