ออกแบบครัวไทย รับบทหนักแค่ไหนก็ใช้งานได้สะดวก
ครัวไทย ที่หลายคนเรียกว่า ครัวหนัก เพราะตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบที่หนักหน่วงของอาหารไทย ไปถึงวิธีการปรุงอาหารซึ่งมีทั้งความร้อน กลิ่น และควัน ซึ่งแต่ละเมนูต่างก็ทำให้มีกลิ่นอาหารหอมฟุ้ง ชวนให้อยากอาหาร
แต่เราคงไม่อยากได้กลิ่นของปลาทอดเมื่อคืน ที่ยังคงอบอวลอยู่ในบ้านไม่จางหาย การออกแบบ ครัวไทย ให้ถ่ายเทอากาศได้ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ และยังมีรายละเอียดต่างๆที่น่าสนใจ เพื่อให้ครัวไทยใช้งานได้สะดวก พร้อมเข้าครัวปรุงอาหารสูตรเด็ดได้อย่างสบายใจ
ครัวไทย
เหมาะสำหรับการทำอาหารทุกประเภท โดยเฉพาะอาหารไทย ที่มีวิธีการทำหลากหลาย ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบที่หนักหน่วง ทั้งการ หั่น สับ ทุบ โขลก ตำ ซึ่งไม่แพ้ขั้นตอนการปรุงอาหาร ที่มีทั้งการ ทอด ผัด ต้ม แกง ปิ้ง ย่าง และอีกมากมาย ซึ่งก่อให้เกิดทั้ง กลิ่น ควัน และละอองน้ำมันที่ลอยคลุ้ง ครัวไทยจึงต้องเป็นครัวที่แข็งแรง มีพื้นที่มากเพียงพอ ในการเก็บอุปกรณ์ทำครัวต่างๆ และอากาศถ่ายเทได้สะดวก
ตำแหน่งห้องครัว
การวางตำแหน่งให้ห้องครัว อยู่ในทิศที่ต่างกันส่งผลต่อแสงแดด และการถ่ายเทอากาศ ในแต่ละช่วงเวลา ถ้าวางห้องครัวไว้ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ของบ้าน ห้องครัวจะได้รับแสงแดดตั้งแต่บ่ายจนถึงเย็น ช่วยทำให้ครัวไม่อับชื้นและลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ ถ้าวางห้องครัวไว้ทางทิศเหนือของบ้าน ถึงจะเย็นกว่าเพราะไม่โดนแดดโดยตรง แต่ก็อาจทำให้ห้องครัวอับชื้น เพราะช่วงเวลาที่ได้รับแสงแดดสั้นมาก จนถึงไม่โดนแดดเลย
อากาศถ่ายเทสะดวก
การปรุงอาหารไทยที่มีทั้งความร้อน กลิ่น ควัน รวมไปถึงเรื่องของความชื้น การระบายอากาศจึงเป็นเรื่องสำคัญ ออกแบบให้มีช่องเปิด หรือหน้าต่างบานใหญ่เหนืออ่างล้างจาน จะช่วยระบายความชื้นได้ดี และ ทำให้อากาศไหลเวียนได้สะดวก หรือติดตั้งเครื่องดูดควัน เหนือเตาปรุงอาหาร ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความรุนแรงของกลิ่น และ ควันได้เป็นอย่างดี
ทำเคาน์เตอร์ครัวแบบไหนให้พอดีกับพื้นที่
เคาน์เตอร์รูปตัว I เหมาะสำหรับครัวที่มีพื้นที่ขนาดเล็กประมาณ 3-5 ตร.ม. ทรงแคบยาว โดยทำเคาน์เตอร์ชิดผนังฝั่งเดียวและวางตู้เย็น อ่างล้างจาน และเตาไฟ เรียงตัวในแนวเดียวกัน
เคาน์เตอร์รูปตัว L เหมาะสำหรับครัวที่มีพื้นที่ขนาดกลาง ตั้งแต่ 6 ตร.ม. ขึ้นไป โดยวางเคาน์เตอร์เข้ามุมชิดผนัง ช่วยเพิ่มพื้นที่ทำครัวได้สะดวกยิ่งขึ้น
เคาน์เตอร์รูปตัว U เหมาะสำหรับครัวที่มีพื้นที่ขนาดกลางถึงใหญ่ ตั้งแต่ 9 ตร.ม. ขึ้นไป เคาน์เตอร์แบบนี้ทำให้มีพื้นที่ใช้งานอาหารบนเคาน์เตอร์ได้มากยิ่งขึ้น และได้พื้นที่จัดเก็บมากขึ้นอีกด้วย
เคาน์เตอร์แบบ Island เหมาะสำหรับครัวที่มีพื้นที่ใหญ่ ตั้งแต่ 12 ตร.ม. ขึ้นไป โดยเคาน์เตอร์วางแยกออกมาเหมือนเกาะ สามารถใช้คู่กับเคาน์เตอร์ได้ทุกรูปแบบ เป็นได้ทั้งพื้นที่เตรียมอาหาร ปรุงอาหาร และ ใช้เป็นเคาน์เตอร์บาร์ได้เช่นกัน
วัสดุท็อปเคาน์เตอร์ครัวยอดฮิต
- หินแกรนิต มีความแข็งแรงทนทาน มีลวดลายสวยงามตามธรรมชาติ ผิวเรียบลื่นเป็นมัน เช็ดทำความสะอาดง่าย มีหลายสีให้เลือก ราคาไม่สูงมาก
หินเทียม / หินสังเคราะห์ มีส่วนผสมของเรซิน และอะคริลิก สามารถผลิตตามขนาดและรูปแบบที่ต้องการได้ ทำให้ไร้รอยต่อ ได้สีเรียบเสมอกันทั้งแผ่น ไม่มีรูพรุน ไม่ซึมน้ำ มีความแข็งแรงทนทาน ดูแลรักษาทำความสะอาดได้ง่าย
สเตนเลส เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทาน เหมาะกับครัวที่ใช้งานหนัก แผ่นใหญ่ไร้รอยต่อ ดูแลรักษาง่าย ทนต่อกรดด่าง แต่อาจมีรอยบุบ หรือรอยขีดข่วนได้ เมื่อถูกกระแทก ราคาสูง
ไม้ สีสวยงามตามธรรมชาติ ทำความสะอาดง่าย ต้องระวังรอยขีดข่วน รอยด่างจากน้ำและอาหาร หรือถ้าโดนน้ำหรือมีความชื้นมากอาจเกิดเชื้อราได้ รวมไปถึงอาจเกิดรอยไหม้จากความร้อนได้
กระเบื้องเซรามิก พื้นผิวแข็งแรง ดูแลรักษาง่าย ทนความร้อนได้ดี แต่ต้องหมั่นดูแลร่องยาแนว ไม่ให้สะสมสิ่งสกปรก และความชื้นจนก่อให้เกิดเชื้อราได้
คอนกรีต สามารถก่อขึ้นรูปได้ตามต้องการ มีความแข็งแรงทนทาน เหมาะสำหรับครัวงานหนัก เมื่อเคลือบพื้นผิว จะช่วยป้องกันน้ำ และ ความชื้นได้ดี ถ้าถูกกระแทกหรือแตกร้าวก็จะทำให้น้ำซึมได้
ลามิเนต มีลวดลายและสีสันให้เลือกมากมาย ดูแลรักษาง่าย ไม่เหมาะกับครัวที่ใช้งานหนัก เพราะเกิดรอยขีดข่วนได้ง่าย ถ้าเจอความชื้น เป็นประจำอาจทำให้เกิดเชื้อรา จนถึงหลุดล่อนได้
เรื่อง : jOhe
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน และ my home