กลิ่นอายบ้านไทยในโครงสร้างเหล็กสมัยใหม่

บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก ในกลิ่นอายแบบไทยๆ ผสมวัสดุสมัยใหม่แข็งแรง ทนทาน และดูแลรักษาง่าย ผสมด้วยไม้จากบ้านเดิมมาเป็นส่วนของพื้นและผนังตัวบ้าน โดยวางตัวเป็นแนวยาวเพื่อขวางรับทางลมและไล่เรียงฟังก์ชันไปตามพื้นที่แบบง่ายๆ

Design Directory : สถาปนิก Ilikedesignstudio

บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
ที่จอดรถ
บริเวณหน้าบ้านยังมีโรงจอดรถพร้อมกับห้องเก็บของเล็กๆ ซึ่งช่วยพรางทางเดินเข้าบ้านที่อยู่ด้านหลังไว้ ทำให้บ้านดูมีความเป็นส่วนตัว

ตั้งแต่เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ จนจบและได้ทำงานต่อเนื่องยาวกระทั่งแต่งงานกับ คุณโบ้-ชนะชัย กิ่งเงินเป็นช่วงที่ คุณเล็ก-ธารนคร ศิริเขตรกรณ์ ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านในเมืองมาโดยตลอด แต่ก็พกพาความฝันในใจไว้เสมอว่าอยากจะกลับมาสร้างบ้านอยู่กับครอบครัวในจังหวัดอุทัยธานี ดินแดนซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอเอง และเฝ้ารอจนเมื่อทุกอย่างพร้อม ทั้งคู่จึงเริ่มสานฝันให้เป็นจริงบนที่ดินไร่กว่าๆ ของตัวเอง เพื่อสร้าง บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก หลังนี้

“ที่ดินตรงนี้เป็นของปู่ของย่า เดิมทีเป็นทุ่งนาทั้งหมดเพราะบ้านเราทำนากันมานานแล้ว ตอนนี้พ่อก็ยังเก็บนาบางส่วนไว้ทำเองและบางส่วนก็ปล่อยให้เช่า ตอนไปอยู่กรุงเทพฯ มักจะคิดถึงบ้านตรงนี้ อยากกลับมาอยู่กับธรรมชาติและครอบครัว แต่บ้านหลังเดิมเป็นเรือนไทยเก่าใต้ถุนสูงอายุร้อยกว่าปีแล้ว ทรุดโทรมมากจนไม่เหมาะที่จะอยู่อาศัย เลยตั้งใจว่าจะสร้างบ้านหลังนี้ให้ทุกคนในครอบครัวได้มาอยู่ร่วมพร้อมหน้ากันอีกครั้ง เพราะชอบและคิดถึงบรรยากาศอบอุ่นแบบนั้น”

บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
ทางเดินเล็กๆ ระหว่างตัวบ้านและโรงจอดรถนำไปสู่ทางเข้าส่วนพักผ่อนภายในบ้าน
บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
จากทางเดินเล็กๆ ข้างบ้านนำไปสู่ส่วนนั่งเล่นด้านในซึ่งเป็นมุมโปร่งที่รับลมสบายได้ตลอดวันเพราะผนังที่มีช่องเปิดรอบตัว
บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
ด้วยการเปิดผนังรอบด้านให้โปร่งโล่งแบบพื้นที่ใต้ถุนบ้านไทย ทำให้มุมนั่งเล่นหลักของบ้านรับลมสบาย รวมถึงเชื่อมต่อออกไปสู่พื้นที่สีเขียวได้ง่าย ส่วนฝ้าเพดานโชว์โครงสร้างเหล็กอย่างชัดเจน เว้นแค่เสาตรงกลางที่หุ้มด้วยไม้ให้ดูอบอุ่นตา
บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
ด้วยวิวธรรมชาติหลังบ้านที่สวย มีพื้นที่สีเขียวสบายตา และเป็นส่วนตัว จึงเหมาะที่จะเปิดผนังส่วนนั่งเล่นนี้ให้กว้างเพื่อรับลมเย็นโดยไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ และเป็นพื้นที่ที่ทุกคนในครอบครัวมาใช้งานร่วมกัน พร้อมกับมีทางเดินไม้ทอดยาวที่สามารถออกมานั่งเล่นได้ด้วย

บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก ใช้ไม้เก่าในโครงเหล็กสมัยใหม่

จากชีวิตช่วงหนึ่งของคุณเล็กที่ผูกพันและมีความสุขอยู่ในบ้านไม้ โดยที่คุณพ่อเองก็ยังคุ้นชินกับการอยู่บ้านไม้ยกใต้ถุนรับลมธรรมชาติ และไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ ขณะเดียวกันในอีกช่วงวัยของคุณเล็กนั้นก็ใช้ชีวิตอยู่กับความทันสมัยแบบคนเมือง จึงเป็นที่มาให้ คุณเบนซ์-ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ สถาปนิกคู่ใจที่มาช่วยออกแบบหลังนี้โดยคำนึงถึงการผสานข้อดีของชีวิตสองช่วงวัยนี้เข้าด้วยกันและถ่ายทอดลงไปในองค์ประกอบต่างๆ ของบ้าน

“ตอนแรกคิดถึงการทำบ้านโครงสร้างไม้อยู่เหมือนกัน แต่ในระยะยาวก็จะเป็นภาระในการดูแลรักษาไม้เหมือนกับเรือนไทยเก่าที่มีอยู่ เลยเปลี่ยนมาใช้โครงสร้างเหล็กสมัยใหม่แทนแล้วค่อยใช้ไม้จากบ้านเดิมมาเป็นส่วนของพื้นและผนังบ้าน ซึ่งเป็นไม้เก่าที่มีหน้ากว้างสวย ทั้งไม้สักและไม้ประดู่ โดยนำมาขัดผิวหน้าและย้อมสีใหม่ให้ใกล้เคียงกัน ผสมด้วยคาแรกเตอร์แบบบ้านไทยเล็กๆ น้อยๆ อย่างการโชว์จันทัน ใช้บานเฟี้ยมเก่า บานเกล็ดไม้ เปิดใต้ถุนโล่ง หรือนำรูปแบบการตอกและใส่กลอนไม้มาใช้แต่เปลี่ยนมาเป็นเหล็กแทน ระแนงไม้ก็ยึดด้วยโครงเหล็กที่ทาสีให้กลมกลืนไปกับไม้เลย ผมพยายามดึงอารมณ์บ้านเดิมมาเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับคุณพ่อรู้สึกว่าอยู่สบายและไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตเดิมๆ อะไรมาก ขณะที่คุณเล็กและคุณโบ้ก็ได้ฟังก์ชันที่ทันสมัยสะดวกสบายของบ้านสมัยใหม่ด้วย”

บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
ผนังบล็อกช่องลมช่วยพรางสายตาจากพื้นที่ภายนอก แต่ยังเปิดให้แสงและลมหมุนเวียนเข้าถึงส่วนนั่งเล่นในบ้านได้
พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างส่วนนั่งเล่น ห้องครัว (ขวามือ)
และห้องทำงาน ตกแต่งด้วยผนังปูนทาสีออกเทาสว่าง เพื่อไม่ให้พื้นที่แบบใต้ถุนบ้านนี้ดูมืดทึบเกินไป
กั้นห้องทำงานให้เป็นสัดส่วนด้วยประตูบานเฟี้ยมไม้แบบที่มีช่องรับแสงธรรมชาติและยังสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวภายนอกได้ด้วย
ห้องครัว
ห้องครัวเป็นอีกมุมที่ทุกคนในบ้านใช้งานร่วมกันเป็นประจำตามวิถีชีวิตของครอบครัวต่างจังหวัดซึ่งทำอาหารรับประทานกันเองทุกมื้อ ชุดครัวจึงออกแบบให้สามารถรองรับการใช้งานแบบครัวไทยได้เต็มที่ในมุมที่สามารถเปิดระบายลมและกลิ่นได้ดี
ด้านหลังครัวมีกระถางปลูกต้นกะเพราเป็นแนวยาวที่คุณเล็กมักจะออกมาตัดใบกะเพราะเข้าไปปรุงอาหารในครัวอยู่เสมอๆ

ถอดแบบใต้ถุนโล่งเพื่อรับลมชมธรรมชาติ

ด้วยรูปแบบบ้านในชนบทมักจะเปิดโล่ง ไม่มีการกั้นรั้วรอบอย่างจริงจัง ยิ่งโดยเฉพาะถ้าแวดล้อมด้วยบ้านของเหล่าบรรดาญาติๆ ด้วยแล้วยิ่งมักจะเข้าถึงกันได้ง่าย สถาปนิกจึงออกแบบผนังบ้านที่อยู่ใกล้กับถนนใหญ่ให้เป็นส่วนที่ปิดทึบ มองเห็นตัวบ้านแต่ไม่มีทางเข้าถึงโดยตรง จนเมื่อจอดรถแล้วจึงมีทางเดินยาวๆ ด้านข้างนำมาสู่ส่วนนั่งเล่นภายในที่เปิดโล่งให้มองเห็นทุ่งนาและแนวต้นยูคาลิปตัสสวยๆ สร้างความรู้สึกผ่อนคลายและเป็นส่วนตัว

“เราออกแบบวางบ้านให้ขวางลมก็จะได้ลมดีอยู่แล้ว โดยมีรูปทรงบ้านเป็นแนวยาวไล่เรียงฟังก์ชันไปตามพื้นที่แบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เน้นใต้ถุนโล่งรับลมมีฟังก์ชันเป็นส่วนนั่งเล่นหลักประจำบ้านที่คุณเล็กและทุกคนสามารถมาใช้งานได้ตลอดวัน เชื่อมต่อกับมุมดูทีวีและห้องครัวไทยที่ออกแบบให้ใช้งานหนักจริงจังตำน้ำพริกได้เลย การวางตำแหน่งมุมครัว สามารถเข้าได้จากที่จอดรถหน้าบ้านเลย วางของก็สะดวก และยังช่วยกั้นพื้นที่พักผ่อนส่วนตัวด้านในไว้ด้วย นอกจากนี้ข้างล่างยังมีห้องนอนที่ตั้งใจออกแบบให้คุณพ่อโดยทำผนังบล็อกช่องลมปิดไว้เพื่อความปลอดภัยและเป็นส่วนตัว แต่ยังเปิดโปร่งให้ลมผ่านได้เพราะคุณพ่อชอบอยู่กับลมธรรมชาติมากกว่าในห้องแอร์ แต่ปัจจุบันนี้คุณพ่อเลือกที่จะขึ้นไปอยู่ห้องนอนชั้นบนมากกว่าตามความเชื่อของผู้ใหญ่ว่าไม่ควรนอนต่ำกว่าลูกหลาน ก็เลยย้ายจากข้างล่างขึ้นไปนอนข้างบนแทนซึ่งมีระเบียงไม้กว้างๆ ให้เดินได้รอบบ้าน เป็นมุมมองที่เห็นธรรมชาติเขียวๆ รอบตัวแบบสุดลูกหูลูกตาอย่างที่หาจากกรุงเทพฯ ไม่ได้เลย”

บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
ตลอดแนวผนังชั้นล่างฝั่งด้านหลังเป็นช่องว่างเล็กๆ สำหรับวางคอมเพรสเซอร์และทางหมุนเวียนของลมที่ปิดด้วยประตูไม้โปร่งเพื่อระบายความร้อนได้ โดยยังคงดูอบอุ่นสบายตาเชื่อมต่อกับผนังไม้ชั้นบนได้อย่างกลมกลืน
เพราะผนังจริงในบ้านนั้นเป็นปูนและมีช่องทางเดินด้านข้างสำหรับวางคอมเพรสเซอร์ จึงมีการออกแบบปิดด้วยประตูระแนงไม้อีกชั้นเพื่อทำให้สัมผัสของบ้านดูอบอุ่นนุ่มนวลกลมกลืนไปกับผนังไม้ชั้นบน โดยตัวระแนงยังช่วยระบายความร้อนและเปิดได้จากด้านในเท่านั้นเพื่อรักษาเรื่องความปลอดภัยของบ้านไว้
บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
ผนังบ้านเป็นบล็อกช่องลมในส่วนที่ต้องการปิดเพื่อความปลอดภัยและพรางสายตาจากภายนอก โดยยังคงให้ลมหมุนเวียนเป็นการระบายอากาศผ่านอาคาร (Cross Ventilation)ที่ดี
บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
บันไดขึ้นบ้านอยู่ทางทิศตะวันตกเป็นตัวช่วยกั้นไม่ให้ความร้อนปะทะกับห้องนอนโดยตรง ผนังรอบบันไดปิดด้วยระแนงไม้เพื่อความความปลอดภัยแต่ยังคงรับแสงและให้ลมหมุนเวียนระบายอากาศได้
ส่วนของผนังระแนงไม้บริเวณบันไดที่เปิดรับแสงและลมธรรมชาตินี้ยึดด้วยโครงเหล็กเส้นบางๆ ที่ทาสีน้ำตาลเพื่อความแข็งแรงและยังดูกลมกลืนไปกับไม้ได้ดี
บันไดโครงเหล็ก
ราวกันตกบริเวณบันไดและตลอดแนวระเบียงชั้นบนเป็นงานเหล็กที่ต่อเนื่องไปกับโครงสร้างหลัก แต่ออกแบบให้มีความบางเบาและโปร่งตา ทั้งเพื่อให้แสงผ่านและไม่บดบังวิว

เฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นในสเปซโล่งๆ

รูปทรงของบ้านที่ทอดยาวแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าจึงมาจากแนวคิดการแผ่สเปซออกให้ทุกห้องมีมุมมองออกสู่ธรรมชาติพร้อมกับระเบียงส่วนตัวของตัวเอง เมื่อมองจากภายนอกแล้วดูเป็นบ้านหลังใหญ่ ภายในพื้นที่ใช้สอย 660 ตารางเมตรที่ไม่มีฟังก์ชันและเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งอะไรมากเกินจำเป็น

คุณเล็กบอกไว้ว่า “จริงๆ เราไม่ได้อยากสร้างบ้านใหญ่นะ เมื่อก่อนเรานอนรวมกันในห้องโล่งๆ แต่ตอนนี้ต้องทำห้องนอนไว้หลายห้องให้พี่ให้น้องมาอยู่ด้วยกันแบบมีความเป็นส่วนตัว ข้างล่างมีเพิ่มแค่ห้องทำงานของคุณโบ้ เพราะยุคนี้เราทำงานที่บ้านก็ได้เผื่อวันไหนไม่ต้องเข้าไปกรุงเทพฯ ส่วนเฟอร์นิเจอร์เป็นงานไม้ของเก่าจากบ้านเดิมที่เอาไปทำสีใหม่ อย่างชุดโต๊ะนั่งเล่นเป็นของก๋งของคุณโบ้เอามาทำเบาะใส่เข้าไปใหม่ หัวเตียงนอนก็มาจากเตียงเก่าที่แยกชิ้นมาทำหัวเตียงใหม่ได้สองหลัง หรือโต๊ะไม้ที่ใช้งานประจำมาจากแผ่นไม้มะค่าที่ซื้อเก็บไว้นานแล้วมาเปลี่ยนขาใหม่ให้ดูโปร่งตาขึ้น ต้องขอบคุณพ่อที่เก็บไม้ไว้เยอะ เป็นไม้ที่ตัดมาจากทุ่งนาเราเอง เวลาพ่อตัดก็จะปลูกใหม่ตลอด เราไม่ได้เป็นคนเก็บของจุกจิกเยอะด้วย บ้านก็เลยโล่งๆ ช่วยให้ดูแลทำความสะอาดเองได้ง่าย”

บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
ระเบียงไม้ชั้นบนเป็นทางเดินยาวได้รอบตัวบ้านพร้อมกับชายคายื่นยาวช่วยบังแดด
บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก

อยู่สบายกับชีวิตหลังเกษียณ

ตั้งแต่เช้าจรดเย็น มีลมเย็นหมุนเวียนอยู่รอบบ้าน และโดยเฉพาะตรงมุมนั่งเล่นที่เปิดโล่ง ซึ่งเป็นมุมที่ทุกคนในครอบครัวใช้งานเป็นประจำ ทั้งนั่งดูทีวี มองธรรมชาติ หรือแม้แต่ทำงานเล็กๆ น้อยๆ โดยคุณเล็กวางแผนไว้ว่าจะทำแปลงผักสวนครัวเพิ่มเติมจากที่ปลูกต้นกะเพราลงกระถางไว้แล้วข้างห้องครัว พร้อมกับขุดบ่อเลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่ไข่ไว้เป็นแหล่งอาหารที่พึ่งพาได้ในครัวเรือนของตัวเอง เพื่อรองรับการมาใช้ชีวิตหลังเกษียณในอนาคตด้วย

“พ่อเป็นคนปลูกผักเก่งอยู่แล้ว ส่วนน้องชายก็จะช่วยดูแลไก่ไข่ สมัยก่อนพ่อปลูกพริกกระเทียมเอง ทำนาปลูกข้าวกินเองด้วย ก็เลยอยากจะคงวิถีชีวิตแนวเกษตรแบบนี้ไว้ และเราก็ยังมีภาพความจำดีๆ จากชีวิตชนบทหลายอย่างที่อยากทำให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง แม้แต่ต้นหมากเม่าหน้าบ้านที่ซื้อมาปลูกก็เพราะเราอยากเก็บลูกมันกินเหมือนตอนเด็กๆ จากที่ได้มาอยู่บ้านหลังนี้ราว 8-9 เดือนแล้วก็รู้สึกสดชื่นสบายใจ สมองปลอดโปร่ง มันดีเกินกว่าที่คาดไว้มากเลย”

บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก ห้องนอน
ห้องนอนหลักอบอุ่นไปด้วยพื้นและผนังหัวเตียงที่กรุงานไม้เก่า โดยที่ผนังด้านข้างเป็นกระจกเปิดรับวิวธรรมชาติได้จากทั้งสองฝั่ง
ผนังเล็กๆ ปลายเตียงใช้เป็นที่กั้นขอบเขตระหว่างห้องนอนกับห้องน้ำ
บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
ระเบียงไม้ข้างห้องนอนภายใต้ชายคาที่กดต่ำลงเพื่อลดความจ้าของแสงที่จะเข้ามา เพิ่มความรู้สึกผ่อนคลาย โดยมีต้นมะขาวเก่าแก่เป็นฉากธรรมชาติที่สวยงาม
เพราะปรับเปลี่ยนรูปแบบของเตียงให้ดูสมัยใหม่และลดทอนส่วนที่ไม่จำเป็นลง เจ้าของบ้านจึงแยกชิ้นส่วนแผ่นไม้หัวเตียงและปลายเตียงเก่าออกและนำกลับมาประกอบใช้เป็นหัวเตียงใหม่ได้อีก 2 หลัง
บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
ยามเย็นเมื่อแสงไฟในบ้านช่วยเพิ่มความสว่างของแต่ละมุมห้องได้อย่างมีมิติ
คุณณฤชา คูวัฒนาภาศิริ สถาปนิกจาก Ilikedesignstudio

Designer’s Tips

เรื่องสำคัญสำหรับบ้านไม้หรือบ้านที่ใช้วัสดุไม้ค่อนข้างมากคือระบบปลวกที่ควรจะจัดและใส่ให้เต็มที่ ยิ่งบ้านต่างจังหวัดที่เปิดโล่งก็จะมีสรรพสัตว์ค่อนข้างเยอะ แต่ข้อดีของบ้านนี้คือใช้ไม้เก่าเกือบทั้งหมด เพราะไม้เก่ามีความแกร่งมาก ไม่ค่อยยืดหดตัวแล้ว ส่วนไม้ใหม่ที่ซื้อมาก็ตากแดดให้แห้งเป็นปีกว่าจะนำมาใช้ และควรทาสีเคลือบถนอมผิวทุกๆ 2-3 ปีเพื่อรักษาเนื้อไม้ ประกอบกับการออกแบบก็ไม่ควรใช้ไม้ในตำแหน่งที่ต้องแช่น้ำนานๆ อย่างบ้านนี้เป็นโครงสร้างเหล็กที่เน้นใช้ไม้ในส่วนพื้นชั้นบนกับผนัง จึงหลีกเลี่ยงจุดที่ไม้ต้องโดนน้ำได้ ทำให้ไม้ดูสวยอยู่ในบ้านได้นาน”

เจ้าของ : คุณธารนคร ศิริเขตรกรณ์ และคุณชนะชัย กิ่งเงิน

สถาปนิก : Ilikedesignstudio โดยคุณณฤชา คูวัฒนาภาศิริ คุณชุติมณฑน์ ชนกโอวาท และคุณศิรประภา ประสมพันธ์

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

สไตล์ : Suntreeya


บ้านโครงสร้างเหล็ก ร่มรื่นด้วยไม้ใบ

บ้านโครงสร้างเหล็ก ยกใต้ถุนสูงแบบบ้านริมคลอง