ค่าธรรมเนียมการโอนบ้านและที่ดิน ใครเป็นคนจ่าย? - บ้านและสวน

ค่าธรรมเนียมการโอนบ้านและค่าโอนที่ดิน ใครต้องจ่าย ผู้ซื้อหรือผู้ขาย ?

ค่าธรรมเนียมการโอนบ้านและที่ดิน ใครต้องจ่ายผู้ซื้อหรือผู้ขาย ตอบคำถามสำคัญในการซื้อขายบ้านและที่ดิน ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

ค่าธรรมเนียมการโอนบ้านและที่ดิน

ค่าธรรมเนียมการโอนบ้านและที่ดิน

ค่าธรรมเนียมการโอนบ้านและที่ดิน จะมีทั้งส่วนที่ผู้ซื้อเป็นคนจ่าย ผู้ขายเป็นคนจ่าย หรือจ่ายร่วมกัน โดยไม่มีกฎที่ระบุว่าใครต้องจ่ายส่วนใดบ้าง ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายตามความเหมาะสม ซึ่งบางครั้งผู้ขายที่เป็นโครงการ ก็อาจจัดโปรโมชันจ่ายค่าธรรมเนียมโอนฯ บ้านให้กับผู้ซื้อ เรื่องนี้จึงเป็นอีกประเด็นที่ต้องตกกับผู้ขายให้เข้าใจร่วมกันอย่างชัดเจน ทางที่ดีควรระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายด้วย โดยสำหรับกรณีที่ผู้ขายเป็นบริษัทอสังหาฯ ส่วนใหญ่แล้วพนักงานขายจะสรุปรายการค่าใช้จ่ายมาให้ผู้ซื้อได้เตรียมการ แต่หากเป็นการซื้อขายระหว่างบุคคล ผู้ซื้ออาจต้องเตรียมข้อมูลเอง ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งเป็นรายการดังนี้

  • ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ คิดเป็น 2% ของราคาประเมินที่ดินรวมสิ่งปลูกสร้าง ปกติแล้วเป็นค่าใช้จ่ายร่วมกัน และแบ่งจ่ายฝ่ายละ 1% ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งอาจมีบางกรณีที่ผู้ขายเสนอโปรโมชันจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนฯ ให้ทั้งหมด หรือกรณีอื่นๆ ตามแต่ผู้ซื้อกับผู้ขายจะตกลงกัน
  • ค่าอากรแสตมป์ คิด 0.5% ของราคาซื้อขาย โดยราคานั้นต้องไม่ต่ำกว่าราคาประเมินที่ดิน หากต่ำกว่า จะใช้ราคาประเมินที่ดินมาคำนวณแทน ปกติแล้วเป็นค่าใช้จ่ายของของฝ่ายผู้ขาย แต่ในกรณีที่ผู้ขายเข้าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ก็จะไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์
  • ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ คิดที่อัตรา 3.3% ของราคาซื้อขาย โดยเป็นค่าใช้จ่ายของผู้ขาย สำหรับกรณีที่ผู้ขายครอบครองบ้านเป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี  หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่ถึง 1 ปี แต่หากครอบครองมากกว่า 5 ปี หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี ก็จะไม่ต้องจ่ายค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้จ่ายค่าอากรแสตมป์แทน
  • ค่าจดจำนอง คิดเป็น 1% ของยอดเงินกู้ทั้งหมด สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายของผู้ที่ซื้อบ้านโดยการกู้สินเชื่อและจดจำนองทรัพย์สินกับธนาคาร หากซื้อบ้านหรือคอนโดด้วยเงินสดจะไม่ต้องเสียค่าจดจำนองส่วนนี้
  • ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ขายที่เป็นบุคคลธรรมดา จะต้องจ่ายภาษีนี้เพราะถือเป็นรายได้จากธุรกรรมซื้อขาย คิดแบบขั้นบันไดภาษี โดยจำนวนเงินที่ต้องจ่ายขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ถือครองทรัพย์สินและวิธีที่ได้มา อิงจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมที่ดิน ไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายจริงๆ

สรุป มาตรการกระตุ้นอสังหา 2567

  • ลดค่าโอนจดจำนอง 0.01% บ้านราคาสูงสุด 7 ล้าน
  • ลดภาษี สำหรับคนสร้างบ้านเอง สูงสุด 100,000 บาท
  • สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี บ้านราคาไม่เกิน 3 ล้าน
  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ให้กับบริษัทที่พัฒนาบ้าน BOI ราคาไม่เกิน 1.5 ล้าน

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

  • ราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อสัญญา
  • วงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อสัญญา (กรณีจำนองต้องเป็นการจดทะเบียนจำนองที่สืบเนื่องมาจากการจดทะเบียนซื้อขาย อันได้รับลดค่าธรรมเนียมตามมาตรการฯ และจดทะเบียนจำนองในคราวเดียวกัน)
  • ผู้ซื้อเป็นบุคคล สัญชาติไทย
  • ซื้อที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัย, ห้องชุดในอาคารชุด, บ้านเดี่ยว, บ้านแฝด, บ้านแถวหรืออาคารพาณิชย์
  • ได้ทั้งอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดมือหนึ่งและมือสอง
  • ซื้อขายเฉพาะส่วนไม่ได้รับลดค่าธรรมเนียม

ค่าภาษีและอากร

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย, ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ เสียตามอัตราปกติ

ระยะเวลาการลดค่าธรรมเนียม

  • ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน-31 ธันวาคม 2567

เรื่อง : ขอขอบคุณข้อมูลจาก ราชกิจจานุเบกษา

ภาพ : https://www.freepik.com/

จ่ายดอกเบี้ยบ้านยังไงให้ถูกลงอีก

ระวังเสียที่ดิน! จากการ ครอบครองปรปักษ์ เกิน 10 ปี

ติดตามบ้านและสวน