บ้านสวนชั้นเดียวริมน้ำ บ้านก่ออิฐโชว์แนวที่สะท้อนกลิ่นอายพื้นถิ่นภาคเหนือ ผสานความเรียบง่ายของวิถีชีวิตและธรรมชาติรอบตัว
Design Directory :
ออกแบบสถาปัตยกรรม : Destroy Dirty Thing
ออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน : STUDIO WØM / TIME TO DESIGN STUDIO
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม : La-ong Land Designstudio / Jaibaan Studio
“เมื่อได้มาใช้ชีวิตในบ้านนี้ ทำให้การกลับไปอยู่แบบเดิมที่กรุงเทพฯ กลายเป็นเรื่องยากไปแล้ว” หนึ่งในบททิ้งท้ายของ คุณบอล – สุรัตน์ โพธิปราสาท และภรรยา คุณน้ำผึ้ง – สิริกร ศุภบุญญานนท์ ที่วางแผนหลายปีค่อยๆปลีกตัวจากกรุงเทพฯ มาลงหลักปักฐานที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณน้ำผึ้ง สร้างบ้านที่ให้ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตซึ่งมีหลากหลายมิติให้ น้องแทม- เด็กชายธรรมชาติ โพธิปราสาท ได้เรียนรู้ร่วมกันใน บ้านสวนชั้นเดียวริมน้ำ
เมื่อซื้อที่ดินแต่กลับได้หนองน้ำ ที่กลายเป็นความพิเศษ
ย้อนไปเมื่อ 7-8 ปีก่อน ทั้งคู่มาดูและซื้อใจที่ดินผืนนี้พื้นที่ 2 ไร่ 170 ตารางวา ในตำบลหนองหาร เพราะถูกใจวิวภูเขาสวย ซึ่งตอนนั้นมีวัชพืชสูงท่วมหัวจนดูไม่ออกว่าภายในนั้นมีหนองน้ำอยู่ จึงติดต่อให้สถาปนิกมาดูพื้นที่และออกแบบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กวิน ว่องวิกย์การ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณประภาส สุธาอรรถ และ คุณธีรกิต ชูตินันท์ แห่ง Destroy Dirty Thing ออกแบบตกแต่งภายในโดย คุณโสภิดา จิตรจำนอง แห่ง STUDIO WØM ร่วมกับ คุณกฤตานน ฉั่วชุมแสง แห่ง Time to design Studio และออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมโดย คุณกฤษฎิ์ธาดา อินทยศ แห่ง ละอองลาน สตูดิโอ ร่วมกับ คุณศุภวุฒิ บุญมหาธนากร แห่ง ใจบ้าน สตูดิโอ
เมื่อสถาปนิกเข้ามาดูพื้นที่พบว่ามีความพิเศษมาก เป็นหนองน้ำใหญ่กลางพื้นที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ มีขอบดินอยู่รอบๆ เพราะเดิมเป็นบ่อตกปลา “ผมมองว่าสิ่งที่มีอยู่เดิมคือต้นทุนที่กลายเป็นเสน่ห์ของพื้นที่ และเกิด 2 แนวคิดหลัก คือรักษาเสน่ห์เดิมของพื้นที่ เราปลูกบ้านให้อยู่กับน้ำได้ โดยถมพื้นดินให้น้อยที่สุดและรักษาเส้นขอบเดิมของหนองน้ำที่มีความนุ่มนวลโดยธรรมชาติไว้ อีกแนวคิด คือ ทำให้เจ้าของสัมผัสถึงความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับจุดประสงค์ในการย้ายมาอยู่ตรงนี้” บ้านสวนชั้นเดียวริมน้ำ
ชีวิตและบ้านที่ออกแบบไปพร้อมๆกัน
โจทย์ที่เจ้าของบ้านให้ผู้ออกแบบ คือ ช่วงแรกจะไปๆมาๆระหว่างกรุงเทพฯกับเชียงใหม่ ยังไม่ได้อยู่ประจำ แต่ก็วางแผนว่าจะใช้ชีวิตที่นี่เป็นที่สุดท้ายแล้ว เน้นความเป็นพื้นถิ่น และอยากให้บ้านมีลายเซ็นของสถาปนิก ให้เป็นเหมือนผลงานชิ้นหนึ่งของศิลปิน ในด้านฟังก์ชันจะเป็นบ้านใช้ชีวิตหลังเกษียณ รองรับผู้สูงอายุและลูก โดยตั้งใจจะทำการเกษตรในบ้านตามวิถีชีวิตของคุณน้ำผึ้งที่เน้นการสร้างแหล่งอาหาร ผลิตวัตถุดิบใช้เองในครัวเรือน และกำจัดขยะเศษอาหารแบบพึ่งพาตัวเอง
แต่เมื่อการสร้างบ้านเป็นแผนระยะยาว ทั้งยังคั่นด้วยช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถาปนิกปรับเปลี่ยนการออกแบบไปตามจังหวะชีวิตผู้อยู่อาศัย “ในเฟสแรกเป็นไอเดียเจ้าของบ้านที่อยากลองมาอยู่ก่อน 3-4 ปี โดยออกแบบเป็นเรือนไม้สองชั้นจากไม้เก่าผสมไม้ใหม่ มุงหลังคาไม้ไผ่ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเถียงนา และแยกอีกหลังเป็นเรือนเล็กชั้นเดียวอยู่ข้างกันสำหรับคุณพ่อของคุณน้ำผึ้ง”
การมาทดลองอยู่ทำให้เจ้าของบ้านได้ทำความรู้จักสภาพแวดล้อมและเข้าใจตัวเองมากขึ้น “เฟส 2 เริ่มเมื่อปลายปี 2564 เป็นช่วงที่เราตัดสินใจจะย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่เชียงใหม่เลย โดยปรับแบบบ้านที่จะสร้างต่อขยายจากเฟสแรกซึ่งเดิมตั้งใจสร้างบ้านสองชั้น แต่เมื่อความต้องการใช้พื้นที่ลดลงและคุณพ่อไม่อยู่แล้ว จึงเหลือเป็นบ้านชั้นเดียวตามชีวิตที่เริ่มตกผลึก”
พื้นถิ่นที่เรียบง่าย
สถาปนิกออกแบบบ้านให้สื่อถึงความเป็นพื้นถิ่น ด้วยการให้ความสำคัญกับพื้นที่ระเบียง ชาน ซึ่งเป็นพื้นที่ “ระหว่าง” ที่กึ่งเปิดโล่งกึ่งปิดล้อม หรือกึ่งภายนอกกึ่งภายใน (Semi-outdoor Space) เป็นสเปซที่เหมาะกับบริบทไทย และสื่อด้วยการใช้วัสดุอิฐโชว์แนวและไม้ โดยออกแบบแนวกำแพงอิฐไม่ให้จบแค่ภายในตัวบ้าน แต่นำสายตาและเชื่อมต่อความรู้สึกไปยังภายนอกบ้านที่เป็นธรรมชาติ และเป็นการนำธาตุดินจากธรรมชาติเข้ามาสู่ภายในตัวบ้านด้วย
ออกแบบวางอาคารตามแนวตะวัน ให้ด้านยาวของบ้านเปิดรับลมในทิศเหนือ-ใต้ วางแปลนแผ่แยกเป็นเรือนเป็นหลังๆ ที่มีระเบียงรอบ และทำทางเดินเชื่อมกันให้ได้ออกมาสัมผัสกับต้นไม้ใบหญ้า ระหว่างอาคารเกิดเป็นสเปซที่ชวนให้ออกไปใช้งาน ตัวบ้านขนาดไม่ใหญ่ โดยใช้ระยะช่วงเสา 4 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ประหยัด ขนาดห้องไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกได้ง่าย แสงธรรมชาติกระจายทั่วถึง และลมพัดผ่านได้ดี
การออกแบบตกแต่งภายในเน้นความอบอุ่นที่เข้ากับสถาปัตยกรรม ให้สื่อถึงความเป็นโมเดิร์นพื้นถิ่น ด้วยเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินที่โชว์การต่อไม้แบบงานช่างท้องถิ่นและดีไซน์โมเดิร์นผสมกัน และย้อมสีใม้ให้เข้ากับผนังอิฐ มีความเรียบนิ่งที่อยู่ได้แบบ Timeless
สร้างระบบนิเวศน์ให้เกื้อกูลกัน
บริบทรอบพื้นที่จากเคยเป็นทุ่งนาก็เปลี่ยนแปลงเป็นหมู่บ้านจัดสรรล้อมรั้วรอบ แนวคิดการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมจึงเปลี่ยนจากการยืมวิวภายนอกมาเป็นการสร้างระบบนิเวศภายในให้พื้นที่ อาคาร สวน บ่อน้ำ และการใช้ชีวิตมีความสัมพันธ์ต่อกันและกันแทน โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 โซนใหญ่ๆ ด้านหน้าเป็นโซนกิจกรรมแบบ Learning Outdoor Space มีบ่อน้ำเล็กให้เด็กลงเล่นได้ เป็นแปลงผัก เล้าไก่ตามแนวคิด Permaculture ส่วนโซนพักอาศัยอยู่ด้านในซึ่งเป็นหนองน้ำใหญ่ที่พยายามคงความเป็นธรรมชาติเดิม มีความสงบนิ่ง ให้คนในบ้านได้เชื่อมโยงกับความเป็นธรรมชาติ
เดิมหนองน้ำเป็นบ่อใหญ่บ่อเดียว โดยก่อนหน้านี้มีการถมดินเพื่อสร้างบ้าน จึงกลายเป็น 2 บ่อที่ไม่ได้เชื่อมถึงกัน ซึ่งบ่อเล็กมีระดับสูงกว่า จึงต่อท่อเชื่อมบ่อ สูบน้ำขึ้นไปแล้วทำทางน้ำให้ผ่านพื้นที่แปลงนาทดลองขนาดย่อม ไหลกลับมาลงบ่อใหญ่ ซึ่งรับน้ำจากลำเหมืองด้านหลังที่ดินเข้ามาเพื่อให้เกิดการหมุนเวียน สวนริมน้ำจึงเกิดขึ้นตามการจัดการน้ำนี้ด้วยแนวคิด Rewilding Garden ปลูกพืชริมน้ำและไม้ดอกที่มีความหลากหลายและช่วยบำบัดน้ำ สร้างระบบนิเวศริมน้ำ ซึ่งจะเรียกสัตว์น้ำขนาดเล็ก แมลงปอ นก แมลงให้มาเองตามธรรมชาติ เป็นระบบนิเวศน์ที่เกื้อกูลกัน อย่างตัวอ่อนของแมลงปอจะกินลูกน้ำ จึงช่วยให้ยุงลดลง
บ้านคือชีวิตที่อยู่อย่างเข้าใจธรรมชาติ
“เป็นบ้านที่เราสามารถดูแลและทำงานบ้านกันเองได้ ให้ความรู้สึกเป็นบ้านจริงๆ สเปซมีความพอดีไปหมด เราไม่เคยอยู่กับธรรมชาตินานขนาดนี้ เมื่อก่อนต้องออกไปแสวงหาจากการท่องเที่ยว แต่ตอนนี้มันคือบ้านเราเอง ตอนนี้ยังทำงานไปๆมาๆระหว่างกรุงเทพฯกับเชียงใหม่ จนรู้สึกว่าการจะกลับไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯกลายเป็นเรื่องยากไปแล้ว และจากที่ไม่เคยสนใจการเกษตร ตอนนี้คือช่วยภรรยาให้อาหารไก่ ล้างเล้าเป็ด จนรู้สึกกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต”
นิยามความสุขสบายในบ้านของแต่ละคนนั้นต่างกันไป การลดความต้องการของตัวตน และเปิดรับธรรมชาติที่มีเงามืดในความงามบ้าง ก็กลับแปรเป็นความสุขที่สมดุล สุขบ้าง เหนื่อยบ้าง ทว่างดงาม
Learning Outdoor Space มีทั้งแปลงผัก เรือนเพาะชำ เล้าเป็ด เล้าไก่ คุณน้ำผึ้งอยากตื่นเช้ามาเก็บไข่กินเอง โดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงไก่ 20 ตัว ให้พอกินในบ้าน และบางครั้งเหลือเผื่อแผ่ถึงเพื่อนๆ
เจ้าของ : คุณสุรัตน์ โพธิปราสาท และคุณสิริกร ศุภบุญญานนท์
ออกแบบสถาปัตยกรรม : Destroy Dirty Thing โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์กวิน ว่องวิกย์การ คุณประภาส สุธาอรรถ คุณธีรกิต ชูตินันท์
ออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน : STUDIO WØM โดยคุณโสภิดา จิตรจำนอง และ TIME TO DESIGN STUDIO โดยคุณกฤตานน ฉั่วชุมแสง
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม : La-ong Land Designstudio โดยคุณกฤษฎิ์ธาดา อินทยศ และ Jaibaan Studio โดยคุณศุภวุฒิ บุญมหาธนากร
คอลัมน์บ้านสวย เม.ย.67
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส, อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
สไตล์ : Suntreeya