ห้องน้ำ ถือเป็นจุดที่สำคัญของบ้านจุดนึงที่เราควรต้องดูแลรักษาอยู่สม่ำเสมอ และเราก็สามารถที่จะตรวจเช็ค สุขภาพห้องน้ำ ได้ด้วยตัวเองเพื่อนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์เราจึงมี 5 ขั้นตอนในการตรวจเช็คมาให้ได้ลองนำไปปรับใช้กัน ดังนี้
1. ตรวจความลาดเอียงของพื้น
พื้นห้องน้ำที่ดีต้องลาดเอียงไปจุดระบายน้ำโดยไม่มีน้ำขังอยู่จุดใดจุดหนึ่งตรวจสอบง่ายๆ ด้วยการปล่อยลูกปิงปองหรือลูกแก้วลงบนพื้นห้องน้ำหากพื้นลาดเอียงดีลูกแก้วจะค่อยๆไหลไปยังรูระบายน้ำ
2. ตรวจชักโครก
ตรวจการระบายน้ำของชักโครกว่าทำงานปกติด้วยการทิ้งขนมปัง 1 แผ่น หรือทิชชู่สักก้อนลงไปแล้วกดชักโครก 1 ครั้ง หากชักโครกทำงานปกติก็จะกำจัดสิ่งปฎิกูลที่มีปริมาณเช่นนี้ได้ง่าย
3. ตรวจการระบายน้ำและการขังน้ำของอ่างล้างหน้า
ทดลองปิดจุกระบายน้ำที่สะดืออ่างล้างหน้าถ้าติดตั้งไม่ดีน้ำก็จะรั่วลงใต้อ่างได้ จากนั้นตรวจดูรูน้ำล้นที่ขอบอ่างว่าทำงานได้ดีหรือไม่ การทำงานของรูน้ำล้นน้ำนี้จะดักน้ำไม่ให้ล้นขอบอ่าง และระบายออกไปตามท่อระบายน้ำ
4. ตรวจจุดต่อสายอ่อนหรือวาล์วต่างๆ
หากติดตั้งจุดต่อไม่ดีหรือมีอุปกรณ์ เช่น แหวนยาง (ซึ่งอยู่ภายในอุปกรณ์นั้นๆ) เสื่อมสภาพก็จะมีอาการ น้ำรั่ว – น้ำซึม ได้ง่าย จุดที่ควรสังเกตคือ สายอ่อนของระบบน้ำดีใต้เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าซึ่งต่อกับก๊อกอ่างล้างหน้าจุดนี้มีพื้นที่ทำงานแคบมากจึงอาจติดตั้งไม่ดี
5. ตรวจรูระบายน้ำที่พื้น
รูระบายน้ำที่นิยมใช้กันคือ รูระบายน้ำชนิดกันกลิ่นซึ่งมีที่มาจากแนวความคิดของคอห่านนั่นคือปล่อยให้ในท่อมีน้ำขังอยู่บางส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นเหม็นย้อนกลับมาได้ เมื่อเข้าใจการทำงานของรูระบายกันกลิ่นแล้วก็มาตรวจกัน โดยเปิดฝาตะแกรงรูระบายน้ำดูว่าเศษผงและสิ่งสกปรกตกค้างอยู่ที่ถ้วยขังน้ำหรือไม่ เศษผงเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคให้ระบบกันกลิ่นทำงานไม่สมบูรณ์ และระบายน้ำทิ้งไม่สะดวกอีกด้วย
หนังสือ : ช่างประจำบ้าน
เขียน : ศักดา ประสานไทย ภาพ : สำนักพิมพ์ และนิตยสารบ้านแสะสวน
ภาพประกอบ : คณาธิป จันทร์เอี่ยม เรียบเรียง : ดุษยา สุขวราภิรมย์