บ้านชั้นเดียวโครงสร้างเหล็ก สร้างด้วยวัสดุธรรมดาให้ดูพิเศษ ภายในมีคานปูนหนาที่วางเหลื่อมซ้อนกันให้เป็นสเต็ป 2 ชั้น สำหรับนั่งราบกับพื้นสบายๆ ตามวิถีชนบทและสเต็ปบนที่รับวิถีชีวิตร่วมสมัย
Design Directory : สถาปนิก Studio Sifah
เป็นที่คุ้นเคยกันดีในหมู่คนเมืองจังหวัดเชียงใหม่ว่า “ลาบ” คืออาหารพื้นเมืองยอดนิยมคู่ครัวเรือนมาตั้งแต่อดีตและมักเป็นเมนูประจำในช่วง “ปี๋ใหม่เมือง” หรือสงกรานต์ด้วย เพราะเชื่อว่าเป็นอาหารที่ให้โชคลาภรับปีใหม่กัน จนถึงกับมีการจัดงานมหกรรมลาบเมืองเพื่ออนุรักษ์อาหารพื้นถิ่นนี้ไว้ด้วย แล้วเมนูลาบนั้นจะเกี่ยวข้องกับ บ้านชั้นเดียวโครงสร้างเหล็ก ขนาด 165 ตารางเมตรหลังนี้ที่มีชื่อเรียกกันว่า “บ้านลาบ”’ ซึ่งเป็นบ้านที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทที่พักอาศัยปี 2023 จาก Bluescope ด้วยได้อย่างไร ต้องถาม คุณแนน-เจษฎา เปี้ยทา เจ้าของบ้านหลังนี้กันเลย
ทำไมต้องเรียกว่า “บ้านลาบ”
“ครอบครัวเราผูกพันอยู่กับการทำลาบกินกันบนพื้นราบๆ ภายในบ้านนี่แหละ พอผมไปขอให้คุณโน้ตซึ่งเป็นเพื่อนผมตั้งแต่เด็กมาช่วยออกแบบบ้านให้ เพราะอยากได้พื้นที่ส่วนตัวแยกออกมาจากบ้านพ่อแม่ เพื่อให้สะดวกกับเวลาทำงานที่ไม่ค่อยตรงเวลากับคนอื่นเท่าไหร่ด้วย คุณโน้ตก็เลยนำวิถีชีวิตแบบบ้านๆ นี้มาเป็นไอเดียหลักในการทำบ้านแนวราบที่สามารถนั่งกับพื้นได้สบายๆ แถมยังจะมีมุมหลังบ้านที่ออกแบบมาให้นั่งทำลาบกินได้สะดวกด้วย เราก็เลยเรียกบ้านนี้กันว่าเป็น ‘บ้านลาบ’”
คุณแนน เจ้าของบ้านเล่าถึงที่มา โดยก่อนนี้เขาไปเล็งหาที่ดินสำหรับปลูกบ้านไว้ที่อื่น พร้อมวางมัดจำการซื้อขายเรียบร้อย แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจกลับมาใช้พื้นที่ตรงกลางระหว่างบ้านคุณพ่อคุณแม่กับบ้านญาติๆ เพื่อสร้างบ้านหลังเล็กของตัวเอง เพราะยังสามารถอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและดูแลกันได้ง่ายกว่า
แม้วิถีชีวิตจะเกิดและโตมากับบ้านไม้ แต่คุณแนนก็รับรู้ถึงปัญหาการอยู่และดูแลบ้านไม้เป็นอย่างดีจนถึงกับตั้งโจทย์แรกไว้เลยว่าไม่เอาบ้านไม้แล้ว เพราะไม่มีเวลาดูแล ด้วยส่วนหนึ่งของชีวิตเขายังออกไปทำนาซึ่งเป็นงานประจำของครอบครัว และหลังหน้านาเขาก็แบ่งเวลาอีกส่วนไปทำงานถ่ายภาพภายใต้ชื่อ Boboa Studio ซึ่งต้องเข้าเมืองไปพบปะผู้คน ใช้ชีวิตสมัยใหม่ เสพงานศิลปะ และสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ดังนั้น บ้านที่เขาจะกลับมาทิ้งตัวลงทุกวันจึงต้องเป็นบ้านที่ตอบรับไลฟ์สไตล์ทั้งสองแบบนี้ได้โดยไม่เพิ่มภาระการดูแลอะไรเพิ่มขึ้นอีก
บ้านชั้นเดียวโครงสร้างเหล็ก ชั้นเดียวแบบมีระดับ
ความที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ คุณโน้ต-วรรัตน์ รัตนตรัย สถาปนิกแห่ง Studio Sifah เข้าใจถึงเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิตของคุณแนนได้ดี และอยากจะออกแบบบ้านธรรมดาชั้นเดียวนี้ให้ดูเท่เป็นพิเศษเหมือนตัวตนของคุณแนน โดยเลือกใช้วัสดุธรรมชาติมาจัดวางใหม่ให้ดูทันสมัย
“เราอยากดึงความเป็นวิถีชีวิตชนบทพื้นถิ่นมาถ่ายทอดผ่านการออกแบบบ้านในมุมมองใหม่ให้ร่วมสมัยขึ้น และเพราะคุณแนนไม่อยากได้ไม้ เราเลยเลือกใช้คอนกรีตกับเหล็กแทนโครงสร้างไม้ โดยถอดรูปทรงหลังคามาจากบ้านรอบๆ ตัว แทนที่จะทำเป็นบ้านทรงกล่องซึ่งมันจะดูแตกต่างเกินไป เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาให้เป็นเมทัลชีต มีลอนแบบสังกะสีที่มีความบางแต่ดูสมัยใหม่ แล้วให้ตัวหลังคายื่นยาวต่อเนื่องออกมาเป็นชายคาในขนาดที่ไม่เท่ากันในแต่ละด้านเพื่อให้ร่มเงาสอดคล้องไปกับทิศทางที่มีแดดจัดโดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกหน้าบ้านและทางทิศใต้ เพิ่มส่วนคอสองสำหรับรับแสงธรรมชาติเข้ามาภายในผสมกับช่องที่เป็นบานเปิดได้เพื่อช่วยระบายอากาศร้อนในบ้านออกไป
“และเพิ่มความน่าสนใจให้บ้านชั้นเดียวด้วยการทำฐานบ้านให้ยื่นลอยเบาๆ ขึ้นมาจากพื้น ไม่ได้เป็นก้อนบ้านทึบๆ เป็นคานคอนกรีตที่หนาเพียง 30 ซม.จากปกติ 40 ซม.ขัดผิวเรียบเพื่อโชว์โครงสร้างและความดิบเปลือยของวัสดุธรรมดาๆ ให้พิเศษด้วยความบางของคาน ซึ่งเป็นงานที่ยากและท้าทาย แต่ทำให้บ้านดูเท่และสมัยใหม่ขึ้น และยังกลายมาเป็นสเต็ปภายในบ้านที่ช่วยแยกพื้นที่หรือใช้เป็นที่นั่งแนวราบในบ้านได้ด้วย แค่วางเสื่อผืนหมอนใบก็ดูดีได้ หรือจะใช้เป็นที่นั่งห้อยขาโดยเอาโต๊ะมาวางเสริมได้เลย เป็นสเปซต่างระดับภายในบ้านชั้นเดียวที่ยืดหยุ่นได้มาก”
ปิดล้อมจากภายนอก เปิดโปร่งอยู่ภายใน
เมื่อตัวบ้านตั้งอยู่กลางวงล้อมของบ้านคุณพ่อคุณแม่และญาติๆ ซึ่งมีทั้งบ้านเก่าและหลองข้าวเดิม จึงต้องมีการออกแบบพื้นที่ปิดล้อมหลายส่วนเพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัวภายใน ผสมผสานไปกับส่วนที่เปิดต้อนรับญาติและแขกบ้าง ผนังหน้าบ้านจึงค่อนข้างปิดทึบด้วยอิฐบล็อกและเปิดบางส่วนเป็นกระจกใสภายในกรอบโครงเหล็กโปร่ง
สเปซแรกเปิดต้อนรับด้วยที่จอดรถภายใต้ชายคาอันร่มรื่นแล้วจึงใช้ผนังกระจกใสกั้นเป็นพื้นที่ในบ้านด้วยรูปแบบของโถงเล็กๆ พร้อมชั้นวางของ ที่จอดมอเตอร์ไซค์คันเท่ และสเก็ตบอร์ด แล้วจึงขึ้นสู่สเต็ปสองบนพื้นคานปูนที่ต่อเนื่องจากคานภายนอกซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนเดินขึ้นบ้าน โดยออกแบบให้เป็นส่วนของแพนทรี่ไม้ขนาดเล็กบนสเปซที่ยาวต่อเนื่องไปถึงลานปูนสำหรับนั่งทำลาบกันหลังบ้าน แล้วจึงยกสเต็ปที่สามด้วยคานอีกชั้นเพื่อทำเป็นพื้นที่นั่งเล่นส่วนตัวที่จะเลือกนั่งราบบนเสื่อก็ได้หรือนั่งห้อยขาก็ได้ โดยสเปซด้านในสุดของบ้านกั้นปิดไว้ให้เป็นห้องทำงาน ห้องน้ำ และห้องนอนเพราะมีความเป็นส่วนตัวสูงสุด
“ก้อนแพนทรี่นั้นเราต้องการใช้เพื่อกั้นไม่ให้ใครมองเห็นพื้นที่ส่วนตัวและยังเป็นฟังก์ชันของวิถีชีวิตปัจจุบันเพื่อการทำอาหารและเครื่องดื่มง่ายๆ มีการนำไม้มาใช้ตรงจุดนี้กับฝ้าเพดานไม้อัดยาง อันนี้ต้องหว่านล้อมคุณแนนนิดหน่อยว่ามันช่วยให้พื้นที่ในบ้านดูอุ่นนุ่มนวลขึ้น โดยคุมโทนสีภายนอกภายในให้ใกล้เคียงกัน แล้วจัดแสงไฟเน้นส่องเข้าที่ผนังกับเสา ไม่ได้ส่องกระจาย โชว์งานระบบกับการวางท่อลอยไปด้วย ส่วนห้องทำงานเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่พอดีกับการทำงานแต่งภาพซึ่งไม่ต้องการแสงมาก เช่นเดียวกับห้องนอนที่เน้นความสงบเพื่อพักผ่อนจริงๆ”
ชีวิตสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงกับจิตวิญญาณเดิม
ก่อนแสงสุดท้ายจะหมดวัน คุณแม่ของคุณแนนยังออกมาจุดเตาถ่านอยู่บริเวณใต้ถุนของหลองข้าวเก่าข้างบ้านเพื่อเตรียมทำเมนูลาบเมือง ขณะที่คุณแนนก็เก็บผักไปนั่งล้างอยู่ที่ลานปูนกว้างๆ หลังบ้านตัวเอง เมื่อได้เวลามื้อเย็น แม่และญาติๆ จึงมารวมตัวมาตั้งวงลาบกันที่ลานด้านหลังบ้านใหม่นี้ในบรรยากาศที่อบอุ่นคุ้นเคย
“ผมว่าบ้านหลังนี้สะท้อนตัวตนผมได้มากเลย ข้างนอกดูเท่ทันสมัยพอเข้ามาข้างในก็สัมผัสจิตวิญญานของคนพื้นถิ่น เพราะผมโตมากับการทำนา เคยขับรถไถนา มีชีวิตง่ายๆ สบายๆ แต่ก็ชอบอะไรสมัยใหม่ ซึมซับมาจากอาชีพช่างภาพที่ทำ เหมือนเราใช้ชีวิตอยู่สองขั้วและเอาความดีของทั้งสองทางมาผสมกัน เวลาออกไปถ่ายภาพจิบค็อกเทลในงานพอกลับบ้านก็ทำลาบกินได้ เพราะไม่ได้อยากสมัยใหม่อย่างเดียว ยังอยากยึดโยงจิตใจแบบคนชนบทพื้นถิ่น เลยรู้สึกว่าบ้านหลังนี้คือ LABB is more ที่มีมากกว่าความเป็นพื้นถิ่น เป็นบ้านที่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และรองรับชีวิตที่ผสมผสานได้อย่างมีความสุขดี”
Designer’s Tips
“ปกติแล้ว งานออกแบบของเรามักจะนำเสนอความงามที่มาจากโครงสร้างมากกว่าการตกแต่งหน้าตาบ้านให้โดดเด่น เพราะเมื่อโครงสร้างแข็งแรงและสวยก็ไม่ต้องแต่งอะไรมากแล้ว อย่างบ้านหลังนี้ที่เราเน้นการนำวัสดุก่อสร้างธรรมดามาออกแบบและจัดวางให้ดูเท่เป็นพิเศษ แต่ในความธรรมดาที่ยิ่งดิบยิ่งเปลือยนี้ก็ยิ่งต้องมีความเนี้ยบเป็นพิเศษด้วย เราสนุกกับบ้านหลังนี้มาก เพราะได้ทำตั้งแต่ออกแบบ ก่อสร้าง จนจบงาน ได้ทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ ทั้งวัสดุปิดผิวที่ทำขึ้นมาใหม่ และวัสดุเดิมแต่ถูกจัดวางใหม่ รวมไปถึงคิดทดลองการจบงานในแบบใหม่ๆ”
คุณวรรัตน์ รัตนตรัย และคุณสีฟ้า ศรชัยยืน จาก Studio Sifah
เจ้าของ : คุณเจษฎา เปี้ยทา
สถาปนิก-ตกแต่งภายใน : Studio Sifah โดยคุณวรรัตน์ รัตนตรัย และคุณสีฟ้า ศรชัยยืน
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส,อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
สไตล์ : Suntreeya
ที่ตั้ง : จังหวัดเชียงใหม่