ปรากฎการณ์คนกรุงปลูกผักได้เริ่มขึ้น เมื่อผู้สมัครกว่า 120 กลุ่มที่เข้าร่วมโครงการ “ ร่วมด้วยช่วยปลูก Plantable Bangkok ” ได้มาร่วมเรียนรู้ขั้นตอนการปลูกผักพื้นฐาน เกษตรในเมือง 101 ซึ่งเป็น workshop แรกของโครงการที่สร้างความรู้พื้นฐานในการปลูกผักไปจนถึงลงมือปฏิบัติขั้นตอนการปลูกในทุกขั้นตอน
ร่วมด้วยช่วยปลูก Plantable Bangkok จัดขึ้นโดยความร่วมมือของกรุงเทพมหานคร ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร และบ้านและสวน Garden&Farm กับการสนับสนุนให้นักปลูกชาวกรุงเทพ มาร่วมสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองพร้อมชิงเงินรางวัล ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองด้วยแนวคิดเกษตรในเมือง เสริมสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัย และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในแบบที่ทุกคนสามารถทำได้
บทเรียนเกษตรในเมือง 101 กิจกรรมแรกของโครงการ โดย อ.เกศศิรินทร์ แสงมณี อาจารย์ประจำสาขาการจัดการเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม บทเรียนพัฒนาให้เข้าใจง่ายในเวลากระชับ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่จับมือชาวกรุงให้ลองปลูกผักจริงๆ ในพื้นที่แปลงสาธิตร่วมด้วยช่วยปลูกโรงงานยาสูบ ซึ่งกิจกรรมต่อไปผู้สมัครจะได้เข้าศึกษาดูงานในพื้นที่แปลงเกษตรของคนเมืองที่ทำสำเร็จ ก่อนเข้าสู่กระบวนการลงมือปลูกจริงในพื้นที่ของตนเอง และนำเสนอผลงานเป็นลำดับถัดไป ในระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 เดือน
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) ได้อธิบายถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สีเขียวด้วยยุทธศาสตร์เกษตรในเมือง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย MILAND URBAN FOOD POLICY PACT ของกรุงเทพมหานคร ที่มีเป้าหมายส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และลดระยะทางในการกระจายผลิตผลสู่ชาวเมือง
UDDC-CEUS ดำเนินการศึกษาและขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่สุขภาวะและพื้นที่สีเขียวกินได้ รวมถึงกลไกการพัฒนาและขยายผลพื้นที่สุขภาวะด้วยแนวคิดเกษตรในเมือง ผ่าน 2 โครงการย่อย ประกอบด้วย โครงการย่อยที่ 1 สวนผัก 15 นาที เพื่อการพัฒนาย่าน ร่วมกับ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาพื้นที่นำร่องย่านพระโขนง-บางนา ด้วยแนวคิดเกษตรในเมือง
ขณะเดียวกัน โครงการย่อยที่ 2 ร่วมด้วยช่วยปลูก Plantable Bangkok มุ่งสร้างเครือข่ายและความร่วมมือในการขับเคลื่อน ออกแบบ และผลักดันแนวคิดเกษตรในเมืองสู่การขยายผลทั่วพื้นที่ของเมือง โดยในโครงการนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 ทีมทั่วกทม. แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภท A ร่วมปลูกในบ้าน (ครัวเรือน) ประเภท B ร่วมปลูกในที่ทำงาน (หน่วยงานและองค์กร) ประเภท C ร่วมปลูกในย่าน (ชุมชน) เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2567
ไม่เพียงเท่านั้น การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรของกทม. มีเป้าหมายในการส่งเสริมการปลูกพืชผักเกษตรปลอดสารพิษกว่า 100 ชุมชน (100 แปลง ) ใน 50 เขต และการส่งเสริมให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย Bangkok G ถือเป็นการสร้างมาตรฐานรับรองคุณภาพสินค้าด้านการเกษตรของกทม. ตลอดจนการขยายตลาดในรูปแบบ Farmer Market ที่ผู้เข้าร่วมโครงการนี้ใช้ต่อยอดเพิ่มมูลค่าในการปลูก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจ UDDC Email: [email protected] หรือ โทร: 02-234-0293 (เวลาทำการ: จันทร์-ศุกร์ 9.00-17.00 น.)