บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม และธรรมชาติอย่างไร้ขอบกั้น - บ้านและสวน
บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม

บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม และธรรมชาติอย่างไร้ขอบกั้น

บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม ที่เน้นการออกแบบเชื่อมโยงทั้งบรรยากาศ มุมมอง รวมไปถึงการเปิดรับธรรมชาติเพื่ออยู่อาศัยร่วมกันแบบ Passive Living หรือคือการเปิดรับลมธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านในเวลาส่วนใหญ่ของการใช้ชีวิต

Design Directory : สถาปนิก : S Pace Studio

บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม
บ้านชั้นเดียวนอกจากจะมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงในแต่ละส่วนของบ้านที่เข้าถึงกันได้ง่ายแล้ว ยังมีผลดีกับบ้านที่ตั้งใจเชื่อมโยงกับบริบทธรรมชาติโดยรอบตัวบ้านอีกด้วย
บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม
บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม
ผังบ้านรูปตัวแอล (L) ที่เชื่อมโยงเอาไว้ด้วยระแนงบังแดดในฝั่งทิศตะวันตกสร้างให้เกิดเป็นผังรูปสามเหลี่ยมขึ้น

บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม หลังนี้มีชื่อว่า “บ้านกกค้อ” เป็นบ้านที่ตั้งอยู่ในอำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น เริ่มต้นจากการที่เจ้าของบ้านมีที่ดินเดิมของครอบครัวอยู่ และได้ปลูกป่าสักเอาไว้ เมื่อถึงเวลาที่ลูกๆ เริ่มเติบโตขึ้นจึงต้องการสร้างบ้านหลังใหม่เพื่อให้ทุกคนได้มีพื้นที่ของตัวเอง  จุดเด่นของบ้านหลังนี้อยู่ตรงที่ดินผืนใหญ่ที่สามารถจัดวางบ้านลงบนจุดใดของที่ดินก็ได้ ซึ่งผู้ออกแบบได้เลือกที่จะวางบ้านไว้ยังจุดกึ่งกลางของที่ดิน โดยมีป่าสักเป็นเหมือนแบ็กกราวนด์อยู่ด้านหลัง และมีลานหญ้าสำหรับทำกิจกรรมอยู่ด้านหน้าของบ้าน

บ้านที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบกั้น เป็นนิยามหลักของบ้านหลังนี้ จากการเชื่อมโยงทั้งบรรยากาศ มุมมอง รวมไปถึงการเปิดรับธรรมชาติเพื่ออยู่อาศัยร่วมกันแบบ Passive Living หรือคือการเปิดรับลมธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านในเวลาส่วนใหญ่ของการใช้ชีวิตนั่นเอง ด้วยเหตุนี้เองการออกแบบเพื่อสร้างการรับลม จัดสรรพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการสร้างร่มเงาให้บ้านจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้บ้านหลังนี้สมบูรณ์ดังที่ตั้งใจ

บ้านชั้นเดียวที่ต่อเนื่องเป็นพื้นที่เดียวกัน

บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม หลังนี้ออกแบบให้เป็นบ้านชั้นเดียวเพื่อให้ทุกพื้นที่สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างลื่นไหลคล่องตัว ทั้งเผื่อในเวลาที่แก่ตัวลงก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบ้านมากนัก สามารถเติมทางลาดหรือปรับทางสัญจรใหม่ได้เลย

พื้นที่นั่งเล่นและชานบ้านนั้นสามารถเปิดให้ต่อเนื่องเป็นพื้นที่เดียวกันได้ ในขณะที่ทางเดินหลักในบ้านนั้นก็มีประตูปิดเพื่อกั้นพื้นที่ส่วนตัวอย่างห้องนอนออกจากพื้นที่ทั้งหมดได้เช่นกัน การใช้งานในบ้านจึงถูกแบ่งออกอย่างชัดเจนด้วยภาษาทางสถาปัตยกรรมของตัวบ้าน และเพื่อให้สะดวกเวลาที่มีแขกแวะเวียนมาที่บ้านนั่นเอง

หน้าต่าง
Passive Living
บ้านหลังนี้ตั้งใจออกแบบให้สามารถอยู่อาศัยในสภาวะธรรมชาติแบบ Passive Living โดยไม่ปรับอากาศได้อย่างดี การออกแบบช่องเปิดต่างๆเช่นหน้าต่างบานกระทุ้งเรียงกันดังภาพ ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถกำหนดแรงลมที่ไหลผ่านเข้ามาภายในบ้านให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยได้ รวมทั้งการออกแบบแนวชายคาร่มเงายังช่วยให้การอยู่อาศัยภายในบ้านมีสภาวะสบายอีกด้วย
Universal Design
ข้อดีของบ้านชั้นเดียวคือความต่อเนื่องของพื้นที่ การออกแบบบ้านเป็นผังเปิด (Open Plan) นอกจากจะช่วยเสริมปฏิสัมพันธ์ให้คนในบ้านได้ใกล้ชิดสามารถมองเห็นกันและกันได้ในทุกจังหวะชีวิตและกิจกรรมแล้ว ยังดีต่อการปรับเปลี่ยนให้เป็นบ้านแบบ Universal Design เพื่อรองรับผู้สูงอายุในอนาคตอีกด้วย
พื้นที่ส่วนกลางของบ้าน
พื้นที่ส่วนกลางของบ้านหลังนี้ออกแบบเป็นผังเปิดที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่ครัว แพนทรี่ ส่วนรับประทานอาหาร ไปจนถึงโซฟานั่งเล่น และชานนอกบ้าน โดยปกติแล้ว เจ้าของบ้านจะเปิดพื้นที่ทั้งหมดด้วยไลฟ์สไตล์ที่ชอบอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติอยู่แล้ว เพดานสูงของห้องส่วนนี้ ช่วยให้มวลอากาศร้อนลอยพ้นไปจากพื้นที่ใช้งาน เปิดให้ลมเย็นพัดเข้าสู่ตัวบ้านได้อย่างดี
แพนทรี่
มุมเตรียมอาหารเป็นเคาน์เตอร์สูง อีกมุมประจำที่มีการใช้งานหลากหลาย ทั้งรับประทานอาหารและนั่งทำงาน ในอิริยาบถสบายๆ
เคาน์เตอร์
ครัวไทย
ห้องครัวไทยอยู่ติดกับส่วนแพนทรี่ แต่เลือกแบ่งกั้นเพื่อป้องกันกลิ่นและควันไหลเข้าสู่ภายในบ้าน สามารถส่งเสิร์ฟอาหารจากครัวเข้าสู่ห้องนั่งเล่นได้ผ่านบานเปิดที่ส่วนเตรียมอาหาร
ห้องนอน
ห้องนอนเล็กออกแบบเรียบง่าย โดยมีจุดเด่นที่เพดานซึ่งเลือกออกแบบให้ดูเป็นมุมจั่วคล้ายหลังคาบ้าน สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ของตัวเองเหมือนเป็น “บ้าน” ที่อยู่ใน “บ้าน” อีกที
ห้องนอนใหญ่
ห้องนอนใหญ่ที่มีบานเปิดสู่สวนที่ชานบ้าน เพดานและพื้นไม้สร้างความเชื่อมโยงสู่ธรรมชาติอย่างไร้รอยต่อ

สร้างการเชื่อมโยงจากภายในสู่ภายนอก

ไม่เพียงธรรมชาติโดยรอบเท่านั้น การวางผังอาคารของบ้านหลังนี้แท้จริงแล้ววางผังเป็นรูปตัวแอล (L) ที่แยกออกเป็นปีกพื้นที่ส่วนตัว และปีกที่เป็นเหมือนพื้นที่ส่วนกลาง นั่นทำให้เกิดพื้นที่ที่ถูกโอบล้อมอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างสองปีก และพื้นที่ส่วนนี้เองก็ได้เป็นเหมือนวิวเด่นของบ้านหลังนี้อีกด้วย จากห้องนั่งเล่น เราจะสามารถเห็นวิวดวงอาทิตย์ตกได้ เมื่อถอยออกมาสู่พื้นที่ภายนอกจะเป็นชานนั่งเล่นที่เหมือนกับเป็นพื้นที่รับแขกด้านนอกและสามารถเดินออกไปสู่ธรรมชาติภายนอกได้ในทันที ในบางโอกาสนั้น เจ้าของบ้านยังสามารถเปิดประตูเลื่อนบานใหญ่เพื่อเชื่อมห้องนั่งเล่นและชานเป็นพื้นที่เดียวกันได้อีกด้วย

ชายคา
บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม
พื้นที่ระหว่างสองปีกของตัวบ้าน ออกแบบเป็นชานขนาดใหญ่ และมีแผงระแนงบังแดดสร้างร่มเงาให้กับพื้นที่ทั้งหมด จึงทำให้ชานนี้เป็นเหมือนกับห้องนั่งเล่นที่ไม่มีหลังคา ร่มรื่นใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ประจำของทุกคนในบ้านเช่นกัน
ระแนงอะลูมิเนียม
แนวบรรจบกันของชายคาและระแนงบังแดด เว้นว่างเอาไว้ให้ต้นไม้ได้เติบโต รับแสงธรรมชาติในยามกลางวัน และมองเห็นดาวได้ในยามค่ำคืน เป็นพื้นที่พิเศษของบ้านหลังนี้เลยทีเดียว
ทางสัญจร
ผนังอิฐมอญ
ทางสัญจรหลักของบ้านออกแบบให้ไร้ซึ่งการปรับอากาศโดยสิ้นเชิง แนวผนังอิฐมอญเรียงเว้นช่อง แข็งแรงทนทานและปลอดภัย แต่ยังยอมให้ลมสามารถพัดผ่านได้สะดวก ทั้งยังสามารถมองเห็นภายนอกได้โดยที่ภายในยังรู้สึกเป็นส่วนตัว
 
พื้นที่ระหว่างห้องนั่งเล่นกับชานนอกบ้าน ออกแบบให้มีระดับพื้นที่เท่ากัน เมื่อเปิดประตูเลื่อนบานใหญ่ออก พื้นที่ทั้งหมดจะเชื่อมโยงต่อเนื่องจากภายในสู่ภายนอกอย่างลงตัว
บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม
บรรยากาศยามค่ำคืนของชานนั่งเล่น ด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตย์ที่สร้างความรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนตัวให้พื้นที่นอกบ้านได้เป็นอย่างดี
 
บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม
ด้วยลักษณะของบ้านชั้นเดียว การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม หรือการเปิดพื้นที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติโดยรอบจึงเป็นเหมือนกำไรของงานออกแบบที่ผู้อาศัยสามารถรับความรื่นรมย์ได้แค่เพียงเปิดประตูออกมา ธรรมชาติโดยรอบนั้นยังช่วยสร้างสภาวะสบายให้แก่ผู้อยู่อาศัยอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นร่มเงา หรือลมเย็นๆที่พัดผ่านจากเหล่าแมกไม้เข้าสู่ภายในนั่นเอง

องค์ประกอบทางสถาปัตยที่สร้างพื้นที่พิเศษให้บ้าน

เมื่อพิจารณาถึงทิศรับวิวของห้องนั่งเล่นที่เป็นทิศตะวันตกแล้ว บ่อยครั้งที่จะได้ยินว่าแสงแดดจากทิศตะวันตกนั้นจะทำให้บ้านร้อน แต่ไม่ใช่กับบ้านนี้อย่างแน่นอน ในการออกแบบให้มีชาน และพื้นที่ร่มเงาป้องกันแดดจากภายนอกแล้ว ยังมีอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ช่วยเติมเต็มบ้านหลังนี้ให้สมบูรณ์นั่นคือระแนงขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็น Shading Device ให้พื้นที่ทั้งหมดของบ้านนั่นเอง

ระแนงนี้แท้จริงคือการนำวัสดุอย่างแผงอะลูมิเนียมที่มักจะถูกใช้ในการทำผนังระแนงแนวตั้งเพื่อปิดบังอุปกรณ์เช่นคอมเพรสเซอร์แอร์มาออกแบบใหม่ให้ติดตั้งแทนหลังคา นอกจากที่แผงอะลูมิเนียมนี้จะช่วยกรองแสงได้อย่างดีแล้ว ยังมีการระบายความร้อนที่ดีไม่ทำให้เกิดความร้อนสะสมในโครงสร้างอีกด้วย และเมื่อแผงหลังคานี้ได้เชื่อมปีกทั้งสองของอาคารเข้าหากัน ชานนั่งเล่นจึงเกิดเป็นพื้นที่ส่วนตัวได้มากขึ้นโดยไม่รู้สึกถูกปิดกั้นมากเกินไป

ระแนงอะลูมิเนียม
เสา
เลือกใช้เสาขนาดเล็กประกอบเข้าด้วยกันเพื่อเป็นโครงสร้างรับน้ำหนักของระแนงบังแดด ให้ความรู้สึกคล้ายลำต้นของต้นไม้ ไม่ขวางสายตา กลมกลืนกับธรรมชาติในสวน

เปิดรับบรรยากาศคือกำไรของบ้านชั้นเดียว

เพราะพื้นที่ทั้งหมดของบ้านนั้นออกแบบด้วยความตั้งใจให้เป็นบ้านชั้นเดียวมาตั้งแต่แรก จึงทำให้สามารถสร้างความเชื่อมโยงสู่ธรรมชาติเป็นไปได้ในทุกจุดของบ้านได้โดยสะดวก

บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม

และนี่ก็คือบ้านที่ออกแบบให้เชื่อมโยงกับธรรมชาติด้วยรูปแบบและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่างชัดเจน เป็นงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ

เจ้าของ : คุณจีรนันท์ บุญแก้ว

ออกแบบ : S Pace Studio

รับเหมาก่อสร้าง : ก.กิจรุ่งเรือง จำกัด


เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์

บ้านบุญโฮม บ้านไม้ชั้นเดียวท่ามกลางความเงียบสงบของชนบทแท้

บ้านพื้นถิ่นอีสานร่วมสมัย ในจังหวัดขอนแก่น