บ้านเหล็กทรงกล่อง ที่ปิดเปลือกนอกแล้วเปิดรับแสงธรรมชาติไว้ภายในบ้าน
บ้านเหล็กทรงกล่อง โดดเด่นด้วยแพตเทิร์นฟาซาดสวยแปลกตา บทสรุปของการแก้ปัญหาสระน้ำเก่าของบ้าน โดยเลือกคงโครงสร้างเดิมไว้แล้วปรับปรุงให้เป็นฟังก์ชันใช้งาน เชื่อมต่อสเปซให้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังใหม่ซึ่งสร้างคร่อมไว้ด้านบนได้อย่างแนบเนียน
บ้านเหล็กทรงกล่อง
Design Directory : สถาปนิก : Junsekino A+D
เมื่อถึงเวลามองหาที่ทางขยับขยายครอบครัว ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากอยู่ห่างจากบ้านพ่อแม่ การสร้างบ้านใหม่เคียงข้างหลังเก่าจึงเป็นคำตอบสำหรับเรือนหอของ คุณพฤฒิ – องอาด ทองกองทุน และคุณนุ้ย – ภัณฑิลา คงบันเทิง หลังจากที่ใช้เวลามองหาสถาปนิกอยู่นาน จึงตัดสินใจให้ คุณจูน เซคิโน แห่ง Junsekino A+D ช่วยออกแบบบ้านให้จากโจทย์ใหญ่ของบ้านที่ค้างคามานับสิบปี สู่แนวทางการออกแบบที่หลากหลายก่อนจะมาลงตัวกับบ้านสีขาวทรงกล่องแพตเทิร์นสวยแปลกตาหลังนี้
บ้านเหล็กทรงกล่อง คร่อมสระน้ำเก่า ออกแบบพื้นที่เหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“คุณแม่ไม่ให้ทุบหลังเก่าแน่นอน และไม่อยากให้สร้างบังด้านหน้า พื้นที่การสร้างบ้านเลยมีเท่านี้”
บ้านเหล็กทรงกล่อง ของคู่รักมีที่มาจากโจทย์สำคัญของบ้านที่เจ้าของบ้านปรึกษากับคุณจูน เนื่องจากในที่ดินบริเวณที่จะสร้างเรือนหอนั้น เป็นโกดังเก็บของที่สร้างทับอยู่บนสระน้ำเก่ามาร่วมสิบปี จึงหาทางใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณนี้ ซึ่งการรื้อสระและโกดังเดิมออกนั้นใช้งบประมาณไม่ใช่น้อย จึงปรับมาเป็นฟังก์ชันภายในบ้านแทน
สระน้ำที่วางแผนปรับเป็นห้องนั้นมีปัญหาทั้งเรื่องของเชื้อราและความชื้นสะสม จึงเลาะกระเบื้องเดิมออกทั้งหมด ทำความสะอาดผิวและทำระบบกันชื้นปิดทับโดยที่ยังคงร่องรอยเซาะกระเบื้องที่ขรุขระไว้ ยกพื้นโครงสร้างชั้นหนึ่งขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้ชั้นใต้ดินสามารถระบายอากาศได้ และสูงพอที่จะใช้งานภายในห้องได้สบาย รวมถึงเปิดเพดานชั้นใต้ดินให้โล่งเชื่อมต่อกับพื้นชั้นหนึ่งให้ชะโงกหน้ามองกัน พูดคุยกันได้อย่างสะดวก
บ้านเหล็กทรงกล่อง ความสูงสามชั้น และอีกหนึ่งชั้นใต้ดินที่มีขนาดพื้นที่ใช้งานเกือบ 300 ตารางเมตร แบ่งออกเป็นสี่ส่วนหลักๆ คือชั้นหนึ่งเป็นทั้งห้องนั่งเล่นและห้องครัวในตัว ห้องนอนใหญ่ของคุณพฤฒิและคุณนุ้ยอยู่ที่ชั้นสอง ฟิตเนสและห้องนอนสำรองเผื่อไว้สำหรับลูกในอนาคตอยู่ที่ชั้นสาม ส่วนชั้นใต้ดินเป็นห้องอเนกประสงค์ ที่คุณพฤฒิใช้ทำงานเป็นประจำ ดัดแปลงจากสระน้ำเก่าของบ้านเดิม โดยยังเก็บร่องรอยของอดีตที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและเป็นกันเอง
บ้านเหล็กทรงกล่อง พร้อมฟาซาด “ตู้กับข้าว” ไอเดียการระบายอากาศให้รับลมสบาย ระเบียงใช้งานสะดวก
การกันยุงและแมลงคือหนึ่งในเรื่องที่คำนึงถึงสำหรับการทำช่องเปิด ซึ่งสถาปนิกออกแบบการระบายอากาศที่ทำให้ใช้งานทุกส่วนของบ้านได้อย่างน่าสนใจ “ออกแบบให้กลับด้านมุ้งลวดออกมาคล้ายตู้กับข้าวที่เก็บของไว้ภายใน ต้องการรับแสง ระบายอากาศ ต้องการกันยุง ก็กันตั้งแต่ภายนอกไปเลย ข้างในก็ไม่ต้องมีมุ้งลวด”
ถัดจากฟาซาดเข้ามา คือส่วนระเบียงที่ยาวล้อมตัวบ้านในฝั่งทิศใต้และทิศตะวันตก ช่วยลดความร้อนแรงจากแสงแดดในเวลากลางวัน เวลากลางคืนก็ไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ สามารถเปิดหน้าต่างรับลม ออกไปเดินเล่นได้ตลอดโดยที่แทบไม่ต้องกังวลเรื่องยุง ซึ่งในอนาคต คุณพฤฒิและคุณนุ้ยก็มีแผนปลูกต้นไม้ที่ระเบียงเพื่อสร้างมุมสีเขียวส่วนตัวบนอาคารอีกด้วย
ฟาซาดโปร่ง ปรับแสงให้นุ่มละมุนและให้ความเป็นส่วนตัวไปพร้อมๆ กัน
กล่องสีขาวที่มองเผินๆ อาจดูไม่ออกว่านี่คืออาคารสามชั้น เนื่องจากเส้นแบ่งอาคารนั้นถูกกลืนไปกับเส้นสายการสลับสับเปลี่ยนกรอบฟาซาดสี่รูปแบบ ได้แก่ ช่องกรุอะคริลิกโปร่งแสง ช่องทึบกรุด้วยแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ มุ้งลวดกันแมลง และบานหน้าต่างเปิด-ปิด ช่วยละลายขนาดของอาคารให้ดูเล็กลง พรางแสงแดดจัดที่เข้าสู่บ้านในระหว่างวันจากทิศใต้และทิศตะวันตก ส่วนผนังด้านทิศเหนือก่อบล็อกแก้วเต็มผืนที่ช่วยกระจายแสงให้นุ่มนวล สามารถใช้งานระหว่างวันได้อย่างสบายโดยที่ไม่ต้องเปิดไฟ ตรงกับความต้องการของคุณพฤฒิที่ไม่ต้องการให้ภายในบ้านใช้แสงประดิษฐ์จากหลอดไฟอย่างเดียว ขอให้มีแสงธรรมชาติเข้ามาสลับบรรยากาศด้วย ชึ่งสีของบ้านจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามอุณหภูมิสีของแสงแดดในแต่ละช่วงเวลา บ้างก็เป็นสีฟ้าจัด บ้างก็เป็นสีเหลืองละมุนตา ในขณะที่เวลากลางคืนก็สว่างเรืองรองด้วยแสงไฟเมื่อมองจากระยะไกล
ชิมไปบ่นไป ไม่อร่อยก็ทำใหม่
จากความต้องการแรกที่จะให้เป็นบ้านสไตล์มินิมัล ที่ปิดชั้นใต้ดินเป็นห้องเก็บของ ก็ค่อยๆ คลี่คลายและปรับแบบหลายต่อหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยถึงเรื่องหน้าตาอาคารหลากรูปแบบ กว่าจะเจอแบบปัจจุบันซึ่งเมื่อเห็นก็รู้สึกชอบเลย การขยายช่องเปิดที่แลกมากับพื้นที่การใช้งานซึ่งก็ถือว่าคุ้มค่า และปรับผังห้องที่เผื่อการใช้งานให้สะดวกสบายในอนาคตระยะไกลขึ้น
“ชิมไปบ่นไป ไม่อร่อยก็ทำใหม่” จึงเป็นบทสรุปการสร้างบ้านจากสถาปนิก เพราะมีการการปรับแบบ ทดลอง ยังไม่ถูกใจก็ทำใหม่ ทำให้บ้านหลังนี้เหมือนเป็นงานฝีมือชิ้นหนึ่ง ซึ่งภายใต้ความเรียบของบ้าน ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ก็เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ค่อยๆ เสริมเติมแต่งเข้ามาทีละน้อย ตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มออกแบบ จนเมื่อก่อสร้างก็ตรงกับสถานการณ์โรคระบาดพอดี ทำบ้างสลับหยุดบ้าง ไม่ว่าจะหยุดเพื่อหาข้อมูลตัดสินใจ หยุดเพื่อหาทุนก่อสร้างเพิ่ม หรือแม้แต่หยุดตามสถานการณ์โรคระบาดซึ่งบางช่วงก็กินเวลากว่าหกเดือน กว่าจะเสร็จทั้งหลังก็ใช้เวลาร่วมสองปี ซึ่งก็คุ้มค่ากับการได้บ้านที่ตรงใจทั้งด้านการออกแบบ ฟังก์ชัน งบประมาณตามที่คุณพฤฒิได้พูดถึงความรู้สึกหลังเข้าอยู่ไว้สั้นๆ ว่า “โล่ง สบายใจ ได้ตามอย่างที่ต้องการจริงๆ”
เจ้าของ : คุณองอาด ทองกองทุน และคุณภัณฑิลา คงบันเทิง
ออกแบบสถาปัตยกรรม : Junsekino A+D โดยคุณคุณจูน เซคิโน
เรื่อง : ณัฐวรา ธวบุรี
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : Suntreeya