วันผึ้งโลก เพราะโลกจำเป็นต้องมีผึ้ง

วันผึ้งโลก ที่เราควรหันกลับมามอง ใส่ใจ และเห็นคุณค่าของเหล่านักผสมเกสรตัวน้อย เพื่ออนาคตของทุกชีวิตในโลกใบนี้

วันผึ้งโลก

วันผึ้งโลก “นี่คือจุดเริ่มต้นของภารกิจอันใหญ่หลวงในการพิทักษ์เหล่าผึ้งและแมลงผสมเกสร และไม่ใช่แค่เพียงลมปาก แต่เราต้องทำ” แปลมาจากประโยคของ เดยัน ซีดาน (Dejan Židan) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และอาหารของสาธารณรัฐสโลวีเนีย ในฐานะหัวหน้าโครงการ “World Bee Day”

โครงการ “World Bee Day” หรือ “วันผึ้งโลก” ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ซึ่งในปี ค.ศ. 2021 นี้มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 194 ประเทศรวมถึงประเทศไทย และยังมีสมาชิกสมทบอีก 2 ประเทศ โครงการนี้ได้รับการอนุมัติโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ในปี ค.ศ. 2017 ให้ระบุวันที่ 20พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันผึ้งโลก โดยยึดตรงกับวันเกิดของ Anton Janša ผู้ที่บุกเบิกวงการเลี้ยงผึ้งสมัยใหม่ (modern apiculture) เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงความสำคัญของผึ้งและสัตว์ที่ช่วยผสมเกสรอื่นๆ

ผึ้ง มีบทบาททั้งในแง่ของการช่วยให้มนุษย์มีอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก และในแง่ของการมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ ทั้งนี้ ด้วยความที่ผึ้งเป็นตัวช่วยผสมเกสรที่สำคัญของพืชดอก ทำให้พืชสามารถสืบพันธุ์ติดผลได้ดี นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าผึ้งมีบทบาทในการผลิตผลผลิตทางการเกษตรให้กว่า 87% ของผลผลิตทั่วโลก

ทว่า สถานการณ์ของผึ้งในปัจจุบันกลับไม่สู้ดีนัก ขณะที่เรากำลังเผชิญกับปัญหาสภาวะโลกร้อน การขยายตัวของชุมชนเมือง การบุกรุกพื้นที่ธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ในปัจจุบันผึ้งและสัตว์ที่ช่วยผสมเกสรอื่นๆ มีอัตราการตายที่สูงขึ้นมาก และมีอัตราการสูญพันธุ์มากกว่าปกติ ดังนั้นจึงถือวันผึ้งโลกนี้เป็นช่องทางการสื่อสารเพื่อให้เราตระหนักถึงความสำคัญของผึ้งและเหล่าแมลงผสมเกสรอื่นๆ


อ้างอิงข้อมูลบทความ : ฐานข้อมูลตัวอย่างผึ้งในประเทศไทย

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


บทความที่เกี่ยวข้อง

รวม 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ผึ้ง นักผสมเกสรตัวจิ๋ว

รู้จักต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำรัชกาลที่10

ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com