สวนสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนกึ่งทัสกานี ที่ดูอบอุ่นและโรแมนติก

บ้านสไตล์ทัสกานีหลังคาทรงปั้นหยาค่อนข้างลาด ประตูหน้าต่างตกแต่งด้วยซุ้มโค้ง ผนังบางส่วนมีต้นตีนตุ๊กแกใบสีเขียวเข้มเลื้อยเกาะตัดกับผนังสีเหลืองสะดุดตา บริเวณหน้าบ้านเป็น สวนสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนกึ่งทัสกานี

เห็นต้นโอลีฟเด่นที่ริมสระว่ายน้ำ พร้อมปลูกไม้พุ่มเล็กพุ่มน้อยและไม้ดอกหลากหลายสีสัน เป็นสวนที่ดูเรียบง่ายแต่ก็มีดีเทลชวนมอง ไม่ได้ดูหวือหวาจนข่มสถาปัตยกรรมที่งดงามของตัวบ้าน แต่ สวนสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนกึ่งทัสกานี นี้ กลับดูกลมกลืนและช่วยส่งเสริมให้รู้สึกถึงบ้านแถบชนบทในอิตาลีที่ดูอบอุ่นและโรแมนติก

สวนต้อนรับหรือมุมรับแขกบริเวณหน้าบ้านติดกับลานจอดรถ เดิมเป็นมุมสวนที่ปลูกต้นไม้ไว้จำนวนมาก คุณหญิงรักต้นไม้มาก ไม่อยากให้รื้อออก คุณสราใช้วิธีค่อย ๆ นำต้นไม้เดิมออกและนำต้นใหม่มาปลูกแทน ค่อยๆ แทรกแซงพื้นที่ไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาอยู่เป็นเดือนกว่าจะกล่อมเจ้าของบ้านได้สำเร็จว่าปรับแต่งเปลี่ยนต้นไม้แล้วมุมสวนนี้จะสวยขึ้น

“เดิมหน้าบ้านเป็นสวนอังกฤษค่ะ ทำไว้ตั้งแต่ 10 ปีก่อน สวนก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา อยากให้ลูก ๆ ได้ออกมาวิ่งเล่นนอกบ้าน เลยคิดจะรีโนเวตสวนใหม่ทั้งหมดค่ะ คุณสามีเห็นผลงานของ คุณสรา สราวุธ ทูละมาลย์ จากรายการบ้านและสวนทีวี เราชอบกันมากค่ะ หลัก ๆ คืออยากได้ทางเดินในสวนที่เดินสะดวก ไม่ต้องดูแลอะไรมาก เราชอบสวนสไตล์ทัสกานี เป็นภาพจำที่ประทับใจตั้งแต่ครั้งเดินทางไปฮันนีมูนกันที่นั่น” คุณหญิง เจ้าของบ้าน เล่าที่มาของสวนแห่งนี้ให้เราฟัง

“คุณหญิงรู้จักผมจากผลงานออกแบบจัดสวนบ้านคุณมาร์ค ธาวิน ที่ออกอากาศไปเมื่อ 5 ปีก่อนครับ ผมเป็นคนเก็บข้อมูลลูกค้าเยอะมากก่อนจะออกแบบ สังเกตบุคลิกลักษณะของเจ้าของบ้าน ความคิดความชอบต่าง ๆ เพื่อจะออกแบบสวนให้เข้ากับเขามากที่สุด ในงานออกแบบสวนผมจะใส่ตัวตนของผมเข้าไป 35 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะเป็นตัวตนของลูกค้า คุณหญิงและสามีเป็นคนสมัยใหม่ ชอบงานศิลปะ เป็นคนที่มีความเนี้ยบมาก ๆ มีดีเทลที่ละเอียดยิบ ๆ และรักต้นไม้มาก ๆ ด้วย ส่วนคุณผู้ชายก็ชอบอะไรที่ดูเรียบง่ายและเท่ครับ

สวนสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนกึ่งทัสกานี
พื้นที่จัดสวนขนาด 250 ตารางเมตร ด้านหน้าบ้านมีลักษณะแคบยาวขนานไปกับอาคาร ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก คุณสราตั้งใจออกแบบให้เป็นทางเดินที่เดินง่าย ๆ ไม่ต้องดูแลมากนัก ปูคาร์เพ็ตสโตนหินแกรนิตแท้ สองข้างทางเติมต้นไม้เพิ่มความร่มรื่น

“คุณหญิงส่งภาพสวนสไตล์ทัสกานีที่ชอบมาให้ดู แต่ผมว่ารายละเอียดค่อนข้างเยอะแข่งกับตัวบ้านเกินไป และไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีลักษณะแคบยาวแบบนี้ ผมเสนอให้เป็นสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนที่ดูเรียบง่ายสวยงามลงตัวมากกว่าแทนครับ”

“ตอนที่คุณสราค้านและให้เหตุผลว่าสวนสไตล์ทัสกานีไม่เหมาะ ก็เห็นด้วยนะคะ แต่ด้วยความที่เป็นคนมีดีเทลเยอะค่ะ (หัวเราะ) สวนเมดิเตอร์เรเนียนดูเรียบไปสำหรับเรา อยากให้สวนมีลูกเล่นที่ทำให้หันไปดูบ้าง เลยขอผสมทั้งสองสไตล์เข้าด้วยกัน .. เป็นคนชอบต้นไม้มากค่ะ อย่างไม้ใหญ่ที่เห็นก็ไปเลือกมาเองทั้งหมด ไปดูตั้ง 5 จังหวัดเพื่อจะหาต้นที่ชอบมากที่สุด ต้นที่ฟอร์มสวยแตกกิ่งโน้มโค้งรับกับบ้านเรา คุณสราให้เราได้มีส่วนร่วมหลายเรื่องนะคะ ได้เลือกกระถาง ของแต่งสวน รวมไปถึงน้ำพุ ได้ไปดูและเลือกต้นไม้ดอกไม้เอง บางครั้งไปเจอของแล้วชอบก็จะปรึกษาว่าโอเคไหมค่ะ” คุณหญิงกล่าวเสริมด้วยรอยยิ้ม

สวนสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนกึ่งทัสกานี
พื้นที่สวนส่วนที่เหลือจะโรยปิดด้วยกรวดทั้งหมดเพื่อไม่ให้มองเห็นดินตามสไตล์การจัดสวนของคุณสรา ปูด้านล่างด้วยพลาสติกชีตแทนการใช้จีโอเท็กซ์ไทล์ซึ่งหญ้ามักขึ้นแทรกได้ จากนั้นปูตาข่ายสีดำทับอีกชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้กรวดหินจม โรยกรวดให้มีความหนาแค่บังไม่ให้เห็นตาข่ายด้านล่างก็พอ

“แม้เจ้าของบ้านจะบอกว่าชอบสไตล์งานของผมมาก ให้อิสระในการออกแบบได้เต็มที่ แต่ผมคิดว่าเราก็ควรต้องเอาใจลูกค้าด้วย ผมออกแบบให้งานฮาร์ดสเคปดูเรียบเท่ตามสไตล์คุณผู้ชาย ส่วนต้นไม้ ของตกแต่งต่าง ๆ จะลงดีเทลละเอียดสไตล์คุณผู้หญิง ทางเดินในสวนออกแบบให้เป็นเส้นโค้งปูพื้นด้วยคอบเบิลสโตนสีเทาที่ดูเรียบเท่ ให้เจ้าของบ้านทั้งสองท่านจับมือเดินไปด้วยกันครับ

ด้านในสุดเป็นลานโล่งที่รกร้าง มีสัตว์ไม่พึงประสงค์ เช่น ตุ๊กแก มาอาศัย มีต้นไม้ใหญ่และมีปัญหาดินทรุด จึงต้องปรับแต่งใหม่ให้ดูโล่งสะอาดตามากขึ้น กรุผนังทำเป็นฉากตั้งกระถางต้นไม้สวย ๆ แทนการจัดสวน เนื่องจากบริเวณนี้ค่อนข้างร่ม มุมนี้มองเห็นได้จากห้องทำกิจกรรมของลูก ๆ ที่ต่อเติมขึ้นมาใหม่ เป็นการแก้ปัญหามุมอับให้กลายเป็นมุมเด่นตามโจทย์ที่เจ้าของบ้านต้องการ

“ทางเดินถือเป็นพระเอกของสวนนี้ ผมออกแบบเป็นเส้นโค้งฟรีสไตล์ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย งานฮาร์ดสเคปของสวนนี้ไม่ได้ลงเสาเข็มนะครับ เนื่องจากมีต้นไม้ใหญ่ของเดิมอยู่ การลงเสาเข็มอาจกระทบกระเทือนรากใต้ดินทำให้เกิดความเสียหายได้ โครงสร้างด้านล่างของทางเดินทั้งหมดเราจะเทปูนให้หนากว่าปกติ ประมาณ 15 เซนติเมตร และใช้เหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 มิลลิเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ตีตารางถี่ขนาด 15×15 เซนติเมตร ปูด้วยผืนคาร์เพ็ตสโตนที่ทำจากหินแกรนิตแท้ ทำให้ต้องค่อย ๆ ตัดแต่งขอบไปตามรูปทรงที่ออกแบบไว้ครับ

สวนสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนกึ่งทัสกานี

“สวนสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนในมุมมองของผมคือ เรื่องของโทนสีที่จะเป็นสีเขียวและสีฟ้าบลูนิด ๆ ให้ฟีลสวนฝรั่งที่เป็นทุ่งแล้ง ๆ นิด ๆ ครับ ต้นไม้ที่เลือกนำมาใช้ส่วนใหญ่เป็นต้นที่โตช้า มีลักษณะเป็นพุ่ม มีฟอร์มต้นเด่นชัดสวยงามในตัวเองโดยไม่ต้องตัดแต่ง คุมโทนสีเขียว สีเทา สีฟ้าบลูเป็นหลัก ต้นไม้บางต้นอาจดูแปลกตาต่างไปจากที่ใช้จัดสวนทั่วไปบ้าง เพราะเป็นต้นไม้จากเนิร์สเซอรี่ของผมเองที่ผ่านการทดลองเลี้ยงมาแล้วว่าสามารถเติบโตในบ้านเราได้ครับ

จันทร์ฉาย (Coreopsis) มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ดอกไม้ไหว ตาเสือ ไม้ดอกล้มลุกอายุหลายเดือน โตเร็ว ทนแล้งได้ดี ชอบดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี ชอบแสงแดดเต็มวัน

“จากโจทย์ที่คุณหญิงชอบดอกไม้แต่ไม่ค่อยรู้จัก ผมแก้ปัญหาด้วยการพาไปเลือกซื้อเลือกดูดอกไม้ด้วยกัน เราเองก็จะได้รู้ด้วยว่าลูกค้าชอบประมาณไหน ผมใช้ไม้ดอกอายุหลายปีเป็นส่วนใหญ่ อาจมีไม้ดอกล้มลุกปนอยู่บ้าง เพื่อช่วยเพิ่มสีสันและสามารถปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการในแต่ละช่วงเวลา ไม่เลือกใช้สีสดเกินไป ใช้โทนสีม่วงเป็นหลักครับ มีสีเหลืองปนบ้างแต่ก็แค่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ผมว่าการคุมโทนสีของสวนเป็นเรื่องสำคัญครับ”

สวนสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนกึ่งทัสกานี

คำว่า “ระบบนิเวศของคุณสรา” ที่คุณสราใช้เรียกในงานออกแบบของตัวเองนั้น เขาเล่าที่มาของคำนี้ว่า “ผมชอบท่องเที่ยวเดินป่าครับ สังเกตไหมครับว่าเวลาเราไปเที่ยวป่าไม่ว่าจะกี่ครั้งป่าก็ยังสวย ทั้งที่ไม่มีใครคอยดูแล ต้นไม้ต่างก็อยู่ได้อย่างสวยงาม อุดมสมบูรณ์ นั่นเพราะต้นไม้อยู่กันเป็นระบบนิเวศ ผมนำแนวคิดนี้มาใช้ในการออกแบบสวนครับ การจัดสวนแบบระบบนิเวศที่ให้ต้นไม้เกื้อกูลกันโดยที่เราไม่ต้องดูแลมากนัก แค่เก็บเศษใบไม้แห้ง ตัดแต่งกิ่งที่ลามออกมาบ้าง ที่เหลือก็ปล่อยให้ต้นไม้ดูแลกันเอง ทั้งเจ้าของสวน พืชพันธุ์ สัตว์ต่าง ๆ เช่น แมลง ผีเสื้อ และแสงแดด ต่างก็มีความสัมพันธ์ อยู่ร่วมกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นระบบนิเวศในบ้านที่เราสร้างขึ้นเองครับ”

นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนพฤษภาคม 2567
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : อนุพงษ์  ฉายสุขเกษม
ออกแบบ : บริษัทบ้านสราคอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยคุณสราวุธ ทูละมาลย์