บ้านเพิงหมาแหงน

บ้านเพิงหมาแหงน บ้านชั้นเดียวแสนสบายในพื้นที่กันดาร

บ้านเพิงหมาแหงน
บ้านเพิงหมาแหงน

บ้านเพิงหมาแหงน ที่ออกแบบอย่างชาญฉลาด ทำของธรรมดาให้ดูมีคุณค่าขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านรูปทรงเพิงหมาแหงน หลังคากระเบื้องลอนคู่ บล็อกซีเมนต์ ผนังปูนผสมสีฝุ่น รวมไปถึงต้นไม้ทนแดดทนฝนไม่กี่ต้นที่ดูเหมาะเจาะกันไปหมด

Design Directory : สถาปนิก : Erix Design Concepts 

ผนังอิฐบล็อกช่องลม
ก่อนเข้าสู่บริเวณบ้านมีการกั้นพื้นที่คล้ายห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ปราศจากหลังคาและหน้าต่าง ใช้การเว้นช่องว่างแทนประตู ผนังรอบๆ ก่อซีเมนต์บล็อกแบบเรียบๆ เจ้าของบ้านบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากสไตล์ญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างที่ดีของการเลือกใช้ของพื้นๆ ให้ดูดีได้
ลานกรวด
ระแนงไม้ยูคาลิปตัส
การตีระแนงไม้ยูคาลิปตัสลอกเปลือกออกตามแนวนอน เหมาะกับพื้นที่ที่ต้องการความปลอดโปร่ง มีอากาศหมุนเวียนตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ช่วยอำพรางให้พื้นที่ดูไม่โล่งเกินไป ทั้งยังให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติด้วย

บ้านเพิงหมาแหงน หลังนี้ตั้งอยู่ที่หัวหิน นอกจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามแล้ว ด้วยมนตร์เสน่ห์ของความเป็นเมืองเล็กๆ ทำให้ใครต่อใครใฝ่ฝันอยากมีบ้านพักผ่อน ณ สถานที่แห่งนี้ รวมถึง Mr.Erik Schmid และคุณณัฐภาคย์ พัฒนาพรหมชัย เจ้าของบ้านหลังนี้ แต่ปัจจุบันราคาที่ดินริมหาดนั้นสูงมาก เจ้าของบ้านทั้งสองจึงเปลี่ยนความตั้งใจมาสร้างบ้านอยู่บนเนินเขา ซึ่งห่างจากหาดหัวหินออกมาหลายกิโลเมตร แม้สภาพโดยทั่วไปของที่ดินจะดูแห้งแล้ง ไม่มีความร่มรื่นเท่าใดนัก แต่ก็สามารถสร้างบ้านได้น่าอยู่และน่าสบาย

บ้านเพิงหมาแหงน
การระบายน้ำ
บนพื้นที่ที่ดูโล่งๆ เช่นนี้อาจมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำฝน เพราะเป็นพื้นที่ที่โดนปิดล้อมด้วยพื้นและผนังคอนกรีต เจ้าของบ้านจึงฝังท่อระบายน้ำไว้ แล้วโรยหินปิดทับ ทำให้มองไม่เห็นฝาท่อ
ครัวเปิด
เคาน์เตอร์ปูนยาวมีการออกแบบเว้นช่วงกลางให้เป็นเตาบาร์บีคิว เหนือเตาก็มีช่องเปิดเพื่อระบายควัน  
เคาน์เตอร์ครัวปูน
ผนังปูนฉาบที่ผสมสีฝุ่นลงในเนื้อปูน แม้จะให้สีไม่เรียบเสมอกัน รวมถึงอาจมีรอยร้าวเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ แต่เจ้าของบ้านบอกว่านี่คือเสน่ห์ของเนื้อปูน
บ้านเพิงหมาแหงน
เพื่อตัดปัญหาเรื่องปลวก สังเกตว่าผนังเกือบทุกส่วนของบ้านจะเป็นผนังฉาบปูน โดยบางส่วนก็มีการผสมสีฝุ่นในเนื้อปูนเพื่อให้บ้านดูมีสีสัน ส่วนในพื้นที่เปิดโล่งก็จะโชว์งานโครงสร้าง อาทิ หลังคากระเบื้องลอนคู่เสาเหล็กทรงกระบอกสี่เหลี่ยมกลวงตั้งอยู่บนเสาคอนกรีต พื้นปูแผ่นปูนผิวหยาบ ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องแดดหรือฝน

บ้านชั้นเดียวหลังนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ไม่เสมอกัน มีทั้งส่วนที่ตั้งอยู่บนพื้นดิน และบางส่วนก็มีการยกพื้นสูงทำให้มีพื้นที่ใต้ถุน ตัวบ้านประกอบด้วยสองส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือเรือนใหญ่ออกแบบเป็นสองเรือน โดยวางตำแหน่งเรือนเป็นรูปตัวแอล (L) เว้นพื้นที่โล่งขนาดใหญ่ตรงมุมระหว่างทั้งสองเรือน มีทางเดินซึ่งมีหลังคาคลุมเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน หลังแรกเป็นห้องนอนใหญ่และมุมพักผ่อน ส่วนอีกหลังเป็นส่วนนั่งเล่นและแพนทรี่ หน้าเรือนนี้จัดวางโต๊ะรับประทานอาหารขนาดใหญ่ ส่วนที่สองเป็นเป็นเรือนรับรองแขก ประกอบด้วยห้องนอนสองห้องพร้อมห้องน้ำ ส่วนนี้สร้างแยกออกไปเป็นเอกเทศ แต่ก็มีทางเดินเชื่อมต่อกับเรือนใหญ่

เคาน์เตอร์บาร์
เคาน์เตอร์บาร์กรุหินแกรนิตสีเทา ตู้แพนทรี่ดูจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในบ้านทำจากไม้แอช ผนังห้องด้านในสุดกรุไม้ยาง
มุมนั่งเล่น
ภายในเรือนส่วนนั่งเล่นและแพนทรี่ พื้นห้องเป็นปูนผสมสีฝุ่นสีขาว กลางพื้นที่นั่งเล่นห้อยโคมเพดานเป็นไม้แกะสลักรูปเขากวางซื้อจากเชียงใหม่ โต๊ะกลางกับสตูลสูงสไตล์จีนเป็นของที่ออกแบบและสั่งทำ
บ้านเพิงหมาแหงน
มุมพักผ่อนหน้าห้องนอนใหญ่ ซึ่งใช้เป็นที่นั่งเล่นและรับแขก ที่นั่งทำเป็นแท่นปูนยาวรูปตัวแอล (L) แล้ววางเบาะกับหมอนอิง บริเวณผนังด้านหนึ่งเว้นช่องสำหรับวางของตกแต่ง ส่วนผนังที่เหลือเป็นผนังปูนฉาบที่ผสมสีฝุ่นสีเหลืองลงในเนื้อปูน คุณอีริคบอกว่า “สีฝุ่นสีเหลืองที่ผสมลงในปูนฉาบได้อิทธิพลมาจากสีทาบ้านในเวียดนามแต่ของเขาเป็นสไตล์โคโลเนียล ผมชอบเพราะว่าให้สีไม่เรียบเสมอกัน” พื้นปูแผ่นซีเมนต์สำาเร็จรูป
ห้องนอนใหญ่
ห้องนอนใหญ่ตกแต่งด้วยสีดำมากกว่าห้องอื่น แต่ก็ดูไม่อึดอัด เพราะด้านปลายเตียงเป็นช่องแสงและหน้าต่างบานเกล็ดกระจกใส วางอยู่บนฐานแท่นปูนยาวตลอดแนวห้อง ซึ่งใช้เป็นส่วนนั่งเล่นได้ด้วย ด้านในสุดวางโต๊ะทำงานสไตล์จีนแบบเรียบๆ ผนังด้านหัวเตียงตกแต่งด้วยไม้ต่อลาย เป็นของเก่าจากจีน ช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้ผนัง พื้นห้องปูพรมทอของ Beyond Living
ห้องน้ำ
 ห้องน้ำในห้องนอนใหญ่ ด้านหนึ่งก่อเคาน์เตอร์ปูนเปลือยวางอ่างล้างหน้า เจาะช่องแสงด้านข้าง ได้จังหวะแสงที่ไม่รบกวนสายตา ด้านขวาเป็นตู้เสื้อผ้าปูนเปลือยไม่มีบานเปิด แต่ใช้ผ้าเนื้อหนา ใส่รางเลื่อนห้อยยาวลงมาถึงพื้นแทน

ด้วยความที่เจ้าของบ้านทั้งสองเป็นสถาปนิก จึงมีการวางแผนที่ดีสำหรับการสร้าง บ้านเพิงหมาแหงน คุณณัฐภาคย์บอกว่า “เราต้องหาที่ดินเพื่อสร้างบ้านหลายแห่งด้วยกัน เมื่อเจอที่หนึ่งก็จะออกแบบบ้านไว้โดยที่ยังไม่ได้ตกลงซื้อขายกันเลย แต่พอซื้อที่เก่าไม่ได้ ก็ต้องหาที่ใหม่แล้วก็ต้องออกแบบบ้านใหม่อีกหลัง กระทั่งมาเจอที่ตรงนี้พอซื้อได้ก็คิดเลยว่าจะวางตำแหน่งบ้านไว้ตรงไหน เนื่องจากบ้านในแถบนี้จะปลูกสร้างกันแบบง่ายๆ ลักษณะเหมือน บ้านเพิงหมาแหงน ชั้นเดียว เราก็คิดว่าน่าจะทำให้กลมกลืนกันครับ”

คุณอีริคให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ส่วนของบ้านที่มีการยกพื้นสูง เราใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใต้ถุนเป็นที่เก็บซ่อนงานระบบต่างๆ ทั้งท่อน้ำและเครื่องคอมเพรสเซอร์ ซึ่งช่วยให้เราเข้าไปซ่อมแซมได้สะดวก รายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรากำหนดไว้แล้ว ฉะนั้นเวลาก่อสร้างจริงจึงไม่มีปัญหาให้ต้องแก้ไข บ้านหลังนี้จึงเสร็จด้วยความรวดเร็ว ภายในเวลาเพียงสามเดือน เราก็เข้ามาอยู่ได้แล้ว”

บ้านเพิงหมาแหงน
อีกด้านหนึ่งของบ้านมองเห็นพื้นที่ส่วนกลางเปิดโล่ง ระดับพื้นที่ที่ต่างกันทำให้มีส่วนของ “ใต้ถุน” เหมือนกับบ้านไทยรุ่นเก่า เจ้าของบ้านใช้ประโยชน์เป็นที่ติดตั้งงานระบบทั้งหมด นอกจากนี้ช่องว่างช่วงล่างยังมีส่วนช่วยในการระบายอากาศ ทำให้บ้านไม่ร้อนด้วย
เฉลียงบ้าน
เฉลียงนั่งเล่นด้านข้างห้องนอนแขกแบบญี่ปุ่น แท่นปูนที่ยกระดับขึ้นมาไม่เพียงทำหน้าที่เป็นราวกันตก แต่ยังใช้เป็นที่นั่งเล่นได้ด้วย มุมนี้เปิดรับวิวได้โล่งกว้าง
ห้องนอนญี่ปุ่น
  ห้องนอนแขกอีกห้องเลียนแบบสไตล์ญี่ปุ่น โดยฝังเสื่อทาตามิไว้ในพื้น ห้องนี้ต่างจากทุกห้องตรงที่เลือกใช้บานเลื่อนแทนบานเปิด ด้านในของห้องทำเป็นชั้นปูนเปลือย เจ้าของบ้านตั้งใจจัดวางตะกร้าเก็บสับปะรดซึ่งเป็นของใช้ในท้องถิ่น เพราะเดิมบริเวณนี้เคยเป็นไร่สับปะรดมาก่อน
ริมผนังในห้องนอนแขกก่อช่องสูงจากพื้นขึ้นมาประมาณ 50 เซนติเมตร ด้านบนทำาบานปิดไม้ ใช้เป็นส่วนเก็บเครื่องนอน 
ทำพื้นเป็นช่องต่างระดับ เพื่อใช้เป็นส่วนวางเสื่อทาตามิ ให้พอดีกับพื้นห้อง ทำให้เสื่อไม่เคลื่อนที่และดูเรียบร้อย
ห้องนอนแขก
ห้องนอนแขกห้องนี้จัดวางเตียงเดี่ยวคู่กัน ช่องแสงขนาดใหญ่ด้านปลายเตียงอยู่ในตำแหน่งที่แสงแดดไม่ส่องมาโดนโดยตรง จึงได้แสงสว่างแต่ไม่ร้อน

เพราะเป็นบ้านที่อยู่บนเนิน เต็มไปด้วยหินภูเขา จึงไม่จำเป็นต้องตอกเสาเข็ม สามารถเทฐานรากตั้งเสาคอนกรีตได้เลย ตัวบ้านในบริเวณที่เปิดโล่งออกแบบให้โชว์เสาเหล็กด้านบนที่รองรับโครงหลังคาเหล็กมุงกระเบื้องลอนคู่ ส่วนพื้นที่ภายในบ้านก่อปูนปิดเสาเหล็กทั้งหมด ตัวบ้านเกือบทุกส่วนเป็นปูนเปลือย แต่บางส่วนก็มีการผสมสีฝุ่นลงในเนื้อปูนแล้วค่อยฉาบ เจ้าของบ้านเลือกใช้สีเทา สีดำ และสีเหลืองสลับในจังหวะต่างกัน แต่ก็ให้ความรู้สึกลงตัว

การตกแต่งภายในเน้นแบบเรียบๆ ผนังและพื้นใช้วัสดุปูนเปลือยผสมสีฝุ่นสีขาว สีเทา และสีดำ เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวและของตกแต่งส่วนใหญ่เจ้าของก็เลือกซื้อไว้ก่อนลงมือสร้างบ้าน งานบิลท์อินมีเฉพาะในส่วนแพนทรี่ ห้องเก็บของ และห้องนอน ซึ่งเป็นการทำพร้อมตัวบ้าน โดยทำเป็นแท่นซีเมนต์ยกระดับจากพื้นห้องติดขอบผนัง 

ผนังปูนก่อเป็นรูปตัวยู (U) เพื่อเป็นที่บรรจุตู้เก็บของและตู้เย็น การออกแบบในลักษณะเปิดโล่งเช่นนี้ทำให้ตู้เย็นระบายความร้อนได้สะดวก และยังช่วยกั้นส่วนใช้สอย อื่นๆที่ต่อเนื่องกันให้แยกเป็นสัดส่วน
ห้องเก็บของ
ห้องเก็บของ ก่อผนังปูนเป็นแนวตั้ง แล้วติดเหล็กฉากสำหรับรับชั้นไม้แบบเรียบ  
ผนังเกือบทุกส่วนในบ้านจะทำาเป็นปูนผิวด้าน แต่บริเวณเตาในแพนทรี่ เจ้าของบ้านเลือกใช้หินแกรนิตผิวมันสีเทามากรุผนังแทน เพราะสามารถทำความสะอาดคราบต่างๆได้ง่ายกว่า
หากมองไกลๆ อาจดูเหมือนเป็นทางเดินปูนสลับกับหินกรวดซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป แต่ที่เห็นนี้เป็นการนำแผ่นพื้นสำเร็จรูปมาใช้ โดยมากแผ่นชนิดนี้จะใช้กับการทำพื้นห้องมากกว่า ข้อดีคือมีความแข็งแรงมากและเรียบร้อย แต่ราคาก็แพงกว่าแผ่นปูพื้นชนิดอื่นๆ

แม้ตัวบ้านจะตั้งอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างแห้งแล้ง กันดาร แต่ดูเหมือนเจ้าของบ้านจะพอใจกับบ้านหลังนี้เป็นอย่างยิ่ง นั่นเป็นเพราะที่นี่มีคนไม่พลุกพล่าน จึงได้ความสงบ ซึ่งเหมาะแก่การพักผ่อนจริงๆ 

เจ้าของ : Mr.Erik Schmid และคุณณัฐภาคย์ พัฒนาพรหมชัย

สถาปนิก-ตกแต่งภายใน :  Erix Design Concepts 


เรื่อง : จัตตริน  

ภาพ : สังวาล พระเทพ

บ้านไม้ แบบไทยๆ กลิ่นอายโมเดิร์นของ ป๊อด ธนชัย อุชชิน (ป๊อด โมเดิร์นด็อก)

รวม 3 แบบบ้านชั้นเดียวหลังคาเพิงหมาแหงน