[DAILY GUIDE] ภูมิปัญญาจาก บ้านเรือนไทย

บ้านเรือนไทย ใต้ถุนสูง

บ้านเรือนไทย มีรากฐานการออกแบบมาจากการเข้าใจธรรมชาติและสภาพแวดล้อม และมีการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้อย่างชาญฉลาด

ซึ่งหากมองให้ลึกถึงรายละเอียดในการออกแบบแล้ว เราก็สามารถนำไอเดียดีๆของบ้านเรือนไทยมาปรับใช้กับบ้านในปัจจุบันได้เหมือนกัน เช่น

 

การวางผังบ้าน

บ้านเรือนไทยมีลักษณะเป็นเรือนหมู่ มีชานเป็นตัวเชื่อมเรือนแต่ละหลังเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถต่อเติมเรือนหลังใหม่ได้สะดวก และมีการแยกพื้นที่ส่วนตัวออกจากพื้นที่ส่วนรวมได้ค่อนข้างอิสระ แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังใหญ่ ซึ่งเราสามารถประยุกต์ใช้กับบ้านสมัยใหม่ที่ต้องการพื้นที่แบบนี้ อีกทั้งการแบ่งบ้านในลักษณะนี้ ยังทำให้ผิวผนังบ้านสัมผัสกับธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งช่วยให้เราสามารถเปิดช่องหน้าต่างรับลมระบายอากาศได้มากขึ้นตามไปด้วย การวางตัวบ้านแต่ละหลังควรหันด้านแคบไปด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก หรือวางบ้านขวางลมใต้ เพื่อลดความร้อนสะสมภายในบ้าน เพราะเป็นทิศที่ผนังรับแสงแดดระหว่างวันมากที่สุด อีกทั้งบ้านยังเปิดรับ “ลมตะเภา” หรือ “ลมว่าว” ซึ่งเป็นลมประจำพัดจากทิศใต้ไปทิศเหนือได้เต็มที่ ในระหว่างเดือนมีนาคม เมษายนและพฤษภาคม ซึ่งเป็นฤดูร้อน แต่บ้านที่กระจายกลุ่มอาคารแบบนี้อาจไม่เหมาะกับบ้านที่เปิดเครื่องปรับอากาศนัก เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มผนังสะสมความร้อนจากภายนอกมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบจัดพื้นที่ภายในบ้านของสถาปนิกด้วย

VIEW-KHAO-LONG-KAO-08-784x1024

ใต้ถุนสูง

คนไทยสมัยก่อนนิยมออกแบบตัวเรือนให้ยกพื้นสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้ยังใช้งานได้อเนกประสงค์ทั้ง พักผ่อน ทำงาน หรือเป็นที่เก็บของ  สำหรับบ้านในปัจจุบันก็สามารถนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ได้ เพราะบ้านที่มีใต้ถุนโล่งจะช่วยให้ลมพัดผ่านได้สะดวกขึ้น อีกทั้งยังมีตัวเรือนด้านบนคอยเป็นเกราะป้องกันความร้อนให้พื้นที่ใต้ถุนบ้าน และหากปลูกต้นไม้บริเวณรอบๆใต้ถุนบ้านก็จะช่วยเพิ่มความร่มรื่นเย็นสบาย

Thai-Style-Beauty-018-759x1024

การปูพื้นไม้เว้นร่อง

พื้นชานเรือนไทยมักจะตีเว้นร่องเพื่อให้ลมจากใต้ถุนพัดขึ้นมาได้ซึ่งช่วยให้ไม้สามารถยืดหดตัวโดยไม่โก่งงอ นอกจากนี้ยังช่วยระบายน้ำเวลาฝนตกเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขังจนเป็นสาเหตุให้ไม้ผุได้ ซึ่งเทคนิคนี้สามารถนำมาใช้กับบ้านที่อยากปูระเบียงไม้ไว้นอกบ้านสำหรับพักผ่อน

tt150916-062-1

 ฝาผนัง

ฝาผนังบ้านไทยมีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็น  ฝาประกน ฝาสายบัว ฯลฯ ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์เป็นผนังเหนือหัวเตียงในห้องนอน ก็ดูสวยเก๋ไปอีกแบบ

 

หลังคา

บ้านเรือนไทยนิยมทำหลังคาทรงสูงซึ่งมีความลาดเอียงมาก เพื่อช่วยระบายน้ำฝนได้เร็ว ขณะเดียวกันก็มีโอกาสถูกลมพัดเข้าไปในบ้านได้ง่ายจึงต้องมีชายคาซึ่งออกแบบให้มีความลาดชันน้อยกว่าหลังคารองรับน้ำฝนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้น้ำฝนที่ไหลลงมาจากหลังคากระเด็นออกไปให้ห่างจากตัวบ้าน นอกจากนี้หลังคาทรงสูงจะมีพื้นที่ใต้หลังคามาก ทำให้ความร้อนในตัวเรือนลอยขึ้นไปที่ช่องว่างใต้หลังคาและสามารถผ่านออกตามรอยต่อของวัสดุมุง จึงไม่เก็บสะสมความร้อนในบริเวณที่เป็นระดับการใช้งานของเรา

Thai-Style-Beauty-09-741x1024

รั้ว

รั้วของบ้านเรือนไทยจะแบ่งเป็น 2 ประเภท รั้วอย่างแรกคือรั้วที่สร้างบนดินมักทำจากไม้ต่างๆที่ใช้ทำรั้ว เช่น ไม้ไผ่ ไม้กระถิน ข่อย ฯลฯ สมัยก่อนใช้เพื่อป้องกันสัตว์ร้าย หรือโจรเข้าบ้าน กับรั้วอีกประเภทหนึ่งคือรั้วบนระเบียงบ้านซึ่งมีลักษณะคล้ายผนังบ้านยื่นต่อออกมาจากตัวเรือน บางส่วนเจาะเป็นช่องลูกกรงเพื่อระบายอากาศ และยังเป็นช่องที่คนภายในบ้านสามารถมองออกไปเห็นคนภายนอกได้ด้วย ซึ่งรั้วอย่างหลังนี้สามารถนำมาประยุกต์เป็นรั้วของระเบียงบ้านชั้น 2 ในบ้านสมัยใหม่ได้ เพื่อให้ดูมีความเป็นสัดส่วนมากขึ้น


14 ไอเดียแต่งบ้านแบบไทยๆ 

7 เรือนไทยสมัยใหม่