บ้านขาวล้อมคอร์ต หลังนี้มีสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่ร่วมกันเหมือนสมาชิกในครอบครัว เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนและออกแบบให้มีพื้นที่ที่เหมาะสม ถึงแม้จะไม่ได้วางแผนมาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะไม่เคยนึกว่าจะมีการเลี้ยง ห่าน ให้อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน
Design Directory : สถาปนิก B+W Design Studio
บ้านขาวล้อมคอร์ต สวนเขียว
บ้านขาวล้อมคอร์ต หลังนี้เป็นการออกแบบของ B+W Design Studio โดยคุณวิล-วิล์ลญา สงค์อิ่ม และคุณเบิ้ม-พุฒิกร เกียรติยุทธชาติ ที่เน้นพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นบ้านล้อมคอร์ตอยู่แล้ว จึงมีพื้นที่ให้ “ขมิ้น” ห่านหนุ่มสีขาวสายพันธุ์จีน ดาราหลักเพจห่านซ่าส์ – Kamin the Goose ได้เพลิดเพลินอย่างเต็มที่
จากบ้านจัดสรรสู่บ้านรักสวน
จุดเริ่มต้นของการออกแบบมาจากเจ้าของบ้านซึ่งเป็นคุณแม่ของคุณวิลอยากสร้างบ้านหลังใหม่ เพราะหลังเก่าเสื่อมโทรมไปตามการเวลา บ้านเดิมเป็นบ้านยุคเก่าดั้งเดิมอายุกว่า 30 ปี ที่มีการต่อเติมเป็นออฟฟิศ และต้องซ่อมแซมอยู่เรื่อยๆ จึงเลือกวิธีสร้างใหม่แทนการรีโนเวต ช่วงเวลานั้นคุณวิลกำลังศึกษาต่อปริญญาโท จึงได้คุณเบิ้มมาช่วยกันออกแบบ
“ไอเดียบ้านของเราคืออยากมีธรรมชาติอยู่ในบ้าน รักษาพื้นที่สวนกลางแจ้งให้ใหญ่ที่สุด”
ผู้ออกแบบจึงวางผังบนที่ดินประมาณ 200 ตารางวา เป็นบ้านล้อมคอร์ตลักษณะตัวแอล (L) มีมุมสวนและสอดแทรกต้นไม้ไปตามมุมต่างๆ ได้อย่างลงตัว จากที่เคยอยู่บ้านยุคเก่าที่ไม่ได้ออกแบบให้แต่ละคนมีพื้นที่เป็นของตัวเอง เมื่อได้โอกาสสร้างบ้านหลังใหม่และด้วยความต้องการของคุณแม่ “อยากให้ทุกคนมีความเป็นส่วนตัว สมาชิกทุกคนจึงมีห้องเป็นของตัวเอง”
การมาถึงของสมาชิกใหม่
ถึงแม้จะไม่มีแผนสำหรับเลี้ยงห่าน แต่ทั้งคุณแม่และคุณวิลก็มีความผูกพันกับสัตว์ปีกมาก่อน เพราะเดิมที่บ้านคุณตาคุณยายเลี้ยงเป็ดเก็บไข่ส่งขาย และยังเลี้ยงห่านด้วย แต่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพของคุณตาจึงเข้ามาช่วยและค่อยๆทยอยขายห่านออกไปบางส่วน เมื่อได้เข้ามาช่วยคุณตาทำให้ได้มาคลุกคลีกับห่าน จนวันหนึ่งพบกับห่านน้อยตัวนี้มีสภาพสะบักสะบอมจากการโดนห่านตัวอื่นรุมแกล้ง รู้สึกเอ็นดูและถูกชะตาเป็นพิเศษจึงขอคุณตามาเลี้ยง ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ จากขนสีเหลืองเหมือนขมิ้นเติบโตเป็นห่านหนุ่มขนขาว และได้กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว
“คิดว่าไม่อยากเลี้ยงเขาในบ้านตลอดเวลา เขาควรได้อยู่กับธรรมชาติ” เป็นสาเหตุให้คุณวิลปรับสวนหน้าบ้านข้างโรงจอดรถ ปลูกต้นหมากให้ร่มเงา มีอ่างน้ำให้ขมิ้นได้เล่น เพราะห่านเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำมาก การได้ทำความสะอาดขนทำให้ไม่ค่อยมีโรค และปรับการปลูกต้นไม้ในสวนคอร์ตกลางบ้านเพื่อป้องกันการเกิดโรคโดยเปลี่ยนมาปลูกไม้พุ่มสลับชนิดกัน เวลาเกิดโรคจะได้ไม่ลามทั้งแปลงและใช้น้ำส้มควันไม้แทนการใช้สารเคมีเมื่อเกิดโรค โดยเฉพาะเชื้อราที่มักพบบ่อย ทั้งยังเป็นผลดีต่อห่านที่มักคุ้ยดินจะไม่ได้รับสารเคมีเมื่อเผลอกินเข้าไป จะเห็นได้ว่าการใส่ใจและหมั่นสังเกต เพื่อออกแบบด้วยความเข้าใจพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง แม้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆก็สามารถส่งผลถึงสุขภาพของสัตว์เลี้ยงได้
บ้านเล่นระดับ
เนื่องจากบ้านเดิมเคยมีปัญหาน้ำท่วมมาก่อน จึงตัดสินใจถมพื้นดินขึ้นมา 0.75 เมตร และค่อยๆไล่ระดับพื้นบ้านให้สูงขึ้น เริ่มตั้งแต่หน้าบ้าน พื้นที่จอดรถ โถง จนถึงพื้นภายในบ้านที่สูง 1.15 เมตร การเล่นระดับพื้นเป็นการแบ่งโซนไปในตัว นอกจากใช้ระดับความสูงแล้ว การใช้วัสดุที่แตกต่างกันก็เป็นการเปลี่ยนความรู้สึก และบ่งบอกฟังก์ชันได้ด้วย เช่น บริเวณทางเข้าหน้าบ้าน ทำพื้นเป็นแผ่นหินแกรนิตให้มีระดับความสูงต่างจากพื้นชานหน้าบ้านที่ปูพื้นไม้เทียม อีกทั้งเป็นการสร้างขอบเขตของการเข้าถึงหากมีพนักงานส่งอาหารเข้ามาจากหน้าบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะกับชานบ้านที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว
เจ้าของบ้านและผู้ออกแบบให้ความสำคัญกับมุมมองต่างๆอย่างลึกซึ้ง โดยกำหนดซีนต่างๆที่จะต้องเห็นเป็นลำดับโดยใช้ผนังหินอ่อนสีดำเทาเป็นจุดเชื่อมโยงและจัดวางไว้ในจุดที่สำคัญ เช่น ผนังหน้าบ้านที่เชื่อมต่อเข้าไปในบ้านและเป็นผนังที่ปะทะสายตาเมื่อเข้ามาในห้องนั่งเล่น
บ้านยืดหยุ่นเพื่อทุกชีวิต
คุณวิลทิ้งท้ายให้เราฟังว่า “เราคิดเผื่อเสมอว่าต้องมีวันที่บ้านมีการขยับขยาย จึงพยายามออกแบบบางส่วนให้เป็นพื้นที่ที่ทั้งสวยและมีฟังก์ชันที่ยืดหยุ่นไว้ก่อน ถึงแม้จะยังไม่รู้ว่าต้องใช้ทำอะไร เมื่อถึงเวลาที่ปรับขยายจริงก็จะไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก”
หากเปรียบบ้านหลังนี้เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ดูเป็นคนที่เท่ เนี้ยบ ทันสมัยเข้าได้กับทุกยุคด้วยรูปทรงที่เรียบง่าย เส้นสายไม่หวือหวา แต่แฝงไว้ด้วยรายละเอียดที่เกิดจากความใส่ใจ เป็นคนน่ารักและเป็นมิตรด้วยการวางผังที่โอบรับสวน บานหน้าต่างขนาดใหญ่ที่รับลมและแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังเป็นคนที่พร้อมรับทุกสถานการณ์ ด้วยการออกแบบให้บ้านยืดหยุ่นพอที่จะปรับเปลี่ยนให้ทุกชีวิตในบ้านอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
เจ้าของ : คุณปัญจวิไล สงค์อิ่ม
ออกแบบสถาปัตยกรรม-ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: คุณวิล์ลญา สงค์อิ่ม และคุณพุฒิกร เกียรติยุทธชาติ B+W Design Studio
เรื่อง : ปาราเมศ เมนะเนตร
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส
สไตล์ : Suanpuk