บ้านชั้นเดียว สไตล์โมเดิร์นพื้นถิ่น ในกลิ่นอายสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นโบราณ

บ้านชั้นเดียว สไตล์โมเดิร์นพื้นถิ่น ที่เจ้าของนำความผูกพันกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นโบราณมาผสมผสานกับความพื้นถิ่นแบบไทย เพื่อให้เป็นบ้านชั้นเดียวที่น่าอยู่

บ้านชั้นเดียว สไตล์โมเดิร์นพื้นถิ่น
บ้านชั้นเดียว สไตล์โมเดิร์นพื้นถิ่น
บริเวณทางเข้าหน้าบ้านค่อนข้างเรียบง่ายตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เพียงน้อยชิ้น

บ้านชั้นเดียว สไตล์โมเดิร์นพื้นถิ่น รูปทรงเรียบง่ายชวนให้สัมผัสกลิ่นอายญี่ปุ่นดั้งเดิมหลังนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ใกล้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ หรือที่เรารู้จักในชื่อ “พืชสวนโลก” เป็นบ้านขนาดกะทัดรัดของ คุณอเล็กซ์ เคอร์ (Alex Kerr) ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและวัฒนธรรมญี่ปุ่น รวมถึงเป็นนักบูรณะบ้านเก่าชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่งในญี่ปุ่น คุณอเล็กซ์ เคอร์หลงใหลในวิถีชีวิตทางภาคเหนือ จึงตัดสินใจสร้างบ้านสำหรับอยู่อาศัยกับคนรักในจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความผูกผันกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมานาน บ้านหลังนี้จึงถ่ายทอดเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นและไทยสอดแทรกเข้าไว้ด้วยกันผ่านรูปทรงอาคารและวัสดุ โดยได้สถาปนิก คุณแจ่ม – แจ่มจรัส สุชีวะ มาช่วยร้อยเรียงให้สถาปัตยกรรมบ้านหลังนี้มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

บ้านชั้นเดียว สไตล์โมเดิร์นพื้นถิ่น
ชานบริเวณหน้าบ้านทำหน้าเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายนอก-ภายใน และเปิดมุมมองไปยังบริเวณพื้นที่สีเขียว

“จุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจของบ้านหลังนี้มาจากบ้านจิอิโอริ” คุณอเล็กซ์กล่าว

“บ้านจิอิโอริ (Chiiori)” หรือบ้านโบราณของญี่ปุ่นอายุกว่า 300 ปี ตั้งอยู่บนหุบเขาอิยะ ในจังหวัดโทคุชิมะ ซึ่งคุณอเล็กซ์ได้มีโอกาสไปปรับปรุงบ้านเก่าดังกล่าวที่รกร้างมานานให้สามารถกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จนกลายเป็นบ้านพักตากอากาศท่ามกลางหุบเขาธรรมชาติที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งบ้านดังกล่าวได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างบ้านหลังใหม่ของคุณอเล็กซ์ และเป็นโจทย์หลักให้กับทางสถาปนิกทั้งในเรื่องของฟังก์ชันการใช้งานและการเลือกใช้วัสดุ

บ้านชั้นเดียว สไตล์โมเดิร์นพื้นถิ่น
หลังคาที่ปกคลุมลงมานอกจากจะช่วยเรื่องกันแดดกับฝนแล้ว ยังช่วยสร้างลุคของบ้านให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

ผสมผสานเอกลักษณ์ต่างวัฒนธรรม

เมื่อความตั้งใจอยากให้บ้านหลังนี้มีรูปทรงอาคารคล้ายกับแบบบ้านญี่ปุ่นโบราณ สถาปนิกจึงถอดลักษณะทางสถาปัตยกรรมดังกล่าวมาใช้ในการออกแบบ บ้านจึงมีลักษณะรูปทรงผืนผ้าเพียงหนึ่งชั้นและมีพื้นที่ชานภายนอกให้สามารถมานั่งเล่นพักผ่อนชมบรรยากาศธรรมชาติ พร้อมฟังเสียงธารน้ำไหลผ่าน เฉกเช่นเดียวกับประสบการณ์ของชานบ้านแบบญี่ปุ่น

ตัวบ้านออกแบบให้ดูโดดเด่นด้วยวัสดุมุงหลังคาที่ปกคลุมยาวลงมา สร้างภาพลักษณ์ของบ้านให้ดูน่าสนใจแลดูเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติด้วยหญ้าคาที่สามารถหาได้จากท้องถิ่นภาคเหนือ

ภายในบ้านโชว์ผิวหรือสัจจะวัสดุของพื้นและผนังแทนการติดตั้งกระเบื้องหรือวัสดุปิดผิวอื่นๆ
เฟอร์นิเจอร์เน้นโทนสีไม้ธรรมชาติทั้งเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวและบิลท์อิน

บ้านชั้นเดียว สไตล์โมเดิร์นพื้นถิ่น

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติไม่ต่างกับบ้านจิอิโอริแม้รูปลักษณ์ภายนอกจะดูมีความพื้นถิ่นแต่เมื่อมองถึงรายละเอียดจะพบว่าภายในบ้านออกแบบให้เรียบง่ายและทันสมัยมากกว่าคงความเป็นพื้นถิ่นทั้งหมด เนื่องจากประยุกต์ใช้โครงสร้างเหล็กและผนังคอนกรีตแทนการใช้ไม้เป็นหลัก

“บ้านหลังนี้ให้กลิ่นอายพื้นถิ่นญี่ปุ่นผ่านการใช้วัสดุแบบไทยๆ เพราะตัวสถาปัตยกรรมถอดลักษณะรูปทรงมาจากบ้านโบราณญี่ปุ่น แต่ประยุกต์ใช้วัสดุและเทคนิคการก่อสร้างแบบไทยเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานและบริบทยิ่งขึ้น”

โครงสร้างของหลังคาออกแบบเป็นโครงสร้างเหล็กแทนการใช้โครงสร้างไม้ไผ่แบบญี่ปุ่นดั้งเดิม เพื่อการใช้งานในระยะยาวและสร้างภาพลักษณ์ของบ้านให้ดูโมเดิร์น คงเก็บความเรียบง่ายเอาไว้ ไม่แต่งแต้มรายละเอียดมากจนเกินไป

บ้านชั้นเดียว สไตล์โมเดิร์นพื้นถิ่น
มุมมองภายในบ้านแสดงให้เห็นถึงเส้นสายของโครงสร้างหลังคาเหล็กทำสีดำแทนการใช้โครงสร้างไม้ไผ่
สอดคล้องไปเฟรมวงกบประตูบานเลื่อน สร้างความโมเดิร์นทันสมัยให้กับตัวบ้าน

บ้านขนาดกะทัดรัด ที่มาพร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน

เนื่องจากบ้านหลังนี้ตั้งใจออกแบบไว้สำหรับใช้ชีวิตคู่ ฟังก์ชันการใช้งานจึงค่อนข้างเรียบง่าย และเน้นให้ทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงกันได้อย่างสะดวก เมื่อเข้ามาภายในบ้านจะพบว่าแต่ละพื้นที่ไร้ผนังกั้นขอบเขตซึ่งกันและกัน ทุกฟังก์ชันอยู่รวมกันทั้งพื้นที่นั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร และเตรียมอาหาร จึงให้ความรู้สึกกว้างขวาง ไม่อึดอัด เพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งาน โดยมีห้องนอนส่วนตัวแยกจากพื้นที่ส่วนกลางจำนวนสองห้องนอน ซึ่งตระเตรียมไว้สำหรับแขกห้องหนึ่ง และห้องน้ำจำนวนสองห้องตั้งอยู่ภายในบ้านและนอกบ้านแยกออกจากกันอย่างเป็นสัดส่วน

“เราออกแบบให้ฟังก์ชันมีการใช้งานที่เปิดโล่งคล้ายกับสเปซของบ้านจิอิโอริ ซึ่งเหมาะกับบ้านขนาดกะทัดรัด และนอกจากจะใช้งานได้อย่างสะดวกแล้วยังตอบโจทย์ในเรื่องของงบประมาณได้ดีอีกด้วย” สถาปนิกกล่าว

บรรยากาศในบ้านค่อนข้างปลอดโปร่ง เนื่องจากมีฝ้าเพดาสูงและไม่มีผนังกั้นบดบังมุมมองระหว่างกัน
บริเวณพื้นที่โต๊ะทำงานออกแบบเป็นบิลท์อินไม้สีธรรมชาติ และมีหน้าต่างยาวตลอดทั้งแนวเพื่อนำแสงธรรมชาติเข้ามายังพื้นที่ทำงาน

ภายในบ้านเน้นยกฝ้าสูงไปตามโครงสร้างจั่วของหลังคา นอกจากจะช่วยให้พื้นที่ดูโปร่งสบายมากขึ้นแล้ว ยังช่วยนำความร้อนไปสะสมอยู่ในพื้นที่ใต้หลังคามากกว่าสะสมอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัย  

“มุมโปรดของผมคือโต๊ะนั่งทำงานภายในบ้านที่ออกแบบไว้เป็นสัดส่วนและชานนอกบ้านที่สามารถชวนเพื่อนๆ มาปาร์ตี้ นั่งเล่นดนตรีพร้อมกับชื่นชมวิวสวนและแม่น้ำลำธารไปพร้อมๆ กัน” คุณอเล็กซ์กล่าว

บรรยากาศภายในห้องนอนค่อนข้างเรียบง่าย เน้นการใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวโทนสีไม้สร้างบรรยากาศอบอุ่นสำหรับพักผ่อน
บ้านชั้นเดียว สไตล์โมเดิร์นพื้นถิ่น
มุมมองทางเข้าบ้านฝั่งที่เห็นวิวต้นไม้ สถาปนิกออกแบบแลนด์สเคปโดยใช้เส้นสายโค้งลื่นไหลไปตามแนวพื้นที่สีเขียว

ทดลองความเป็นไปได้ของวัสดุ เพื่อการใช้งานที่ตอบโจทย์ยิ่งกว่า

สิ่งที่น่าสนุกและท้าทายสำหรับสถาปนิกและทีมงานช่างนั่นคือการทดลองทำวัสดุมุงหลังคาด้วย “หญ้าคา”

“เดิมทีเราตั้งใจจะนำเทคนิคและวิธีการก่อสร้างแบบญี่ปุ่นมาใช้ แต่ด้วยงบประมาณและเวลาจึงมองว่าการใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบไทยมาประยุกต์ใช้ร่วมกับวัสดุในท้องถิ่นน่าจะตอบโจทย์ที่สุด”  

วิถีการมุงหลังคาแบบชาวบ้านจะมุงในลักษณะค่อนข้างบาง แต่สถาปนิกได้ต่อยอดวิธีดั้งเดิมด้วยการมุงหญ้าให้หนาขึ้นถึง 15 เซนติเมตร เพื่อให้ทนทานต่อสภาพอากาศและช่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดดประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวต้องอาศัยการคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ในการยึดติดวัสดุหญ้าคากับโครงสร้างของหลังคา จากเดิมที่ใช้ปลอกไม้ไผ่มัดหญ้าคาไปกับโครงสร้าง แต่สถาปนิกประยุกต์ด้วยการใช้ Cable Tie Plastic หรือสายพลาสติกสำหรับรัดสายไฟมาผูกติดหญ้าคากับโครงสร้างหลังคาแทนการใช้ปลอกไม้ไผ่ นอกจากราคาจะค่อนข้างถูกแล้วยังแข็งแรงทนทานมากกว่าการใช้ปลอกไม้ไผ่อีกด้วย

บรรยากาศระหว่างการมุงหญ้าคาบนโครงสร้างหลังคาเหล็ก

“การมุงหลังคาให้มีชั้นความหนาเพิ่มขึ้น นอกจากจะช่วยให้ทนร้อนทนฝนมากขึ้นแล้วยังสร้างเอกลักษณ์ของบ้านที่แตกต่างจากบ้านญี่ปุ่นแบบเดิมอีกด้วย”                                     

อีกหนึ่งเทคนิคที่น่าสนใจคือการทดลองใช้แผ่นพลาสติกซ้อนเข้าไประหว่างหญ้าคาแต่ละชั้น เพื่อป้องกันน้ำฝนและเพิ่มความทนทานมากขึ้นจากวิธีแบบดั้งเดิมจนได้หลังคาที่มีความแข็งแรงและทนทานในทุกสภาพอากาศ

ภาพบรรยากาศการทำ mock up หลังคา โดยใช้แผ่นพลาสติกติดกับชิ้นส่วนหลังคาหรือหญ้าคาในแต่ละชั้น

วิธีการก่อสร้างบ้านหลังนี้ผ่านการคิดค้นทดลองเพื่อบรรจบแนวคิดระหว่างผู้ออกแบบและเจ้าของบ้านที่หลงใหลในวิถีธรรมชาติและวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยสถาปนิกและทีมงานช่างช่วยสร้างสรรค์แรงบันดาลใจดังกล่าวให้อยู่บนพื้นฐานการใช้งานได้จริงและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่ตั้ง ทำให้บ้านร่มรื่นอยู่สบายในทุกฤดู
“Contemporary Chiiori” หรือ“บ้านจิอิโอริร่วมสมัย”  คือนิยามที่เจ้าของบ้านให้ไว้กับบ้านหลังนี้

บ้านชั้นเดียว สไตล์โมเดิร์นพื้นถิ่น
บรรยากาศภายนอกบ้านยามเย็น

สำหรับบ้าน Contemporary Chiiori ยังมีส่วนต่อเติมให้ได้ติดตามกันต่อในส่วนของสตูดิโอทำงานศิลปะซึ่งแยกออกมาจากตัวบ้าน เพื่อจัดสรรพื้นที่ทำงานให้เป็นสัดส่วนและตอบสนองการใช้งานตามจังหวะชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ลืมที่จะหยิบยกเอกลักษณ์ความเป็นจิอิโอริและตัวตนของเจ้าของบ้านมาเป็นแรงบันดาลใจในพื้นที่ใหม่เช่นเคย

เจ้าของ : คุณอเล็กซ์ เคอร์ (Alex Kerr)

ออกแบบสถาปัตยกรรม – ตกแต่งภายใน : บริษัท ภวรินทร์ จำกัด โทรศัพท์ : 02 238 4004

สถาปนิก : คุณแจ่มจรัส สุชีวะ

ทีมงานก่อสร้าง : คุณศุภวัฒน์ ปัญญาดี และ คุณสันติ ธรรมจิตร

เรื่อง : Nantagan

ภาพ : คุณจรณินท์ พวงใจแก้ว

สถานที่ : เชียงใหม่


บ้านชนบทสมัยใหม่ ที่ตอบรับชีวิตเรียบง่าย

บ้านโมเดิร์นพื้นถิ่น จากการประดิดประดอยอย่างตั้งใจ