บ้านชั้นเดียวแบบไทยประยุกต์สีขาวที่มีพื้นที่ด้านหน้าเป็นสนามหญ้าโล่ง และมีฉากหลังเป็นภูเขา พร้อม สวนป่าหลังบ้าน ขนาดประมาณ 950 ตารางเมตร
คุณไนซ์- มงคล บูรณเรืองศักดิ์ และครอบครัวย้ายมาอยู่ที่นี่เมื่อ 3 ปีก่อน สร้างบ้านและทำธุรกิจโรงแต่งแร่แคลไซต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมซีเมนต์และปูนขาว ทำโรงบดดินมาร์ลหรือดินสอพองที่เรารู้จักกัน ซึ่งใช้ในการเกษตร อาทิ ปรับค่า pH เพื่อลดความเป็นกรดของดิน และยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตนํ้ามันปาล์มขนาดใหญ่
คุณไนซ์เล่าว่า“ที่แปลงนี้อยู่ติดกับวัดครับ ปัญหาแรก คือมองเห็นเมรุเผาศพ เราดันบ้านให้ไปอยู่ด้านในเปิดพื้นที่ด้านหน้าเป็นสนามหญ้าโล่ง ๆ เพื่อให้มองเห็นบ้านชั้นเดียวแบบไทยประยุกต์สีขาวที่มีฉากหลังเป็นภูเขา ซึ่งเป็นผลดีครับ เพราะว่าแถวนี้ทำเหมืองหินกันเป็นส่วนใหญ่ ถนนด้านนอกมีรถบรรทุกวิ่งเยอะมาก ฝุ่นตลบอบอวลเลย และยังช่วยลดเสียงดังรบกวนได้อย่างดีด้วยครับ ขุดบ่อนํ้าขนาดใหญ่เพื่อช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ ลดการสะสมความร้อนและช่วยลดอุณหภูมิ ก่อนสร้างบ้านผมศึกษาปัญหารอบด้านและออกแบบร่วมกับสถาปนิกเพื่อป้องกันไว้ทั้งหมดแล้วครับ ต้องขอบคุณบ้านและสวนที่ผมเป็นแฟนประจำมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ได้ความรู้หลายเรื่องเลยครับ นอกจากนี้ ระหว่างที่สร้างบ้านผมก็คิดไว้แล้วว่าอยากมีสวนสวย ๆ ด้วย ดูสไตล์สวนป่าอยู่หลายที่ก็ยังไม่ใช่แบบที่เราชอบ จนไปเจอเพจของ คุณต้อง – ทิวา อ่อนสุวรรณ จาก Ayothaya Landscape เห็นสไตล์แล้วก็ชอบเลยครับ”
คุณต้องเล่าถึงแนวคิดในการออกแบบสวนนี้ให้ฟังว่า “โจทย์คือสวนป่าที่มีนํ้าตกและลำธารครับ ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่ามีคุณพ่อคุณแม่สูงอายุอยู่ด้วย ผมตั้งใจให้เป็นสวนป่าที่ดูโปร่งสบายตา ต้นไม้ไม่รก มีทางเดินกว้างเพื่อไม่ให้เดินชนโดนกิ่งต้นไม้เกี่ยวให้เป็นอันตราย พื้นที่ไม่มีความต่างระดับมากนักเพื่อให้เดินได้สะดวกทั่วทั้งสวนครับ”
“พื้นที่สวนหลังบ้านขนาดประมาณ 950 ตารางเมตร มีลักษณะยาวเป็นชายธงครับ ผมพิจารณามุมมองจากในบ้านเป็นหลัก ที่นี่มีนํ้าตก 2 จุด จุดแรกเป็นนํ้าตกขนาดใหญ่อยู่บริเวณด้านหลังห้องนอนของคุณไนซ์และห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ อีกจุดเป็นนํ้าตกเล็กใกล้ระเบียงนั่งเล่นครับ เชื่อมนํ้าตกทั้งสองด้วยลำธารที่ยาวขนานไปกับบ้าน ให้ลำธารอยู่กลางสวนเพื่อให้เหลือพื้นที่ทำทางเดินได้รอบสวน การออกแบบจุดต่าง ๆ จะคำนึงถึงมุมมองที่จะมองเห็นได้จากทุก ๆ ห้องซึ่งแต่ละห้องก็ได้มุมมองสวนที่ดูต่างกันไปครับ
“ที่นี่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างไปจากงานออกแบบที่ผ่านมาของผมหลายอย่างครับ เช่น ลำธารที่ยาวกว่า 30 เมตรและมีความลึกไม่เกิน 20 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายกับผู้สูงอายุและสัตว์เลี้ยง ทางเดินกว้างในสวนที่อยากให้เดินสะดวก ผมออกแบบโดยใช้แผ่นหินขนาดใหญ่ปูเป็นทางเดินทั้งหมดเพื่อให้ดูแปลกตา ถึงแม้ว่าที่นี่จะเป็นแหล่งหินก็จริง แต่การที่เราจะหาแผ่นหินจริงหน้าตัดเรียบขนาดใหญ่หลาย ๆ แผ่นแบบนี้ ทำได้ยากมากครับ ผมแก้ปัญหาด้วยการทำเป็นหินเทียมแทน ลดปัญหาเรื่องการขนย้าย เราออกแบบได้ตามต้องการ และทำงานได้สะดวกกว่าครับ
“ผมเลือกใช้ไม้ใบที่มีใบขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ภาพรวมดูเป็นสวนป่าที่โปร่ง เลือกใช้ต้นที่เติบโตได้ดีโดยไม่ต้องดูแลอะไรมากนัก เป็นสวนที่เข้าไปใช้งานได้ง่าย ๆ ต้นไม้ใหญ่หลัก ๆ ใช้เสม็ดแดงที่ใบมีขนาดเล็ก ผิวสัมผัสดูละเอียดและเลือกใช้ต้นไม่สูงมากนักเพื่อลดการใช้ไม้คํ้ายัน วิธีการปลูกจะถมดินยกต้นให้สูงกว่าปกติ เนื่องจากด้านล่างเป็นชั้นดินดานที่อาจมีปัญหาเรื่องการระบายนํ้า การปลูกแบบยกสูงนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้บ้างครับ ส่วนไม้พุ่มไม้คลุมดินระดับล่าง ผมเลือกใช้ต้นไม้น้อยชนิดและปลูกรวมกลุ่มขนาดใหญ่ เพื่อให้ดูสะอาดโล่งตาและดูแลง่าย
“ผมนำไม้ป่าของบ้านเรามาลองปลูกที่นี่หลายต้นครับ ซึ่งได้ผลดีเลย เช่น กระดิ่งนางฟ้าแคระที่มียอดอ่อนสีแดงสวย ต้นนกนอนที่มียอดอ่อนสีเหลืองแปลกตา ต้นโทะหรือต้นพรวดที่มีใบหนาสีเขียวเข้มตัดกับดอกสีชมพูที่ดูน่ารักสดใส และมะเดื่อกุ้ยหลินที่จะติดผลสีดำ เต็มต้นเติบโตได้ดีในพื้นที่ชื้นหรือบริเวณริมลำธาร”
นอกจากปัญหาเรื่องฝุ่นที่ใช้วิธีปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น ปลูกไม้ใหญ่เป็นแนวกำแพงเพื่อช่วยกรองฝุ่นจากโรงบดด้านหลังบ้าน ติดตั้งระบบพ่นหมอกในสวนที่นอกจากจะช่วยเพิ่มความชื้นให้ต้นไม้ ช่วยลดอุณหภูมิเพิ่มความเย็นให้บริเวณบ้าน เพิ่มบรรยากาศของสวนป่าแล้ว ยังช่วยลดฝุ่นในอากาศได้ ที่นี่ยังมีปัญหาเรื่องนํ้า เพราะนํ้าประปายังเข้าไม่ถึง ต้องขุดนํ้าบาดาลและผ่านการกรองฆ่าเชื้อก่อนนำมาใช้ ซึ่งรวมไปถึงนํ้าที่ใช้รดนํ้าต้นไม้ด้วยเช่นกัน ในนํ้าจึงมีธาตุอาหารน้อยจะต้องมีการให้ปุ๋ยเพิ่มกับต้นไม้มากกว่าปกติ
“ตอนที่ทำสวน คนแถวนั้นคิดว่าผมบ้าครับ ลงทุนทำสวนราคาเท่ากับบ้านของคนอื่นทั้งหลัง การมีสวนสวย ๆ ในบ้านไม่ใช่ทำ เสร็จแล้วก็จบนะครับ ยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแล ความชอบต้องจ่ายด้วยราคานะครับ แต่ก็คุ้มค่า คุณพ่อคุณแม่มีที่เดินเล่นออกกำลังกาย ทุกคนในบ้านมีความสุข เพื่อน ๆ และใคร ๆ ที่เข้ามาเห็นต่างก็ชมว่าสวนสวย ตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกคุณต้องครับ” คุณไนซ์เล่าด้วยรอยยิ้มในระหว่างพาคุณพ่อคุณแม่เดินชมสวนด้วยความภูมิใจ
นิตยสาร บ้านและสวน ฉบับเดือนเมษายน ปี 2567
เจ้าของ : คุณมงคล บูรณเรืองศักดิ์ และคุณนฤมล มนตเสวี
ออกแบบ : Ayothaya Landscape โดยคุณทิวา อ่อนสุวรรณ
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล และจัดสวนบ้าน Ayothaya Landscape