pets-in-home

เรื่องเลอะของเจ้าสี่ขา ที่แก้ได้ด้วยการออกแบบบ้าน

pets-in-home
pets-in-home

การ เลี้ยงสัตว์ในบ้าน มีข้อจำกัดด้วยขนาด และข้าวของที่ต้องคอยระวัง ดังนั้น สิ่งสำคัญนอกจากการปรับพฤติกรรม ก็คือการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม จึงจะทำให้ทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมกันในบ้านอย่างมีความสุข มาสำรวจพฤติกรรมน้องหมาน้องแมวของเรา แล้วมองไปรอบๆ บ้านดูว่า มีจุดไหนที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้บ้าง

บ้านคุณรุ่งอรุณ วุฒินาวิน และคุณจรีภรณ พักตรานนท์
ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อให้บรรดาลูก ๆ สี่ขาได้อาศัยอย่างสบาย โดยยกใต้ถุนให้สูงแบบเรือนไทยสมัยก่อน สามารถใช้ประโยชน์เป็นทั้งที่จอดรถ ลานซักล้าง และพื้นที่วิ่งเล่นของน้องหมา

สัตว์เลี้ยงจอมพลัง พร้อมพังบ้าน “เบาๆ หน่อยนะลูก”

การ เลี้ยงสัตว์ในบ้าน มักจะพบกับความซุกซนที่อาจลามไปจนถึงการทำลายข้าวของ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากทั้งนิสัย ช่วงวัย รวมถึงความเครียด ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับตัว แต่ในวันที่จำเป็นต้องฝากบ้านไว้กับน้อง โดยที่พฤติกรรมยังไม่เข้าที่เข้าทาง การจัดพื้นที่ให้ได้ซุกซนก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่น้องๆ จะอยู่บ้านได้อย่างสบาย มีที่วิ่งเล่นเพียงพอเพื่อไม่ให้เกิดความเครียด ในขณะที่เราก็ออกไปข้างนอกได้ โดยไม่ต้องกังวลว่ากลับมาจะพบกับสภาพบ้านเละเทะ ซึ่งสามารถทำได้โดยการจัดการ 3 สิ่ง ดังนี้

เลี้ยงสัตว์ในบ้าน

●    แบ่งโซนสำหรับเจ้าจอมซน

  • มุมอาหาร สามารถจัดวางไว้ใกล้กับที่นอน โดยเว้นระยะสักหน่อยเพื่อให้ทำความสะอาดได้สะดวก เพราะบางครั้งน้องๆ อาจกินหกเลอะเทอะ และไม่ควรอยู่ใกล้โซนขับถ่ายนัก เพราะโดยธรรมชาติของสัตว์ (ที่รักความสะอาด) จะไม่กินอาหารในที่ขับถ่าย
  • มุมขับถ่าย หากไม่ได้อยู่ใกล้ห้องน้ำหลักที่น้องๆ ใช้เป็นประจำ ก็ควรมีเผื่อไว้ในโซนสำหรับกรณีฉุกเฉิน โดยควรฝึกให้สัตว์เลี้ยงคุ้นชินกับห้องน้ำนี้ด้วย
  • มุมพักผ่อน ตำแหน่งขึ้นอยู่กับความชอบของสัตว์เลี้ยง ซึ่งควรเป็นบริเวณเดียวกับที่เวลาเจ้าของอยู่บ้าน จะสามารถมองเห็นและดูแลได้สะดวก โปร่งโล่งไม่อับทึบ สามารถเปิดช่องลมให้ระบายอากาศ หรือปิดเพื่อ ปรับอากาศได้ ไม่โดนแดดจนร้อนจนเกินไป และมองเห็นวิวภายนอกได้
เลี้ยงสัตว์ในบ้าน
ห้องที่มีช่องเปิดหรือหน้าต่าง เป็นอีกมุมที่น่าสนใจสำหรับการกั้นพื้นที่ของสัตว์เลี้ยง เพราะให้ความรู้สึกกว้างขวาง มีมุมชมวิวช่วยลดความเครียด ทั้งนี้ควรจัดเตรียมห้องน้ำที่เป็นสัดส่วน และการระบายอากาศที่เหมาะสมสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย

●    กั้นอาณาเขตให้แข็งแรง

  • รั้วกั้น เหมาะสำหรับสุนัขเพราะมีนิสัยชอบวิ่งเล่นเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งควรเลือกให้มีความแข็งแรงพอสำหรับการรับแรงกระแทกและมีขนาดที่สัมพันธ์กับตัว โดยสุนัขขนาดเล็กสามารถกั้นด้วยรั้วที่มีความสูงไม่เกิน 1 เมตร สุนัขขนาดกลางและขนาดใหญ่ ควรใช้รั้วที่มีความสูงตั้งแต่ 1.20 เมตรขึ้นไป ส่วนสายพันธุ์ที่มีแรงเยอะเป็นพิเศษ แนะนำให้เลือกใช้เป็นประตูกั้นห้องจะแข็งแรงที่สุด
บ้านที่มีน้องหมาไซซ์เล็ก สามารถกั้นอาณาเขตด้วยการทำคอกที่กว้างพอให้น้องอยู่สบาย ไม่อึดอัด
ห้องที่มีหน้าต่างอยู่สูง อาจทำบันไดเสริมสำหรับสุนัขสำหรับเดินขึ้นไปชมวิวจากหน้าต่างได้ โดยทำลูกนอนกว้าง 25 – 30 เซนติเมตร และลูกตั้งสูง 10 – 15 เซนติเมตร หรือทำเป็นทางลาดเสริมพื้นกันลื่น เพื่อถนอมสะโพกและข้อขาหลัง
  • กรง หรือ Catio (มาจาก Cat + Patio) เหมาะสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้ต้องการพื้นที่มากนัก เช่น แมว ซึ่งด้วยนิสัยชอบปีนป่าย การกั้นอาณาเขตควรปิดทุกด้านรวมถึงด้านบนด้วย โดยก่อโครงเป็นกรงทรงสูง แล้วล้อมทุกด้านด้วยตะแกรงตาถี่ขนาดไม่เกิน 1 นิ้ว เพื่อให้แมวได้ยืดเส้นยืดสายปีนป่ายในพื้นที่ของตัวเองได้
เลี้ยงสัตว์ในบ้าน
บ้านคุณศักดรินทณ์ สาด และคุณอาภาภรณ์ มิตรน้อย
ทำห้องสำหรับเล่นซนโดยเฉพาะให้ได้ยืดเส้นยืดสายกันอย่างเต็มที่ และเตรียมอุปกรณ์ให้น้องแมว เล่นสนุกกันอย่างเพลิดเพลิน

Tips : ประตูรั้วสองชั้น เสริมความปลอดภัยด้วยประตูรั้วในบ้านในโซนอาศัยของสัตว์เลี้ยง ป้องกันน้องหมาใจรักอิสระแอบวิ่งออกนอกบ้าน ซึ่งหากเผลอปล่อยให้เด็กๆ หลุดจากรั้วชั้นใน ก็ยังมีประตูหลักของบ้านกั้นไว้ไม่ให้หลุดออก โดยเลือกใช้ประตูแบบโปร่งเพื่อไม่ให้บรรยากาศในบ้านทึบเกินไป

เลี้ยงสัตว์ในบ้าน

●    เก็บของจุกจิกให้พ้นตา

  • เก็บข้าวของ ที่เสี่ยงต่อการปัดตก ของแตกง่าย หนังสือและเอกสารสำคัญต่างๆ ไปไว้ในที่ปลอดภัยที่สัตว์เลี้ยงไม่สามารถมายุ่งได้ เช่น ในห้องส่วนตัว ในตู้เก็บของ และกั้นโซนให้เรียบร้อย และเตรียมของเล่นที่น้องๆ ชอบ เอาไว้ให้น้องๆ แก้เบื่อระหว่างวันก็ช่วยได้
บ้านฟีลแคทคาเฟ่ของคุณหมิงและคุณม็อบ
จัดเก็บข้าวของในบ้านให้โล่ง เพื่อให้ห้องนั่งเล่นในบ้านเป็นห้องเล่นสนุกของเหล่าน้องแมว โดยที่เจ้าของบ้านนั่งดูโทรทัศน์อยู่ร่วมกันในบ้านได้อย่างสบายใจ

สัตว์เลี้ยงไม่ยอมใช้ห้องน้ำที่จัดให้

เลี้ยงสัตว์ในบ้าน
การไม่ยอมใช้ห้องน้ำของน้องๆ มีหลายสาเหตุ อาจะเป็นเพราะยังเด็กเกินไป ต้องใช้เวลาฝึกฝน ถึงวัยเจริญพันธุ์ หรือไม่ชอบห้องน้ำใหม่

หากสัตว์เลี้ยงที่ผ่านการฝึกใช้ห้องน้ำและไม่ได้มีปัญหาด้านสุขภาพแต่ไม่ให้ความร่วมมือเรื่องพื้นที่ขับถ่าย อาจเป็นสัญญาณว่ามีบางสิ่งที่ไม่เหมาะอยู่ ซึ่งการแก้ปัญหานี้นอกจากการฝึกเพื่อให้คุ้นชินแล้ว การปรับห้องน้ำให้เข้ากับนิสัยและความชอบของสัตว์เลี้ยงจะทำให้น้องๆ ยอมใช้ห้องน้ำของเราได้ง่ายขึ้น

●    เลือกทำเลใหม่ให้ถูกใจน้องๆ

มุมขับถ่ายที่สัตว์เลี้ยงชอบ ส่วนมากเป็นมุมที่สงบ ไม่พลุกพล่าน ซึ่งอาจใช้การสังเกตดูว่าน้องๆ ชอบไปขับถ่ายบริเวณไหนบ้าง แล้วตามไปติดตั้งห้องน้ำในที่โปรดแล้วฝึกให้ทำความรู้จักห้องน้ำจนคุ้นชิน

เลี้ยงสัตว์ในบ้าน
บ้านฟีลแคทคาเฟ่ของคุณหมิงและคุณม็อบ
แมวที่มีนิสัยระแวดระวังภัยอยู่เสมอ ควรออกแบบห้องน้ำที่มีความมิดชิด เพื่อให้น้องแมวรู้สึกปลอดภัยขณะขับถ่าย โดยออกแบบเป็นตู้ห้องน้ำเพื่อความเป็นส่วนตัว ตั้งอยู่ในห้องแมวที่เป็นบริเวณที่น้องๆ มักมาเล่นสนุก

●    หมั่นทำความสะอาดและเผื่อห้องน้ำให้เพียงพอ

สัตว์เลี้ยงชอบห้องน้ำที่สะอาด ซึ่งหากน้องไม่ยอมเข้าห้องน้ำ อาจเป็นเพราะว่าห้องน้ำมีของเสียสะสมอยู่มากเกินไป ดังนั้นการหมั่นทำความสะอาดจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้าที่บ้านมีสัตว์เลี้ยงหลายตัว จนทำ ความสะอาดไม่ทัน สามารถแก้ไขได้ด้วยการเผื่อห้องน้ำให้เพียงพอ หรือเลือกใช้ห้องน้ำอัตโนมัติที่มี ระบบทำความสะอาดในตัว ก็จะช่วยลดงานทำความสะอาดได้

●    เลือกห้องน้ำขนาดพอดีตัว

ขนาดห้องน้ำที่พอเหมาะกับสัตว์เลี้ยงควรจะใหญ่กว่าขนาดตัว 1.5 เท่า หรือมีพื้นที่พอให้หมุนตัวและ ทำท่ากลบดินหลังจากขับถ่ายได้อย่างสะดวก จึงจะถือว่าเป็นขนาดที่พอดี และเลือกแบบห้องน้ำที่สอดคล้องกับท่าทางการขับถ่าย จะช่วยลดความสกปรกเลอะเทอะที่เกิดจาก การขับถ่าย อย่างสุนัขที่มีนิสัยยกขาฉี่ ควรเลือกห้องน้ำแบบมีขอบสูงเพื่อให้ไม่กระเด็น

●    อย่าเปลี่ยนตำแหน่งห้องน้ำบ่อย

การจัดผังบ้านใหม่แล้วดันไปเปลี่ยนเส้นทางที่สัตว์เลี้ยงคุ้นชิน เป็นอีกเหตุผลที่สัตว์เลี้ยงไม่ยอมใช้ห้องน้ำ เพราะการขับถ่ายเป็นพฤติกรรมที่อาศัยความเคยชินเป็นหลัก ดังนั้น จึงไม่ควรย้ายตำแหน่งห้องน้ำใหม่บ่อยๆ โดยไม่จำเป็น หรือหากจะต้องย้าย ควรจัดทางเข้าห้องน้ำให้สะดวกที่สุด ไม่มีสิ่งกีดขวางให้เดิน ยุ่งยาก และฝึกสัตว์เลี้ยงให้เคยชินกับห้องน้ำใหม่

เลี้ยงสัตว์ในบ้าน

เมื่อบ้านเต็มไปด้วยรอยเจ้าจอมซน

ร่องรอยต่างๆ ที่มาจากสัตว์เลี้ยง ทั้งเศษสกปรกที่ติดมาจากนอกบ้าน เศษขนติดเฟอร์นิเจอร์ หรือคราบฉี่ที่เลอะผนัง เป็นเรื่องธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงที่สร้างงานให้เจ้าของบ้านต้องคอยตามเช็ดบ่อยๆ ซึ่งปัญหานี้อาจต้องทำใจยอมรับก่อนว่าบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงอาจไม่สามารถจัดเก็บได้สะอาดจนหมดจด แต่การใช้วัสดุให้เหมาะสม และการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเลอะเทอะ และทำให้บ้านสะอาดขึ้นได้

เลี้ยงสัตว์ในบ้าน

●    เลือกวัสดุให้เหมาะสม

  • พื้น ควรมีค่าการกันลื่นตั้งแต่ระดับ R9 และมีพื้นผิวทนทานตั้งแต่ระดับ A5 ขึ้นไป ทนความชื้น ไม่ซึมน้ำ และทำความสะอาดได้ง่าย เช่น กระเบื้องผิวหยาบ กระเบื้องยาง ไม้เทียม นอกจากนี้ หากเลือกสีโทนสว่างควรเลือกแบบที่มีลวดลายเล็กน้อย เพื่อให้รอยเปื้อนไม่เด่นจนเกินไป
  • ผนัง เลือกใช้สีที่เช็ดทำความสะอาดได้ง่าย กระเบื้องผิวมัน หรือวัสดุกรุผนังที่ไม่ซึมน้ำ และมีรอยต่อวัสดุน้อย เพื่อป้องกันการสะสมคราบสกปรก และรองรับการเช็ดทำความสะอาดบ่อยๆ
  • เฟอร์นิเจอร์ เลือกใช้วัสดุบุผิวที่ไม่เก็บฝุ่น มีความทนทาน ทนรอยขีดข่วน การดูดซับน้ำต่ำ และสามารถถอดทำความสะอาดได้ง่าย
บ้านคุณชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา และคุณณัฐพร พงษ์ชาญชวลิต
เลือกปูพื้นกระเบื้องที่ผิวไม่ลื่น และมีระดับน้อย เพื่อให้โปโป้ซึ่งมีปัญหาเรื่องสะโพกเดินสะดวก

Tips : ค่าการกันลื่น ระดับ R9 เป็นค่าความหยาบของผิวพื้นที่สัตว์เลี้ยงเดินสะดวก ไม่ลื่น ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อสะโพกและข้อเข่าได้ โดยเลขที่ระบุจะต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน DIN51130 หรือมาตรฐานอื่นเทียบเท่า

●    เพิ่มขั้นตอนทำความสะอาด

  • โซนทำความสะอาดก่อนเข้าบ้าน โดยทำเป็นมุมเล็กๆ มีที่ว่างเพียงพอให้น้องหมุนตัวได้สะดวก ติดตั้งก๊อกน้ำสำหรับฉีดล้าง เพื่อทำความสะอาดและเช็ดฝุ่นใต้อุ้งเท้าที่ติดมาหลังจากวิ่งเล่นนอกบ้าน
  • ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ และเครื่องฟอกอากาศ ทุกๆ 3-4 เดือน เนื่องจากขนของสัตว์เลี้ยงจะทำให้แอร์อุดตันบ่อย ส่งผลให้ทำงานหนัก และประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควร
  • ทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ เพื่อเช็ดคราบฉี่ คราบอาหารที่อาจติดมากับเท้าของน้องๆ หลังจากขับถ่าย รวมถึงคราบไขมันตามธรรมชาติของผิวน้องๆ

ติดตามบ้านและสวน

อ่านเพิ่มเติมในคอลัมน์ Home Expert เม.ย. 67

เรื่อง : ณัฐวรา

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน