เมื่อกำหนดฟังก์ชั่นและจัดแปลน ห้องนั่งเล่น กันแล้ว ลองเพิ่มเติมไอเดียอย่างเช่น การตกแต่งห้องที่ต่างออกไปจากที่คุ้นเคย ก็คงทำให้เกิดบรรยากาศที่น่าอภิรมย์มากขึ้น เราจึงขอนำเสนอไอเดียรวมถึงเกร็ดที่เป็นประโยชน์สำหรับช่วยสร้าง+เสริมไอเดียการตกแต่งห้องนั่งเล่นของคุณให้ดูสนุกยิ่งขึ้น
1. แต่งผนัง
สร้างความทรงจำ
ด้านหลังโซฟาตัวยาวที่เป็นผนังโล่งๆดูน่าเบื่อ ลองหาแผ่นเหล็กหรือแผ่นสังกะสี หนาสัก 2-3 มิลลิเมตร แล้วทาสีดำหรือขาวยึดเข้ากับผนัง ใช้แม็นเนตติดรูปภาพ โปสต์การ์ดที่ได้จากการไปท่องเที่ยวหรือข้อความประทับใจ หากด้านหลังโซฟาเป็นตู้เก็บของก็ลองเปลี่ยนหน้าบานให้เป็นแผ่นเหล็ก ช่วยให้เกิดประโยชน์หลายทาง
มีลาย
ห้องรับแขกที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมักใช้บานประตูเลื่อนเปิด – ปิดสำหรับแบ่งสองพื้นที่ประตูบานเลื่อนที่ใช้ลูกฟักเป็นวัสดุประเภทเหล็กฉีก เหล็กเจาะรูอะลูมิเนียมหรือสเตนเลสเจาะรู นอกจากจะช่วยป้องกันสายตาจากภายนอกแล้ว ยังช่วยให้อากาศไหลเทได้สะดวก หากใช้เหล็กควรทาสีเพื่อป้องกันสนิม ส่วนอะลูมิเนียมและสเตนเลสมีน้ำหนักเบากว่า แต่มีราคาสูงกว่า
โชว์แนว
ผนังก่อิฐโชว์แนวของห้องสไตล์ลอฟต์ บางครั้งอาจมีฝุ่นผงหรือเศษปูนที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หลังจากก่อผนังเสร็จแล้วควรปัดเศษฝุ่นออก แล้วทาหรือพ่นน้ำยาเคลือบผิว (แบบชนิดด้านจะดีกว่า) ช่วยป้องกันไม่ให้ฝุ่นผงหลุดล่อน ป้องกันการดูดซึมน้ำของอิฐมอญและไม่ให้คราบสกปรกเกาะติดแน่นกับผนัง ได้ทั้งความสวยงามและมีสุขอนามัยที่ดี
2. ช่องรับแสง
ไม่จำเป็นต้องสูง
หลายๆบ้านชอบเจาะหน้าต่างบานสูงใหญ่เพื่อให้เห็นวิวกว้างๆ แล้วก็ต้องติดม่านเพื่อป้องหันแสงแดดที่ส่องจ้ามากเกินไป ช่องแสงของห้องรับแขก-นั่งเล่นสามารถเจาะแค่ที่ระดับสายตาเวลานั่งบนโซฟาหรืออาร์มแชร์ไล่ลงมาจนถึงพื้น ได้ทัศนียภาพที่เปลี่ยนไปและแสงสว่างที่ไม่รบกวนสายตา ไอเดียนี้ยังใช้กับบ้านที่ทัศนียภาพภายนอกไม่น่ามองอีกด้วย
แสงด้านบน
สกายไลท์แม้ไม่ค่อยเหมาะกับเมืองไทย เพราะแสงที่ได้รับจากหลังคามักมีปริมาณความร้อนที่มากกว่าส่วนอื่น แต่เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับบ้านที่ไม่สามารถเจาะช่องแสงด้านข้างได้ ควรเลือกใช้กระจกลามิเนต (กระจกประกบกันสองชั้น มีแผ่นฟิล์มตรงกลาง เมื่อกระจกแตก แผ่นฟิล์มตรงกลางจะช่วยยึดไม่ให้เศษกระจกหล่นลงมา) กระจกตัดแสง หรือเลือกแผ่นฟิล์มที่สามารถป้องกันรังสียูวีได้เพื่อช่วยลดการแผ่รังสีความร้อน และควรหลีกเลี่ยงการวางเฟอร์นิเจอร์ในจุดที่แสงแดดส่องถึง ป้องกันสีของเฟอร์นิเจอร์ซีดจาง
แสงไม่ตรง
การใช้แสงแบบอินไดเร็กต์ค่อนข้างเหมาะกับประเทศไทยเพราะภายในห้องได้ความสว่าง แต่แสงแดดจะไม่ส่องมาที่พื้นที่ใช้งานโดยตรงจึงได้แสงที่ไม่จ้าเกินไป และปริมาณความร้อนที่เข้าสู่บ้านก็จะมีน้อยกว่า ใช้การก่อผนังหนาและติดตั้งช่องแสงให้ชิดกับผนังด้านนอก แสงแดดจะส่องผ่านช่องแสงตกกระทบลงบนผนังหนาที่ก่อไว้แล้วสะท้อนขึ้นไปบนฝ้าเพดาน ก่อนจะส่องลงมาที่ห้องหรือจะใช้วิธีทำตู้ให้หนาออกมาจากผนังแทนก็ได้